Zoom บริษัทที่มีมูลค่าในตลาดหุ้นพุ่งทะยานสู่ 663.5 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี
ปี 2021 แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านครึ่งปีมาแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังคงเป็นวิกฤตการณ์ที่ยิ่งใหญ่อย่างนึงของโลกต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วเลยก็ว่าได้ ปัญหานี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชากรส่วนใหญ่บนโลก ที่เห็นได้ชัดคือทำให้พนักงานบริษัทส่วนใหญ่ต้องปรับตัวเปลี่ยนจากทำงานในออฟฟิศเป็น Work from Home แทน และจากเหตุการณ์นี้ทำให้บางบริษัทมีการตัดสินใจเปลี่ยนเป็นการทำงานทางไกลเลยก็มี
อย่างเช่น บริษัทด้าน Software ที่มีทีม Developper จำนวนมาก ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัทก็ได้ แต่หันมาใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีอย่าง Zoom เข้ามาใช้ทำงานแทน เนื่องจากเป็นแอปพลิเคชันที่มีความเสถียรในการใช้งานและตอบโจทย์การทำงานในหลายบริษัท
Zoom เป็นแอปพลิเคชัน Video Conference หรือวิดีโอประชุมทางไกลผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 และปล่อยออกสู่ท้องตลาดในเดือนมกราคม ปี 2013 โดย Eric Yuan ผู้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่หนีไปสร้างตัวในสหรัฐอเมริกา จนตอนนี้กลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลกในวัย 50 ปี
ภาพจาก thumbsub
เรามาดูประวัติคร่าวๆ ของ Zoom ก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า ทำไมถึงได้กลายเป็นเครื่องมือที่ยอดนิยมมากๆ
Eric Yuan หรือ CEO ของ Zoom ในอดีตคือหนึ่งในผู้สร้างเครื่องมือ Conference ชื่อดังอย่าง WebEx ในปี 1997 และช่วยในการสร้างทีมที่มี Developer (ผู้พัฒนาระบบ) มากกว่า 800 ชีวิตด้วยกัน ในปี 2007 WebEx ได้ถูกซื้อโดยบริษัทเครือข่ายชื่อดังอย่าง Cisco ไป และ Eric Yuan ก็ได้ย้ายไปเป็น VP Engineering (รองประธานกรรมการฝ่ายวิศวกรรม)
แต่ทุกอย่างเริ่มแย่ เมื่อเริ่มมีลูกค้าไม่พอใจสินค้าและทีมผู้บริหารของ WebEx ไม่สนใจที่แก้ปัญหา เช่น โปรแกรมเริ่มรันช้า คุณภาพเสียงและวิดีโอไม่เสถียร และไม่มีระบบ Screen-Sharing (การแชร์หน้าจอของเราให้ผู้อื่นดู) Eric จึงตัดสินใจลาออกมาพร้อมกับนักพัฒนาอีก 40 คน และได้ก่อตั้ง Zoom ขึ้นในที่สุด
อัตราการเติบโตที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ของ Zoom
ด้วยความเชื่อมั่นที่คนมีต่อ Eric Yuan ทำให้ภายในไม่กี่เดือนต่อมาหลังจากเปิดตัว Zoom มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน (พฤษภาคม 2013) และ 10 ล้านคนในหนึ่งปีต่อมา (มิถุนายน 2014) และแตะ 40 ล้านคน ในสองปีหลังการเปิดตัว (กุมภาพันธ์ 2015) และในปี 2017 Zoom ถือว่าเป็นบริษัท Unicorn (บริษัทที่ถูกประเมินค่ามากกว่า $1000 ล้าน) ด้วยมูลค่ามากกว่า $4 หมื่นล้าน
และจากสถิติล่าสุด ในเดือนธันวาคม ปี 2019 Zoom มีผู้ใช้แอปต่อวันประมาณ 10 ล้านคน แต่พอในเดือนมีนาคม 2020 กลับมีผู้ใช้พุ่งเป็น 200 ล้านคนต่อวัน และเพิ่มเป็น 300 ล้านคนต่อวันในเดือนเมษายน เรียกได้ว่าเป็นตัวเลขที่พุ่งขึ้นอย่างเดือดดาลและแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมในการใช้งานที่เปลี่ยนไปของผู้คนอีกด้วย
ภาพจาก blognone
Zoom ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น NASDAQ ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2019 ในราคา IPO หรือราคาเสนอขายต่อสาธารณะครั้งแรก $36 ต่อหุ้น จนล่าสุดในเดือนกันยายน 2020 ราคาหุ้น Zoom ขยับขึ้นเป็น $457.69 ต่อหุ้น มูลค่าตลาดอยู่ที่ $121,350 ล้าน มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 40.78% และบริษัทเผยว่ามีผลประกอบการของไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 ว่ามูลค่าถึง $663.5 ล้าน (หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท)
แล้วกลยุทธ์การตลาดอะไรที่ทำให้ Zoom ประสบความสำเร็จอย่างมากในทุกวันนี้?
วันนี้ The Growth Master ขอพาทุกคนไปดูกลยุทธ์ทางการตลาดที่ Zoom ใช้เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ โดยมี 4 กลยุทธ์ที่น่าสนใจดังนี้
1. Customer-Centric หรือ การมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
สิ่งนี้เป็นสิ่งฝังแน่นอยู่ใน DNA ของ Zoom อย่างที่เคยได้กล่าวไปในข้างต้นที่ Eric Yuan ลาออกมาจาก WebEx เป็นเพียงเพราะลูกค้าไม่พอใจในการใช้งาน Eric จึงนำสิ่งนี้มาปรับใช้อย่างจริงจังกับ Zoom โดยการสร้างแอปพลิเคชัน Video Conference ให้สัญญาณมีความเสถียรมากขึ้นโดยใช้ Bandwidth Internet น้อยกว่าผู้อื่นถึง 40% นั่นหมายความว่าสามารถใช้ได้เสถียรแม้มีความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำ ไม่เด้งออกจากแอปในระหว่างที่ประชุม หรือกระตุกน้อยกว่าแอปพลิเคชันอื่น จากสิ่งนี้ทำให้ไม่มีแอป Video Conference เจ้าไหนที่แก้ปัญหาตรงนี้ได้ดีเท่ากับ Zoom ผู้ใช้งานจึงเลือกเพราะตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขามากที่สุด
ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่ได้ต้องการเติบโตเร็วเกินไป ปรัชญาของเรา คือ การมุ่งเน้นที่จะทำให้ลูกค้าปัจจุบันมีความสุข เราไม่ได้จริงจังกับการหาลูกค้าใหม่มากนัก นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญแก่สิ่งที่ลูกค้าปัจจุบันร้องขออยู่เสมอ…เราเชื่ออย่างแท้จริงว่า หากคุณไม่ทำให้ลูกค้าปัจจุบันมีความสุข แม้ว่าคุณจะได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น แต่มันก็อาจไม่ยั่งยืน - Eric Yuan, Zoom CEO
2. Zoom เครื่องมือที่ขายตัวเองได้
เนื่องจาก Zoom พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกจุดและมีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ คนที่ประชุมอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ถือว่าเป็นทีเด็ดเลยก็คือ การให้ลองใช้งานฟรี 40 นาที เพราะ Zoom เชื่อว่าโดยเฉลี่ยแล้วการประชุมครั้งนึงมักอยู่ที่ 45 นาที และเมื่อการใช้งานของ Zoom มันดีและเสถียรอยู่แล้ว มันก็สามารถขายตัวเองได้ แล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่การทดลองใช้งานฟรีจะไม่ดึงดูดให้ผู้ใช้งานหลักกลายมาเป็นลูกค้าพรีเมียมนั่นเอง
ภาพจาก zoom
3. ใช้ระบบ Partnerships
Zoom ไม่ได้เป็นบริษัทที่ทำการตลาดอย่างหนักหน่วงเหมือนกับหลาย Startup ที่เรารู้จักกัน แต่พวกเขาเน้นไปที่การทำการตลาดให้เหมาะสมและให้คนเห็นได้มากที่สุด
นั่นคือ Zoom ใช้ระบบ Partnerships ซึ่งได้สร้างความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ เช่น Google, Microsoft Outlook, Logitech และ Vaddio เป็นต้น เพื่อรวม นำเสนอผลิตภัณฑ์โดยใช้การกระจายตัวของ Partner ผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมในการใช้ Zoom ร่วมกับแอปอื่นๆ อีกด้วย และยังได้สร้าง App Marketplace ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้โดยใช้ Dashboard Zoom เดียวกัน นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางการเติบโตที่น่าเชื่อถือและมีส่วนในการช่วยเพิ่ม traffic โดยตรง
อย่างการรวมตัวกันกับ Microsoft Outlook และ Google ทำให้เกิดฟีเจอร์ Calendar Integration หรือการใช้ปฏิทินร่วมกัน ทำให้ผู้ใช้เกิดความสะดวกสบายขึ้นอีกด้วย
4. ฟีเจอร์การใช้งานที่โดนใจ
Zoom เองก็ได้เปิดฟีเจอร์เด่นๆ และโดนใจสำหรับผู้ใช้งาน นั่นก็คือ
- Zoom Video Webinars หรือ วิดีโอสัมมนาออนไลน์ สามารถจัดกิจกรรมออนไลน์อย่างสัมมนา คอนเสิร์ต หรืองานอีเว้นท์ต่างๆ โดยมีผู้เข้าร่วมวิดีโอแบบโต้ตอบได้ถึง 100 คน และรองรับได้ถึง 50,000 สำหรับผู้เข้าร่วมที่ดูอย่างเดียว ซึ่งมีการจัดกิจกรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วง Covid-19 หลายงาน จึงทำให้ Zoom มียอดดาวน์โหลดที่พุ่งขึ้นอีกด้วย
ภาพจาก Zoom
- Virtual Background หรือ ภาพพื้นหลังเสมือนจริง ด้วยเทคโนโลยี Green-Screen บางครั้งในระหว่างการประชุม ถ้าบ้านรก เราก็ไม่อยากให้คนอื่นมาเห็นบ้านของเราในสภาพที่ไม่ค่อยน่าดู เราก็สามารถเปลี่ยนพื้นหลังได้ตามใจชอบจากฟีเจอร์นี้ การเปลี่ยน Background ได้ ก็ทำให้เกิดการแชร์อวดรูปพื้นหลังของผู้ใช้เองลงบนโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก นั่นนับเป็นอีกหนึ่งการดึงดูดที่ทำให้คนหันมาลองใช้ Zoom กันเยอะขึ้น
ภาพจาก Zoom
- Calendar Integration หรือ การใช้ปฏิทินอันเดียวกัน วิธีที่เร็วและง่ายที่สุดในการกำหนดเวลาการประชุมผ่าน Zoom คือ การใช้ Zoom Scheduler Extension หรือ Plug-In for Outlook ฟรีกับระบบปฏิทินที่เรามีอยู่แล้ว เราสามารถกำหนดเวลาการประชุมได้ตามปกติ จากนั้นคลิก “Make it a Zoom Meeting” เพื่อเพิ่มรายละเอียดการประชุม Zoom ลงในคำเชิญของเรา
ภาพจาก Zoom
สรุปทั้งหมด
จากปีที่แล้ว (2020) Zoom ถือว่าเป็นบริษัท Video Conference ที่ดีที่สุดในโลก ด้วยคะแนน NPS ที่มากถึง 72 และนับได้ว่า Zoom เป็นบริษัทผู้รอดชีวิตในช่วงเหตุการณ์ Covid-19 เลยก็ว่าได้ เพราะมีอัตราการเติบโตพุ่งทะยานขึ้นเป็นอย่างมาก
และด้วยความที่สถานการณ์ทุกอย่างเหมือนเป็นการบังคับให้เราต้องหันมาทำงานทางไกลและเปลี่ยนเป็นสื่อสารกันแบบออนไลน์เป็นหลัก แอปพลิเคชันไหนที่ใช้งานเสถียรที่สุดก็เท่ากับว่าครองใจผู้ใช้ไปเลย เพราะฉะนั้น Zoom ถือเป็นทีมที่ลงทุนสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างจริงจังได้ถูกจุด ทำให้มีคนทั่วไปและหลายบริษัทได้กลายเป็นผู้ใช้รายใหม่ของ Zoom นับว่าเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าจับตามองต่อไปในยุคที่เราต้องสร้างประสบการณ์ในการทำงานแบบใหม่อยู่เสมอ ส่วนปี 2021 นี้ Zoom จะสามารถสร้างการเติบโตไปได้มากแค่ไหน เราคงต้องติดตามกันต่อไปยาว ๆ