ถ้าพูดถึง แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ ที่โด่งดังและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาในช่วงโควิด-19 ชื่อของ “Coursera” (คอร์สเซร่า) ต้องมีติดอันดับต้น ๆ แน่นอน ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่มีคอร์สเรียนออนไลน์คุณภาพ ในศาสตร์ที่น่าสนใจมากมายเช่น ภาษา ธุรกิจ การตลาด เทคโนโลยี ไปจนถึงการออกกำลังกาย การทำอาหาร การสอนสัตว์เลี้ยง ฯลฯ และยังมีประกาศนียบัตรรับรองเมื่อเรียนจบหลักสูตร
แต่น้อยคนที่จะทราบว่ากว่า Coursera จะก้าวมาเป็นผู้นำของวงการ EdTech (Education Technology) ที่สร้างการเติบโตได้อย่างมหาศาล พวกเขาเริ่มต้นมาจาก สตาร์ทอัปขนาดเล็ก จนล่าสุดสามารถเข้าสู่ตลาดหุ้นหรือ IPO โดยใช้เวลาตั้งแต่เริ่มสร้างธุรกิจเพียงแค่ 9 ปีเท่านั้น
ในบทความนี้เราเลยขอพาทุกคนมารู้จักกับ Coursera แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ชื่อดังระดับโลกและศึกษากลยุทธ์ที่พวกเขาใช้สร้างการเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน
Coursera คืออะไร ?
Coursera คือ แพลตฟอร์มรวมคอร์สเรียนออนไลน์แบบ Massive Open Online Course (MOOC) หรือหลักสูตรคอร์สเรียนออนไลน์ที่ “เปิด” เสรีให้บุคคลทั่วไปศึกษา รองรับผู้เรียนได้จำนวนมากและเข้าเรียนได้ไม่จำกัดจำนวน ผ่านทางเว็บไซต์ www.coursera.org มีคอร์สให้เลือกศึกษากว่า 4,500 คอร์สเรียน ครอบคลุมตั้งแต่คอร์สเรียนระดับพื้นฐาน ระยะสั้น, คอร์สเรียนเฉพาะวิชาชีพ ไปจนถึงคอร์สเรียนในระดับปริญญาตรีและโท ที่เราสามารถกำหนดเวลาเรียนได้เองและมีทั้งคอร์สเรียนแบบฟรีและต้องชำระเงิน
โดยผู้ดำเนินการสอนทุกคอร์สของ Coursera ก็จะมาจากอาจารย์ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย หรือองค์กรที่มีชื่อเสียงมากกว่า 200 แห่งจากทั่วทุกมุมโลก ตัวอย่างมหาวิทยาลัย เช่น Stanford University, University of Illinois, University of London, Duke University, University of Pennsylvania และอื่น ๆ
ส่วนภาคหน่วยงานหรือองค์กรก็นำมาโดย Google, Facebook, IBM, Microsoft, Salesforce, Amazon Web Service, Hubspot, Atlassian, National Geographic และบริษัทชั้นนำของโลกอีกมากมาย ที่มาร่วมจัดหลักสูตรคอร์สเรียนออนไลน์ในศาสตร์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตของผู้เรียน
Coursera นั้นถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2012 จากการร่วมก่อตั้งของ Andrew Ng และ Daphne Koller 2 อาจารย์ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ของ Stanford University โดยทั้ง Andrew Ng และ Daphne Koller เล็งเห็นว่าในตอนนั้นรูปแบบและเทรนด์ของการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีเทคโนโลยีออนไลน์หลายตัวที่เข้ามาทำให้การเรียนออนไลน์ เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นจริงได้
และทั้งคู่มองว่า การเรียนออนไลน์ จะเป็นอะไรที่ช่วยทำลายกำแพงเรื่องการศึกษาของผู้คนได้ทั่วโลก ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในอนาคต เลยทำให้พวกเขาตัดสินใจเริ่มสร้าง Coursera เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนออนไลน์ ที่ทุกคนสามารถศึกษาในแขนงวิชาหรือสถาบันที่ตนสนใจได้ แบบไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา
ประกอบกับทั้ง Andrew Ng และ Daphne Koller ทั้งคู่เป็นถึงอาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน AI และ Machine Learning ระดับสูงอยู่แล้ว ทำให้พวกเขาออกแบบ Coursera ให้เป็นแพลตฟอร์ม EdTech ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ
โดยคอร์สเรียนของ Coursera จะมีเนื้อหาที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกศาสตร์ตั้งแต่ ภาษา ธุรกิจ การตลาด เทคโนโลยี จิตวิทยา การเงินไปจนถึงการออกกำลังกาย สุขภาพ การทำอาหาร การสอนสัตว์เลี้ยง ฯลฯ แต่ถ้าคอร์สที่ได้รับความนิยมสูงสุด ก็คือคอร์ส Machine Learning Offered By Stanford University ซึ่งผู้สอนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ Andrew Ng ผู้ก่อตั้ง Coursera นั่นเอง
และในปัจจุบัน Coursera ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์อันดับ 1 ของใครหลายคน จากผลกระทบช่วงโควิด-19 ที่ผู้คนส่วนใหญ่มีเวลาอยู่บ้านกันมากขึ้น จึงทำให้ 1 ปีที่ผ่านมาของ Coursera สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างน่าอัศจรรย์
Coursera กับตัวเลขการเติบโตที่พุ่งทะยาน จากผลกระทบของโควิด-19
จากข้อมูลล่าสุดปี 2020 มีผู้ใช้งานลงทะเบียนเรียนคอร์สออนไลน์บน Coursera มากกว่า 76.6 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งถ้าลองเทียบตัวเลขจากช่วงปี 2019 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ยังไม่เกิดสถานการณ์โควิด-19 จะพบว่าในปี 2019 Coursera มีผู้ลงทะเบียนเรียนบนแพลตฟอร์มแค่ 46.4 ล้านคน สรุปง่าย ๆ ว่าภายในระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว Coursera มีผู้เรียนเพิ่มขึ้นกว่า 30.2 ล้านคน หรือคิดเป็น Growth Rate ที่ 65%
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ Coursera เพิ่มตัวเลขผู้เรียนได้มากกว่า 30 ล้านคนในปีเดียว นั่นก็มาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ผู้คนส่วนใหญ่มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นและไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ได้ จึงทำให้ ‘การเรียนออนไลน์’ กลายเป็นกิจกรรมแก้เบื่อที่มีสาระ ช่วยฝึกทักษะ พัฒนาความรู้ใหม่ ๆ ในช่วง Lockdown ให้แก่ผู้เรียน ส่งผลให้ Coursera ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยปริยาย
อ้างอิงจาก Classcentral ที่ได้ทำการเก็บสถิติ Website Traffic ของ Coursera และแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ตัวอื่น ๆ ในช่วงปี 2020 พบว่าในช่วงต้นปี เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ Traffic ของ Coursera ก็ถือว่าไล่เลี่ยกับแพลตฟอร์มอื่น แต่พอมาในช่วงเดือนเมษายน (เดือนที่โควิด-19 ระบาดหนักครั้งแรก) Traffic ของ Coursera ก็เริ่มพุ่งหนีแพลตฟอร์มอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น และรักษาระดับอยู่ที่ 70 ล้าน Traffic จนถึงช่วงปลายปี
อีกทั้งถ้าวัดเฉพาะ New Registered Users หรือผู้ใช้งานหน้าใหม่อย่างเดียวในปี 2020 Coursera ก็สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานใหม่ได้ถึง 20 ล้านคน ถือว่ามากกว่าปี 2019 ถึง 12 ล้านคน (ปี 2019 ทำได้ 8 ล้านคน) และมากที่สุดเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มคู่แข่งอย่าง edX, FutureLearn และ Class Central
โดยประเทศที่มีผู้ใช้งาน Coursera มากที่สุดอันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา 14 ล้านคน รองลงมาคือ อินเดีย 7.9 ล้านคน และเม็กซิโก 3.8 ล้านคน แต่ที่น่าตกใจคือจากการสำรวจตัวเลขผู้ใช้งานทั่วโลก ประเทศไทยของเรา ก็ติดอันดับด้วย! ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งาน Coursera เพิ่มขึ้นภายในปีเดียว (2020) เป็นอันดับ 2 มีอัตราผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 128% เป็นรองแค่ประเทศบังกลาเทศ ที่เพิ่มผู้ใช้งานในปีเดียวได้ถึง 198% (แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขจำนวนผู้ใช้งาน Coursera ประเทศไทยทั้งหมด)
จากปัจจัยทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าและรายได้ของ Coursera เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในปีเดียว โดยปี 2020 Coursera ทำรายได้ไป 293.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,400 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 59% จากปี 2019 ที่ทั้งปีทำรายได้ไปเพียงแค่ 184 ล้านดอลลาร์ (ราว 5,900 ล้านบาท) แต่ก็ถือว่ายังมียอดขาดทุนรวมอยู่ราว 66.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,050 ล้านบาท) ซึ่งเป็นธรรมดาของแพลตฟอร์มที่กำลังอยู่ในช่วงการเติบโต ที่ต้องเสียงบประมาณไปกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงต้นทุนด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้น
และในปี 2021 นี้ Coursera ก็ได้ก้าวเข้าสู่สเกลการเติบโตที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพราะเดือนเมษายน 2021 Coursera ได้นำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น New York ที่ราคาไอพีโอ 33 ดอลลาร์ต่อหุ้น และใช้ชื่อในการซื้อ-ขายว่า COUR ทำให้ในปัจจุบัน Coursera มีมูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นเป็น 5,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.9 แสนล้านบาท) เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางการเติบโตที่น่าอัศจรรย์ของ Coursera ภายในระยะเวลาไม่ถึง 9 ปีตั้งแต่เริ่มสร้างธุรกิจในปี 2012
Coursera ใช้กลยุทธ์อะไรบ้างในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ?
1. ได้รับเงินระดมทุน (Funding) มาโดยตลอด
ด้วยความที่ Coursera ถือเป็นแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ (EdTech) ที่เป็นผู้นำของตลาดจึงไม่แปลกที่จะมีนักลงทุนหรือบริษัท Venture Captital เสนอตัวมามอบเงินทุนให้กับ Coursera อยู่เสมอ รวมถึง Coursera เองที่ต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยีในแพลตฟอร์มเรื่อย ๆ ก็ต้องการกำลังเงินทุนเช่นเดียวกัน
โดยปี 2012 ช่วงที่ Coursera ยังเปิดตัวได้ไม่ถึงปี ก็มีบริษัท Venture Capital ประเดิมมอบเงินก้อนแรก (Series A) ให้แก่ Coursera เป็นจำนวน 16 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบริษัทนั้นก็คือ Kleiner Perkins บริษัท Venture Capital ที่อยู่เบื้องหลังเงินระดมทุนของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย เช่น Google, Amazon, Slack และจากนั้น Coursera ก็ได้รับเงินระดมทุนใน Series ต่อมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2012-2019
จนในเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา Coursera ก็ได้รับเงินระดมทุนใน Series F ด้วยจำนวนเงินมหาศาลกว่า 130 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,200 ล้านบาท) จากกลุ่มบริษัท Venture Captial มากมาย นำโดยเจ้าเก่าอย่าง Kleiner Perkins และ SEEK Group, SuRo Capital Corp, Learn Capital, G Squared
ซึ่งการได้รับเงินระดมทุนในแต่ละครั้งก็ทำให้มูลค่าธุรกิจของ Coursera เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2017 หลังการระดมทุนในรอบ Series D Coursera มีมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ 800 ล้านดอลลาร์ และในปี 2019 หลังการระดมทุนในรอบ Series E มูลค่าของ Coursera ก็สามารถแตะระดับ 1 พันล้านดอลลาร์ เป็นยูนิคอร์นด้าน EdTech อย่างเต็มตัว (มูลค่าปัจจุบันหลังเข้า IPO อยู่ที่ 5,900 ล้านดอลลาร์)
โดย Jeff Maggioncalda ซีอีโอของ Coursera เคยกล่าวไว้ว่า “บริษัทจะนำเงินลงทุนที่มาในแต่ละครั้ง ไปพัฒนาระบบเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเรียนออนไลน์มากขึ้น” จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Coursera มีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานอยู่ตลอด
2. สร้างคอร์สเรียนโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานชั้นนำของโลก
จุดเด่นที่ทำให้ Coursera เป็นที่นิยมจากกลุ่มคนที่กำลังมองหาคอร์สเรียนออนไลน์ ก็คือหลักสูตรของคอร์สเรียนที่ Coursera ได้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานชั้นนำจากทั่วโลก ในการเป็นผู้สอนหลักสูตรนั้น ๆ ทำให้ผู้เรียนมั่นใจในเนื้อหาความรู้ของหลักสูตรที่เรียนได้เลย
จากภาพตัวอย่าง จากการค้นหาคอร์สเรียนด้าน Digital Marketing ใน Coursera ก็มีหลักสูตรจากสถาบันชื่อดังมาให้เราเลือกตามเนื้อหาที่เราต้องการศึกษา เช่น The University of Illinois, Facebook INC, University of California, Google, University Of London, University Of Michigan และสถาบันชั้นนำอื่น ๆ
และนอกจากนั้นเมื่อคุณเรียนจบคอร์สแล้ว ก็สามารถรับใบประกาศนียบัตร (Certificate) ส่งตรงจากสถาบันการศึกษานั้น ๆ ที่มีชื่อของเราเป็นการยืนยันว่าเราได้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้จริง เพื่อใช้ในการสมัครงาน เปลี่ยนตำแหน่ง หรือประดับโปรไฟล์ใน LinkedIn ได้ด้วย (อาจมีค่าใช้จ่ายในการออกใบ Certificate เล็กน้อย)
การที่ Coursera มีคอร์สเรียนที่จัดการสอนโดยมหาวิทยาลัยและหน่วยงานชื่อดังนั้น ก็ทำให้ฝั่งผู้ใช้งานได้เรียนคอร์สออนไลน์ที่มีเนื้อหาคุณภาพจากสถาบันชั้นนำ โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงต่างประเทศ เพียงแค่เปิดคอร์สเรียนและทำแบบฝึกหัด (Assignment) ให้ครบตามที่หลักสูตรต้องการเท่านั้น
ด้วยความสะดวกสบายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานแบบนี้ เลยเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ Coursera สามารถเพิ่มจำนวนผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง
3. รูปแบบของคอร์สที่มีตัวเลือกหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน
ด้วยความที่ Coursera เป็นแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์แบบ Massive Open Online Course (MOOC) ที่เป็นรูปแบบการเรียนออนไลน์แบบเปิดเสรี ไม่มีการจำกัดวุฒิหรือประสบการณ์ ไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลาในการเรียน
รวมถึงปัจจัยด้านภาษา ที่หลายคนกังวล เพราะไม่ใช่ทุกคนในโลกที่จะสามารถทำความเข้าใจกับภาษาอังกฤษได้อย่างแตกฉาน เรื่องนี้ Coursera ก็แก้ปัญหาด้วยการทำ Subtitle ภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เพิ่มเช่น ภาษาฝรั่งเศส, อิตาลี, โปรตุเกส, อาหรับ, รัสเซีย, เวียดนาม, เยอรมัน, สเปน, ญี่ปุ่น ทำให้ปัญหาด้านภาษาไม่ใช่เรื่องใหญ่เมื่อคุณเรียนออนไลน์กับ Coursera (แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีภาษาไทย)
อีกทั้งตัวเลือกรูปแบบคอร์สเรียนของ Coursera ก็มีด้วยกันหลากหลายแบบที่ล้วนตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้เรียน ตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งมีให้เลือก 6 รูปแบบ ดังนี้
- Guide Project - หลักสูตรสั้นไม่เกิน 2 ชั่วโมง เรียนรู้เฉพาะทักษะวิธีการทำจริง เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ราคาเริ่มต้นที่ 9.99 ดอลลาร์ (325 บาท)
- Course - คอร์สเรียนรูปแบบแบบปกติ สอนโดยผู้เชี่ยวชาญ เมื่อเรียนจบหลักสูตรจะได้ใบรับรอง (มีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย)
- Specialization - คอร์สเรียนที่เน้นความเชี่ยวชาญพิเศษ เพิ่มความเข้มข้นของหลักสูตรขึ้นมา สำหรับวัยทำงานที่ต้องการเพิ่มทักษะ มีใบรับรองให้ เริ่มต้นที่ 39 ดอลลาร์ (1,265 บาท)
- Certificate - สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพหรือเริ่มต้นอาชีพใหม่ เป็นคอร์สเรียนที่มีใบรับรองให้ทุกคอร์ส ส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตรขององค์กรชั้นนำ เช่น Google, Facebook, IBM
- Mastertrack - คอร์สเรียนในระดับความเชี่ยวชาญขั้นสูง เนื้อหามีความเข้มข้นกว่าคอร์สอื่น ๆ และเอามาจากหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่ดูแลการสอนจริง เหมาะสำหรับผู้มีประสบการณ์
- Degree - คอร์สเรียนปริญญาออนไลน์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการอัปเกรดประวัติการศึกษา แต่ไม่สะดวกที่จะเรียนแบบออฟไลน์ มีหลากหลักสูตร หลายมหาวิทยาลัยให้เลือก มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 9,000 ดอลลาร์ (292,000 บาท)
ด้วยความหลากหลายของหลักสูตรคอร์สเรียนออนไลน์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานทุกกลุ่ม และยังถือเป็นแพลตฟอร์มเพียงแค่ไม่กี่ตัวในโลก ที่มีหลักสูตรให้เลือกมากมายขนาดนี้ ทำให้ Coursera ถือเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ของแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ที่ให้บริการในปัจจุบัน
4. ใช้จิตวิทยาดึงดูดผู้ใช้งานด้วย ‘คอร์สเรียนฟรี’
ถึงแม้ Coursera จะมีคอร์สเรียนให้เลือกกว่า 4,000+ คอร์ส แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคอร์สเรียนแบบเสียเงิน (ถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับหลักสูตร) ยิ่งเป็นคอร์สที่ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ ย่อมมีค่าใช้จ่ายมากเป็นธรรมดา ซึ่งมันอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ที่ไม่พร้อมด้านกำลังทรัพย์ หรือผู้ที่ยังไม่แน่ใจในหลักสูตร ตัดสินใจปิด Coursera ทิ้งไป
แต่ Coursera พวกเขาเลือกใช้เทคนิคจิตวิทยาในการนำคอร์สเรียนบางตัว มาจัดโปรโมชันให้เรียนฟรี ในระยะเวลาที่จำกัด แลกกับต้องลงทะเบียนให้ข้อมูลกับ Coursera อย่างเมื่อช่วงต้นปี 2021 Coursera ก็ได้ปล่อย 7 คอร์สเรียนออนไลน์ด้านธุรกิจและเทคโนโลยีให้เรียนฟรี พร้อมใบ Certificate หรือเมื่อปีที่แล้ว Coursera ก็ได้ร่วมมือกับ Facebook ปล่อยหลักสูตร Social Media Marketing Professional Certificate มาให้ผู้ที่สนใจได้อัปสกิล เรียนกันแบบฟรี ๆ (แต่มีค่าใช้จ่ายหากต้องการใบ Certificate)
นอกจากนั้น Coursera ก็ยังปล่อยคอร์สเรียนฟรีออกมาอยู่เรื่อย ๆ โดยจะเน้นตามสถานการณ์โลกปัจจุบัน อย่างในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักเมื่อปีที่แล้ว Coursera ก็เปิดคอร์สเรียนให้ผู้ตกงานหรือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาลงทะเบียนเรียนกันได้ฟรี กว่า 3,800 หลักสูตร ในชื่อแคมเปญว่า Coursera Together ซึ่งคอร์สที่นำมาเปิดให้เรียนฟรีก็เป็นคอร์สคุณภาพในด้าน Cloud Architecture with Google, SAS Programmer, Business & Marketing, Technology และคอร์สบำบัดจิตใจต่าง ๆ (Well-Being)
ซึ่ง ‘คอร์สเรียนฟรี’ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ Coursera ใช้ในการสร้างการเติบโต และเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้เรียนหน้าใหม่ให้ Coursera มาโดยตลอด สำหรับใครที่ต้องการทราบว่าปัจจุบัน Coursera มีคอร์สฟรีตัวไหนเปิดอยู่บ้าง สามารถเช็กได้ ที่นี่ หรือจะกดติดตาม The Growth Master เพื่อไม่พลาดทุกข่าวสารด้านคอร์สเรียนด้านธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณ
เกร็ดความรู้ : สาเหตุที่คอร์สเรียนของ Coursera ส่วนใหญ่จะเป็นคอร์สเรียนแบบเสียเงิน เพราะทาง Coursera เลือกใช้เทคนิคจิตวิทยาอีกตัวที่เรียกว่า “Commitment” สาเหตุคือในตอนแรก Coursera เป็นแพลตฟอร์มที่มีแต่คอร์สเรียนฟรี แต่เกิดปัญหาตรงที่พอเรียนฟรี ผู้เรียนจะไม่รู้สึกถึงคุณค่าของการเรียน ขาดความสม่ำเสมอ หรือเรียนแล้วไม่ถูกใจก็ปิดทิ้งไป ไม่เข้ามาเรียนต่อให้จบ เลิกเรียนเมื่อไรก็ได้
ทำให้ Coursera ไม่สามารถรักษาความต่อเนื่องในการดึงดูดลูกค้าได้ จนต้องเปลี่ยนมาใช้โมเดลคอร์สเรียนแบบชำระเงิน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเสียดายและตั้งใจเรียนจนจบคอร์ส ให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป นอกจาก Coursera จะได้รายได้จากค่าคอร์สเรียนแล้วยังเป็นการทำให้ผู้ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มของพวกเขาได้นานขึ้นอีกด้วย
5. Coursera For Everybody (Business, Teams, Government, Campus)
Coursera ไม่ได้มีเพียงแค่คอร์สเรียนที่ขายให้แก่บุคคลธรรมดาทั่วไป หรือโมเดลธุรกิจแบบ B2C (Business to Customer) เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว Coursera ยังมีคอร์สเรียนที่ให้บริการในรูปแบบ B2B (Business to Business) อีกด้วย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 4 บริการได้แก่
Coursera for Business
บริการคอร์สเรียนเพื่อเพิ่มทักษะความรู้หรือฝึกอบรมให้กับพนักงานในองค์กรโดยเฉพาะ ทำให้พนักงานในบริษัทที่ใช้บริการทุกคน ได้ Access ในการเข้าเรียนคอร์สเรียนออนไลน์มากกว่า 4,000 คอร์ส จากมหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำของโลก บน Coursera เป็นตัวช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและความรู้ของพนักงานในองค์กร เหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ มีจำนวนพนักงานเกินหลักร้อยคน
Coursera for Teams
คอร์สเรียนเกือบทั้งหมดจะเหมือนกับ Coursera for Business แต่จะเหมาะสำหรับองค์กรขนาดเล็ก มีจำนวนทีมยังไม่เยอะ ต้องการเสริมทักษะความรู้ให้พนักงานหรือกำลังมองหาสวัสดิการพัฒนาความสามารถของพนักงานอยู่ พนักงานลงคอร์สเรียนได้ไม่จำกัด ภายในระยะเวลา 1 ปี ราคาอยู่ที่ 399 ดอลลาร์/ปี (ราว 13,000 บาท)
Coursera for Government
คอร์สเรียนออนไลน์ของ Coursera สำหรับหน่วยงานรัฐบาลของแต่ละประเทศ ที่จะนำไปมอบเป็นสวัสดิการให้ประชาชนได้พัฒนาความรู้ความสามารถ มีเนื้อหาของคอร์สให้เลือกกว่า 3,800+ ครอบคลุมเนื้อหาหลายศาสตร์ที่จำเป็นต่อการทำงานและการใช้ชีวิต ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้บริการ Coursera for Government มากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกและในอเมริกาอีกมากกว่า 25 รัฐ
Coursera for Campus
คอร์สเรียนออนไลน์สำหรับมหาวิทยาลัย ที่ต้องการเพิ่มทักษะและความสามารถให้กับนักศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำงาน ในแขนงวิชาที่นักศึกษาสนใจ มีให้เลือกกว่า 4,900 คอร์ส ครอบคลุมทุกศาสตร์ที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตทั้ง วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ การจัดการ มนุษยศาสตร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ซึ่งบริการทั้ง 4 รูปแบบของ Coursera ก็นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ในโมเดล B2B ที่มีประโยชน์ต่อองค์กรที่ใช้บริการ สามารถพัฒนาทักษะ ความสามารถของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ผ่านคอร์สเรียนคุณภาพทั้งหมดที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มของ Coursera และยังทำให้ Coursera ได้รายได้จากบริการทั้ง 4 รูปแบบ เป็นกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ให้แก่ Coursera อย่างรวดเร็ว
สรุปทั้งหมด
Coursera เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตได้มากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 จากจำนวนผู้ใช้งานและรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2020 และ 2021 ซึ่งเราเชื่อเหลือเกินว่าการเติบโตของ Coursera จะไม่หยุดแค่นี้แน่นอน
เพราะหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว โลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็น New Normal Era 100% ซึ่งเรื่องของการเรียน การศึกษา ก็จะต้องถูกปรับทิศทางมาเรียนบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น เหมือนเช่นปัจจุบัน ทำให้ทั้งผู้เรียน และผู้สอน ต้องย้ายมาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอด
ทำให้แพลตฟอร์มด้านการเรียนออนไลน์ ทั้ง Coursera หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ขาดไม่ได้ของผู้คนในอนาคตแน่นอน