ในโลกการทำงานเราจะพบพนักงานที่มีลักษณะนิสัย ทักษะ ความสามารถ ความเก่งที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่โดยส่วนมากถ้าลองจำแนกพนักงานออกมา คุณจะพบว่าพนักงานบางกลุ่มก็เป็นพนักงานแบบ Money Driven ให้เงินเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนตัวเองในการทำงาน เงินเท่านั้นที่จะซื้อตัวเขาให้ไปทำงานด้วยได้ ถ้าเงินไม่มากพอก็ไม่ไป
ถ้าให้พูดกันตามความเป็นจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่พนักงานบางคนจะเป็นแบบ Money Driven เพราะปัจจุบันเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต จึงทำให้เขาต้องเป็นคนแบบนั้น แต่จริง ๆ แล้วคนที่เป็นแบบ Money Driven ก็ไม่ใช่คนที่เป็นไปทางด้านลบเสมอไป เรามาดูกันดีกว่าว่าการที่คุณมีพนักงานแบบ Money Driven อยู่ในองค์กรมันแย่จริงเหรอ? ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันได้เลย
Money Driven เงินเท่านั้นที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่พนักงานหลายคนตื่นเช้ามาทำงานก็เพื่อหาเงินกันทั้งนั้น ซึ่งนั่นก็เป็นความจริงที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่ทั้งนี้คนที่เป็น Money Driven เราจะขอแบ่งออกมาเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
พนักงานแบบ Money Driven ที่ค่าตัวแพง แต่สร้างอิมแพ็คให้บริษัทน้อย
พนักงานที่ค่าตัวแพง แต่สร้างอิมแพ็คให้บริษัทน้อย = บริษัทอาจจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
ลองมาดูสถานการณ์กัน พนักงานระดับ A ของบริษัทหนึ่ง ถ้าย้ายบริษัท อาจไม่ได้เป็นพนักงานระดับ A ของอีกบริษัทหนึ่งก็ได้ ในทางกลับกัน พนักงานระดับ B ของบริษัทหนึ่ง ถ้าย้ายบริษัท อาจจะกลายมาเป็นพนักงานระดับ A ของอีกบริษัทก็ได้
เพราะมันมีหลายปัจจัยหลายที่แต่ละบริษัทก็มีความเฉพาะตัวเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ทีม วัฒนธรรมองค์กร หรือกระบวนการทำงาน ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องทำการวัดผลอยู่เสมอ และพิจารณาดูว่าคน ๆ นั้นเป็นแบบไหนกันแน่ จาก A จะกลายเป็น B หรือจาก B จะกลายเป็น A (ในกระบวนการสัมภาษณ์ก็เป็นเพียงขั้นแรกเท่านั้นที่เราสามารถตัดสินได้คร่าว ๆ)
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเขาเป็นพนักงานแบบ Money Driven ในกรณีแรก จากเดิมที่เคยเป็นพนักงานระดับ A มาก่อน มีโอกาสสูงที่เขาจะเข้ามาทำงานในบริษัทคุณ เพียงเพราะจะมาเรียกเงินเดือนสูง ๆ ก็ได้ แถมบางคนอาจจะมีอีโก้ติดตัวมาด้วยว่า ‘ฉันเป็นพนักงานระดับ A เลยนะ ถ้าคุณอยากได้ฉันไปทำงานด้วย คุณก็ต้องให้เงินฉันสูงด้วย’
ซึ่งถ้าคุณตัดสินใจจากกระบวนการสัมภาษณ์แล้วว่า โอเคกับคนนี้ ในระหว่างที่อยู่ในช่วงทำงาน คุณก็อาจจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนทันทีเลยว่า พนักงาน Money Driven คนนี้เขาสามารถสร้างอิมแพ็คให้กับบริษัทได้จริงหรือเปล่า? ซึ่งถ้าหากผลออกมาแล้วว่า เขาไม่สามารถสร้างอิมแพ็คไว้ได้อย่างที่พูด แล้วอีโก้ไม่ลดลงเลย ไม่เปิดใจรับฟังความเห็นทีมคนอื่น Culture ก็ไม่ฟิตกับองค์กร เขาก็อาจจะไม่ใช่คนที่บริษัทต้องการจะเติบโตไปด้วยกันในระยะยาว และถ้ารักษาเขาไว้ก็อาจจะไม่ใช่ผลดีกับองค์กรเช่นกัน
ในทางกลับกัน ถ้าเกิดว่าพนักงาน Money Driven คนนี้ไม่สามารถสร้างอิมแพ็คไว้ได้อย่างที่พูด แต่กลับเป็นคนที่ไม่มีอีโก้ติดตัวมา มีของซ่อนอยู่เพียงแต่ต้องใช้เวลางัดออกมา มี Growth Mindset เปิดใจยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น รวมถึงยอมรับว่าตัวเองยังไม่สามารถทำงานได้อย่างที่พูดไว้ แล้วเรียนรู้จากบทเรียนนั้น เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปอีก จนสามารถสร้างอิมแพ็คให้กับบริษัทได้อย่างที่บอกไว้ในตอนแรก
หากคุณเห็นแล้วว่าถึงแม้ผลงานจะไม่ได้สร้างอิมแพ็คในตอนนี้ แต่ก็สามารถที่จะพัฒนาขึ้นไปได้ในอนาคต คุณก็อาจจะลองเปิดใจที่จะปั้นให้เขาเป็นคนที่เก่งกว่านี้ รอวันที่เขาผงาดออกมาอย่างเต็มตัวก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทด้วย ถ้าหากบริษัทไหนที่ต้องการคนที่สามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาได้เลย บริษัทก็จำเป็นต้องพิจารณาคน ๆ นั้นตามความเหมาะสมด้วย
พนักงานแบบ Money Driven ที่ค่าตัวแพง แต่สร้างอิมแพ็คให้กับบริษัทได้อย่างมหาศาล
พนักงานที่ค่าตัวแพง แต่สร้างอิมแพ็คให้กับบริษัทได้อย่างมหาศาล = ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
พนักงานที่มีค่าตัวแพงในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะตรงข้ามกับแบบแรก เพราะเขาจะเป็นพนักงานที่ทำงานเก่งมาก ๆ มีความรู้เฉพาะเจาะจงทางด้านสายงานนั้นเป็นอย่างดี จนหลายบริษัทต่างพยายามแย่งซื้อตัวกันไปมา ทำให้เขามีสิทธิ์เลือกว่าอยากทำงานให้กับบริษัทไหน ซึ่งถ้าหากบริษัทไหนกล้าสู้ค่าตัว แล้วเขามีความถนัดในสายงานนั้นจริง งานมีความท้าทายมากพอสำหรับเขา ก็มีโอกาสสูงมาก ๆ ที่เขาจะอยู่กับบริษัทนั้น
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้พนักงานคนเก่ง ๆ ในยุคนี้กลายเป็น Money Driven มีประวัติการย้ายงานบ่อย (Job Hopper) เพื่อเพิ่มฐานเงินเดือนของตัวเองให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ และตรงกับที่เขาต้องการมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของโลกธุรกิจไปพร้อมกัน
ถ้าเจอคนแบบนี้ที่มีความเก่งจริง มีประวัติโดดเด่น เป็นที่รู้จักในหลาย ๆ ธุรกิจ ไม่ว่าใครก็ต้องพูดถึง แล้วบริษัทเราต้องการตัวเขาจริง ๆ ก็สามารถจ่ายค่าตัวให้เขาแบบหนัก ๆ ได้เลย เพราะเขาคนเดียวอาจจะสามารถสร้างอิมแพ็คได้มากกว่าพนักงานหลายคนรวมกันได้เสียอีก เรียกได้ว่าจ่ายคนเดียวได้อิมแพ็คกลับมาคุ้มค่าไม่ผิดหวังแน่นอน
*Job Hopper จะมีความน่ากลัวตรงที่เขามีการย้ายงานบ่อย ๆ นั่นทำให้เขาอาจไม่ได้มีเวลาได้ลึกซึ้งกับหน้าที่ของเขาจริง ๆ เช่น ถ้าเป็นนักการตลาดในธุรกิจอาหารในบริษัทแรกได้ 3 เดือน แล้วก็ย้ายไปเป็นนักการตลาดสายเครื่องสำอางที่บริษัทหนึ่งอีก 4 เดือน ซึ่งเวลาในหลักเดือนถือว่าเป็นเวลาที่สั้นมาก ๆ อาจทำให้เขาไม่ได้ซึมซับความเก่งในเรื่องนั้นอย่างเต็มที่ บริษัทก็ต้องมาดูอีกทีว่าเขาเป็นคนประเภทนั้นหรือไม่
พนักงานแบบ Money Driven เหมาะกับองค์กรแบบไหน?
ถ้าหากคนที่เป็น Money Driven ในแบบแรก (ค่าตัวแพง แต่สร้างอิมแพ็คให้กับบริษัทน้อย) คุณก็ต้องมาพิจารณาดูว่า เขามีอีโก้ติดตัวมามากน้อยแค่ไหน ถ้าหากเป็นคนที่มีการถ่อมตัว ส่วนใหญ่แล้วจะมีโอกาสถูกพัฒนาไปเป็นคนที่ฟิตกับ Culture องค์กรได้มากกว่า รวมถึงเขาจะเปิดใจยอมรับให้เราพัฒนาเป็นคนที่เก่งมากกว่าเดิมได้ คนแบบนี้ก็สามารถอยู่ได้กับทุกองค์กร
แต่ถ้าเขาเป็นแบบตรงข้าม เป็นคนที่มี Fixed Mindset ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่เปิดใจรับฟัง เราว่าคนแบบนี้ไม่เหมาะที่จะเติบโตไปกับองค์กรคุณในระยะยาวก็ได้
ส่วนคนที่เป็น Money Driven ในแบบที่สอง (ค่าตัวแพง แต่สร้างอิมแพ็คให้กับบริษัทได้อย่างมหาศาล) เหมาะกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงแล้วต้องการคนที่เก่งมาก ๆ มาช่วยกันคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น เพื่อปล่อยผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดออกมาก่อนหน้าคู่แข่ง
นอกจากนั้น ยังเหมาะกับบริษัทที่กำลังแตกบริษัทย่อยออกมา ทำให้จำเป็นต้องมี Team Lead ที่เก่ง มีความรู้ความสามารถในสายงานนั้นจริง ๆ เพื่อช่วยปั้นทีมใหม่ และเป็นโค้ชให้กับพนักงานคนอื่นได้เรียนรู้งานจากเขามากขึ้น ซึ่งถ้าหากบริษัทของคุณเป็นบริษัทที่มีกำลังทรัพย์มากพอ และกล้าสู้ค่าตัวคน ๆ นั้นได้ ก็ลุยเลย
วิธีรักษาพนักงานแบบ Money Driven ที่ฟิตกับบริษัท
ขึ้นชื่อว่า Money Driven แล้วก็หมายความว่าเขาต้องการเงินมาเป็นแรงขับเคลื่อน ดังนั้นเราก็ต้องรักษาเขาไว้ด้วยเงิน หรือเราอาจจะลองให้โบนัสจากการทำงานเป็นแรงกระตุ้นเขาดีไหม เพราะการให้โบนัสในลักษณะนี้จะหมายความว่ายิ่งทำงานดี มีผลงานออกมาเยี่ยม เขาก็จะยิ่งได้รับเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ
และหากว่าเรามีชาเลนจ์ให้เขาลองทำเพิ่มขึ้น ทั้งตัวพนักงานก็จะสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่เก่ง มีทักษะความสามารถเพิ่มขึ้นไปกว่าเดิมได้ ในขณะเดียวกันนอกจากองค์กรจะได้คนที่เก่งเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งแล้วก็อาจจะได้รับผลงานใหม่ ๆ จากตัวพนักงานคนนั้นอีกด้วย
สรุปทั้งหมด
จริง ๆ แล้วในบริษัทของคุณอาจจะมีพนักงานที่มีลักษณะนิสัยแตกต่างกันไปมากกว่านี้ พนักงานแบบ Money Driven ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เรายกตัวอย่างมา และเราก็ไม่อยากให้คุณมองพนักงานแบบนี้ไปในด้านลบ ถ้าคุณยังไม่ได้พิสูจน์ผลงานจากเขาด้วยตัวเอง อย่างที่บอกไป ถ้าพนักงานสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้บริษัทได้มากกว่าที่คิด การใช้วิธี Money Driven กระตุ้นพวกเขา ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร เพราบริษัทมีการเติบโตมากขึ้น ส่วนพนักงานก็ได้เงินเป็นค่าตอบแทนกลับไปนั่นเอง