Gojek บริษัท Startup อินโดนีเซียที่เริ่มจากการแก้ Pain point ของประเทศจนเติบโตเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี
ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราอาจจะได้เห็น Rider ตามท้องถนนที่ใส่เสื้อคลุมสีเขียว มีสัญลักษณ์โลโก้หน้าตาแปลกใหม่ที่ชื่อว่า ‘Gojek’ พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่แบรนด์ใหม่เอี่ยมแต่อย่างใด แต่เขาคือแบรนด์ ‘GET’ ที่เคยเปิดตัวในไทยเมื่อช่วงต้นปี 2019 นั่นเอง
ซึ่ง GET เป็นแอปพลิเคชันในบริการเรียกรถ รับส่งพัสดุ และบริการออนดีมานด์ เปิดให้บริการในเขตกรุงเทพฯ ด้วย 3 บริการ GET Win บริการเรียกรถ GET Delivery บริการรับส่งพัสดุหรือเอกสาร และ GET Food บริการส่งอาหาร
แต่การกลับมาในครั้งนี้เป็นการ Re-Branding โดยกลับมาใช้ชื่อเดียวกันกับบริษัทแม่ Gojek ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทนี้หลายคนอาจรู้จักในนามของบริษัท Unicorn รายแรกของอินโดนีเซียในเดือนสิงหาคม 2016 ด้วยมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง Gojek ใช้เวลาเพียง 1.5 ปี หลังจากการเปิดตัวแอปพลิเคชันมือถือเพื่อรับตำแหน่งอันทรงเกียรตินั้นมาครอบครอง
รู้จัก Gojek บริษัท Startup สัญชาติอินโดนีเซียที่มีเป้าหมายอยากเป็น Global Brand
Gojek เกิดขึ้นจากการที่เมืองจาการ์ตามีปัญหารถติดเป็นอย่างมาก จึงได้นำปัญหาตรงนี้มาปรับแก้และเกิดเป็นธุรกิจเรียกรถจักรยานยนต์แบบ Call Center ขึ้นในปี 2009 โดยเริ่มต้นจากมีรถจักรยานยนต์ เพียงแค่ 20 คันเท่านั้น
และได้เปิดตัวแอปพลิเคชันอย่างเป็นทางการ ในเดือนมกราคม ปี 2015 ที่อินโดนีเซีย โดยตอนนั้นมีเพียง 3 บริการ ได้แก่ GoRide บริการเรียกรถจักรยานยนต์ GoSend บริการรับ-ส่งพัสดุ และ GoMart บริการส่งสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ/ซูเปอร์มาร์เก็ต และในเดือนกรกฎาคม 2019 Gojek ได้ขยายตัวเองเป็น ‘Super App’ แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการมากมายกว่า 20 บริการ ไว้ในแอปเดียว
ปัจจุบัน Gojek เริ่มขยายการให้บริการไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยด้วย
การเติบโตของ Gojek แอปพลิเคชันน้องใหม่ไฟแรงสู่การเป็น Unicorn
การเดินทางของ Gojek สู่การเป็น Unicorn เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2014 ได้รับการจัดหาเงินทุนรอบแรกจาก NSI Ventures ซึ่งเป็นกองทุนร่วมทุนใน Northstar Group และเนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2015 Gojek ได้ดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมจาก Sequoia India และนักลงทุนรายอื่น
หลังจากปิดรอบการระดมทุนในเดือนสิงหาคม 2016 ซึ่งระดมทุนได้ถึง 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้กลายเป็นบริษัท Unicorn แห่งแรกของชาวอินโดนีเซีย และบริษัท Decacorn (ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์) แห่งแรกของประเทศอีกด้วย
นอกจากนั้น ในปี 2019 Gojek แสดงยอดผู้ใช้งานแอปพลิเคชันว่ามีผู้ใช้งาน 29.2 ล้านคนต่อเดือนในอินโดนีเซีย รองลงมา 4.3 ล้านคนในเวียดนาม ส่วนในประเทศไทย 2 ล้านคน และตามมาด้วย 8 แสนคนในสิงคโปร์
เราจะเห็นได้ว่าจากที่ปี 2009 Gojek มีจำนวนรถจักรยานยนต์รับจ้างเพียง 20 คัน แต่หลังจากการเปิดตัวแอปพลิเคชันในต้นปี 2015 จนถึงเดือนมิถุนายน 2020 Gojek มีผู้ใช้ประมาณ 170 ล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี Partner คนขับกว่า 20 ล้านคน (ในเวลา 11 ปี เรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นเป็นล้านเท่าเลยทีเดียว) และมีการใช้งานกว่า 100 ล้านครั้งต่อเดือน
แล้วกลยุทธ์อะไรที่ทำให้ Gojek เติบโตได้อย่างทรงพลังขนาดนี้
วันนี้ The Growth Master ขอพาไปดูกลยุทธ์ที่ทำให้จากบริษัท Call center เรียกรถรับจ้างสู่บริษัท Unicorn ที่มูลค่ากว่าพันล้านดอลล่าร์สหรัฐในเวลาเพียงไม่ถึง 2 ปีหลังเปิดตัวแอปพลิเคชัน
1. เปลี่ยน Pain point เป็น Gain point
เนื่องจากเมืองหลวงของอินโดนีเซียขึ้นชื่อในเรื่องรถติดเป็นอย่างมาก และมีไม่กี่ประเทศบนโลกที่มักใช้รถจักรยานยนต์เป็นรถแท็กซี่ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซีย Gojek จึงใช้พื้นฐานจากปัญหาในบ้านตัวเองจุดนี้ มาเปิดให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นหลัก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการเดินทางของคนในจาการ์ตาก่อน จากนั้นขยายไปยังเมืองอื่นๆ ภายในประเทศอย่างบาหลี บันดุง ซูราบายา และมาคัซซาร์ จนครอบคลุมทั้งประเทศอินโดนีเซีย และค่อยๆ เพิ่มบริการต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน
2. หา Business Partner
ในปี 2016 Gojek ได้ประกาศความร่วมมือกับ Blue Bird บริษัทรถแท็กซี่รายใหญ่ของอินโดนีเซีย และได้เปิดตัว Go-Car จากการจับมือกันของทั้งสองนอกจากจะเป็นการขยายการนั่งรถโดยสารจากกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์ไปยังรถยนต์แล้ว จากที่ Gojek ก็มีฐานลูกค้าของตัวเองอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ก็ยังได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นจากฐานลูกค้าของ Blue Bird อีกด้วย และภายในเดือนสิงหาคม 2016 กลายเป็นระบบขนส่งออนไลน์ระบบแรกของอินโดนีเซีย
3. โมเดลธุรกิจแบบ Local Team
The Growth team is perfect to have when the product is already market fit. - Puti Ara Zena, Head of Growth Gojek
การใช้ Local team ในการบริหารงานของแต่ละประเทศ จะทำให้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน และสามารถสร้างประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ให้ผู้บริโภคได้ดีกว่าผู้บริหารจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ Gojek จึงใช้วิธีการสนับสนุนเงินและเทคโนโลยีให้กับทีมต่างประเทศ
Gojek เลือกใช้โมเดลนี้กับประเทศไทย นั่นคือแอป GET (ที่เปลี่ยนมาเป็นแอป Gojek ในปี 2020) ที่บริหารงานโดยคนไทยอย่าง ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์, ก่อลาภ สุวัชรังกูร และอดิศร กาญจนวรงค์
และผู้บริหารชาวไทยก็ได้แสดงให้ Gojek บริษัทแม่เห็นแล้วว่า ทีมคนไทยมีความเข้าใจต่อความต้องการของผู้ใช้ และพฤติกรรมของคนไทยก็มีการใช้บริการธุรกิจของ GET เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะการสั่งอาหารแบบออนไลน์
นับตั้งแต่ GET เปิดให้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ก็สามารถสร้างยอดบริการสะสม 20 ล้านออเดอร์ จาก Partner คนขับ 50,000 คน Partner ร้านอาหาร 30,000 ร้าน และมียอดดาวน์โหลดแอปทั้งสิ้น 3 ล้านดาวน์โหลด พร้อมยอดรายได้ที่รายงานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในนามบริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล เป็นเงินมากถึง 133.16 ล้านบาท
เมื่อ Gojek เห็นแบบนี้แล้ว ภายหลังจึงได้ Re-branding เปลี่ยนชื่อจาก GET เป็น Gojek อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 กันยายน 2020 และใช้ทีมผู้บริหารเดิมจากประเทศไทยทั้งหมด และมียอดดาวน์โหลดพุ่งไปถึงหลักแสนครั้ง ภายใน 15 วันอีกด้วย ซึ่งโมเดลนี้นอกจากที่จะใช้ที่ประเทศไทยแล้ว ก็ใช้ในประเทศเวียดนาม (Go-Viet) เหมือนกัน
4. มุ่งสู่ Global Brand
Gojek มีวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่ด้วยการที่พาตัวเองไปสู่ Global Brand จึงก้าวไปเจาะตลาดของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย
Gojek ขยายตัวสู่ฟิลิปปินส์โดยเข้าไปซื้อบริษัท Coins.ph ซึ่งเป็นบริษัท FinTech ที่ให้บริการเกี่ยวกับการเงิน เช่น การชำระเงินทางโทรศัพท์หรือรูปแบบอื่นๆ ด้วยเม็ดเงินถึง 72 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ การลงทุนในครั้งนี้นอกจากจะขยายการบริการสู่ประเทศฟิลิปปินส์แล้ว ยังนับเป็นการเพิ่มการเติบโตในส่วนของ GoPay ซึ่งเป็นบริการช่วยในการแลกเปลี่ยนเงิน จ่ายค่าบริการ รวมไปถึงประกันภัยและสินเชื่อ
และการ Re-Branding จาก GoViet ในเวียดนามและจาก GET ในไทย ไปเป็น Gojek ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Gojek ไปสู่ระดับโลกได้ นั่นคือ การมีชื่อแบรนด์ตัวเองเพิ่มขึ้นในอีก 1 ประเทศ นอกจากนั้นยังเพิ่มให้มีประเทศที่รองรับและจำนวน Partner ร้านและคนขับที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
การเป็น Global Brand จะทำให้ประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าสะดวกยิ่งขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปใหม่ เมื่อไปอยู่ในประเทศที่มีการรองรับอยู่แล้ว แต่การบริการของแอปจะปรับเปลี่ยนไปตามท้องถิ่นประเทศนั้นได้เลย
5. Super App แอปเดียวจบครบทุกเรื่อง
ตอนแรก Gojek เชื่ออีกว่าการนำรถจักรยานยนต์เข้ามาใช้งานสามารถส่งมอบหลายสิ่งให้กับผู้บริโภคได้คล่องแคล่วว่องไว จึงเน้นให้บริการรับ-ส่งคน สิ่งของ และอาหารเป็นหลัก จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันเข้ามา
ด้วยความคิดที่ว่าจะเชื่อมต่อทุกจุดของการใช้ชีวิตเข้าด้วยกันไว้ในแอปเดียว การแปรเปลี่ยนตัวเองเป็น Super App ของ Gojek นับว่าเป็นการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้เป็นอย่างมาก เพราะสามารถใช้บริการได้จบภายในแอปเดียวกว่า 20 บริการ เช่น GoRide บริการเรียกรถจักรยานยนต์ GoSend บริการรับ-ส่งพัสดุ GoMart บริการส่งสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ/ซูเปอร์มาร์เก็ต GoPay บริการชำระเงินออนไลน์หรือค่าประกันภัย และด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเข้ามาช่วยเหลือ พวกเขาจึงหาทีมที่มี passion เต็มเปี่ยมร่วมกันสร้าง Gojek ให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
สรุปทั้งหมด
ปัจจุบัน Gojek ถือว่าครองใจชาวอินโดนีเซียไปแล้ว และตอนนี้ก็เริ่มขยับขยายตัวทำการตลาดเพื่อไปครองใจผู้ใช้งานประเทศอื่นอีกด้วย เพราะ Gojek มุ่งให้ความสำคัญและสามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ การมอบประสบการณ์ที่ดีของแอปพลิเคชั่นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคกลับมาใช้งานอีกเรื่อยๆ จึงทำให้ตัวธุรกิจของ Gojek เติบโตขึ้นได้
ถึงแม้ว่าจะกลายเป็นบริษัท Unicorn แต่เส้นทางของ Gojek สู่การเป็น Global Brand ยังถือว่าเพิ่งเริ่มต้นขึ้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากบริษัทที่เริ่มจากแก้ปัญหาที่บ้านตัวเองและมุ่งสู่การให้บริการระดับโลกที่แท้จริง