และแล้วเทศกาลแห่งความรักก็เวียนมาบรรจบครบรอบอีกหนึ่งปี ส่วนตัวฉันเองก็เปล่าเปลี่ยวหัวใจเหมือนเดิม คงจะดีไม่น้อยเลยนะ ถ้ามีใครสักคนมาคุยด้วยในวันแบบนี้
เชื่อว่าหลายคนกำลังรู้สึกแบบนี้ใช่ไหมล่ะ แต่ว่าวันปกติ ลำพังจะให้เดินออกไปทักทายคนแปลกหน้ากันตรง ๆ ก็ไม่กล้า แถมช่วงนี้ Covid-19 ก็ยังระบาดอยู่อีก ทำให้ฝันที่จะออกไปเดินเล่นที่ห้าง เดินชมวิวในเมืองกรุง ใช้ชีวิตเสพศิลป์ตามแกลเลอรี่ต่าง ๆ หรือนั่งร้านรวงเอยที่มีโอกาสจะได้พบเจอเนื้อคู่ก็เป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก
นั่นแหละเทคโนโลยีจึงเข้ามาลดช่องว่างตรงนี้ออกไป และเป็นต้นกำเนิดของการเกิดแอปพลิเคชัน Tinder ขึ้นมา ซึ่งถ้าจะให้พูดกันตรง ๆ Tinder ก็คือ แอปพลิเคชันที่เอาไว้หาคู่ ถ้าเราปัดซ้ายแสดงว่าเราไม่ชอบคนนั้น แต่ถ้าเราปัดขวาแล้วไป Match กับอีกคนนึง นั่นแหละมันคือโอกาสทองที่จะทำให้เราได้รู้จักกับคน ๆ นั้น (หรืออาจเป็นคู่จริงในอนาคตก็ได้นะ)
บทความนี้ เราจึงจะมาบอกวิธีปัดยังไงถึงจะให้ทุกคน Match กับคนที่ชอบ เฮ้ยยย ผิดประเด็นแล้ว เอาใหม่! วันนี้ The Growth Master จะพาทุกคนไปดูเส้นทางความเป็นมาของแอปพลิเคชันนี้ และดูว่าการที่มีผู้คนมาปัดซ้ายปัดขวาบนแพลตฟอร์มนี้ จะทำให้เขามีการเติบโตขนาดไหน ไปปัดกันต่อเลย!!
ก่อนที่จะได้ปัดขวาเจอรักแท้ Tinder มีเส้นทางความเป็นมายังไงกันนะ?
ในเดือนมกราคม 2012 Sean Rad (CEO ของ Tinder) ได้รับการว่าจ้างจาก Dinesh Moorjani CEO ของศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ Hatch Labs ในการเข้ามาเป็น General Manager ของแอปพลิเคชันสะสมคะแนนบัตรเครดิต Cardify
ต่อมา เขาถูกแนะนำให้รู้จักกับวิศวกรที่ชื่อ Joe Munoz (ซึ่งกลายมาเป็น CTO ของ Tinder) พวกเขาร่วมกันสร้าง Prototype สำหรับ MatchBox แอปหาคู่ในการแข่งขัน Hackathon เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2012
ซึ่งแนวคิดที่ทำให้ Rad เกิดแรงผลักดันในการสร้างแอปหาคู่ขึ้นมา เกิดจากการสังเกตของเขาเองว่า "ไม่ว่าแต่ละคนจะเป็นใคร แล้วคน ๆ นั้นก็รู้สึกสบายใจที่จะเข้าหาอีกคนหนึ่ง หากได้รู้ว่าอีกฝั่งก็อยากทำความรู้จักเหมือนกัน"
“No matter who you are, you feel extra comfortable approaching somebody if you know they want you to approach them.” - Sean Rad
แล้วเขายังเชื่ออีกว่า การที่ได้ทำความรู้จักกับใครสักคนสองครั้ง (Double Opt-in) จะช่วยลดช่องว่างในการเดินเข้าไปทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าให้กับผู้คนอีกด้วย (ในทีนี้คิดว่า การที่เราได้พูดคุยกันในแอปครั้งนึง แล้วก็นัดเจอกันอีกครั้งนึงหมายถึงการ Double Opt-in แบบที่ Rad บอกมา)
ในเดือนมีนาคม 2012 Jonathan Badeen ได้เข้ามาเป็น Front-End Operator (ต่อมากลายเป็น CSO) และ Chris Gulczynski (ต่อมากลายเป็น CCO) ได้เข้ามาเป็น Designer และเป็นคนที่ออกแบบโลโก้เปลวไฟ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อจาก MatchBox เป็น Tinder ในภายหลัง
ทีมงานของเขาทั้งหมดทำงานที่ออฟฟิศส่วนตัวของ Justin Mateen ซึ่งรู้จักกับ Rad มาตั้งแต่อายุ 14 ปี และยังเคยเรียนที่มหาวิทยาลัย Southern California นอกจากนั้น ยังกลายเป็นผู้ประกอบการในเวลาเดียวกันกับ Rad อีกด้วย (แต่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ MatchBox) ซึ่งต่อมาภายหลัง Rad ก็ชวนให้ Mateen มาทำงานด้วยกันในฐานะ CMO ของบริษัท
ในเดือนสิงหาคม 2012 Matchbox ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Tinder เพื่อให้เข้ากับโลโก้ และถูกทดลองในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง จนขยายไปยังวิทยาเขตอื่น ๆ อย่างรวดเร็วอีกด้วย และเปิดให้ใช้จริงในช่วงกันยายนปี 2012 บน App Store
ต่อมาก็ได้รับรางวัล “Best New Startup of 2013” จาก TechCrunch และถือว่าเป็นหนึ่งในแอปหาคู่ที่ร้อนแรงที่สุดในปัจจุบัน มีการดาวน์โหลดมากกว่า 340 ล้านครั้ง และมีให้บริการใน 190 ประเทศทั่วโลก ในภาษามากกว่า 40 ภาษา
ตัวเลขการเติบโตที่เกิดจากการหาคู่ของผู้คนบน Tinder
ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา แอปพลิเคชันหัวเชื้อจุดไฟ (Tinder) ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่ขาดไม่ได้สำหรับการออกเดตในยุคดิจิทัลนี้
จากกราฟ เราจะเห็นได้ว่า Tinder มีจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกไตรมาสตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา จนถึงไตรมาสแรกของปี 2020
โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 ตัวเลขของผู้ใช้ Tinder แบบชำระเงิน Match Group รายงานว่ามีผู้ใช้ Tinder เฉลี่ย 5.9 ล้านคน ส่วนในไตรมาสแรกของปี 2020 มีสมาชิกที่ใช้ Tinder แบบชำระเงิน 6.03 ล้านคนทั่วโลก
ซึ่ง Tinder เป็นแอปพลิเคชันของบริษัทหาคู่ออนไลน์ Match Group ที่ถูกสร้างขึ้นใน Hatch Labs โครงการพัฒนาบริษัทสตาร์ตอัปของบริษัท InterActiveCorp (IAC) ต่อมา Tinder ก็ได้แยกตัวออกมาจาก IAC เมื่อกลางปี 2020
นอกจากนั้น ข้อมูลของ Airnow ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 Tinder แอปหาคู่ออนไลน์สร้างรายได้ 11.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 331.44 ล้านบาท)จากอุปกรณ์ iOS ซึ่งเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่เดียว คิดเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่ Tinder ทำได้จากทั่วทั้ง App Store รองลงมาคือ เยอรมนี 4.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 125.75 ล้านบาท) และตามมาติด ๆ ด้วยบราซิล 3.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 103.29 ล้านบาท)
การหาคู่ออนไลน์ดำเนินไปอย่างลึกซึ้งในตลาดสำคัญต่าง ๆ จากสถิติของ Pew Research Center ในปี 2020 พบว่า 30% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯใช้แอปหาคู่ (เพิ่มขึ้นจาก 11% ในปี 2013) โดย 23% ไปออกเดตกัน และ 12% พบว่าบุคคลเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ระยะยาวในการหาคู่จากแอปนี้
ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2020 Tinder อยู่ในอันดับที่ 179 ที่มีคนดาวน์โหลดแอปสูงสุดใน Google Play Store แม้ว่าเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2020 จะอยู่อันดับที่ 123 ซึ่งจัดว่าเป็นอันดับที่ 4 ของหมวดหมู่ Lifestyle แต่กลางเดือนมีนาคม 2020 ลดลงมาอยู่อันดับที่ 7
ใครบ้างที่ใช้ Tinder?
ฮั่นแน่ ! รู้นะว่าพวกคุณก็เป็นหนึ่งในนั้นหมือนกัน ดูออกน้าาา
ในปี 2017 GlobalWebIndex ยั่วความโกรธจาก Tinder โดยอ้างว่า มีผู้ใช้เพียง 38% ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี และอีก 45% คือ ผู้ใช้ในช่วงอายุ 25-34 ปี ในทางกลับกัน Tinder ออกมาโต้แย้งว่าฐานผู้ใช้ของพวกเขาเกิน 50% คือ ช่วงอายุ 18-24 ปี ต่างหาก
และการสำรวจของ GlobalWebIndex ยังแสดงให้เห็นว่า 76% ของผู้ใช้ Tinder อาศัยอยู่ในเขตเมือง ในขณะที่ 17% อยู่ชานเมือง และ 7% ในชนบท นอกจากนั้น ตามที่พบในแหล่งข้อมูลอื่น ๆ (ดูจากรูปภาพด้านล่าง) จำนวนผู้ใช้งานที่เป็นผู้ชายมีจำนวนมากกว่าผู้หญิง คิดเป็นอัตราส่วน 2:1
ในสหรัฐอเมริกาผู้ใช้ Tinder เอียงไปทางฝั่งผู้ชายค่อนข้างมาก ในเดือนธันวาคม 2019 คาดว่าผู้ใช้ Tinder 78.1% เป็นผู้ชาย เมื่อเทียบกับผู้หญิง 21.9%
ส่วนในสหราชอาณาจักร (UK) Ogury ประเมินว่า 85% ของ Tinder เป็นผู้ชาย ในเดือนเมษายน 2019 คิดเป็นอัตราส่วน 9:1 สำหรับผู้ใช้ผู้ชายต่อผู้หญิง
แต่อย่างไรก็ตาม Tinder ไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้งานของตัวเองเลย ยกเว้นจะบอกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้อยู่ใน Generation Z (ผู้ที่เกิดในช่วงกลางทศวรรษที่ 90) ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดในช่วงยุค 20s นี้อีกด้วย
กลยุทธ์การเติบโตของ Tinder ที่ดีกว่าแอปหาคู่อื่น ๆ ถึง 10 เท่า!
วันนี้ The Growth Master จะพาไปดูว่า Tinder ใช้กลยุทธ์อะไรถึงได้รับความนิยมมาจนเกือบ 10 ปีแล้ว และดูไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเติบโตเลย ไปหาคำตอบกันต่อได้เลยค่ะ
1. สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน
Tinder ได้สร้างแอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์ที่ตอบโจทย์ประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experience) ได้ดีมาก ๆ เลยทีเดียวในด้านต่าง ๆ เช่น
- สามารถเข้าถึงได้ทันที : แอปพลิเคชันหาคู่ต่าง ๆ ก็มักจะทำให้ผู้ใช้เข้ามาใช้งานได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด ซึ่งปัจจุบัน Tinder ก็ทำให้การสมัครใช้งานง่ายขึ้นมากกว่าเดิม คือ ลงทะเบียนโดยการเชื่อมข้อมูลกับ Facebook, Apple หรือเบอร์โทรศัพท์ เพียงคลิกเดียวก็ได้แล้ว
- Hyper Local Geo Targeting : โดยทั่วไปแล้วบริการแอปหาคู่จะใช้ตำแหน่งที่ตั้งของคุณ เพื่อค้นหาคู่เดตของคุณในรัศมี 50 ไมล์ (ประมาณ 8.05 กิโลเมตร) หรือมากกว่านั้น ทำให้เมื่อคุณ Match กับใครสักคน ต้องใช้เวลาออกเดินทางหรือวางแผน เพื่อไปเดตด้วยกัน
แต่ Tinder สามารถทำให้คุณสามารถไปออกเดตได้ภายใน 15 นาทีเลย เนื่องจากจะแสดงให้เห็นผู้คนที่อยู่ห่างจากคุณไม่เกินรัศมี 1 ไมล์ (หรือประมาณ 1.6 กิโลเมตร) เรียกได้ว่าปัดแล้ว Match ปุ๊บก็เดินออกไปเดตกันได้เลย รวดเร็วทันใจวัยรุ่นมากจริง ๆ แต่ถ้าเราไม่อยากเจอแค่คนใกล้ ๆ ตัว ก็สามารถปรับรัศมีการค้นหาออกไปได้ไกลถึง 160 กิโลเมตรเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ที่โปรไฟล์ของทั้งเขาและเราก็จะโชว์ระยะทางด้วยว่าเราอยู่ใกล้หรือไกลกันแค่ไหน ซึ่งระยะทางที่โชว์ถือว่าค่อนข้างทำได้ดีและตรงเป๊ะเลยทีเดียว สมมติว่า เราอยู่กรุงเทพฯ แล้วคุยกับคนที่พัทยา ระยะทางก็จะขึ้นว่า 150 กิโลเมตร
แต่พอเราคุยกับคนนึงอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วเขาก็บอกเราว่าเขาก็อยู่กรุงเทพฯ เหมือนกัน แต่บนโปรไฟล์ดันโชว์ว่าอยู่ห่างออกไป 100 กิโลเมตร (มันก็แปลก ๆ แล้วใช่ไหม) ก็แสดงว่าเขาต้องปิดบังอะไรบางอย่างกับเรานั่นเอง
- Swipe ไปก่อนเดี๋ยว Match เอง : Tinder ตอนที่ออกมาใหม่ ๆ เอง ก็ทำให้ผู้ใช้หลายคนว้าวได้เหมือนกันนะ เพราะฟังก์ชั่นการใช้งานแบบ ‘Swipe’ นี่แหละ ไม่ถูกใจ (Nope) ก็ปัดไปทางซ้าย ถูกใจ (Like) ก็ปัดขวา หรือถ้าชอบมาก ชอบไม่ไหวแล้ว (Super Like) ก็ปัดขึ้นบน ซึ่งมันเป็นฟังก์ชั่นที่แปลกใหม่ แต่กลับเข้าถึงผู้ใช้ได้ง่ายมาก และกลายเป็นจุดขายของแอปพลิเคชันในที่สุด จนมีคำพูดติดปากกันว่า ‘ปัด Tinder’ นั่นเอง
2. Tinder Subscription ครบเครื่องเรื่องหาคู่
*หัวข้อนี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาว
Tinder เป็นแอปพลิเคชันหาคู่หรือจะเอาไว้เพื่อหาเพื่อนคุยเฉย ๆ ก็ได้ ที่ให้เราใช้งานได้ฟรีเลย แต่ว่าถ้าใครอยากได้สิทธิพิเศษมากกว่านั้น ก็ต้องยอมจ่ายเงินสมัครสมาชิก เพื่อเพิ่มโอกาสในการ Match สักหน่อย โดยจะมี 3 แพ็กเกจให้เลือกด้วยกัน เราจะได้รับสิทธิพิเศษที่แตกต่างกันไปในแต่ละแพ็กเกจ ซึ่งจะประกอบไปด้วย
Tinder Plus
เมื่ออัปเกรดเป็น Tinder Plus แล้วจะทำให้…
เราสามารถ Like ได้ไม่จำกัด (ปัดขวาหรือหัวใจสีเขียว) ซึ่งปกติแล้วเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า Tinder ให้เรา Like ได้กี่ครั้ง แต่ถ้าติดลิมิตแล้วต้องรออีก 12 ชั่วโมงถึงจะกลับมาปัดได้อีกครั้ง (รอนาน ๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจนะ กดจ่ายตังไปเลยดีกว่า)
Rewind (ลูกศรสีเหลือง) คือ ฟีเจอร์สำหรับคนที่ชอบมือลั่นปัดผิดทาง (จะปัดขวา แต่ดันไปปัดซ้าย) ซึ่งจะทำให้สามารถเรียกเขาหรือเธอคนนั้นกลับมาใหม่อีกครั้งนึง แต่ต้องเป็นเฉพาะคนล่าสุดที่ปัดไปเท่านั้นนะ คนก่อนหน้านั้น 2 คน นาซ่าก็พาเขา/เธอกลับมาไม่ได้หรอกนะ (ก็น่าจะเหลือแต่พรหมลิขิตในชีวิตจริงนี่แหละที่ช่วยได้)
Super Likes 5 ครั้งต่อวัน (ดาวสีฟ้า) คือ ฟีเจอร์ที่เอาไว้ปัดให้คนที่ชอบมาก ๆ เพื่อให้โปรไฟล์ของเราไปโชว์ใน Card Stack ของพวกเขา เพื่อเน้นว่าเรากด Super Like คุณนะโดยจะมีเส้นขอบสีน้ำเงินขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มโอกาสให้เราได้ Match กับเขามากขึ้น
Boost 1 ครั้งต่อเดือน (สายฟ้าสีม่วง) คือ ฟีเจอร์ที่ช่วยดันให้โปรไฟล์ของเราไปโชว์เป็นโปรไฟล์แรก ๆ ในพื้นที่ที่เราอยู่นานเกิน 30 นาที เพื่อให้คนที่อยู่ในระแวกเดียวกับเราเห็นโปรไฟล์ของเราก่อนใคร ซึ่ง Tinder บอกว่าจะทำให้เรามีผู้เข้าชมโปรไฟล์สูงขึ้นถึง 10 เท่าอีกด้วยในระหว่างที่เรา Boost
Passport คือ ฟีเจอร์ที่ช่วยให้เราสามารถ Match และพูดคุยได้กับคนทั่วโลก (จากที่เคยทำได้แค่สูงสุด 160 กิโลเมตร) โดยทำเพียงแค่ค้นหาชื่อเมือง และปักหมุดลงไปบนแผนที่ (เช่น ตัวอยู่ไทย แต่ใจอยู่ที่เยอรมันก็สามารถบินทิพย์ไปปัด Tinder ที่นั่นได้) แล้วคนที่เราไปกด Like ในระหว่างที่ใช้ฟีเจอร์ Passport จะมองเห็นโปรไฟล์ของเราได้สูงสุด 24 ชั่วโมง หลังจากที่เราเปลี่ยนตำแหน่ง (เห็นไหมระยะทางก็ไม่สามารถห้ามความรักระหว่างเราได้)
ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน ปี 2020 ในช่วง Lockdown ระหว่างการระบาดของ Covid-19 ทุกคนไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ทาง Tinder จึงได้เปิดให้ทุกคนได้ใช้ฟีเจอร์นี้ฟรีอีกด้วย (เหงา ๆ อยากหาเพื่อนคุย หรืออยากฝึกภาษา ก็สามารถปักหมุดที่ต่างประเทศได้เลย โดยที่ไม่ต้องเก็บกระเป๋าออกเดินทาง สุดปังไปเลย)
ไม่มีโฆษณาคั่น : Tinder ก็คล้าย ๆ กับแอปพลิเคชันอื่น ๆ เมื่อเราปัดไปสักพักก็จะมีโฆษณามาคั่น ถ้าเราเสียเงินแล้วแน่นอนว่าเจ้าโฆษณาก็จะไม่มากวนใจเราระหว่างการปัดเพลิน ๆ อีกเลย
Tinder Gold
สำหรับ Tinder Gold เราจะสามารถเข้าถึงฟีเจอร์เหมือน Tinder Plus ทั้งหมด แต่ที่พิเศษไปกว่านั้น คือ ฟีเจอร์ Likes You และ Top Picks
Likes You คือ ฟีเจอร์ที่ทำให้เรามองเห็นว่า ใครคนกด Like เราบ้าง ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะกด Like (ปัดขวา) หรือ Nope (ปัดซ้าย) ให้เขา (เป็นไงล่ะ พอเปลี่ยนมาใช้ Gold เราก็มีสิทธิ์เลือกเหมือนกันนะ เจ๋งไปเลย!)
Top Picks คือ ฟีเจอร์ที่ Tinder จะคัดเลือกโปรไฟล์คนที่น่าจะเข้ากับเราได้ดีที่สุด มาให้เราดูว่าใครที่น่าจะเป็นว่าที่คู่ Match ที่ควรค่าแก่การปัดของเรามากที่สุด ซึ่งปกติแล้วผู้ใช้ทั่วไปจะได้เห็น Top Picks แค่ 1 คนต่อวัน แต่สำหรับ Gold และ Platinum จะเห็น Top Picks แบบเป็นกลุ่ม ๆ เลยทุกวัน และรีเฟรชใหม่ทุก 24 ชั่วโมงอีกด้วย (แต่คือถ้าไม่รีบปัดเขา/เธอก็จะหายไปเลยนะ)
Tinder Platinum
Tinder Platinum ก็จะได้แบบเดียวกับ Plus และ Gold รวมถึงฟีเจอร์พิเศษที่เพิ่มขึ้นมาอีก 2 อย่าง ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการ Match ให้กับเรามากกว่าเดิม ได้แก่ Priority Likes และ Message Before Match
Priority Likes คือ ฟีเจอร์ที่ Exclusive สุด ๆ สำหรับสมาชิก Tinder Platinum ที่จะทำให้ Like หรือ Super Like ของเราที่กดไปหาคนนั้น ไปโชว์ก่อนคนที่ไม่ได้สมัครสมาชิกกับ Tinder ซึ่งหมายความว่า Like ของเราจะถูกแทรกคิวจัดลำดับความสำคัญให้ก่อนใครเลย
Message Before Match คือ ฟีเจอร์ที่เราสามารถแนบข้อความไปกับ Super Like ของเรา เมื่อเราฝากข้อความไป เขา/เธอคนนั้นก็จะเห็นข้อความในโปรไฟล์ของเราก่อนที่เขาจะกด Like หรือ Nope ใส่เรามา ซึ่งจะทำให้เราบอกพวกเขาได้ว่า เราชอบเขา/เธอเพราะอะไร? สามารถเขียนได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร (นาทีนี้แหละถ้าใครแต่งกลอนได้แต่งเลย โอกาสมาถึงคุณแล้ว ถ้าพวกเขาชอบกลอนของเราโอกาสในการ Match ก็จะเพิ่มขึ้นไปอีกนะ)
สำหรับราคา Tinder Plus จะมีตั้งแต่ 169 บาท (1 เดือน), 699 บาท (6 เดือน) และ 1,050 บาท (12 เดือน) ส่วน Tinder Gold 279 บาท (1 เดือน), 1,020 บาท (6 เดือน) และ 1,550 บาท (12 เดือน) และใครที่อยากอัปเกรดเป็น Tinder Platinum ก็ 369 บาทต่อเดือน
เรียกได้ว่าใครที่อยากเพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้มีเพื่อนคุยมากขึ้น การสมัครสมาชิกกับ Tinder ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุ้มค่าเหมือนกัน แต่ก็ควรเลือกให้เหมาะสมพอดีตรงกับความต้องการของแต่ละคนด้วยเช่นกัน
3. โฆษณาจาก Facebook
จากที่ Tinder มีจำนวนผู้ใช้มากกว่า 57 ล้านบัญชี ด้วยตัวเลขที่ชวนตาลุกวาวขนาดนี้ มีเหรอที่เหล่านักการตลาดต่าง ๆ จะปล่อยให้ Tinder เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีโฆษณาจากแบรนด์ใด ๆ มาแปะอยู่บนนั้นเลย อย่างที่บอกไปว่าถ้าใครไม่ได้สมัครสมาชิกกับ Tinder ก็ต้องยอมเจอโฆษณาไประหว่างที่กำลังปัดอยู่ ซึ่งหน้าตาของโฆษณาก็มีรูปร่างดังตัวอย่างทางด้านล่างนี้
ในเมื่อ Tinder สามารถเชื่อมต่อโดยใช้ Account จาก Facebook ได้ โฆษณาที่แสดงเหล่านี้ก็มาจาก Facebook ได้เหมือนกัน
ถ้าใครที่ลงโฆษณาบน Facebook แล้วเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่ม Millenials (กลุ่มที่มีช่วงอายุ 21-37 ปี) ทาง Facebook ก็จะนำโฆษณาเหล่านั้นมาลงยัง Tinder ด้วย (ถ้าผู้ลงโฆษณาไม่ได้เลือกตำแหน่งเครือข่ายผู้ชม) เพราะ Tinder ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มของ Facebook Audience Network เหมือนกัน ที่คือ กลุ่มแอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ผู้โฆษณาบน Facebook สามารถแสดงโฆษณาได้โดยใช้เครื่องมือการกำหนดเป้าหมายและการวัดผลแบบเดียวกับที่พวกเขาใช้บน Facebook
4. แสดงความชอบหรือไลฟ์สไตล์ให้ผู้อื่นเห็น
Tinder สามารถเชื่อมต่อกับ Instagram ได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว Instagram ก็เป็นแพลตฟอร์มที่เราสามารถเห็นไลฟ์สไตล์ของคนผ่านรูปภาพได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว แล้วคนใน Tinder อย่างเรา ๆ ก็อยากจะส่อง Instagram ของผู้คนเหล่านั้นอยู่แล้ว
Tinder จึงยก Instagram มาไว้บนโปรไฟล์ของคนนั้น ๆ เลย และที่สำคัญผู้ใช้งานจะได้ไม่ต้องสลับแอปไปมาระหว่าง Tinder และ Instagram ด้วย เราสามารถส่อง IG ของคนนั้นได้โปรไฟล์ Tinder ได้เลย ซึ่งฟีเจอร์นี้ถือว่า Tinder รู้ใจผู้งานได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
และ Tinder ยังสามารถเชื่อมต่อกับ Spotify ได้เหมือนกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศิลปิน วงดนตรี หรือเพลงที่ชอบให้กับผู้อื่นได้รับรู้ โดยทาง Tinder บอกว่านำฟีเจอร์ดนตรีนี้มาใช้ จะเป็นโอกาสในการดึงดูดความสนใจให้ Match กับผู้อื่นมากขึ้น และโอกาสในการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ ก็มีมากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนั้น การใส่ Hashtag เอาไว้ที่โปรไฟล์ของแต่ละคนก็เป็นการบ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์ความชอบเหมือนกัน เช่น เหล่าทาสแมว ก็จะใส่ #CatLover, #MusicLover, #Backpacker พอคนที่จะมาปัดรู้ว่า ‘อ้าว คนนี้ก็ทาสแมวเหมือนกัน, อ้าว คนนั้นชอบฟังเพลง, อ้าว คนโน้นสายแบกเป้เที่ยวนี่นา’ ก็เพิ่มโอกาสในการ Match กันมากขึ้นไปอีก และในเมื่อคนสองคนมีไลฟ์สไตล์ที่คล้าย ๆ กัน ก็จะได้มีเรื่องคุยกันมากขึ้นอีกด้วย
5. ปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์
ภาพลักษณ์แบรนด์ของ Tinder โดยทั่วไปทุกคนมักจะมองว่าเป็นแอปหาคู่เดต หรือว่าเป็นขั้นกว่าของการหาคู่ไปเลยก็มี แต่อย่างไรก็ตาม Tinder ได้ออกแคมเปญ ‘เพื่อนสัมพันธ์’ มาเมื่อปลายปี 2020 เพื่อเป็นการปรับภาพลักษณ์ว่าตัวเองไม่ได้เป็นแอปแบบที่ทุกคนคิดกัน แต่ Tinder เป็นแอปที่สามารถหาเพื่อนคุยหรือหา Connection ใหม่ ๆ ได้ด้วยเหมือนกัน
ที่สำคัญ การปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการขยายฐานผู้ใช้งานไปในตัว และเปิดโอกาสให้คนที่ยังไม่เคยใช้แอปนี้ มาลองใช้กันด้วย เนื่องจากพวกเขาอาจมีภาพจำว่า Tinder เป็นเพียงแอปที่เอาไว้หาคู่เดต และเน้นหนักไปทางเรื่องเพศมากกว่า จนไม่เปิดใจลองมาใช้แอปนี้ ถ้ามีคนมอง Tinder ในภาพแบบนั้นมากเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อแบรนด์เองต่อไปในอนาคตอีกด้วย
จากประสบการณ์การใช้งานของผู้คนรอบข้างทีม The Growth Master เองที่ได้เคยใช้แอปนี้มา ทุกคนบอกว่าตัวเองก็ได้เพื่อนดี ๆ จากแอปนี้มาหลายคนนะ และมาจากทุกเพศเลย เพราะ Tinder ไม่ได้จำกัดแค่ว่า เพศหญิงจะต้องปัดเฉพาะเพศชายเท่านั้น เราสามารถเลือกปัดได้ทุกเพศ ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน ชาย หญิง หรือเพศทางเลือกก็ตาม
The Growth Master พาไปดู Tinder Tech Stack
Tech Stack ที่ Tinder ใช้ ส่วนมากจะเน้นหนักไปที่หมวด Application and Data เป็นส่วนใหญ่ จะประกอบไปด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น JavaScript, jQuery, Python, React, etc. และผลิตภัณฑ์ AWS จาก Amazon รวมทั้งหมดแล้วในหมวดนี้ประกอบไปด้วย 11 Tools ด้วยกัน และแต่ละอันก็มีหน้าตา ดังนี้
แต่ The Growth Master อยากจะมาแนะนำในหมวดของ Business Tech Stack ที่ Tinder ได้ใช้กัน ประกอบไปด้วย 3 Tools ดังนี้
Gmail - หนึ่งในบริการของ G-Suite นั่นคือ บริการฟรีอีเมลที่ทำงานบนระบบ Search Engine มีหน้าตาไม่แตกต่างจากรูปแบบของ Google เท่าไร กล่าวคือ ไม่มีลูกเล่น เรียบง่าย แต่เน้นที่ความรวดเร็วในการเข้าถึงเป็นหลัก และที่สำคัญ Gmail มีระบบการจัดเก็บที่ดี มีระบบค้นหาตามหัวเรื่องจดหมาย ส่งเมล POP 3 ได้ มีระบบการป้องกันไวรัสที่ดีมาก มีระบบป้องกัน Spam ไว และส่งไฟล์ประกอบง่าย
G-Suite - เป็น Product จาก Google ซึ่งเป็นการแชร์ข้อมูลแบบ Cloud สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกิจ ทำให้ไม่ว่าอยู่ที่ไหน คนในองค์กรก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา บนทุกอุปกรณ์ เมื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แถมที่สำคัญยังมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Google Drive, Google Calendar, Google Meet เป็นต้น ซึ่งจะว่าไปมี G-Suite แค่อย่างเดียวก็สามารถใช้ทำงานได้อย่างครบรสเลย ถือว่าเป็น Tool ที่เหมาะการทำงานแบบองค์กรที่มีความสะดวกมาก ๆ เลยทีเดียว
Zendesk - ซอฟต์แวร์ Help Desk เป็นระบบที่ช่วยในด้าน Customer Support, Customer Service หรือ CRM สำหรับธุรกิจออนไลน์ทุกประเภท โดยทำงานบนระบบ Cloud ที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรและเพิ่มความพึงพอใจให้กับฝั่งลูกค้าหรือเจ้าหน้าที่ Support ของคุณเองอีกด้วย
สรุปทั้งหมด
Tinder ก็เป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่เกิดมาจาก Pain Point ของมนุษย์เราที่ไม่กล้าเข้าไปทักทายทำความรู้จักกับผู้อื่นแบบตรง ๆ ซึ่งแอปนี้ก็เข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงนั้นได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว และแอปนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราจะใช้วิจารณญาณของเราในการใช้งานมากแค่ไหน
นอกจากนี้ ปัจจุบันการใช้แอปหาคู่ก็ไม่ได้มีไว้หาคู่เพียงอย่างเดียว เรายังสามารถหาเพื่อน ทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ ๆ หรือบางคนก็ใช้แอปนี้เพื่อฝึกภาษากับชาวต่างชาติก็มี และที่สำคัญ Tinder ก็ไม่ได้ปิดกั้นให้เพียงเฉพาะเพศชาย-หญิงคุยกันเท่านั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรก็สามารถคุยกับทุกคนได้หมดเลย
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจและติดตามต่อไปว่าแอปพลิเคชันหาคู่ Tinder จะเติบโตจากความสัมพันธ์ของคนได้มากอีกขนาดไหน และจะมีกลยุทธ์อะไรที่ดึงดูดให้มีผู้ใช้งานมากกว่าเดิม ก็คงต้องรอดูต่อไปในอนาคต
The Growth Master ชี้เป้า
และสำหรับเทศกาลแห่งความรักแบบนี้ ใครที่ปัด Tinder เสร็จแล้วและไม่ได้ออกไปเที่ยวที่ไหน ก็สามารถติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ที่เต็มไปด้วยความรู้สาระดี ๆ ที่มอบด้วยความรักจากใจของ The Growth Master ได้นะคะ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเอง และเราจะได้หยิบสิ่งที่อ่านมาไว้คุยกับใครสักคนที่รักในการเติบโตและในสายงานการตลาด สักวันนึงเราอาจจะได้เจอคนดี ๆ ในสายงานนี้ก็ได้นะ อิอิ
สุขสันต์วันแห่งความรักค่ะ :)