โลกหมุนเร็วจนฉันตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย
เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่าวันและเวลาเดินเร็วแล้ว (ดูปีนี้เป็นตัวอย่าง ความรู้สึกเหมือนเพียงแค่กะพริบตาทีเดียวก็ข้ามมาสู่เดือนสุดท้ายของปีแล้ว) แต่ทำยังไงได้ โลกดันวิ่งเร็วกว่าเวลาอีกซะงั้น นั่นเป็นเพราะมีเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมา ทำให้ทุกอย่างเกิดความรวดเร็วและมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น
และยิ่งมีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ขึ้นมา ก็ยิ่งทำให้เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว เพราะต้องตอบสนองความต้องการและช่องว่างที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น ไม่สามารถไปทำงานที่ออฟฟิศได้ จึงต้องเปลี่ยนเป็นการ Video Conference แทน เพื่อให้การทำงานขององค์กรไม่หยุดชะงักและสามารถเดินต่อไปได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการเรียนรู้การใช้โปรแกรมเหล่านั้น และปรับการทำงานในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด
นอกจากนี้ ความรู้ที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์และทันสมัยอยู่ในตอนนี้ อีกหน่อยในอนาคตนั้นความรู้อันนี้อาจจะล้าสมัยไปแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องนำความรู้นี้ไปต่อยอดออกมาให้กลายเป็นทักษะใหม่ ๆ เสมอ เพื่อให้ทันต่อความต้องการของโลก
ดังนั้น รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะมีจึงจะสามารถก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไปอีกในอนาคต
การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คืออะไร?
Lifelong Learning คือ รูปแบบหนึ่งของการศึกษาที่เริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง (Self-initiated study) ซึ่งเน้นการพัฒนาส่วนบุคคล โดยไม่เกี่ยงว่าจะอยู่ในวัยไหนก็สามารถเรื่องรู้ได้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด และถึงแม้ว่าจะไม่มีคำจำกัดความที่เป็นมาตรฐานของ Lifelong Learning แต่โดยทั่วไปมักถูกนำไปอ้างถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนอกสถาบันการศึกษาในระบบ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือการฝึกอบรมขององค์กร
อย่างไรก็ตาม Lifelong Learning ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองไว้ที่การเรียนรู้นอกระบบเท่านั้น ซึ่งคำอธิบายที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นความสมัครใจในการเรียนรู้เพื่อบรรลุ เติมเต็มเป้าหมายของตัวเอง และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เราทุกคนคือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
We know what we are but know not what we may be. – William Shakespeare
เชื่อว่าจริง ๆ แล้ว พวกเราส่วนใหญ่มีเป้าหมายหรือความสนใจอื่น นอกเหนือจากการเรียนและงานที่กำลังทำอยู่ทุกวัน อาจเรียกได้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของความหมายของการเป็นมนุษย์ ที่ธรรมชาติแล้วเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นและเป็นผู้เรียนรู้โดยธรรมชาติ ซึ่งเรามีการพัฒนาตัวเองและเติบโตด้วยความสามารถในการเรียนรู้
เช่น ถ้าเราลองนึกย้อนกลับไปถึงตัวเราในวัยเด็ก ที่ทุกคนมักตั้งคำถามและเรียนรู้กับสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ
- นั่นคืออะไร ? มีไว้เพื่ออะไร ? คนนั้นคือใคร ?
- ทำไมพระอาทิตย์ถึงต้องตก ?
- พ่อจ๋าสอนปั่นจักรยานหน่อย แม่จ๋าสอนดูนาฬิกาหน่อย
แต่เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อย เราก็ได้มาเรียนรู้กับทักษะและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ใช้เรียนและทำงาน
- เรียนรู้วิธีใช้สมาร์ทโฟนหรือใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Adobe Photoshop, Adobe Illustrator
- เรียนรู้ Soft Skills ต่าง ๆ ในการทำงานในองค์กร เช่น Emotional Intelligence, Creativity, Growth Mindset, Storytelling
และเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงเกษียณอายุก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่อยากรู้ได้
- เรียนมหาวิทยาลัย เพื่อเอาปริญญาใบแรก หรือเรียนต่อในด้านที่ตัวเองอยากหาความรู้เพิ่มเติมอย่างจริงจัง
- เรียนขับรถ / เรียนทำอาหารใหม่ ๆ / เรียนทำเบเกอรี่
นี่คือตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะผ่านการขัดเกลาทางสังคม การปรับตัว การลองผิดลองถูก หรือการศึกษาด้วยตนเอง
5 เทคนิคสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับตัวเอง
ในปัจจุบัน Lifelong Learning ก็ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีบางอย่างสามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ทุกเมื่อ เราจึงต้องมีการเรียนรู้และปรับตัว เพราะฉะนั้น วันนี้ The Growth Master ขอเสนอเทคนิคในการสร้าง Lifelong Learning ให้กับตัวเอง มีอะไรบ้างไปดูกันเลย
1. เป็นคนที่มี Growth Mindset
เพราะคนที่มี Growth Mindset คือคนที่พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวในทุกสถานการณ์ และคิดอยู่เสมอว่าความสามารถของตัวเองสามารถพัฒนาได้ แม้ไม่เก่งก็ฝึกได้มากขึ้นไปอีก ผ่านการทำงานหนัก การเรียนรู้ การลองทำสิ่งใหม่ ๆ
จะต่างจากคนที่มี Fixed Mindset ซึ่งมี 2 แบบ นั่นคือคนที่เชื่อในพรสวรรค์ของตัวเองที่มีมาตั้งแต่กำเนิด หรือจะเรียกว่าตัวเองฉลาดและเก่งอยู่แล้ว ของพวกนี้เป็นสิ่งตายตัวไม่สามารถพัฒนาต่อได้ จนบางทีไม่กล้าออกไปลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะมักคิดว่าแบบเดิมดีอยู่แล้ว ถ้าเกิดว่าลองไปทำสิ่งใหม่แล้วผิดพลาด ผลลัพธ์อาจจะแย่กว่าเดิม และอีกแบบนึงก็คือ คนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งอยู่แล้ว จะให้พัฒนาตัวเองต่อไปก็ไม่เก่งขึ้นไปกว่านี้ก็มี
ซึ่งคนที่มี Growth Mindset มักจะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จในยุคนี้ได้ดีกว่าคนที่มี Fixed Mindset
(สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ Growth Mindset ต่อได้ ที่นี่)
2. พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนเก่ง
ถ้าคนรอบข้างเก่ง เราก็ยิ่งอยากเก่งตามคนกลุ่มนั้น
ถ้าคนรอบข้างตัวเรา เป็นคนที่หมั่นขยันหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เชื่อว่าอย่างน้อยเราก็ต้องได้รับนิสัยเหล่านั้นมาจากพวกเขาอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาจะเป็นเหมือนแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิด Passion ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาหรือจุดประกายให้เราได้เห็นมุมมองในอีกหนึ่งมุมที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้
ลองเอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยคนแบบนั้น เช่น ถ้าอยากรู้เรื่องงานศิลปะ ให้ลองไปงานนิทรรศการตามหอศิลป์หรือ Gallery ถ้าอยากได้แรงบันดาลใจดี ๆ ให้ลองไปงานทอล์คโชว์อย่าง TEDx ที่ส่งต่อความคิดดี ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้เรา
3. Active Learning เรียนรู้จากการลงมือทำ
แน่นอนว่าการลงมือทำจะทำให้เกิดการเรียนรู้มากกว่านั่งฟัง การท่องจำเฉย ๆ แน่นอน ซึ่งแบบนี้เราเรียกว่า Passive Learning
ซึ่งในยุคนี้ เราควรใช้การเรียนรู้แบบ Active Learning หรือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ได้ใช้ทั้งกระบวนการคิดและลงมือทำเพื่อให้พัฒนาศักยภาพที่แท้จริงของเรา สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่เคยเรียนมาในอดีต เพื่อมาประยุกต์ต่อยอดในการทำงาน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นซึ่งดีกว่าเก็บเงียบไว้กับตัวเอง มันจะทำให้เราเห็นมุมมองของเขา และเกิดความสงสัยขึ้นว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขา เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ทำให้เราได้คิดตาม จึงเกิดกระบวนการเรียนรู้และหาคำตอบขึ้นได้
สมมติว่าเราไปลงคอร์สเรียนแล้วนำกลับมาลงมือทำจริง เช่น คอร์สเรียนทำอาหาร ตอนอยู่ในห้องเรามีครูคอยสอน คอยชี้แนะวิธีการทำอาหาร บอกขั้นตอนว่าเราควรจะเลือกวัตถุดิบยังไงถึงจะดีต่อการประกอบอาหารของเรา เราสามารถทำตามได้เลย แต่เมื่อกลับมาที่บ้านแล้ว ถ้าเราไม่ลงมือทำอาจจะทำให้เราลืมขั้นตอนการทำเหล่านั้นได้
เพราะฉะนั้นอย่าให้การเรียนรู้จบอยู่แค่ในห้องเรียน ถ้าเรานำความรู้ที่ได้เหล่านั้นมาลองทำ อาจทำให้เราเป็นคนที่ทำอาหารเป็น มีเสน่ห์ปลายจวัก จนสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาต่อยอดเป็นสูตรของเราเอง และกลายเป็นธุรกิจของเราได้ในที่สุด
4. Self-directed learning เรียนรู้ในแบบของตัวเอง
การเรียนรู้ในแบบตัวเองจะทำให้ตอบโจทย์ชีวิตของเรามากที่สุด เพราะเราสามารถกำหนดลำดับ วิธีการเวลา และเป้าหมายการเรียนรู้ของตัวเองได้
นอกจากนั้นจะทำให้เรามีอิสระ สามารถเลือกทางเลือกของตัวเอง มีศักยภาพและพัฒนาศักยภาพได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
และแต่ละคนก็ชอบการเรียนรู้ที่ต่างกัน เช่น บางคนเรียนรู้ด้วยตัวเอง หาหนังสืออ่านเอง บางคนชอบที่จะมีคนมาอธิบายให้ฟังเพราะไม่ชอบอ่านเองก็ไปลงเรียนคอร์สออนไลน์ บางคนก็ชอบเล่าอธิบายเรื่องที่อ่านมาให้คนอื่นฟังเพื่อที่จะจดจำสิ่งนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น บางคนชอบเรียนรู้ด้วยการจดโน้ตเพื่อที่จะกลับมาทบทวนอีกครั้ง
และการเรียนรู้ของแต่ละคนก็มักได้ผลดีในเวลาที่แตกต่างกัน เช่น บางคนชอบอ่านหนังสือตอนเช้า เพราะรู้สึกว่าสมองปลอดโปร่ง พร้อมรับความรู้ใหม่ ๆ เข้ามา แต่บางคนชอบอ่านหนังสือตอนกลางคืนเพราะรู้สึกสงบกว่าและทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่า
แล้วการเรียนรู้ในแบบของคุณล่ะ เป็นแบบไหน?
5. กระตุ้นตัวเองเพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้
อย่าให้วันที่คุณจบการศึกษาเป็นวันสุดท้ายของการเรียนรู้ แต่ขอให้มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดของคุณ - kritsc
เมื่อเราก้าวออกจากสถานศึกษาแล้ว ไม่มีใครมาคอยกระตุ้นให้เราเรียนเหมือนตอนอยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องกระตุ้นและผลักดันให้ตัวเองให้ไปอยู่ในที่ ๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ
และไม่ใช่ว่าบรรยากาศในการเรียนรู้จะหมดไป เพราะอยู่นอกห้องเรียน แต่การเรียนรู้ใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตอนนี้โลกของเราเปิดกว้างมาก ทำให้โอกาสในหาการความรู้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น อินเทอร์เน็ตที่เราจะหาความรู้ ที่ไหน ตอนไหนก็ได้ งานเสวนาที่ทำให้เราได้พบเจอคนใหม่ ๆ ในสายงานใหม่ ๆ ทำให้เรามีโอกาสในการมี Connection กับผู้อื่นมากขึ้น
เริ่มต้นจากการหาสิ่งที่เรารู้สึกสนใจจริง ๆ จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลเจาะลึกลงไปในเรื่องนั้นเลย ในระหว่างทางที่เราหาความรู้ในเรื่องนั้น เราอาจได้เจอกับคนที่ชอบเหมือนกัน ทำให้คุยกันรู้เรื่องจนเกิดเป็น Connection ใหม่ ๆ อาจจะได้เจอเรื่องที่มีความคล้าย ๆ กัน ทำให้เราหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ แบบนี้การเรียนรู้ก็จะไม่มีที่สิ้นสุด
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลย สมมติว่าเราเป็นคนที่ชอบดูละครย้อนยุคมาก ซึ่งเนื้อเรื่องในละครมักจะอิงบริบทสังคมมาจากความจริง จากแค่การดูซีรีส์หรือละครอาจทำให้เราอยากรู้เพิ่มมากขึ้น ว่าทำไมตัวละครถึงมีการแต่งตัวแบบนี้ มีการกินอาหาร การใช้ชีวิตประจำวันแบบนี้ นั่นทำให้เราไปหาความรู้เพิ่มเติมจนกระทั่งรู้ว่ายุคที่ตัวละครอยู่มันคือยุคไหน จนบางทีทำให้เราหาข้อมูลอ่านไปเรื่อย ๆ ในเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น ข้ามไปอ่านเกี่ยวกับการแต่งตัวในแต่ละยุค จากการเริ่มต้นที่ดูละครอาจจะทำให้เรากลายเป็นคนที่ชอบหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไปเรื่อย ๆ เลยก็ได้
นอกจากนั้น การออกไปท่องเที่ยวในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศยังช่วยให้เราได้เปิดโลกให้กว้างขึ้น เราจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ จนเกิดเป็นแรงบันดาลในการเรียนรู้และทำสิ่งหนึ่งขึ้นมาให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้
แต่ถ้าเราไม่สามารถออกไปเที่ยวได้จริง ๆ เพราะมีข้อจำกัดต่าง ๆ หากเราเล่นโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook อยู่เป็นประจำ เราอาจจะไปกดเข้าร่วมกลุ่มที่เกี่ยวกับเรื่องที่เราสนใจเช่น การทำธุรกิจ การทำกราฟิก รีวิวหนังสือ ซึ่งในนั้นจะเป็นพื้นที่ที่มีการแลกเปลี่ยน แบ่งปันข่าวสารหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือเทคนิคเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การทำกราฟิกให้เราได้เรียนรู้ ก็จะช่วยกระตุ้นให้เราอยากเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ มากยิ่งขึ้น
สรุปทั้งหมด
นอกจากการให้แล้ว การเรียนรู้นี่แหละคือสิ่งที่ควรไม่มีที่สิ้นสุด
เราจะเห็นได้ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นตั้งแต่เรายังเด็กจนกระทั่งเราแก่ตัวลง ซึ่งมนุษย์จะมีแรงผลักดันตามธรรมชาติในการเรียนรู้เติบโตและทำชีวิตให้ดีขึ้นอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังทำให้เรารู้สึกว่ามีคุณค่าในตนเอง โดยมุ่งไปยังแนวคิดและเป้าหมายที่สร้างแรงบันดาลใจให้เรา
และท้ายที่สุดการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ขอแค่มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ เติมเต็ม และพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด