เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเราต้องตื่นขึ้นมาทุกเช้า แบกร่างตัวเองออกจากเตียง ฝ่ารถติด เพื่อไปทำงาน ทั้ง ๆ ที่บางทีเราก็อยากนอนต่อ แต่ท้ายสุดแล้ว พวกเราทุกคนก็ล้วนอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช่ไหมล่ะ เราจึงยอมออกมาทำงาน พยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อที่จะได้งานดี ๆ อยู่ตำแหน่งสูง ๆ และเพิ่มรายได้ นี่แสดงให้เห็นว่า บางครั้งในชีวิต แรงบันดาลใจก็สามารถทำให้เรายอมลำบากในบางเรื่อง เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการกลับมา
หันมาที่การทำงานในองค์กรกันบ้าง ในฐานะของผู้นำ ที่ต้องนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จให้ได้ แต่จะทำไม่ได้เลยหากลูกทีมไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงาน จนทำให้งานออกมาไม่ดี แล้วมันจะมีวิธีไหนล่ะ ที่จะทำให้พวกเขามีแรงบันดาลใจ พร้อมที่จะทำงานออกมาให้ได้ดีอย่างเต็มที่ เหมือนกับที่เรายอมแบกร่างออกมาจากเตียงมาทำงานในทุก ๆ วัน
บทความนี้เลยจะมาแนะนำวิธีที่จะช่วยให้คุณรู้จักแนวทางการเสริมสร้างกำลังใจให้กับลูกทีม ที่เชื่อมโยงกับทฤษฎี Positive Reinforcement ของ B. F. Skinner นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อดังจากมหาวิทยาลัย Harvard ให้ลองไปใช้ในทีมของคุณเพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจในการทำงาน ให้ผลงานออกมาดีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
‘Positive Reinforcement’ คืออะไร ?
‘Positive Reinforcement’ คือ การมอบสิ่งที่เขาต้องการ เพื่อให้พฤติกรรมนั้นดำเนินต่อไป หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ การให้รางวัลคนเมื่อเขาทำดี นั่นเอง ซึ่งรางวัลในที่นี้ เป็นได้ทั้งรางวัลที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น โบนัส, คำชม, สวัสดิการ, และอื่น ๆ
หลาย ๆ คนอาจเคยใช้ทฤษฎีนี้แล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รู้จักมันด้วยซ้ำ เพราะ มันก็คือการให้แรงบันดาลใจแก่ผู้อื่นนั่นแหละ แต่หากใครยังงง ๆ อยู่ เราขอยกตัวอย่างที่หลาย ๆ คนน่าจะเจอมา เช่น
- สมัยเด็ก เวลาที่ครูบอกว่า ถ้าทำงานเสร็จไว จะให้พักก่อนเวลา
- ตอนที่แม่บอกว่า ถ้าสอบติดมหาลัย จะซื้อรถให้
- เมื่อเราไปพูดบนเวที แล้วมีคนปรบมือให้
- หัวหน้าให้เลื่อนตำแหน่ง เมื่อทำยอดขายได้เกินความคาดหมาย
- จะได้รับโบนัสเป็น 2 เท่า ถ้าทั้งปีไม่ลาป่วยเลย
จะสังเกตได้ว่า รางวัลที่เราได้รับกลับมา ล้วนทำให้เราภูมิใจในตนเอง, สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ และอยากพยายามต่อไปให้ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งทฤษฎี ที่ถ้าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้ ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงาน
ทำไมการให้ Positive Reinforcement ถึงสำคัญต่อพนักงาน ?
สำหรับบางคน การทำงานถือเป็นการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่าคนไทย จะใช้เวลาในสถานที่ทำงานเฉลี่ย 35 - 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเกษียณตอนอายุ 72 - 75 ปี ดังนั้น ระยะเวลาการทำงานจะอยู่ที่ 40 - 50 ปี หรือตลอดขีวิตเราอาจจะใช้เวลาไปกับการทำงานเป็น 1 ใน 3 ของชีวิตเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ทุกคนจึงพยายามแสวงหางานที่ทำแล้วคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ว่าจะในด้านของจิตใจ หรือรายได้ก็ตาม แล้วถ้างานที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบัน ทำให้ชีวิตเขาไม่มีความสุข เขาก็อยากหาที่ทำงานที่อื่นแทน ที่ ๆ จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีกว่านี้
ในมุมของผู้ประกอบการ การมีทีมที่แข็งแกร่งเป็นเรื่องสำคัญ ในการทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหนียวแน่น และพร้อมที่จะบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน นอกจากนี้ ยังไม่เสียทรัพยากรคนในการ Training พนักงานใหม่ ซึ่งการพัฒนาพนักงานคนปัจจุบัน ก็ยิ่งทำให้การทำงานเติบโตได้เร็วกว่าด้วย
แต่ในทางกลับกัน หากองค์กรมีทีมที่ไม่แข็งแกร่ง ก็จะทำให้มีอัตราการลาออกของพนักงานสูง (High Turnover Rate) ส่งผลให้องค์กรต้องเสียทั้งเวลาและเงิน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศหาคน, คัดเลือกคน, หรือสอนงานใหม่ แล้วก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่ได้มาจะเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรเราได้หรือเปล่า นอกจากนี้ จากสถิติของ Center for American Progress พบว่าค่าใช้จ่ายในการหาพนักงานใหม่ คิดเป็น 213% ของเรตเงินเดือนของพนักงานตำแหน่งสูง ๆ เลยทีเดียว
ดังนั้น ถ้าเราอยากให้เขาอยู่กับเรา เราต้องให้เขาก่อน องค์กรจึงต้องสร้างบรรยากาศที่สามารถโน้มน้าวให้พนักงานอยากทำงานกับเราไปนาน ๆ ได้ และภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ จนไม่อยากไปทำงานที่อื่นอีกเลย
จะเริ่มนำ Positive Reinforcement ไปใช้ในองค์กรได้อย่างไร ?
หลักการทำงานของ Positive Reinforcement คือการสร้างพฤติกรรมของคนอื่นที่เราต้องการให้เขาเป็น และทำให้มันดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ โดยการให้รางวัลเป็นสิ่งตอบแทน อธิบายง่าย ๆ ก็คือ หัวหน้าทีมต้องตั้งเป้าหมายให้พนักงาน และถ้าเขาทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ เราก็จะให้รางวัลเขาเป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งรางวัลก็มีหลายรูปแบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้ ดังนี้
1. รางวัลด้านคำพูด (Verbal Reward)
อย่าคิดว่าคนทุกคนจะรู้ว่าตัวเองทำผลงานออกมาได้ดีแล้ว ในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีม เราจำเป็นต้องแจ้ง Feedback ของงานที่เขาทำว่าเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงให้โอกาสต่าง ๆ เมื่อทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งก็จะทำให้พวกเขามั่นใจในศักยภาพของตัวเองมากขึ้น, มี Mindset ว่าการทำงานแบบนี้จะส่งผลดีต่อตนเอง และเก็บสิ่งดี ๆ นี้ไว้ทำอีกในงานถัดไป
อีกทั้ง รางวัลรูปแบบนี้ เป็นรางวัลที่ทำได้ง่ายที่สุด ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด พร้อมทั้งได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มความภูมิใจแก่พนักงาน และเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน Task ต่อไปได้จริง
ตัวอย่างที่องค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ มีดังนี้
- ให้คำชมทุกครั้งเมื่อทำผลงานออกมาดี
- ให้โอกาสในการโชว์ผลงานตัวเองให้เพื่อนร่วมทีมได้รับรู้ถึงศักยภาพของตน
- เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นคนสำคัญต่อองค์กร
- แนะนำ Training Course ให้เข้าร่วม เพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้พัฒนาตัวเอง เตรียมพร้อมสำหรับตำแหน่งที่สูงขึ้น
- นำวิทยากรรับเชิญมาพูดให้กำลังใจคนในองค์กร
2. รางวัลด้านการเงิน (Monetary Reward)
รางวัลรูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่สามารถดึงดูดใจให้พนักงานอยากทำงานได้มากที่สุด เพราะมันเป็นผลประโยชน์ที่สามารถจับต้องได้ และนำไปใช้ได้ทันที ในขณะเดียวกัน เป้าหมายของการได้รางวัลนี้ ก็ควรจะสูงตามมูลค่าของมันไปด้วย ตัวอย่างเช่น
- เงินเดือนที่สูงขึ้น
- โบนัสพิเศษ
- บัตรกำนัล (Gift Card)
- ทุนการศึกษา
- ประกันสุขภาพเพิ่มเติม
3. รางวัลด้านสวัสดิการ (Welfare)
สวัสดิการก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างบรรยากาศในสถานที่ทำงานให้มีความสุขกับการทำงานเพิ่มขึ้นได้ บวกกับการดึง Concept ของ Work-Life Balance มาประยุกต์ใช้ โดยให้มีกิจกรรมที่นอกเหนือจากการทำงานบ้าง พนักงานจะได้ไม่รู้สึกกดดันกับบรรยากาศของสถานที่ทำงานที่ตึงเครียดมากจนเกินไป
ซึ่งการให้รางวัลรูปแบบนี้ ทางองค์กรต้องสำรวจว่าพนักงานของตนให้ความสนใจในเรื่องอะไร จะได้สนอง Needs พวกเขาได้อย่างตรงจุด และสร้างกำลังใจให้พวกเขาอยากมาทำงานมากขึ้นได้สำเร็จ ตัวอย่างมีดังนี้
- ห้องฟิตเนส
- ทริปเที่ยวฟรี
- ปาร์ตี้หลังเลิกงาน
- ที่จอดรถฟรี
- บริการน้ำและขนม
- การอัปเกรดอุปกรณ์ที่ใช้ทำงาน เช่น แล็ปท็อป, โต๊ะทำงาน, หรือเก้าอี้ทำงาน
- เพิ่มวันหยุด
6 เทคนิคการให้ Positive Reinforcement แก่พนักงานมีอะไรบ้าง ?
1. สำรวจว่าแต่ละคนอยากได้รางวัลรูปแบบไหน
เราไม่ควรคิดเองว่ารางวัลแบบไหนถึงจะจูงใจพนักงานได้ เพราะ ความสนใจของแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน หัวหน้าทีมจำเป็นต้องสำรวจว่าแต่ละคนมีความสนใจอะไร เพื่อมั่นใจว่าสิ่งที่เรามอบให้ จะมีคุณค่าต่อเขามากพอจนสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาตั้งใจทำงานได้ เช่น บางคนให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance มากกว่าเงิน หัวหน้าทีมก็ต้องรู้จักหากิจกรรมคลายเครียดให้ทำระหว่างงาน แทนที่จะให้ Gift Card
โดยการสำรวจก็ทำได้หลายรูปแบบ เช่น องค์กรอาจจะจัด One-On-One Session with CEO เป็นการถามถึงสิ่งที่พนักงานต้องการ หรือลองจัดโหวตขึ้นมาทาง Google Forms เพื่อสำรวจว่าพนักงานส่วนใหญ่สนใจอะไร
2. ให้รางวัลทันทีเมื่อเขาทำได้ดี
อย่างที่ได้กล่าวไป ว่าคนเราไม่รู้หรอกว่าเราทำอะไรได้ดี ดังนั้น เราควรให้รางวัลเขาทันที เพื่อให้เขารับรู้ว่าพฤติกรรมนี้เป็นสิ่งที่ดี และควรทำอีกในอนาคต ตัวอย่างเช่น ถ้าพนักงานคนหนึ่งทำพรีเซนต์งานได้ดีมาก หลังจากที่พรีเซนต์จบ ก็ควรให้คำชมเขาทันที เพื่อให้ชัดเจนว่าคำชมนี้มากจากที่เขาพรีเซนต์เมื่อกี้ และทำให้เขามั่นใจมากขึ้นในการพรีเซนต์ครั้งต่อไป
3. มอบรางวัลที่มีความหลากหลาย
การที่คน ๆ หนึ่งจะได้รับแรงบันดาลใจจากรางวัลนี้ ไม่ได้แปลว่าเขาจะอยากได้มันตลอดไป ตัวอย่างเช่น ถ้าหัวหน้าทีมชอบให้ Gift Card แต่กับร้านอาหารเดิม ๆ พวกเขาก็จะเบื่อ แล้วรางวัลแบบนี้ก็จะไม่ได้ผลอีกต่อไป ดังนั้น รางวัลต้องมีความหลากหลาย เพื่อดึงดูดพวกเขาให้ได้ตลอด และสร้างแรงบันดาลใจได้อยู่เรื่อย ๆ
4. เจาะจงรายละเอียดให้ชัดเจน
พนักงานควรเข้าใจอย่างชัดเจนว่าเขาทำอะไรได้ดี ดีกว่าการให้คำชมแบบกำกวม แล้วรางวัลที่เราให้ก็อาจจะไม่ได้ผลด้วยซ้ำ เช่น หากหัวหน้าทีมบอกแค่ คุณมีทัศนคติที่ดีในการทำงานนะ พนักงานก็อาจจะงงว่า ทัศนคติที่ดี คือทัศนคติไหน
ในทางกลับกัน หากหัวหน้าทีมพูดว่า คุณมีทัศนคติที่ดีในการทำงานนะ คุณเจรจากับคนในทีมได้ดี, ไม่เคยโต้เถียงด้วยท่าทางเชิงลบ, และมีความรับผิดชอบต่องานอยู่เสมอ พนักงานคนนี้ก็จะเข้าใจแล้วว่าเค้าทำอะไรได้ดี และรู้ว่าควรเก็บพฤติกรรมนี้ไว้ทำต่ออีกในอนาคต
5. อย่าให้การให้รางวัลไปกดดันคนอื่น
การให้รางวัลควรให้ด้วยความจริงใจจริง ๆ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือเพื่อกดดันพนักงานคนอื่นให้เค้าต้องทำดี เช่น ถ้าหัวหน้าทีมจัด Stand Up Session ทุกวัน เพื่อดูว่าคนไหนทำงานได้เร็ว และให้รางวัลคนนั้น ในทางกลับกันก็อาศัยช่วงเวลานี้ เพื่อทำโทษคนทำงานช้าด้วยเช่นกัน ผลสุดท้าย พนักงานจะไม่มีความสุขกับ Session นี้ และรู้สึกไม่ดีใจกับรางวัลที่ตนเองได้รับ เพราะมันไปทำให้คนอื่นโดนทำโทษ และการให้รางวัลก็ไม่ได้ผลในที่สุด
6. หมั่นให้รางวัลเพื่อสร้างกำลังใจอยู่เสมอ
การให้รางวัลอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นวิธีที่จะสร้างแรงบันดาลใจอยากทำงานให้คงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ Task งานยาก ๆ หรือการฝึก Skill ใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น การมอบหมายให้พนักงานเรียนรู้ Software ตัวใหม่ ซึ่งต้องอาศัยเวลาและการทดลองใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ล้วนใช้ความหมั่นเพียร และความพยายาม ดังนั้นการให้รางวัลในทุก ๆ ขั้นตอนของการเรียนรู้ ล้วนเป็นกำลังใจให้เขาตั้งใจทำงานนี้ต่อไป
ประโยชน์ของ Positive Reinforcement ในองค์กร มีอะไรบ้าง ?
1. เสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน
เวลาที่พนักงานทำงานอย่างหนัก การรับรู้ว่ามีคนเห็นความพยายามของเขา ส่งผลให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่าต่อองค์กร ยิ่งถ้าได้รางวัลด้านการเงินหรือสวัสดิการเพิ่มเติมด้วย ก็จะยิ่งสร้างแรงบันดาลใจขึ้นไปอีก เพราะเขาเห็นผลประโยชน์ที่ตามมาหลังจากทำงานได้ดี ซึ่งต่อไปในอนาคต เขาก็อยากจะพยายามทำให้งานออกมาได้ดีอีก เพื่อหวังรางวัลดี ๆ อีก
องค์กรล้วนขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรคนที่มีคุณภาพ การที่องค์กรเต็มไปด้วยพนักงานที่มีกำลังใจทำงาน และพยายามทำออกมาให้ได้ดีอย่างเต็มใจ รวมถึงจะสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี โดยที่ทุกคนอยากมาทำงานในทุก ๆ วัน และมีความสุขกับงานของตน ส่งผลให้องค์กรเติบโตได้ไวในที่สุด
2. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
วัฒนธรรมองค์กรเป็นส่วนประกอบสำคัญทั้งต่อองค์กรและตัวพนักงานเอง เป็นพฤติกรรมที่หล่อหลอมกันมาจนกลายเป็นธรรมเนียมที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จขององค์กรเช่นกัน
ดังนั้นการที่หัวหน้าทีมตอกย้ำอยู่เสมอว่าอะไรคือพฤติกรรมที่ดีในการทำงาน ก็จะหล่อหลอมให้พนักงานทุกคนทำตัวเช่นนั้น รวมถึงการให้รางวัล ก็จะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาทำงานให้ออกมาดี
เมื่อทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ องค์กรก็อาจจะสร้างบรรทัดฐานการให้รางวัลขึ้นมา เพื่อให้การให้รางวัลนั้นมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งก็จะเกิดเป็นวัฒนกรรมเด่นขององค์กรที่หมั่นให้ความสำคัญเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจแก่พนักงานเป็นหลัก
3. สร้างทีมที่แข็งแกร่งในองค์กร
จากข้อที่ 2 เมื่อวัฒนธรรมองค์กรคือการทำงานให้ได้ดี และได้รับรางวัล เพื่อนร่วมทีมแต่ละคนก็จะพยายามผลักดันกันและกันให้ทุกคนทำงานออกมาให้ได้คุณภาพดี ในขณะเดียวกัน ถ้าใครคนใดคนหนึ่งทำงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ก็จะโดนเพื่อนร่วมทีมตักเตือนกันเอง
ท้ายสุดแล้ว คนในทีมก็จะมีความรับผิดชอบต่องานของตนเองให้ออกมาเป็นงานที่ดี โดยที่หัวหน้าทีมไม่ต้องมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช เพราะ พนักงานในทีมจะผลักดันให้ทำงานดีไปด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อรอรับรางวัลนั่นเอง
ข้อควรระวัง
ต้องเลือกใช้รางวัลให้เหมาะสมกับคุณภาพของงาน
ถึงแม้การให้รางวัลในทุก ๆ ขั้นตอนที่พนักงานทำงานสำเร็จ จะเป็นการให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างที่เราได้กล่าวไปว่า การให้รางวัลควรให้โดยใช้รางวัลหลายรูปแบบ ดังนั้นหัวหน้าทีมต้องรู้จักปรับเปลี่ยนการให้รางวัล เป็นรางวัลใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ซึ่งรางวัลใหญ่ก็ควรให้เฉพาะพฤติกรรมที่เหมาะสมจริง ๆ เช่น การทำยอดขายได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก ในขณะที่ถ้าทำงานได้ดีตามหน้าที่ที่เขาควรจะทำ การให้คำชมก็เพียงพอแล้ว
ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้พนักงานไม่รู้สึกดีใจจนเหลิงว่า ฉันทำแค่นี้ฉันก็ได้ Gift Card แล้ว งั้นวันหลังเขาก็จะไม่พยายามมากกว่านี้ ในทางกลับกัน หากรางวัลโดยทั่วไป เราชอบให้แต่คำชม แล้วอยู่ ๆ มาวันหนึ่ง เราเห็นว่าพนักงานคนนี้ทำงานได้เกินความคาดหมายไว้มาก แล้วเราให้ Gift Card เป็นของรางวัล พนักงานก็จะเห็นคุณค่าของ Gift Card เพราะมันแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย ซึ่งทำให้เขาภูมิใจในตนเอง และมีแรงที่จะทำงานต่อไป
ต้อง Balance การให้รางวัลอย่างเหมาะสม
การให้รางวัลนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งพื้นที่ที่เป็นความลับ เช่นการเรียกเข้ามาคุยในห้อง หรือพื้นที่สาธารณะ เช่นการชมบนเวที ซึ่งก็ส่งผลให้ความยิ่งใหญ่ของรางวัลต่างกันออกไป ดังนั้นสำหรับคนที่ได้รางวัลบ่อย ๆ มากกว่าคนอื่น และได้อย่างโจ่งแจ้งมากเกินไป อาจทำให้เกิดสถานการณ์พนักงานคนโปรดขึ้นมา และเกิดความบาดหมางในทีมเดียวกันได้ นี่เป็นหน้าที่ของหัวหน้าทีมที่จะต้อง Balance การให้รางวัลให้ดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป และเลือกสถานที่ให้เหมาะสมสำหรับพนักงานแต่ละคน
สรุปทั้งหมด
Positive Reinforcement เป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งทางด้านการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้าง Growth Team ให้เป็นทีมที่แข็งแกร่งได้ เพื่อเป็นรากฐานการสร้างธุรกิจให้เติบโต Positive Reinforcement จะสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานอยากพัฒนาการทำงานของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ไม่ได้รู้สึกโดนบังคับ แต่กลับตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มใจ
The Growth Master อยากแนะนำให้คุณลองนำเอา Positive Reinforcement เทคนิคจาก B. F. Skinner ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของคุณดู อาจจะเริ่มจากรางวัลเล็ก ๆ ก่อน เช่น การชม เป็นต้น และดูปฏิกริยาของพนักงานว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วคุณอาจจะตกใจกับศักยภาพของพวกเขาที่แอบซ่อนไว้ก็เป็นได้
หากได้ลองนำไปใช้แล้ว ผลลัพธ์ออกมาเป็นยังไง ไว้มาเล่าเรื่องราวให้ The Growth Master ฟังได้เลยที่ Facebook หรือ LINE ของเรา สุดท้ายนี้ การหมั่นให้กำลังใจคนอื่นอยู่เสมอเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องอย่าลืมที่จะให้กำลังใจตัวเองด้วยเช่นกัน :)