ในยุคดิจิทัลมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมากมายที่เข้ามาช่วยให้ ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เราเริ่มขาดไปไม่ได้โดยไม่รู้ตัว เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยทุนแรงบ้าง ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานแบบเดิม รวมถึงช่วยยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่หารู้ไม่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เข้ามาทดแทนความต้องการ Hard skills ต่าง ๆ จนทำให้อาชีพบางอย่างหายไป และอีกไม่นานอีกหลายอาชีพจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองหากเรายังไม่มีข้อได้เปรียบมากกว่าเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอยู่ทุกวัน คงเป็นไปได้ยากที่เราจะอยู่รอดในการแข่งขันเพียง Hard skills อย่างเดียว
โดย Hard skills หรือทักษะทางอาชีพที่ได้มาจากการเรียนรู้ด้านทฤษฎีและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อใช้ในการทำงานที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ และที่สำคัญระดับความรู้ของทักษะทางอาชีพสามารถวัดผลได้ ซึ่งต่างจาก Soft skills ที่ถูกพัฒนามาจากประสบการณ์และการลงมือทำ
Soft skills จึงกลายเป็นความได้เปรียบของคนเรา เป็นจุดแข็งอย่างเป็นสิ่งเดียวที่เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถเรียนรู้และเข้ามาทดแทนได้อย่างสมบูรณ์ หากเปรียบว่า Hard skills เป็นเหมือนใบเบิกทาง แต่ Soft skills นั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสไปสู่ความสำเร็จให้เรามากยิ่งขึ้น
Soft skills คืออะไร?
Soft skills คือความสามารถด้านอารมณ์ การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และการพัฒนาตนเอง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสติปัญญาแต่ละด้านยกตัวอย่างเช่น
- EQ (Emotional Quotient) คือความฉลาดทางอารมณ์ สามารถควบคุมหรือยับยั้งการแสดงออกได้เหมาะสมกับสถานการณ์ เข้าใจความรู้สึกตนเองและผู้อื่น
- AQ (Adversity Quotient) คือความฉลาดในการแก้ไขปัญหา สามารถเผชิญหน้ากับปัญหาพร้อมหาทางแก้ไข ควบคุมสถานการณ์และปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ดี
- CQ (Creativity Quotient) คือความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตนาการที่ยืดหยุ่น คอยปรับเปลี่ยนประยุกต์แนวคิด และชอบหาวิธีการใหม่ ๆ
- SQ (Social Quotient) คือความฉลาดทางสังคม สามารถที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่น เห็นแก่ส่วนรวม ไม่เปรียบเทียบหรือมีความคิดที่กดคนอื่นให้ต่ำลง และเปิดใจยอมรับความแตกต่าง
เราอาจจะเคยได้ยินคำถามอย่าง ‘คุณคิดว่ามีความสามารถแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร’ บางคนอาจจะตอบว่า ‘ทำงานเร็ว’, ‘มองโลกในแง่ดี’, ’ทำงานเป็นทีมได้ดี’, ‘มีความเป็นผู้นำ’, ‘รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น’ คำตอบเหล่านี้ล้วนคือ Soft skills ทั้งสิ้น
ยิ่งมนุษย์เป็นสัตว์สังคมแล้วนั้น Soft skills จึงจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้พัฒนาตนเอง การทำงานร่วมกันกับผู้อื่น และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ดังนั้นการมี Hard skills หรือ ทักษะทางอาชีพ อย่างเดียวคงไม่พอ Soft skills จึงเป็นทักษะที่เข้ามาช่วยส่งเสริมเและผลักดันความสำเร็จต่าง ๆ ในชีวิต
ในบทความนี้ เราได้รวบรวม 12 Soft skills ที่จำเป็นในการทำงานยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างรวดเร็วไปหมด โดย Soft skills เหล่านี้ จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับอุปสรรคแม้จะยากแค่ไหนก็จัดการได้อย่างเฉียบขาด
12 Soft skills ที่ต้องมีเพื่อความแตกต่างในยุคดิจิทัล มีอะไรบ้าง?
1. Communication : ทักษะการสื่อสาร
เคยไหมบางทียังฟังไม่ทันจบก็ด่วนสรุปเอาเอง ไม่ตั้งใจฟังเท่าไหร่เหม่อลอยไม่ได้อยู่กับคำพูด หรือบางทียังฟังไม่ได้ศัพท์ ก็จับไปกระเดียดซะงั้น จนผลลัพธ์ที่ตามมาทำให้เราอยากจะย้อนเวลากลับไปตั้งใจฟังใหม่ให้ดี
นอกจากการฟังก็ยังมีทั้งพูด อ่าน และเขียน ดังนั้นทักษะการสื่อสารไม่ได้จำกัดเฉพาะอาชีพการทำงานที่ต้องนำเสนอขาย หรืองานบริการเท่านั้น หากลองสังเกตเราแทบจะใช้ทักษะเหล่านี้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะพูดคุยกับคนรอบข้าง ตอบข้อความหรืออีเมล นำเสนอผลงาน และในที่ประชุม ซึ่งการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำให้การสื่อสารกระชับและเข้าใจสิ่งที่สื่อเร็วขึ้น รวมถึงการมีวาทศิลป์จะช่วยให้คู่สนทนาประทับใจในตัวคุณมากขึ้นอีกด้วย
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการสื่อสารให้ดี ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากฝึกเรียงลำดับโครงสร้างการเล่าเรื่อง
- เน้นใจความสำคัญของเรื่องที่อยากจะสื่อ
- ใช้ภาษาหรือคำพูดที่เข้าใจง่าย
- หากจำเป็นต้องต้องเน้นส่วนสำคัญลองใช้ท่าทางประกอบการอธิบายที่พอดีไม่มากเกินไป
- เลือกใช้ระดับภาษาที่เหมาะสมกับคู่สนทนาหรือผู้ฟัง
- ตั้งใจรับฟังอย่างเปิดใจและไม่อคติ
- จับใจความสำคัญของผู้พูด
2. Time Management : ทักษะการบริหารจัดการเวลา
แม้เราจะมี 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากันทุกคน แต่เคยรู้สึกว่าใช้เวลาไปอย่างสูญเปล่า หรือไม่เป็นอย่างที่คิดไหม? ชอบผัดวันประกันพรุ่ง เก็บไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยทำใกล้ ๆ จนรู้ตัวอีกทีก็จะหมดเวลาต้องรีบปั่นงานแบบไฟไหม้
ยิ่งการแข่งขันที่รุนแรงต้องแข่งกับเวลามากขึ้นจนอยากจะขอซื้อเวลาเพิ่ม ไม่ว่าอาชีพไหนก็ต้องมีกำหนดเวลาที่เป็นเส้นตาย งานบางงานที่เป็นงานต่อเนื่องที่ต้องส่งต่อให้กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งถ้าหากล่าช้าไปจะส่งผลกระทบต่อเวลาส่งมอบงานจนต้องเลื่อนออกไป หรือกินระยะเวลาการทำงานของคนอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ดีเอาเสียเลย
ดังนั้นทักษะการบริหารเวลาจึงสำคัญอย่างมาก เพื่อเป้าหมายสำเร็จในระยะเวลาที่กำหนด
การวางแผนบริการจัดการเวลาอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียน หรือเรื่องส่วนตัว ต่างก็มีสิ่งที่ต้องสะสางให้สำเร็จลุล่วง หากวางแผนจนเป็นนิสัยได้จะเห็นผลลัพธ์ว่าจริง ๆ แล้วเรายังมีเวลาว่างเหลือไปทำอย่างอื่นที่สนใจอีกเยอะ
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการบริหารจัดการที่ดี ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มวางแผนเรียงลำดับความสำคัญหรือความเร่งด่วนของสิ่งที่ต้องทำ
- กำหนดระยะเวลาที่มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้สำเร็จในช่วงเวลาที่วางไว้
- กำหนดเป้าหมาย หรือ To-do list เป็นรายวัน รายอาทิตย์ รายเดือน หรือสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จในปีนี้
- หมั่นทำให้สำเร็จจนเป็นนิสัย มีความสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง
3. Flexibility and Adaptability : ทักษะความยืดหยุ่นและปรับตัว
แต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ 10 ปีจะมีหน ทำให้ความคิดที่จะปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ไม่ได้ยากมากนัก ในปัจจุบันกลับเรียกได้ว่ายิ่งเทคโนโลยีเจริญขึ้นเท่าไหร่ เราก็ต้องปรับตัวและก้าวให้ทันเท่านั้น
ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เราแทบจะต้องปรับตัวอยู่ตลอดจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปรับตัวเข้ากับสังคม รับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้า หรือเวลาทำงานอยู่แล้วมีงานเร่งด่วนเข้ามาแทรก ดังนั้นทักษะความยืดหยุ่นและปรับตัวจะเป็นเหมือนตัวช่วยให้เราเข้ากับความแปลกใหม่ หรือเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ มีความคิดและการกระทำที่ยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ กฎเกณฑ์ หรือวิธีการทำงาน
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะความยืดหยุ่นและปรับตัว ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากสังเกตบรรยากาศรอบตัว ท่าทาง น้ำเสียงของคนรอบข้าง
- ปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดที่จะแก้ไข
- เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่ปิดกั้นตัวเองที่จะเปลี่ยนแปลง
- เมื่อเผชิญปัญหาสามารถยอมรับความเสี่ยงและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วนำไปปรับใช้ในครั้งหน้า
4. Teamwork and Collaboration : ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
หากเปรียบการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นเป็นทีมฟุตบอล คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาชนะคู่แข่งโดยต่างคนต่างเล่นไม่สนใจคนในทีม แต่หากผู้เล่นทุกคนคอยสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมแรงร่วมใจ เพื่อที่จะเอาชนะคู่แข่งเหมือนกัน ความน่าจะเป็นที่จะชนะก็จะเพิ่มขึ้น
การทำงานเป็นทีมเราคงผ่านกันมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่เล็กจนโตมีโครงงานบ้าง งานวิจัยกลุ่มบ้าง เจอทั้งปัญหาหลายอย่าง เช่น งานไม่เดิน เข้าใจภาพรวมไม่ตรงกัน ขัดแย้งทางความคิดเห็น และแม้จะเข้าสู่วัยทำงานก็ยังจำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หัวหน้า หรือแม้แต่กับลูกค้า แทบจะหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย
ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกันให้ลุล่วง การทำงานเป็นทีมมีข้อดีมากมาย ทั้งได้แชร์ความคิดเห็น ได้ไอเดียและมุมมองความคิดใหม่ ๆ และยังสามารถจัดการงานนั้นได้อย่างรวดเร็ว
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากวางเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน
- ระดมความคิดหาวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น
- กล้าที่จะนำเสนอไอเดียของตนเอง
- หากความคิดของคนในทีมแตกต่าง ผิดจากเป้าหมาย หรือคิดว่าไม่น่าทำได้ ควรสอบถามหาเหตุผล และพูดคุยอย่างเปิดใจ
- ช่วยเหลือเกื้อกูล พัฒนา และแบ่งปันความรู้หรือกระบวนการคิดร่วมกัน
- ลงมือทำส่วนที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่
5. Analytic and Critical Thinking : ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และเชิงวิพากษ์
แม้ว่าในปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอย่าง Facebook Instagram และ Twitter ก็มีข้อมูลข่าวสารอัปเดตอยู่ตลอด หรือเห็นเขาบอกกันมาอย่างงั้นจนหลงเชื่อ บางทีก็เราก็เผลอตัวให้ข่าวปลอมโดยไม่ทันคิด
ในการทำงานก็เช่นกัน บางทีเราจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่ม แต่ข้อมูลเยอะมากจนเอามาจับต้นชนปลายไม่ถูก ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และเชิงวิพากษ์ จะช่วยให้เราไตร่ตรองและคิดอย่างรอบคอบมากขึ้น ไม่คล้อยตามก่อนที่จะรู้ข้อเท็จจริง เกิดความคิดสร้างสรรค์หาวิธีการใหม่ ๆ และกล้าที่จะไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่าง
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และเชิงวิพากษ์ ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มฝึกกระบวนการคิดจากการตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัยหรืออยากรู้
- ค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
- สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้น เพื่อหา Key word สำคัญที่เกี่ยวข้อง
- จับประเด็นและเรียบเรียงข้อมูล
- นำมาตีความด้วยความเป็นเหตุและผล
- ประเมินทางเลือกและวิธีแก้ไขต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่คำตอบที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุด
6. Decision Making : ทักษะการตัดสินใจ
บางทีการตัดสินใจอะไรสักเรื่องก็ยากเหมือนกัน วัน ๆ เรามีเรื่องที่ต้องตัดสินใจไม่น้อย เช่น วันนี้แต่งตัวแบบไหนดี มื้อนี้กินอะไรดี หรือวันหยุดนี้ออกไปทำอะไรที่ไหนดี กว่าจะตัดสินใจได้แต่ละอย่างบางทีก็ใช้เวลาไปไม่น้อยเลย
ยิ่งเป็นผู้ประกอบการหรืออยู่ในระดับหัวหน้าแล้วต้องตัดสินใจบางเรื่อง ถ้าตัดสินใจช้ามัวแต่ลังเล กลัวว่าจะตัดสินใจผิดพลาด คงทำให้ธุรกิจไม่เดินหน้าต่อเสียที จนโดนชิงตัดหน้าไปเสียก่อน หรือจะให้เริ่มลงมือก็ไม่ทันเสียแล้ว
ไม่ใช่แค่ระดับหัวหน้าเท่านั้นในการทำงานปัจจุบันยังจำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อย่างการจัดการโปรเจกต์ แจกจ่ายรายละเอียดงานและมอบหมายให้คนในทีม หรือการทำงานที่ต้องแข่งขันกับเวลา บางทีมีความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาก็สามารถตัดสินใจได้ทันท่วงที
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการตัดสินใจที่ดี ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มโดยกำหนดขอบเขตของการตัดสินใจ และใครจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับการตัดสินใจครั้งนี้บ้าง
- ค้นหาทางเลือก หรือวิธีต่าง ๆ ที่มี และทำความเข้าใจ
- ประเมินความเสี่ยงและเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก
- ขจัดความลังเลที่มีออกไป
- ท้ายที่สุดเราจะสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
7. Creativity : ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์
เชื่อว่าเราคงจะมีคนรู้จักสักคนที่ไม่ว่าจะพูดหรือทำอะไรก็รู้สึกว่าคิดได้ไง ทำไมครีเอทีฟสุด ๆ ถ้าเป็นเราคงคิดไม่ได้อย่างนั้น ต้องเป็นเพราะว่าเขามีพรสวรรค์ด้านนี้
ในการทำงานก็จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บางอาชีพแค่นักเขียน ดีไซเนอร์ นักการตลาด หรือที่เกี่ยวข้องกับความครีเอทีฟเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วทักษะความคิดสร้างสรรค์ คือการสร้างไอเดียใหม่ หรือวิธีการใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
แม้ไม่ได้มาด้วยพรสวรรค์ แต่สามารถฝึกฝนมาให้ได้ซึ่งพรแสวงจากความสนใจรอบตัว หรือความรู้เดิมนำมาประยุกต์ต่อยอดให้เกิดแนวทางใหม่ ๆ
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ควรทำอย่างไรบ้าง?
- อาจเริ่มจากความอยากรู้อยากเห็นและทำความเข้าใจกับวิธีการเดิม
- หาไอเดียมาประยุกต์จากข้อสงสัยนั้นอาจมาจากกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเพลง เล่นดนตรี หรืองานศิลปะ
- นำความรู้ใหม่มาต่อยอดกับความรู้เดิมที่มีอยู่
- เปิดใจกับวิธีการใหม่ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
- กล้าที่จะใช้วิธีการใหม่ที่คิดค้นหรือประยุกต์ขึ้นมาได้
8. Complex Problem Solving : ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน
แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาขึ้นมาจนก้าวหน้าขึ้นกว่าครั้งอดีตอย่างมาก แต่ในการทำธุรกิจ หรือในชีวิตจริงของผู้คนเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ ที่มีทั้งความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอน ทำให้ปัญหาต่าง ๆ มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ในการทำงานแม้จะมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถระบุวิธีแก้ไขให้เราได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ดังนั้นการมองภาพรวมอย่างเป็นระบบจึงสำคัญมาก ซึ่งทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนจะช่วยให้เราสามารถมีความคิดอย่างมีระบบ สามารถเชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผล และสามารถวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกันได้ ทำให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ และมีการตัดสินใจประเมินทางเลือกที่จะแก้ไขปัญหานั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากมองภาพใหญ่ของปัญหา
- สร้างความคิดเชิงระบบ ตั้งคำถามเพื่อระบุปัญหาให้ชัดเจน
- รวบรวมข้อมูล เพื่อหาความเชื่อมโยงของปัญหาว่าปัจจัยใดเป็นสาเหตุได้บ้าง
- จัดลำดับความรุนแรงของปัจจัยที่ส่งผลกระทบ
- คิดวิธีแก้ปัญหา หรือวิธีการที่พาเราไปสู่ผลลัพธ์ที่เราต้องการ
- ประเมินสถานการณ์ และความเป็นไปได้ของทางเลือก
9. Curiosity and Lifelong Learning : ทักษะการใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา
เราจะเห็นได้ว่าผ่านไปไม่ถึง 10 ปี ก็มีอาชีพใหม่โผล่ขึ้นมามาก เป็นการประยุกต์การทำงานบ้าง เป็นความรู้ใหม่เลยบ้าง ทำให้วิธีการทำงานแบบเดิมมีประสิทธิภาพน้อยลง จนบางทีล้าหลังใช้รับมือกับปัญหาไม่ได้อีก จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้พื้นฐานความรู้เดิมไปตลอดกาล
เราเรียนรู้มาตลอดตั้งแต่เกิด เรียนรู้ที่จะเข้าใจการสื่อสาร เรียนรู้ที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แม้จะในตอนทำงานแล้ว ยิ่งต้องเรียนรู้เครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรมากยิ่งขึ้น ทักษะการใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลาจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวพัฒนาและพอกพูนความรู้ใหม่ ๆ ใส่ตัวอยู่เสมอ แม้โลกจะหมุนไปแบบไหนก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและอยู่รอดกับมันได้
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากตั้งเป้าหมายใหญ่ที่เราต้องการจะพัฒนาหรือเรียนรู้
- หาวิธีการไปสู่เป้าหมายนั้นว่าจำเป็นต้องมีความรู้แบบไหนบ้าง
- ค้นคว้าเพิ่มเติม ติดตามความรู้ใหม่ ๆ ในสายงานของเรา หรือในสิ่งที่เราให้ความสนใจตลอดเวลา
- ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย
10. Negotiation and Persuasion : ทักษะการโน้มน้าวและต่อรอง
เราอาจจะเคยรู้สึกถูกพนักงานขายเสนอขายสินค้าหรือบริการกันมาบ้าง แต่เคยสงสัยไหมว่าเขาใช้เทคนิคอะไรที่ทำให้บางทีเรารู้สึกคล้อยตาม จนสุดท้ายตกลงปลงใจยอมซื้อสินค้าหรือบริการนั้นในที่สุด กลยุทธ์ในการพูดเพื่อโน้มน้าวหรือต่อรอง ช่วยให้ความน่าจะเป็นที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เราต้องการได้มากขึ้นทีเดียว
ทักษะนี้ไม่ได้จำกันว่าต้องทำงานขายหรืองานบริการเท่านั้น ทั้งในชีวิตประจำวัน เช่น การขอความช่วยเหลือ การนำเสนอ การติดต่อประสานงาน การต่อรองสิ่งตอบแทน สิ่งเหล่านี้ก็ยังจำเป็นที่ต้องโน้มน้าวใจอีกฝ่ายเสมอ
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการโน้มน้าวและต่อรอง ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากฟังประเด็นและความต้องการของอีกฝ่าย
- ทำความเข้าใจข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องนั้น พร้อมคิดวิธีการตอบกลับ
- เริ่มนำเหตุผลมาโน้มน้าวความคิดของคู่สนทนา
- สร้างบุคลิกเพื่อเสริมความมั่นใจ เช่น การวางตัว ท่าทาง น้ำเสียง และคำพูด
- ลองฝึกจำลองสถานการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมวิธีการรับมือ
11. Leadership : ทักษะการเป็นผู้นำ
การเป็นผู้นำไม่ได้มาพร้อมกับตำแหน่งเท่านั้น แต่เป็นมุมมองความคิดและวิสัยทัศน์ที่จะนำพาไปสู่เป้าหมายนั้นสำเร็จ เราอาจจะเคยพบเจอผู้นำที่แสดงภาวะการเป็นผู้นำที่ไม่เหมาะสมมาบ้าง แล้วผู้นำที่ดีแท้จริงแล้วควรเป็นอย่างไร
ในการทำงานการเป็นผู้นำที่ดีนั้นจะช่วยดึงศักยภาพของผู้ตาม ไม่ใช่แค่คนที่อยู่ในระดับหัวหน้าเท่านั้นที่ต้องมีทักษะการเป็นผู้นำ แต่เราก็สามารถเป็นผู้นำในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ หรือกลุ่มสังคมได้ ที่สำคัญผู้นำที่ดีนั้น ควรมีความรับผิดชอบ สามารถสร้างให้ผู้ตามเกิดความร่วมมือไปทิศทางความคิดไปในทางเดียวกันกับเป้าหมาย มีความยุติธรรม และเปิดใจรับฟังความคิดเห็น
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการเป็นผู้นำ ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากมีเป้าหมายที่กว้างไกล
- สร้างความไว้วางใจกับผู้อื่น
- ชักนำให้เกิดความร่วมมือกัน ดึงจุดเด่นของผู้ตามออกมา
- มีสติและการควบคุมการกระทำ เพื่อพร้อมที่รับมือกับความกดดัน
- กล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม
12. Positive Attitude : ทักษะการมีทัศนคติเชิงบวก
เราอาจจะพบเจอกับช่วงเวลาที่เป็นทุกข์ ติดอยู่ในอุปสรรคหรือปัญหาเดิม ๆ จนรู้สึกเริ่มคิดแง่ลบและท้อแท้กับตัวเอง ‘ทำไมถึงจัดการไม่ได้สักที’ หรือ ’ทำไมเราต้องมาเจออะไรอย่างนี้’ ทุกคนล้วนแต่มีเรื่องทุกข์ใจสำหรับตัวเอง แต่จะทำอย่างไรดีให้เราข้ามผ่านมันมาได้
การมีมุมมองหรือทัศนคติเชิงบวกนั้น จะช่วยให้เราสามารถปรับมุมมองความคิดไม่ให้จมปลักอยู่กับความทุกข์นั้น มองว่าอุปสรรคเป็นเพียงบทเรียนชีวิต ไม่ว่าเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว รวมถึงช่วยเป็นพลังให้กับตัวเราและคนรอบข้าง ช่วยคลายความกังวล พร้อมกล้าที่ออกจะไปหาโอกาสและการเรียนรู้ใหม่ ๆ มีความสุขไปกับมัน
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการมีทัศนคติเชิงบวก ควรทำอย่างไรบ้าง?
- ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง มองหาข้อดีของอุปสรรคนั้น และนำไปเป็นบทเรียน
- มองการกระทำให้รอบด้านก่อนจะลงมือ
- กล้าที่จะลองมือ หากเกิดความผิดพลาดมองว่าเป็นการเรียนรู้ และหาวิธีแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำสอง
- เลือกที่จะเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเชิงบวก
- บันทึกสิ่งที่มีความสุขของแต่ละวัน และเมื่อวันไหนเราเจอเรื่องทุกข์ใจให้ย้อนกลับไปอ่านจะช่วยสร้างพลังบวกกลับมาให้เราได้
- ฝึกพูดให้กำลังใจตัวเอง ให้ของขวัญขอบคุณตอบแทนตัวเองที่ข้ามผ่านมาได้
- ให้คุณค่ากับตัวเอง พร้อมหมั่นเรียนรู้และพัฒนา
สรุปทั้งหมด
นับว่าเป็น 12 Future Soft skills ที่จำเป็นต้องมีเลยก็ว่าได้ เมื่อเรามี Soft skills นั้นจะอยู่ติดตัวเราต่อไปไม่แม้ว่าในอนาคตเราจะเปลี่ยนสายอาชีพก็ตาม ที่สำคัญเลย Soft skills เหล่านี้จะมาจากเราลงมือด้วยตัวเองเท่านั้น อาจจะมาจากการขัดเกลาจากสภาพแวดล้อมที่เราเติบโต และจากบุคคลรอบข้าง ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ดี
นอกจากนี้ในการทำงาน Hard skills อย่างเดียวอาจจะไม่พอเป็นที่จะสร้างจุดยืนที่แตกต่างให้เรา แต่ Soft skills นั้นจะเป็นจุดแข็งให้กับตัวเรามากขึ้น ให้การทำงานกับผู้ร่วมงาน ลูกค้า และหัวหน้าของเราเลื่อนไหลและส่งมอบงานที่มีคุณค่าได้ดียิ่งขึ้น พร้อมที่จะเป็นที่ต้องการขององค์กรที่ขาดไม่ได้