สวัสดีปีใหม่ เอาล่ะได้เวลาเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ กันแล้ว !
หนึ่งในปณิธานของหลาย ๆ คนที่มักจะตั้งไว้ในช่วงปีใหม่ก็คือ การลดน้ำหนักและอยากให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดีขึ้น จนถึงขั้นที่ว่าออกไปซื้อเสื้อผ้าและรองเท้าสำหรับออกกำลังกายเซ็ตใหม่เลยทีเดียว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับ ‘ฉันจะเริ่มต้นใหม่แล้วนะ’ ‘ฉันจะเอาจริงแล้วนะ’ ‘ปีนี้แหละผอมแน่ คอยดูเลย’
และแบรนด์ที่เรามักเห็นว่ามีคนถ่ายรูปรองเท้าเหล่านั้นลงในโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ ก็คือ Adidas นั่นเอง แล้วทำไมเวลาที่จะไปออกกำลังกาย คนมักจะนึกถึงและเลือกซื้อเสื้อผ้าและรองเท้าของแบรนด์นี้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกกัน เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกับเรื่องนี้เอง
Adidas เป็นแบรนด์ผู้ผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาทั้งอุปกรณ์และเสื้อผ้า ส่งจำหน่ายทั่วโลก แต่สิ่งที่มีคนรู้จักมากที่สุดคือรองเท้ากีฬานั่นเอง สำหรับปี 2019 ที่ผ่านมา Adidas มีรายได้อยู่ที่ 23,640 ล้านยูโรและกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,976 ล้านยูโร และปัจจุบันมี CEO คือ Kasper Rørsted
กว่าจะมาเป็น Adidas เหมือนทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาอย่างไร?
Adidas เป็นยี่ห้อของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์กีฬา ต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ผู้ที่คิดค้นและเริ่มผลิตคือ Adolf (Adi) Dassler เขาได้เริ่มผลิตรองเท้ากีฬาคู่แรกของเขาเองในห้องซักผ้าภายในบ้าน ในปี 1920 หลังจากที่พี่ชาย Rudolf (Rudi) Dassler กลับมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งสองพี่น้องก็ช่วยกันผลิตรองเท้ากีฬาที่มีชื่อแบรนด์ว่า Dassler ซึ่งมาจากนามสกุลของทั้งสองคนนั่นเอง และได้เปิดกิจการอย่างเป็นทางการในปี 1924 โดยมีชื่อว่า Gebrüder Dassler Schuhfabrik (Dassler Brothers Shoe Factory)
Adolf Dassler (ซ้าย) และพี่ชาย Rudolf Dassler (ขวา)
Adidas เป็นที่รู้จักของผู้คนอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ Adi ขอให้ Jesse Owens นักวิ่งชาวอเมริกันใส่รองเท้าตะปูของ Dassler ลงแข่งวิ่งระยะสั้นในกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 1936 และเขาก็ได้เหรียญทองถึง 4 เหรียญในการแข่งขันในครั้งนั้น จนทำให้รองเท้า Dassler มียอดขายมากกว่าสองแสนคู่ต่อปี
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสองพี่น้องก็มีเรื่องหมางใจกัน กิจการของพวกเขาถูกแทรกแซงโดยทหาร และถูกสั่งให้ผลิตรองเท้าให้กับทหาร Rudi พี่ชาย ถูกเรียกกลับไปประจำการที่กองทัพ เมื่อสงครามยุติลงในปี 1948 ความสัมพันธ์ของสองพี่น้องก็ถึงจุดแตกหัก Rudi แยกตัวออกไปตั้งโรงงานผลิตรองเท้าและสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาชื่อ Ruda และต่อมาเปลี่ยนเป็น Puma ในภายหลัง ส่วน Adi ก็เปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก Dassler ให้กลายมาเป็น Adidas ซึ่งมาจากชื่อและนามสกุลของเขานั่นเอง
ทั้งสองแบรนด์ Puma และ Adidas แข่งขันกันอย่างดุเดือดยาวนานนับ 60 ปี จนกระทั่งปี 2009 สงครามระหว่างทั้งสองแบรนด์ก็สิ้นสุดลง เมื่อทั้งคู่หันมาจับมือกันในการแข่งขันกีฬาขององค์กร One Day Peace
ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1949 ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกๆ ที่มีการผลิตรองเท้าของ Adidas จะสังเกตเห็นว่ารองเท้าของ Adi นั้น มีลักษณะเด่นไม่เหมือนใคร เนื่องจากพื้นของรองเท้ามีลักษณะเป็นเดือยแหลมยื่นออกมาคล้าย ๆ กับตะปู จนกลายเป็นจุดเด่นของรองเท้า Adidas เลยก็ว่าได้
ทำไมโลโก้ของ Adidas ถึงมีหลายแบบ?
หลายคนอาจจะเคยเห็นโลโก้ Adidas แล้ว เป็นแบบที่มี 3 แถบบ้าง เป็นรูปใบไม้บ้าง เป็นรูปวงกลมบ้าง แล้วสรุปว่าโลโก้ของแบรนด์จริง ๆ มันคืออันไหนกันแน่ วันนี้เราจะมาอธิบายให้ฟังว่าโลโก้มีความเป็นมายังไงบ้าง
จริง ๆ แล้วโลโก้แรกของ Adidas ตั้งแต่ปี 1949 เป็นรูปรองเท้าที่มีตะปูห้อยอยู่ระหว่างปลายหางทั้งสองด้านของตัวอักษร ‘d’ แต่ต่อมาได้เกิดการรีแบรนด์ขึ้นในปี 1967 Adi Dassler ต้องการมีโลโก้แบบทางการและเป็นหนึ่งเดียวที่จะทำให้ทุกคนจดจำแบรนด์ของเขาได้ เขาจึงออกแบบใหม่เป็นรูป 3 แถบ (The Three Stripes) แต่ปรากฎว่า Karhu Sports ซึ่งเป็นแบรนด์รองเท้าวิ่งรายใหญ่ของฟินแลนด์ใช้แบบเดียวกันไปแล้ว เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงข้อพิพาทและสามารถใช้เป็นเครื่องหมายการค้าได้อย่างถูกกฎหมาย Adi Dassler ผู้ก่อตั้ง Adidas จึงได้ไปซื้อมาในราคา 1,600 ยูโรและวิสกี้อีก 2 ขวด
ต่อมาในปี 1971 'The Trefoil' ที่เป็นโลโก้รูปคล้ายกับใบไม้ 3 ใบได้ถูกสร้างขึ้น และถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1972 ในงาน Munich Olympics ปัจจุบันโลโก้นี้ถูกนำมาใช้กับคอลเล็กชันเสื้อผ้า แฟชั่น หรือผลิตภัณฑ์อย่าง Superstar ซึ่งเป็นซีรีส์ที่อยู่มานานแล้ว และเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในชื่อของ Adidas Original Collection
The Triangle หรือ Adidas performance ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1990 ซึ่งผู้ออกแบบ คือ Peter Moore ได้สร้างสรรค์โลโก้ใหม่ที่ดูเหมือนรูปสามเหลี่ยม แต่ถ้ามองดี ๆ จะเหมือนรูปภูเขา ที่เขาต้องการจะสื่อถึงความท้าทายเพื่อไปสู่เป้าหมายของนักกีฬาแต่ละคน ปรากฎว่า Adolf Dasler ชอบความคิดของเขามาก เป็นผลให้โลโก้ได้รับการอนุมัติให้ใช้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ Adidas และจนกระทั่งในปี 1997 โลโก้ The Triangle ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท Adidas
ในปัจจุบันเราจะเห็นโลโก้ของ Adidas ว่ามี 4 แบบ คือ
1. The Triangle หรือ Adidas performance : เน้นสินค้าที่เกี่ยวกับกีฬาเป็นหลัก
2. Adidas Original สีฟ้า : ใช้กับสินค้าที่เป็นเสื้อผ้า แฟชั่น หรือที่เป็นคอลเล็กชันโดยเฉพาะ
3. Adidas NEO ที่เป็นรูปกลม ๆ : ใช้กับสินค้าแบรนด์วัยรุ่น ที่มีการใส่ลูกเล่นน่ารัก สดใส สนุกสนาน ทันสมัยเหมาะกับไลฟ์สไตล์วัยรุ่น
4. Adidas Silver โลโก้สีเงิน : ใช้กับสินค้าในกลุ่ม High End สินค้าที่มีราคาสูงหรือสินค้าที่ไป Collaborate กับ Designer ชื่อดัง
ส่องรายได้และผลกำไรของ Adidas แบรนด์กีฬาที่มัดใจใครหลายคน
ในช่วงระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า Adidas มีการเติบโตขึ้นทุกปี ๆ การเติบโตพุ่งขึ้นจาก 5,800 ล้านยูโรในปี 2000 สู่ 23,640 ล้านยูโรในปี 2019 ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับแบรนด์ที่ทำธุรกิจมาเกือบร้อยปี
ส่วนในปี 2020 Adidas กล่าวว่า บริษัทมีรายได้ลดลงจากการจำหน่ายในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2020 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทั่วโลก ทำให้ต้องมีการปิดร้านเป็นจำนวนมาก
ในขณะที่ยอดขายผ่านช่องทาง E-Commerce ของบริษัทเองเพิ่มขึ้น 93% ในช่วงไตรมาสดังกล่าว แต่รายได้รวมในไตรมาสที่สองกลับลดลง 35% คิดเป็น 3.579 พันล้านยูโร (4.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
Kasper Rorsted CEO ของ Adidas กล่าวว่า “ในไตรมาสที่ผ่านมาทำให้เกิดความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับ Adidas เอง เนื่องจากโลกตกอยู่ในภาวะหยุดชะงัก เราจัดการกับความท้าทายและดำเนินตามโอกาสดังที่สะท้อนให้เห็นในธุรกิจ E-Commerce ของเราเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในไตรมาสที่ 2 ตอนนี้เรากำลังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และในขณะนี้การเปิดร้านค้ากลับมาทำได้ปกติแล้ว จึงทำให้ธุรกิจสามารถเดินทางไปต่อได้”
เจาะลึกกลยุทธ์ Adidas ที่งัดออกมาต่อสู้กับคู่แข่ง
วันนี้ The Growth Master จะพาทุกคนไปดูกลยุทธ์การเติบโตของ Adidas ว่ามีความก้าวหน้า และมีอะไรที่น่าจับตามองในการบุกตลาดโลกและเอาชนะคู่แข่งกันบ้าง หากพร้อมแล้วไปอ่านกันต่อเลย
1. ร่วมมือกับคนดังหรือแบรนด์ดังระดับโลก
การ Collaboration กับคนดังหรือแบรนด์อื่นมักเป็นการตลาดที่มีผลดีต่อแบรนด์เราเอง เพราะว่าเราจะได้ทั้งฐานลูกค้าของเราเองและลูกค้าฝั่งของแบรนด์ที่เราไป Collaborate ด้วย
Adidas ได้ออกรองเท้ารุ่น ‘Yeezy’ มา ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างนักร้องฮิปฮอปชาวอเมริกาชื่อดังระดับโลก ‘Kanye West’ ผู้หลงใหลการแร็ปและแฟชั่น ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา แต่จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ Kanye เคยออกแบบรองเท้า ‘Yeezy’ ให้กับ Nike มาก่อน แต่เกิดปัญหาไม่ลงรอยกันในเรื่องส่วนแบ่ง ทำให้ Kanye ได้หันมาจับมือกับ Adidas ในการออกแบบรองเท้าภายใต้แบนเนอร์ของ Adidas Originals จนขายดีเป็นเทน้ำเทท่าและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ส่วนในเรื่องราคานั้นก็ไม่ได้ถูกจนทุกคนสามารถจับต้องได้ เพราะมีราคาตั้งแต่หลักพันบาทปลาย ๆ ไปจนถึงหลักแสนบาทเลยก็มี
แล้วทำไม ‘Adidas Yeezy’ ถึงมีราคาแพง?
นั่นก็เป็นเพราะว่าเป็นรองเท้าผ้าใบที่มีกลยุทธ์การผลิตแบบจำนวนจำกัด ทำให้เหล่าคนรัก Sneaker ต่างรอคอยจับจองกันเป็นเจ้าของให้ได้ แต่การจะได้มาครอบครองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ Yeezy แต่ละรุ่นจะผลิตออกมาจำนวนไม่มาก ทำให้สินค้าหมดในระยะเวลาอันรวดเร็ว ต้องอาศัยการ Raffle หรือสุ่มผู้ที่จะได้สิทธิ์ซื้อจาก Shop ตัวแทนจำหน่าย
ส่วน Yeezy ล่าสุดที่ออกมาในปี 2020 นั่นก็คือรุ่น Adidas Yeezy Boost 350 V.2 ที่มี lineup ออกมาตามด้านล่างนี้
นอกจากนั้น Adidas ก็ได้ไป Collaborate กับแบรนด์ดังอื่น ๆ ด้วยกัน เช่น ในปี 2019 ได้ไป Collaborate กับ แบรนด์หรูสัญชาติอิตาลี Prada ซึ่ง Adidas ก็ได้ออกไอเท็มมา 2 อย่างด้วยกัน คือ รองเท้ารุ่น Superstar และกระเป๋ารุ่น Bowling
โดยรองเท้า Superstar จะจัดจำหน่ายจำนวนเพียง 700 คู่เท่านั้น และจะมีความพิเศษ คือ จะมีโลโก้ทั้ง 2 แบรนด์ Adidas และ Prada อยู่ และสลักตัวเลข 1-700 ไว้บนรองเท้าด้วยว่ารองเท้าคู่นี้เป็นคู่ที่เท่าไร ส่วนกระเป๋าก็ใช้วัสดุการตัดเย็บอย่างดีและทำสีออกมาให้เข้ากับรองเท้าอีกด้วย การจัดจำหน่ายจะจำหน่ายบนเว็บไซต์ของ Adidas และ Prada และหน้าร้าน Prada บางสาขาเท่านั้น
และจากผลตอบรับที่ดีของคอลเล็กชันแรก จึงมีซีรีส์ 2 ออกมาในเดือนกันยายน 2020 ด้วยเช่นกัน มีสีเพิ่มขึ้นมาอีก คือ สีดำล้วน สีขาว-ดำ และสีเงิน-ขาว ในราคา 500 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15,000 บาท) แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีความพรีเมียมเท่ารอบแรก เพราะไม่ได้ระบุจำนวนที่แน่นอนออกมาว่าจะผลิตกี่คู่ แต่จะจัดจำหน่ายที่ทั้งเว็บไซต์และหน้าร้านของ Adidas และ Prada
และอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้สินค้าที่ไป Collaborate กับแบรนด์หรือคนดังอื่น ๆ มีราคาสูงมาก นอกจากจะเป็นเพราะมูลค่าของตัวแบรนด์เองแล้ว ก็ยังมีเรื่องการผลิตในจำนวนที่จำกัดและเมื่อขายหมดทาง Adidas ก็ไม่ผลิตเพิ่มด้วย แต่ความต้องการของตลาดยังคงสูงอยู่ จึงทำให้เกิดการเอามาขายต่ออัปราคาขึ้น
2. เจาะตลาดผู้หญิง
เนื่องจาก Adidas เป็นแบรนด์ที่ผลิตเกี่ยวกับอุปกรณ์กีฬาที่ได้ขึ้นชื่อว่าเหมาะสำหรับผู้ชาย แต่ในตอนนี้ผู้หญิงหลายคนก็หันมาใส่ใจรักสุขภาพและเล่นกีฬามากขึ้นไม่แพ้กัน และเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะมีส่วนในการพัฒนาด้านการเติบโตในยอดขาย อีกทั้ง Adidas ก็ได้มีการออกแบบให้สินค้าผนวกกับแฟชั่น เทคโนโลยีการวิ่งแบบใหม่ และนำเสนอทุกอย่างให้เหมาะกับผู้หญิง
Adidas จึงได้มีการตีตลาดผู้หญิงโดยการใช้วิธีเป็นพาร์ทเนอร์กับ Beyoncé นักร้องสาวและซูเปอร์สตาร์ชื่อดังระดับโลกที่มีจำนวนผู้ติดตามใน Instagram ของเธอถึง 155.6 ล้านคน (ติดอันดับ 1 ใน 10 ของผู้ที่มียอด Followers เยอะที่สุดในโลก) จากการร่วมมือกันครั้งนี้ เรียกได้ว่าเธอคนเดียวก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกได้เลย จากการเพิ่มการรับรู้ (Brand Awareness) กระตุ้นยอดขาย และเข้าถึงกลุ่มผู้หญิงมากขึ้น
กลับมาทางฝั่งเอเชียของเราก็มีสาว ๆ จากวง Girl Group สัญชาติเกาหลีใต้ อย่าง Blackpink มาเป็น Influencer ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้ให้ผู้คนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะยอด Followers ของพวกเธอทั้งสี่คนรวม ๆ กันแล้วเกิน 100 ล้านคน
นอกจากการใช้ Influencer ชื่อดังแล้ว Adidas ก็ยังมีการใช้ Blogger เป็นผู้สื่อสารอีกด้วย เช่น Hannah Bronfman ดีเจชื่อดังระดับโลก, Robin Arzón นักวิ่ง Ultramarathon นักเขียนและไลฟ์โค้ช, Manushi Chhillar อดีต Miss World 2017 และนางแบบ
Hannah Bronfman, Adidas Brand Ambassador
ซึ่งดูเหมือนว่า Adidas จะทำการตลาดได้ตรงจุด เพราะว่ามียอดขายในฝั่งผู้หญิงเติบโตขึ้นชัดเจน โดยในทวีปอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้น 77% ส่วนยุโรปตะวันตกเพิ่มขึ้น 27% กลุ่มสินค้าขายดี คือ เสื้อผ้า และ Sneaker
ซึ่งของประเทศไทยเองก็มีอ ‘ชมพู่ - อารยา เอ ฮาร์เก็ต’ นักแสดงและนางแบบชื่อดังที่ไปไกลระดับโลก ‘พิมฐา’ เน็ตไอดอลชื่อดังที่มีอิทธิพลต่อวงการโซเชียลมีเดียอันดับต้น ๆ ของไทย และ ‘Binko’ สาวนักวาดภาพ Illustrator เป็น Influencer ด้วยเช่นกัน
จากการใช้ Influencer เหล่านี้เราจะเห็นว่า Adidas ไม่ได้มีการใช้เฉพาะเพียงแค่นักกีฬาเท่านั้นที่เป็นผู้สื่อสารของแบรนด์ แต่พวกเขายังใช้คนจากวงการต่าง ๆ อีกด้วย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าผู้หญิงได้มากที่สุดอีกด้วย
3. แตกไลน์สินค้าออกมานอกเหนือจากกีฬา
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า Adidas เป็นแบรนด์ที่มีโลโก้หลากหลายรูปแบบจะใช้กับสินค้าประเภทต่างกันไป Adidas เองก็ได้ปล่อยสินค้าออกมาภายใต้แต่ละโลโก้
เช่น Adidas Neo ที่มาภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Live Your Style’ ให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวอายุ 14-19 ปีผู้มีใจรักเทรนด์ Fast Fashion โดยเฉพาะ ซึ่งมีสินค้าในกลุ่มของเสื้อผ้าลำลอง เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงรองเท้า ที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน
สินค้าในกลุ่มของ Adidas Originals ก็มีสินค้าอย่าง Stan Smith ที่ขายดีที่สุดอีกหนึ่งตัว มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1973 จากการเป็นรองเท้าเทนนิสที่นำหนังสีขาวมาตัดเย็บคู่กับแถบสีเขียวบริเวณข้อเท้า ตกแต่งด้วย 3 แถบด้านข้างจนเป็นเอกลักษณ์ของรองเท้ารุ่นนี้ ต่อมาก็ได้รับความนิยมมากขึ้นในโลกของแฟชั่น Adidas จึงได้มีการผลิตรองเท้ารุ่นนี้ออกมาวางขาย จนกลายเป็นรองเท้าที่ใส่ได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่ใช่รองเท้าสำหรับเล่นเทนนิสโดยเฉพาะ
และในปี 2018 Adidas Originals ก็ได้มีการเซ็นสัญญากับ Stan Smith (ที่เป็นคน ไม่ใช่รองเท้า!) ตำนานนักเทนนิสว่าจะร่วมงานกันตลอดชีวิตในสร้างรองเท้ารุ่น Stan Smith ให้เป็นตำนานอมตะตลอดกาลของ Adidas ด้วย
4. ผู้นำด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมในการผลิต
Future is here.
เป็นคำโฆษณาของ Adidas ที่ไม่ได้มาเล่น ๆ เพราะเขาออกตัวว่าจะเป็นอนาคตใหม่ในการผลิตรองเท้า Sneaker
Adidas มีการใช้เทคโนโลยี 3D Printing เข้ามาช่วยในการผลิต เพื่อสามารถออกแบบรองเท้าได้ตรงกับความต้องการของผู้สวมใส่มากที่สุด โดยปกติเวลาเราซื้อรองเท้าทั่วไปมาคู่นึง เราจะไม่สามารถปรับแต่งพื้นรองเท้าให้เข้ากับเท้าของเราได้ แต่ด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่เข้ามาใช้ จะทำให้แก้ปัญหาตรงนี้ได้
Adidas จึงได้ผลิตรองเท้ารุ่น Futurecraft 4D ออกมา ที่ทำงานร่วมกับบริษัท Carbon ใน Silicon Valley โดยใช้กระบวนการผลิต Digital Light Synthesis ผลิตด้วยวัสดุเรซินเหลว และใช้แสงดิจิตอลในการเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็งพร้อมทำให้เกิดโครงสร้างพื้นรองเท้า เพื่อตอบโจทย์ความสบายในการสวมใส่รองเท้าให้ลูกค้า และที่สำคัญปกติการผลิตรองเท้าคู่นึงจะใช้เวลาเป็นเดือน ๆ แต่สำหรับการผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้แล้ว จะใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงต่อคู่เท่านั้น
ซึ่งนับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัย สามารถดึงดูดผู้คนได้อย่างมาก และยังนับว่าเป็นอีกก้าวที่ Adidas นำคู่แข่งแบรนด์อื่น ๆ อีกด้วย
5. SpeedFactory เร่งเครื่องด้วยความเร็ว
จากกระบวนการผลิตรองเท้าที่ใช้เวลานานเป็นเดือนก่อนที่จะส่งออกไปถึงมือลูกค้า ในปลายปี 2015 Adidas ได้เปิดตัวโรงงาน SpeedFactory แห่งแรกที่เมือง Ansbach ในประเทศเยอรมัน ซึ่งจะเป็นโรงงานต้นแบบสำหรับทดลองผลิตรองเท้าด้วยหุ่นยนต์ และเครื่องจักรในการตัดเย็บที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถผลิตรองเท้าให้เสร็จสมบูรณ์รวดเร็วภายในโรงงานเดียว
ซึ่งการผลิตที่ SpeedFactory จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในการไม่ต้องรอรองเท้านาน แถม Adidas ยังได้ประโยชน์จากการลดระยะทางในการจัดส่ง ลดเวลาหรือแรงงานในการผลิต จากที่ต้องใช้พนักงานถึง 1,000 คน ก็ลดเหลือเพียง 160 คน และต่อมาในปี 2017 ก็ได้เปิดตัวโรงงานแห่งใหม่ที่ Atlanta สหรัฐอเมริกาอีกด้วย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดก็คือยังมีกำลังผลิตได้ไม่มากประมาณ 500,000 คู่ต่อปี
และในปี 2020 โรงงาน SpeedFactory ก็ได้ย้ายฐานการผลิตมาที่เอเชีย คือ ในประเทศจีนและเวียดนาม เพราะจากที่เคยผลิตได้จำนวนไม่มาก การย้ายมาที่ฝั่งเอเชียก็เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนการผลิตได้มากขึ้น สามารถรองรับออเดอร์ของลูกค้าได้เยอะกว่าเดิม และยังมีการผลิตด้วยความแม่นยำและด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสร้างสรรค์ ในอนาคต Adidas บอกว่าจะผลิตรองเท้าอย่างอื่นนอกจากรองเท้าวิ่งด้วยจากโรงงานนี้ เราก็ต้องจับตาดูกันต่อไป
6. ให้ความสำคัญกับ 6 เมืองยุทธศาสตร์
ด้วย 80% ของ GDP ทั่วโลกที่สร้างขึ้นในเมืองต่าง ๆ มีการขยายตัวมากขึ้นในเขตเมืองใหญ่ ๆ Adidas จึงมุ่งเป้าที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดทางภูมิศาสตร์ โดยจะมุ่งเน้นไปที่เมืองสำคัญระดับโลก 6 เมือง ได้แก่ London, Los Angeles, New York, Paris, Shanghai และ Tokyo
ซึ่งเมืองพวกนี้จัดว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้มีคนหลั่งไหลเข้ามาจับจ่ายใช้สอยจำนวนไม่น้อยเป็นประจำทุกปี Adidas จึงมีการลงทุนในการกำหนดรูปแบบการรับรู้ (Brand Awareness) แนวโน้ม และการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ในการเปิดร้านค้าแบบครบวงจรตามเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีสินค้าที่ไม่สามารถหาได้ตามร้านค้าทั่วไปอยู่ในนั้น เพื่อเป็นการดึงดูดผู้คน
นอกจากนั้น Adidas ยังมีการมุ่งเน้นไปที่ความนิยมของคนในเมืองนั้น ๆ ด้วย เช่น ในยุโรป Adidas มุ่งเน้นไปที่การขายผลิตภัณฑ์ฟุตบอลเป็นหลัก แต่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านกีฬา เช่น บาสเก็ตบอลและเบสบอล ก็จะเน้นขายพวกนี้ และอเมริกาเหนือจัดว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเครื่องกีฬาและมีส่วนแบ่งทั้งหมด 40%
Adidas มองว่าถ้าพวกเขาสามารถเอาชนะตลาด เช่น ใน Los Angeles และ New York ได้ แสดงว่าจะชนะการแข่งขันในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงมุ่งมั่นที่จะเอาชนะส่วนแบ่งทางการเติบโตทางการตลาดและจิตใจผู้คนในเมืองสำคัญ ๆ ทั่วโลก
สรุปทั้งหมด
ถึงแม้ว่าในตอนนี้ Adidas จะไม่ได้เป็นอันดับ 1 ของโลกในตลาดอุปกรณ์กีฬาแล้ว แต่เขาก็มีการปรับใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่าไม่ธรรมดาในการแตกไลน์สินค้าที่มีต้นกำเนิดมาจากกีฬาออกมาผสานกับแฟชั่นให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ได้สวมใส่ได้ทุกโอกาสในชีวิตประจำวัน
แถมยังดึงเอานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการผลิต ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองในอนาคตมากว่าเขาจะสามารถดึงลูกค้าให้อยู่กับพวกเขาได้อยู่หมัดไหม ก่อนที่จะมีคู่แข่งตัวฉกรรจ์เข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดนี้อีก นับว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจและดูการเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ ในปีนี้อีกด้วย เพราะวงการแฟชั่นและเทรนด์รักสุขภาพเริ่มที่มีคนสนใจและดุเดือดมากขึ้นทุกปี