หากพูดถึงสินค้าของประเทศจีน ทุกคนอาจจะมีภาพในหัวที่เป็นด้านลบใช่ไหมคะ เพราะปกติสินค้าจากประเทศนี้มักมีชื่อเสียงมากในด้านการเลียนแบบสินค้าแบรนด์ดังๆ ระดับโลกแต่คุณภาพไม่ค่อยดี
แต่หากลองเปลี่ยนมาพูดถึง Xiaomi ซึ่งเป็นแบรนด์จากประเทศจีนเหมือนกัน คุณอาจจะมีภาพในหัวที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง และหลายคนคงคุ้นเคยชื่อมากันบ้างแล้ว เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเขาได้ออกสินค้าอัจฉริยะมากมายที่มักล่อตาล่อใจให้เราไปซื้ออยู่เสมอ แถมหน้าตามินิมอลมีสีขาวดำเป็นเอกลักษณ์น่าใช้ ที่สำคัญราคาไม่แพงอีกต่างหาก
แต่คุณรู้ไหมว่าแบรนด์นี้มีอายุก่อตั้งเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น และถ้าเราสร้างบ้านใหม่หลังนึงขึ้นมา เรียกได้ว่าเราสามารถเปลี่ยนเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายในบ้านเป็นผลิตภัณฑ์จากแบรนด์นี้ได้เกือบทั้งหลังเลยทีเดียว ตั้งแต่หลอดไฟ Smartphone ทีวี แท็บเล็ต เครื่องกรองอากาศ เสื้อผ้า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อัจฉริยะทั้งหลาย อย่าง Smart Watch และเครื่องดูดฝุ่น
มาทำความรู้จักกับ Xiaomi แบรนด์ที่เริ่มต้นจากการผลิตสมาร์ทโฟนจนครอบคลุมไปยังของใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
Xiaomi เป็นบริษัทจากประเทศจีน ก่อตั้งเมื่อปี 2010 โดย Lei Jun และเพื่อนๆ อีก 6 คนจากบริษัทดังต่างๆ อย่าง Google, Kingsoft และ Motorola และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2018 Xiaomi เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตที่มี Smartphone และ Hardware อัจฉริยะที่เชื่อมต่อด้วยแพลตฟอร์ม Internet of Things (IoT) เป็นหลัก
Xiaomi ได้ปล่อย Smartphone ตัวแรกออกมาในเดือนสิงหาคม 2011 นั่นคือ Mi1 วางขายเฉพาะหน้าร้านออนไลน์เท่านั้น ในราคา 1,999 หยวนหรือประมาณ 9,000 บาท ซึ่งถ้าตอนนั้นเปรียบเทียบกับ iPhone 4 ของ Apple หรือ Galaxy S2 ของ Samsung ที่มีราคา 20,000 กว่าบาท จึงทำให้ Xiaomi ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และมียอดขายรวมได้มากกว่า 7 ล้านเครื่องในปี 2012
จากนั้น Xiaomi กลายมาเป็นบริษัท Smartphone ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีนในปี 2014 และได้กลายมาเป็นผู้ผลิต Smartphone รายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก Apple, Samsung และ Huawei ในปี 2018
ภายใน 3 ปีแรก Xiaomi ขายโทรศัพท์มือถือไปแล้วกว่า 60 ล้านเครื่อง และในปี 2019 ก็ได้เป็นบริษัทที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ติด Fortune Global 500
ถึงแม้ว่าตอนเริ่มต้นพวกเขาผลิตและลงทุนเกี่ยวกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Smartphone, MobileApp, Laptop แต่ตอนนี้พวกเขาได้ครอบคลุมไปผลิตสินค้าอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น กระเป๋า รองเท้าอีกด้วย และขยายร้านค้าสู่ต่างประเทศอย่างอินเดียและไทย
ส่องกราฟการเติบโตที่น่าทึ่งของ Xiaomi แบรนด์ที่ Smartphone ก้าวสู่อันดับ 4 ของโลก ในเวลา 8 ปี
การเดินทางของ Xiaomi ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี จนตอนนี้กลายเป็นบริษัทจากประเทศมหาอำนาจที่มีพลังการเติบโตไม่แพ้ประเทศตัวเองเลยทีเดียว
จากข้อมูลของ Canalys บริษัทที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ตลาด จากการวิเคราะห์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2019 Xiaomi บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากแดนมังกรได้ส่งออก Smartphone ถึง 33 ล้านเครื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2018 ถึง 26.8 ล้านเครื่อง ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่า Xiaomi มีส่วนแบ่งตลาด 9% มากขึ้นกว่า 7.3% ในปี 2018 การเติบโตโดยรวมต่อปีอยู่ที่ 23% ซึ่งทำให้ Xiaomi เป็นบริษัทเดียวที่มีอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลักในรายการเทียบกับบริษัท OEM รายใหญ่อื่นๆ
นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงตลาด Smartphone ทั่วโลกในไตรมาสที่ 4 ปี 2019 ว่า Xiaomi โดดเด่นมากเนื่องจากมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตสูงสุด (+23%) เมื่อเทียบกับแบรนด์หลักๆ ของโลกอย่าง Apple (+9%), Samsung (+1%), Huawei (-7%)
และถึงแม้ว่าจะพบเจอกับอุปสรรคในด้านเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะโรคระบาด แต่ในไตรมาสแรกของปี 2020 Xiaomi กลับได้รับผลกระทบในเชิงบวก เพราะประสบความสำเร็จในการเติบโตในทุกภาคส่วน โดยมีรายรับรวมอยู่ที่ 49.7 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 2.3 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019
แล้ว Xiaomi มีเบื้องหลังความสำเร็จอะไรที่ทำให้ตัวเองขายของและผลิตสินค้าได้มากมายขนาดนี้
วันนี้ The Growth Master ขออาสาพาทุกคนไปดูกลยุทธ์ที่ทำให้ Xiaomi ก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าของโลกในด้านการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงเทียบเท่าแบรนด์ระดับโลก แต่มีราคาไม่แพงและคนทั่วไปสามารถเอื้อมถึงได้
1. E-Store ร้านหน้าออนไลน์ขายง่ายแถมลดค่าใช้จ่าย
นับตั้งแต่การวางขาย Smartphone เครื่องแรกของ Xiaomi ก็เริ่มต้นจากวางขายบนหน้าร้านออนไลน์ ซึ่งทำให้บริษัทลดต้นทุนไม่ต้องเสียเงินเช่าพื้นที่หน้าร้าน
ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ในขณะที่ยอดขายของแบรนด์อื่นลดลง เพราะร้านค้าห้างดังต่างๆ ต้องปิดตัวลงชั่วคราว แต่ยอดขายของ Xiaomi กลับสูงขึ้น เช่น ในไทยที่มียอดขายสูงสุดทั้ง Lazada และ Shopee นั่นเป็นเพราะ Xiaomi เน้นขายออนไลน์มาตั้งแต่แรกเริ่ม จึงทำให้ไม่ต้องมีการปรับตัวอะไรมากเพราะมีเว็บไซต์ของตัวเองที่แข็งแกร่ง ระบบการใช้งานที่ดีพร้อมรองรับลูกค้า และฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้วด้วย
และที่สำคัญ ถึงแม้ว่า Xiaomi จะมีหน้าร้านออฟไลน์กว่า 500 แห่งในจีน แต่ก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่ เพราะจะเน้นแค่โชว์สินค้าและสร้างการรับรู้ให้กับคนทั่วไป แต่ให้ลูกค้าเหล่านั้นได้ซื้อของบนออนไลน์มากกว่า
2. สินค้าคุณภาพสูงในราคาที่ต่ำ
Xiaomi เริ่มต้นจากการใช้แนวคิดที่เรียบง่ายที่สุดเลยนั่นคือ 'เสนอสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่ต่ำ' ซึ่งเป้าหมายของพวกเขามักเป็นตลาดลูกค้าที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือ Tech-Savvy แต่ไม่สามารถเอื้อมถึงราคา Smartphone อย่าง Apple หรือ Samsung ได้ จึงหันมามองหา Smartphone ที่มีคุณภาพสูงและสามารถเทียบเท่าแบรนด์ดังเหล่านั้นได้ ในราคาที่ถูกกว่า
นอกจากนั้น Xiaomi ก็สามารถสร้างฐานผู้ติดตามที่แข็งแกร่งได้เหมือนแบรนด์อื่นๆ โดยการสร้างระบบปฏิการของตัวเองขึ้นมาที่ชื่อว่า MIUI บน Android ซึ่งกลุ่มลูกค้าของพวกเขาต่างก็รอคอยการอัปเดต Software ใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติล้ำสมัยไม่เหมือนโทรศัพท์ Android รุ่นอื่นๆ
ปัจจุบันคนที่เป็นแฟนคลับของ Xiaomi พวกเขาไม่ได้สนใจเพียงแค่เพราะว่าสินค้ามีราคาไม่แพง แต่เป็นเพราะ Xiaomi ต่างจากแบรนด์อื่นนั่นเอง
3. Xiaomi Ecosystem ระบบนิเวศทางธุรกิจ
Xiaomi เข้าไปเป็น Partner ร่วมลงทุนให้กับบริษัท Startup ท้องถิ่น สนับสนุนเงินทุนเพื่อไปวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าที่จะมาวางขายภายใต้แบรนด์ Mi แต่มีเงื่อนไขว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะต้องผ่านมาตรฐานของ Xiaomi Model ทั้งด้านการ Design คุณภาพ และรองรับการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของ Xiaomi ด้วย
การที่ Xiaomi เข้าไปลงทุนในบริษัท Startup นั่นมีข้อดี คือ จะทำให้พวกเขาสร้างผลิตภัณฑ์แบบใหม่ได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย และหากบริษัทที่เข้าไปร่วมลงทุนสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้มูลค่าทรัพย์สินที่ Xiaomi เข้าไปลงทุนก็มีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน
บริษัทที่ Xiaomi เข้าไปลงทุน เช่น บริษัท Huami ผลิตนาฬิกาอัจฉริยะ, บริษัท Yunmi ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า, บริษัท Roborock ผู้ผลิตหุ่นยนต์ทำความสะอาด จนถึงตอนนี้ Xiaomi ได้ร่วมลงทุนในบริษัทเหล่านี้ไปร่วม 100 บริษัทแล้ว (ดูรายชื่อทั้งหมดได้ ที่นี่)
4. Xiaomi Youpin แหล่งรวมไอเดียผลิตสินค้า
Xiaomi Youpin เป็นแพลตฟอร์ม E-commerce ของ Xiaomi ที่เปิดให้โอกาสเหล่า Xiaomi Ecosystical Chain หรือบริษัท Startup ต่างๆ มาเสนอไอเดียผลิตสินค้าชนิดใหม่ๆ ขึ้นมา จากนั้นเปิดให้ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์นั้นๆ มาให้ Feedback หรือกดสั่งซื้อ (เหมือนกับเป็นการระดมทุนในอนาคต) โดยดูว่าสินค้าชนิดไหนที่ประเมินแล้วว่าเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากที่สุด ก็จะนำไปผลิตออกมาเป็นสินค้าของ Xiaomi
ซึ่ง Xiaomi Youpin มีการกำหนดคุณภาพของสินค้าที่ดีและอุตสาหกรรมการออกแบบที่สวยงาม เพื่อมุ่งเป้าไปยังคนวัยหนุ่มสาวที่มีความสามารถในการบริโภคและความต้องการสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่สะดวกสบายและแตกต่างจากเดิม
เมื่อเปรียบเทียบ Xiaomi Youpin กับสองแพลตฟอร์ม E-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนอย่าง Taobao และ JD.com แล้ว Youpin จะขายผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกกว่าและพยายามดึงดูดลูกค้าที่อายุน้อยกว่านั่นเอง
สรุปทั้งหมด
ปัจจุบันเราจะเห็นว่า Xiaomi ขายผลิตภัณฑ์ในราคาถูกและมีคุณภาพดี แต่ได้กำไรเพียง 5% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก เป็นเพราะว่าเขามองอนาคตเขาเองไปไกลกว่านั้น โดยมีแนวคิดว่าเขาจะเติบโตไปเป็นบริษัทด้าน Software ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อคนแห่มาใช้ผลิตภัณฑ์ของเขาแล้ว ก็ต้องหันมาใช้ Software ของเขาด้วย เพื่อให้มีความลื่นไหลในการใช้งาน ซึ่งจากแนวคิดนี้มันส่งผลต่อเนื่องมาจากกลยุทธ์ต่างๆ ที่เขาทำในตอนนี้
นี่ก็นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ทำให้เราต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Xiaomi จะมองตัวเองเติบโตในการเป็บริษัททางด้าน Software ขนาดไหนและจะผลิตสินค้าใหม่ๆ อะไรออกมาให้เราได้เสียเงินเล่นกันอีกในอนาคตอันใกล้