เมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเคลื่อนไหวโดยไม่หยุดนิ่ง สิ่งที่ใครหลายคนกังวลจึงหนีไม่พ้นเรื่องของความกลัวที่จะกลายเป็นคนล้าหลัง เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไหน ทุกที่ต่างก็มองหาคนมีไฟ อยากจะพัฒนาตัวเองและเติบโตไปพร้อมกับบริษัททั้งนั้น
แต่การมีความคิดริเริ่มเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้เราเติบโตได้อย่างที่หวังไว้ เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการลงมือทำตามความตั้งใจต่างหาก ซึ่งแน่นอนว่าในหลายครั้งเราก็มักจะเกิดอาการ ‘ความคิดสวนทางกับการกระทำ’ โดยไม่รู้ตัว
แล้วตอนนี้คุณกำลังเติบโตอย่างที่คิดไว้หรือไม่? วันนี้ The Growth Master จึงอยากขอนำเสนอ ‘5 สัญญาณความคิดอันตราย ที่อาจเป็นมารร้ายขัดขวางคุณจากการเติบโต’
ส่วนทั้ง 5 ข้อจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันได้เลย
1. ทำเหมือนรู้ทุกอย่าง ขัดขวางคนอื่นก่อนพูดจบ
อ๋อเรื่องนั้น เออ ๆ เคยได้ยินนานละ
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในวงสนทนา ที่เกิดการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ที่ต่างฝ่ายต่างได้รับมาไม่ว่าจะจากแหล่งข้อมูลไหนก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าในบางครั้งอาจมีเรื่องราวที่ผู้พูดอยากแบ่งปันเสียเหลือเกิน แต่ผู้ฟังกลับเคยได้รับรู้มาบ้างแล้ว
แต่แทนที่จะปล่อยให้ผู้พูดเล่าจนจบ คนฟังกลับพูดแทรกตัดบทสนทนาขึ้นมาว่า ‘เคย’ ฟัง เรียน หรืออ่านมาแล้วซะอย่างนั้น จนเป็นการบังคับให้คนเล่าต้องหยุดการแชร์ไปโดยปริยาย
อาจฟังดูไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรใช่ไหมคะ? แต่จริงๆ แล้วนี่อาจหมายถึงการ ‘พลาดโอกาส’ ที่จะได้เรียนรู้อย่างหนึ่งเลยแหล่ะ
เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นประเด็นเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่การเล่าผ่านคนละบุคคล ก็อาจหมายถึงการได้รับความรู้ใหม่จากมุมมองที่ต่างไปจากเดิมแล้วก็ได้ เพราะในบางครั้ง คนเล่าก็มักจะมีถ่ายทอดเรื่องราวโดยสอดแทรกการวิเคราะห์ หรือมุมมองจากประสบการณ์ที่เขาเคยได้รับมา
และที่สำคัญก็คือ เราไม่มีวันรู้เลยว่าสิ่งที่กำลังจะได้ฟังนั้นเป็นเรื่องราวเดียวกันจริง ๆ หรือไม่ และที่เรารู้มานั้น ‘มาก’ เท่ากับที่เรากำลังจะได้ฟังหรือเปล่า
หากเจตนาที่จะตัดจบบทสนทนาคือความรู้สึกเกรงใจที่คนเล่าจะต้องเหนื่อยเล่าเรื่องแล้วล่ะก็ นั่นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอะไร แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เหตุผลของการกระทำเหล่านั้น คือการต้องการสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเป็นคนรอบรู้ และเคยอ่านทุกอย่างมาแล้ว เมื่อนั้นแหล่ะคืออันตรายที่ไม่ควรปล่อยเอาไว้
มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากต้องพยายามทำให้ภายนอกดูดี แต่ภายในกลับว่างเปล่าไม่มีอะไรเหมือนเดิม เพราะไม่เคยมีเรื่องราวหรือกรณีศึกษาไหน ที่แสดงให้เห็นว่าการพยายามสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้ดูดีเพียงอย่างเดียวคือหนทางสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
เพราะฉะนั้น อย่าทำตัวเป็นน้ำที่เต็มแก้ว แต่จงเป็นแก้วใบใหญ่ ที่คอยวิ่งหาแหล่งน้ำมาเติมเต็มที่ว่างภายในดีกว่า
2. เลือกเส้นทางสบาย ตั้งเป้าหมายที่อยู่แต่ใน Comfort Zone
อย่าเสี่ยงเลย จะทำให้ยากทำไม ทำแบบนี้ยังไงงานมันก็เสร็จเหมือนกัน
เพราะการต้องล้มลุกคลุกคลาน และผิดหวังจากการตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไป คือความเจ็บปวดชนิดหนึ่งที่มนุษย์กลัวที่จะได้รับ หลายคนจึงเลือกที่จะสร้างเกราะป้องกันตัวเองจากศัตรูทางใจเหล่านั้นขึ้นมา หรือที่เราเรียกกันว่า Comfort Zone
ใช่แล้วค่ะ กรอบที่ตั้งเอาไว้นี้คือพื้นที่ปลอดภัย หรือการเลือกเดินในเส้นทางสบาย ที่ให้ความอบอุ่นทั้งกายและใจ แต่อาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตใด ๆ ทั้งนั้น
ยกตัวอย่างเช่น ในการตั้งเป้ายอดขายสินค้าแต่ละปี ถึงแม้ว่าทีมขายจะรู้อยู่แล้วว่าในปีนี้ ไม่ว่าแผนจะเป็นอย่างไรยอดขายก็จะทะลุ 50,000 ชิ้นแน่นอน แต่ด้วยความ ‘กลัว’ ที่จะผิดพลาด แทนที่จะตั้งเป้าสูงกว่ามาตรฐานเพื่อให้ยอดขายเติบโต ทีมกลับเลือกที่จะตั้งเป้าไว้ไม่เกิน 50,000 ชิ้นเท่านั้น
แน่นอนว่ากลยุทธ์การขายก็จะถูกคิดออกมาตามเป้าหมายดังกล่าว ทำให้แทนที่ทีมขายจะได้ใช้ศักยภาพและความพยายามอย่างเต็มที่ พวกเขากลับปล่อยโอกาสที่จะทำให้บริษัทเติบโตออกไปเพียงเพราะกลัวที่จะผิดหวังเท่านั้น
แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้จะหมายความว่าการเลือกทางที่ง่ายและสบายเป็นสิ่งที่ผิดนะคะ เพราะถ้าหากเส้นทางเหล่านั้นสามารถสร้างความเติบโตได้ในขณะที่ใช้ทรัพยากรและความพยายามน้อยลง นั่นย่อมเป็นเส้นทางที่ควรถูกเลือกมากกว่าแน่นอน
เพียงแต่ว่า หากการเลือกเส้นทางสบายเป็นเพราะความกลัวที่จะทำไม่ได้ล่ะก็ อยากให้คุณลองหลับตากลั้นหายใจ แล้วก้าวออกไปจาก Comfort Zone บางครั้งคุณอาจจะได้พบกับหนทางใหม่ ๆ ที่ให้ผลลัพธ์คุ้มค่าต่อการท้าทายตัวเองก็เป็นได้
3. กลัวที่จะต้องอยู่ใกล้คนเก่ง
ทำไมคนนี้เก่งจัง ถ้าเราร่วมทีมด้วยต้องโดนกลบรัศมีแน่ ไม่เอาดีกว่า
คุณเคยต้องทำงานร่วมกับคนที่มีความสามารถมากกว่า หรือมีประสบการณ์นานกว่าหรือไม่? หากคำตอบคือใช่ คุณมองช่วงเวลาเหล่านั้นเป็น ‘โชคร้าย’ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือ ‘โอกาสดี’ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ความกลัวเมื่อต้องอยู่ใกล้คนเก่ง คือความหวั่นเกรงว่าตนจะไม่ได้เฉิดฉาย ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ให้ทุกคนได้เห็น เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ก็จะรู้สึกว่าตัวเองด้อยไปกว่าคนที่มีประสบการณ์มากกว่าอยู่เสมอ จนในบางครั้งก็เกิดสูญเสียความมั่นใจเพราะอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น
ความคิดนี้จึงนำไปสู่การหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้กับคนมีความสามารถ เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย สบายใจ และมั่นใจในการทำงานมากกว่าเดิม
แต่หารู้ไม่ว่า ยิ่งหลีกเลี่ยงเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการฉุดรั้งตัวเองไว้จากความสำเร็จเท่านั้น
แทนที่จะมองว่าคนเก่งเหล่านั้นคือ ‘ศัตรู’ ทำไมถึงไม่ลองยกย่องให้พวกเขาเป็น ‘คุณครู’ ดูบ้าง?
ตอนเด็กเรามักจะเลือกเรียนพิเศษกับคุณครูที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับรางวัลมากมาย ก็เพราะว่าเราต้องการเรียนรู้แนวคิด รู้หนทางการแก้โจทย์จากคนที่มีประสบการณ์ แล้วทำไมหลักการเดียวกันจึงเปลี่ยนไปเมื่อเราโตขึ้นกันล่ะ
ในความเป็นจริง การที่ได้ทำงานร่วมกับคนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่า คือยาบำรุงชั้นดีที่จะติดปีกให้คุณได้เติบโต เพราะนอกจากจะได้ลองฟังมุมมองหรือวิธีการทำงานใหม่ ๆ หรือแม้แต่การได้รับความรู้ที่อาจไม่สามารถหาอ่านได้ตามหนังสือหรือบทความทั่วไปแล้ว คุณยังได้โอกาสในการถามในสิ่งที่คุณยังไม่เข้าใจได้อีกต่างหาก
เพราะฉะนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึก ‘กลัว’ แล้วล่ะก็ อยากให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่กำลังรู้สึกแบบนี้ เป็นเพราะคุณกำลัง ‘เปรียบเทียบ’ และ ‘แข่งขัน’ กับคนอื่นอยู่หรือไม่ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เป้าหมายถูกตั้งไว้โดยขึ้นอยู่กับ ‘คนอื่น’ เมื่อนั้นคุณก็จะต้องเหนื่อยกับการวิ่งตามสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้ จนสุดท้ายเป้าหมายก็จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวคุณมากกว่าที่จะผลักดันให้เกิดผลดีเสียอีก
4. ไม่ยอมรับข้อผิดพลาดจากใจจริง พยายามหาข้ออ้างมาสนับสนุน
ยอมรับว่าผิดนะ แต่จริง ๆ ถ้าไม่เกิดสิ่งนี้ซะก่อนก็จะไม่ผิดพลาดแน่
‘ทำผิดก็ต้องยอมรับผิด’ เชื่อว่านี่คือบทเรียนสำคัญที่ใครหลายคนมักถูกผู้ใหญ่สอนมาตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก แต่หลายครั้งการยอมรับเหล่านั้นกลับถูกถ่ายทอดออกมาเป็นเพียงแค่คำพูด เพื่อแสดงถึงความเคารพและเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะเท่านั้น โดยที่ผู้พูดยังไม่รู้สึกเชื่อสนิทใจและมองว่านั่นคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากตนจริง ๆ
พวกเขาจึงพยายามยกเอาปัจจัยภายนอกอื่น ๆ มากมายเพื่อมาหักลบกับข้อผิดพลาดที่ตัวเองได้ก่อเอาไว้
แน่นอนว่าหากปล่อยทิ้งไว้แบบนี้ ยิ่งนานเข้า ยิ่งทำให้เกิดการสร้างกรอบความคิด (Mindset) ที่กีดกันเขาจากการเติบโต เพราะไม่ว่าจะมีจุดบกพร่องอะไร พวกเขาก็กลับโยนให้เป็นความผิดจากปัจจัยอื่นซะหมด จนกลายเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะแก้ไขสาเหตุที่แท้จริง
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้แหล่ะจะกลายเป็นกรอบที่ขังพวกเขาเอาไว้ไม่ให้เกิดการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น
อาจเป็นการดีกว่า หากได้ลองหลับตาลงข้างหนึ่งบ้าง เพื่อเริ่มต้นมองสาเหตุของการกระทำทุกอย่างที่ตัวเอง ก่อนที่จะมองสิ่งอื่น
5. มอง Feedback เป็นความประสงค์ร้าย
โอ้โห คอมเมนต์ขนาดนี้กะจะหักหน้ากันเหรอ ทำไมต้องคอยจับผิดด้วย
คุณรู้สึกอย่างไร เมื่อได้รับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานที่มีต่อผลงานอันน่าภาคภูมิใจของคุณ?
หากเป็นการชื่นชม แน่นอนว่าคงต้องรู้สึกอิ่มใจ และอยากส่งยิ้มให้กับเพื่อนคนนั้นแน่ ๆ แต่ถ้าหากคอมเมนต์นั้นเป็นการชี้จุดบอด และข้อบกพร่องแทนล่ะ?
หากคุณมองว่าคอมเมนต์เหล่านั้นเป็นการหวังดีประสงค์ร้ายของเพื่อนร่วมงาน นี่คือสัญญาณอันตรายที่ขัดขวางไม่ให้คุณเติบโตอย่างแน่นอน เพราะไม่ว่าเจตนาที่แท้จริงของเจ้าของความเห็นจะเป็นอย่างไร สิ่งที่คุณควรทำคือการลดกำแพงของเรื่องส่วนตัวลง และลองฟังอย่างตั้งใจ ว่าเพราะอะไรพวกเขาถึงให้ความคิดเห็นเช่นนั้น
ใช่แล้วค่ะ มันไม่เสียหายอะไรเลยในการได้รับฟังมุมมองของผู้อื่นบ้าง หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ ‘มีแต่ได้กับได้’ เท่านั้น
เพราะนอกจากจะได้รับความคิดเห็นที่อาจเป็นประโยชน์ในการพัฒนาผลงานแล้ว การที่เปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นโดยไม่มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ยังทำให้คนรอบข้างรู้สึกยินดีที่จะให้ความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย
ซึ่งความคิดเห็นเหล่านี้นี่แหล่ะ ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการพาคุณก้าวขึ้นไปสู่บันไดของความสำเร็จ
เช่นเดียวกันกับการพัฒนาสินค้า ความคิดเห็นที่จริงใจและออกมาจากความต้องการข้างในของลูกค้านั่นแหล่ะ คือของขวัญล้ำค่าที่ทำให้ทีมผลิตรู้ข้อผิดพลาดที่แท้จริง นำไปสู่การแก้ไขและผลิตสินค้าใหม่ได้ทันท่วงที ดีกว่าต้องเสียเวลาและงบประมาณไปอย่างเปล่าประโยชน์กับสิ่งที่ไม่สร้างคุณค่าใด ๆ
อย่างที่ใครหลายคนได้กล่าวไว้ว่า..
Feedback is a gift.