Telegram แอปดังจากรัสเซียกับกลยุทธ์ที่ (ไม่) ลับสุดยอดที่ทำให้ผู้ใช้ทั่วโลกหลั่งไหลมาใช้งาน
ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารมากมายที่เราคงคุ้นเคยและใช้กันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น WhatsApps แอปแชตที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก, Line ที่ส่วนมากใช้กันในเอเชียรวมถึงในไทยเอง หรือ WeChat แอปจากทางฝั่งจีนที่มีผู้ใช้งานกว่าพันล้านคน
แต่ช่วงนี้เราคงได้ยินชื่อ Telegram กันบ่อยขึ้น เนื่องจากแอปพลิเคชันนี้เป็นช่องทางที่ใช้ในการสื่อสารยอดฮิตในหมู่ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ เช่น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อินโดนีเซีย ฮ่องกง และรวมถึงไทยเองด้วย เพราะว่ากันว่าแอปนี้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่สูงมาก
แต่ทุกคนคงสงสัยว่าทำไมพวกเขาเหล่านั้นถึงเลือกใช้แอปพลิเคชันนี้แทนที่จะเป็นแอปอื่น ๆ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน บทความนี้ The Growth Master จะพาทุกคนไปแนะนำให้รู้จักเจ้าแอปพลิเคชัน #Telegram และพาไปเจาะดูกลยุทธ์ที่ไม่ลับของพวกเขาใช้ว่ามีอะไรกันบ้าง
รู้จัก Telegram แชตแอปพลิเคชันที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกและดังเพียงชั่วข้ามคืนในไทย
Telegram เป็นแอปพลิเคชันที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ในปี 2013 โดยสองพี่น้องชาวรัสเซีย Nikolai Durov และ Pavel Durov ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาเคยก่อตั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ VK ที่เปรียบเสมือน Facebook สัญชาติรัสเซียมาแล้ว โดยเริ่มแรกมีสำนักงานใหญ่ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย และในปัจจุบันยังมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ดูไบ ลอนดอน เบอร์ลิน และสิงคโปร์อีกด้วย
ซึ่ง Telegram เป็นแอปส่งข้อความทั่วไปที่เน้นความรวดเร็วและความปลอดภัยเป็นหลัก ใช้งานได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และเนื่องจาก Telegram เป็นแอปที่เชื่อมต่อข้อมูลบน Cloud นั่นทำให้เรายังสามารถใช้งานบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ในเวลาเดียวกันได้ ทั้งโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อความจะซิงค์กันโดยอัตโนมัติ
ตัวเลขผู้ใช้งานทั่วโลกของ Telegram แอปพลิเคชันที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้จากบุคคลที่สาม
Telegram เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้ฟรี 100% โดยที่ผู้ใช้ไม่มีทางเลือกให้ต้องจ่ายค่าบริการใด ๆ ในนั้นเลย นั่นเป็นเพราะว่าพี่น้อง Durov ทั้งสองคนสนับสนุนเงินจำนวนมหาศาลให้กับ Telegram และไม่ได้ขายข้อมูลใด ๆ ให้กับธุรกิจหรือโฆษณาเจ้าอื่นเลย
ตอนนี้เงินจำนวนนี้ยังเพียงพออยู่ แต่หากประสบปัญหาในอนาคต ก็อาจเสนอทางเลือกอื่นสำหรับการสนับสนุนเงินให้กับ Telegram เข้ามา เพื่อพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานและรายได้ให้กับนักพัฒนาระบบ แต่ Telegram จะไม่พุ่งเป้าที่การแสวงผลกำไรแน่นอน - Telegram
เพราะ Telegram มีจุดมุ่งหมายและให้ความสำคัญอย่างมากกับความเป็นส่วนตัวทางอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ ที่ประกอบไปด้วย
- การปกป้องการสนทนาส่วนตัวของผู้ใช้จากการสอดแนมบุคคลที่สาม เช่น เจ้าหน้าที่นายจ้าง ฯลฯ
- การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้จากบุคคลที่สาม เช่น นักการตลาด นักโฆษณา ฯลฯ
นับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2013 Telegram มีผู้ใช้รายวันเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 คน และในเดือนมีนาคม 2018 แพลตฟอร์มนี้มีผู้ใช้งานลงทะเบียนกว่า 200 ล้านคน
ในเดือนตุลาคม 2019 Telegram ระบุว่ามีจำนวนหมายเลข ID เกินกว่า 100 ล้านหมายเลขแล้ว (ในที่นี้ไม่ใช่จำนวนผู้ใช้งานนะคะ เนื่องจากผู้ใช้หนึ่งคนสามารถลงทะเบียนได้หลาย ID เพราะ Telegram ใช้การเชื่อมต่อกับหมายเลขโทรศัพท์)
และจากคำกล่าวของ Pavel Durov ในเดือนมีนาคม 2019 ตอนนั้น Telegram บันทึกได้ว่ามีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้น 3 ล้านคนต่อวัน จึงได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2021-2023 จะมีผู้ใช้งานจริงมากกว่าพันล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างชัดเจน เพราะว่าตอนนี้มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้ถึง 300,000 - 700,000 คนต่อวันเลยทีเดียว
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ การบล็อกหรือการจำกัดการใช้งาน Telegram จากทางการต่าง ๆ เช่น ในฮ่องกง รวมถึงชาติที่ก่อตั้งอย่างรัสเซียเอง Telegram ก็ยังคงติดอันดับท็อป 3 แอปที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศอยู่ดี ในขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่าแม้แต่รัฐบาลเองก็ห้ามผู้คนและยังทำอะไรความปลอดภัยของแอปนี้ไม่ได้
นอกจากนั้นยังมีสถานการณ์คล้าย ๆ กันที่เกิดขึ้นในอิหร่าน แม้จะมีการบล็อกการใช้งานเกิดขึ้นโดยรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นผู้ใช้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น 56% ของประชากรทั้งประเทศ (50 ล้านคน) ยังคงใช้งาน Telegram
และเมื่อเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา Telegram มีผู้ใช้ต่อเดือนอยู่ที่ 400 ล้านคน มีผู้ใช้ใหม่อย่างต่ำคิดเป็น 1.5 ล้านคนต่อวัน จากตัวเลขเหล่านี้เราสามารถพูดได้ว่า Telegram เป็นเครื่องมือที่ผู้คนนับล้านทั่วโลกใช้ และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยในอนาคตตามที่คาดการณ์เอาไว้อย่างแน่นอน
ปัจจุบัน Telegram เป็นแอปแชตที่มีผู้ใช้งานต่อเดือนสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลกอีกด้วย ถ้าเปรียบเทียบกับแอปดังระดับโลกอย่าง WhatsApp 2 พันล้านคน Facebook Messenger 1.3 พันล้านคน WeChat 1.2 พันล้านคน QQ 694 ล้านคน และ Telegram 400 ล้านคน
การมอบประสบการณ์ดี ๆ ในการใช้งานให้กับผู้ใช้ของ Telegram
ถ้าใครเคยใช้งานแอปพลิเคชันนี้มาแล้ว อาจจะได้สัมผัสกับฟีเจอร์แปลกใหม่ ที่เราไม่เคยพบเจอในแอปติดต่อสื่อสารที่เราใช้ทั่วไป และวันนี้ The Growth Master จะพาทุกคนไปดูฟีเจอร์ใช้งานที่แปลกใหม่ของ Telegram กันค่ะ
1. Secret Chats แชตลับสุดยอด
Secret Chats มีไว้สำหรับผู้ที่ต้องการความลับมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งจะใช้ฟีเจอร์นี้ได้เราต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้งานทั้งสองฝ่ายก่อน (Client-to-Client Encryption) ข้อความบทสนทนาทั้งหมดจะใช้การเข้ารหัสปลายทาง (End-to-End Encryption) และสิ่งที่เราคุยกันจะไม่หลงเหลือร่องรอยให้ใครกลับมาถอดรหัสนั้นได้รวมถึงตัว Telegram เองด้วย
นอกจากนั้น เราไม่สามารถส่งต่อบทสนทนาจาก Secret Chats ได้ และถ้าเราลบข้อความนั้นออกไป ข้อความที่ถูกส่งไปยังคู่สนทนาของเราก็จะถูกลบออกไปด้วย รวมถึงเราสามารถตั้งเวลาให้ลบข้อมูลตัวเองได้ตลอดเวลา (Self-destruct Timer) อีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้ Telegram ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้ใช้งานทั่วโลกนั่นเอง
2. Cloud Chats ข้อมูลอยู่ครบปลอดภัยหายห่วง
Telegram ใช้การส่งข้อความบน Cloud โดยใช้การเข้ารหัสแบบ Client-Server/Server-Client Encryption ซึ่งจะทำให้ข้อความของเรานั้นปลอดภัยแน่นอน และสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายบนอุปกรณ์หลายเครื่องพร้อมกัน
และสมมติว่าเราทำอุปกรณ์ของเราหาย ถ้าเปรียบเทียบกับแอปแชตเจ้าดังอื่น ๆ แล้ว อย่าง WhatsApp หรือ Line ที่ให้เราสำรองข้อมูลแบบถอดรหัส (Decryptable Backups) เอาไว้ได้ แต่นั่นก็ยังทำให้ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ตกอยู่ในความเสี่ยงอยู่ดี แม้ว่าเราจะไม่ได้เปิดใช้งานการสำรองข้อมูลด้วยตนเองก็ตาม
Telegram จึงมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ต่างจากแอปแชตเจ้าอื่น คือ ปิดใช้งานการสำรองข้อมูลระบบเริ่มต้น (Default System Backups) และสำรองข้อมูลไว้บน Cloud Chats แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ต้องห่วงว่าข้อความใน Secret Chats จะหลุดออกไปด้วย ฟีเจอร์นี้เป็นแบบเดียวที่ไม่ใช้การเข้ารหัสแบบนี้ แต่จะใช้การเข้ารหัสแบบ Client-to-Client Encryption แทนและใช้ได้แค่เครื่องต่อเครื่องเท่านั้น
3. Group ขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพ
Telegram มี Group ที่สามารถจุสมาชิกได้มากถึง 200,000 คน จากที่เราเคยสัมผัสมา ไม่มีแอปพลิเคชันแชตเจ้าไหนที่สามารถมีสมาชิกได้มากขนาดนี้เลย อย่าง Line ที่ชาวเอเชียในแถบญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทยเองนิยมใช้กันก็ยังสามารถจุสมาชิกได้เพียง 500 คนเท่านั้น และถึงแม้ว่า Line จะออกฟีเจอร์ ‘Squares’ มาใหม่ในปี 2018 แต่ก็เพิ่มคนได้แค่ 5,000 คนเท่านั้น ถือว่ายังน้อยกว่า Telegram ถึง 40 เท่า!
นอกจากนั้น เมื่อมีคนใหม่เข้ามาใน Group สามารถเลือกได้ว่าจะให้คนนั้นเห็นข้อความย้อนหลังได้หรือไม่ ซึ่งข้อนี้นับว่าสะดวกมาก เราจะได้ไม่ต้องพิมพ์ย้อนหลังกันหลายรอบ แถมยังสร้างช่องทางเอาไว้ประกาศข่าวจาก Admin ได้ และยังสามารถตั้งค่า Admin เป็นแบบไม่ระบุตัวตนได้ และยังมีเครื่องมือสำหรับ Admin ที่ช่วยรักษาความสงบได้อีกด้วย
มาตรการรักษาความปลอดภัยของ Telegram ที่รัฐบาลรัสเซียยังต้องยอมแพ้
ในขณะที่รัฐบาลต่าง ๆ พากันแบนการใช้งานของ Telegram แต่พวกเขาก็ยังมีวิธีการสุดแสบที่พาผู้ใช้งานหนีปัญหานี้ได้
เราขอยกตัวอย่างจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัสเซียพยายามปิดกั้นในการให้บริการในเดือนเมษายน 2018 แต่ก็ดันมีบริการด้านออนไลน์อื่นๆ ของรัสเซียที่โดนร่างแหเกิดปัญหาไปด้วย เช่น Viber แอปส่งข้อความและ Voice call, Volvo แอปพลิเคชันบน Cloud สำหรับรถยนต์ และแอปที่ควบคุมกล้องวิดีโอ Xiaomi
นั่นเป็นเพราะว่าวิธีที่รัสเซียพยายามแบน Telegram ก็คือการแบนผ่านรหัส IP ที่ตัว Telegram ใช้งาน แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะทาง Telegram ใช้เทคนิคทางอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า Domain Fronting
Domain Fronting คือ การเปลื่ยน IP ของ Telegram ให้เป็นเหมือน IP ของ Google แทนทำให้ระบบไม่สามารถรู้ได้เลยว่า IP ไหนเป็นของ Google หรือ Telegram - Joss Wright, Senior Research Fellow, Co-Director of the Oxford EPSRC Cybersecurity Doctoral Training Centre
กล่าวคือ Telegram จะใช้ตัวเซิร์ฟเวอร์ของ Google และ Amazon ในการซ่อนรหัส IP ในการเชื่อมต่อ ทำให้หลาย ๆ ครั้งทางรัฐบาลรัสเซียไม่สามารถระบุ IP ที่แน่นอนของ Telegram ได้ จนทำให้เกิดการแบน IP ที่ผิดพลาด ส่งผลให้บริการบางอย่างของ Google และ Amazon เกิดการขัดข้องชั่วคราว และสร้างปัญหาให้กับผู้ใช้งานมากมาย
นอกจากนั้น ผู้ใช้งานชาวรัสเซียรวมถึงตัว Telegram เองก็ยังใช้ VPN และ SOCKS proxy ในการเปลี่ยนรหัส IP เพื่อใช้ตัวแอปได้อยู่ดี ด้วยเหตุนี้ ทำให้ความพยายามที่จะบล็อก Telegram ของรัฐบาลรัสเซียต้องยกเลิกไปในที่สุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา และผู้ใช้งานชาวรัสเซียก็ยังสามารถใช้แอปนี้ได้
สรุปทั้งหมด
ในตอนนี้ถือว่า Telegram ได้รับการยอมรับอย่างเป็นวงกว้างเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่เฉพาะในกลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้ชุมนุมประท้วงต่าง ๆ เท่านั้น เพราะด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ในการรักษาความปลอดภัยและห่วงแหนความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ยิ่งกว่ามุ่งเป้าไปยังผลกำไร ทำให้มีคนจำนวนมากหลั่งไหลมาใช้งานอย่างไม่ขาดสาย
และถึงแม้ว่าจะมีรัฐบาลจากหลายประเทศพยายามจะแบนแอปนี้ก็ไม่สำเร็จ เพราะระบบปลอดภัยสูงจนไม่สามารถต้านทานได้ และเผลอ ๆ ยังพาทำธุรกิจภาคอื่น ๆ โดนลูกหลงไปด้วย นี่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาอีกหนึ่งธุรกิจที่มีเป้าหมายต่างออกไปจากธุรกิจอื่นมาก เพราะไม่ได้หวังผลกำไร แต่หวังที่จะปกป้องความปลอดภัยของผู้ใช้แทน