6 วิธีเลือกหุ้นส่วนให้กับธุรกิจสตาร์ทอัป ควรพิจารณาจากอะไร เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดีที่สุด ?

6 วิธีเลือกหุ้นส่วนให้กับธุรกิจสตาร์ทอัป ควรพิจารณาจากอะไร เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดีที่สุด ?
Light
Dark
Pea Tanachote
Pea Tanachote

อดีตนักร้อง ที่ผันตัวมาเขียนคอนเทนต์ ชอบดูฟุตบอลและ Blackpink เป็นชีวิตจิตใจ นักเขียนคอนเทนต์ที่ใคร ๆ ก็ต้องการตัว (โดยเฉพาะตำรวจ)

นักเขียน

ในการเริ่มต้นทำธุรกิจโดยเฉพาะสตาร์ทอัปนั้นเป็นเรื่องยากพอสมควรที่คุณจะดำเนินการทำธุรกิจหรือวางกลยุทธ์ในการสร้างผลิตภัณฑ์เพียงคนเดียว เพราะถ้าคุณต้องการการเติบโตที่มากขึ้น คุณมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาหุ้นส่วน (Partner) ในการทำธุรกิจเข้ามาเป็นกำลังช่วยคุณอีกแรง เปรียบเหมือนการที่องค์กรของคุณมีกำลังสมอง กำลังแรง มากขึ้น ในการทำงานสร้างกลยุทธ์การเติบโตต่าง ๆ ในช่วงแรกของการสร้างผลิตภัณฑ์เป็นก้าวแรกที่สำคัญสำหรับองค์กรของคุณ

แต่การเลือกหุ้นส่วนคนสำคัญคนนั้นมันไม่ใช่เพียงแค่การนำใครก็ได้มาเป็น เพราะการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจนั่นเท่ากับครึ่งชีวิตของเขาต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขอยู่กับคุณ คุณต้องหาคนที่เชื่อใจ ไว้ใจได้มากพอที่คุณจะฝากธุรกิจของคุณไปอยู่ในมือของคน ๆ นั้นได้ 

กลับกันในกรณีที่คุณเลือกหุ้นส่วนผิดพลาด ไปเจอคนที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเอง สนใจแต่เงินในกระเป๋า ไม่นึกถึงภาพรวมการทำธุรกิจ ก็อาจทำให้ธุรกิจคุณพังพินาศลงไปในพริบตาและอาจทำให้คุณต้องเสียธุรกิจที่คุณสร้างมากับมือไปได้เลย

ดังนั้นในบทความนี้ The Growth Master จะพาทุกคนมาเรียนรู้ 6 วิธีในการเลือกหุ้นส่วนให้กับธุรกิจสตาร์ทอัป ควรพิจารณาจากอะไร เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดีที่สุด ที่ต้องบอกเลยว่าสำหรับใครที่กำลังเริ่มต้นสร้างธุรกิจหรือกำลังมองหาหุ้นส่วนอยู่ ควรอ่านบทความนี้ให้จบ ไปติดตามกันได้เลย

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

เลือกหาหุ้นส่วนจากคนที่คุณรู้จักประวัติของเขาเป็นอย่างดี คือก้าวแรกของการเริ่มต้น

ในขั้นตอนแรกสุดของการที่คุณจะเริ่มมองหาหุ้นส่วน ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของธุรกิจคุณนั้น เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายคนมักจะใช้วิธีการเลือกแบบผิด ๆ นั่นก็คือเลือกหุ้นส่วนจากคนที่มีความสามารถหรือเลือกหุ้นส่วนจากคนที่มีกำลังทรัพย์เยอะ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเลือกหุ้นส่วนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัปนั้น จะไม่ได้โฟกัสที่ 2 อย่างนั้นเลย แต่ควรเลือกจาก “คนที่คุณรู้จักประวัติของเขาเป็นอย่างดี” ก่อนเสมอ

เพราะว่าการที่เราจะมองหาหุ้นส่วนสำหรับการทำธุรกิจสตาร์ทอัปนั้น มันไม่ใช่แค่การเลือกหาหุ้นส่วนระยะสั้น จบโปรเจกต์แล้วแยกย้าย แต่เราต้องมองภาพธุรกิจกันเป็นระยะยาว มองภาพอนาคตกันแบบหลายปี ดังนั้นคนที่คุณจะเลือกเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ก็ควรเป็นคนที่คุณรู้จักประวัติและนิสัยของเขามากพอสมควร รู้ว่าเขาเป็นคนแบบไหน มีอะไรเป็นจุดเด่น จุดด้อย ที่เป็นสิ่งที่ธุรกิจของคุณขาดหายไปอยู่

ผมขอแนะนำว่า คนที่คุณกำลังมองหาอยู่นั้น ควรเป็นคนที่คุณมีช่วงเวลาร่วมกับเขามาก่อน เช่น เป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันที่เคยเรียนมัธยม, มหาวิทยาลัยมาด้วยกัน หรือเคยเป็นเพื่อนร่วมงานที่สนิทกันมามากกว่า 3-4 ปีขึ้นไป เพราะถ้าเป็นกลุ่มคนแบบนี้ ตัวคุณน่าจะได้รับรู้ถึงนิสัย ความสามารถ สไตล์การทำงาน ความรับผิดชอบ ของคน ๆ นั้นมากพอสมควรแล้ว รวมถึงตัวคน ๆ นั้นเองก็รู้จักกับคุณเป็นอย่างดีเช่นกัน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการทำความรู้จัก สร้างความสนิทสนมกันเพิ่ม เหมือนการหาหุ้นส่วนจากคนกลุ่มอื่น ๆ 

ภาพจาก talkroute

แต่การเลือกหุ้นส่วนจากคนโดยพิจารณาจาก “ประวัติ” ของคน ๆ นั้นเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่ทำให้คุณได้พบกับหุ้นส่วนที่คุณตามหาได้ทันที เพราะถึงแม้คุณจะรู้จักหรือคุ้นเคยกับว่าที่หุ้นส่วนคนนั้นเป็นเวลานานก็ยังไม่มีอะไรที่บ่งบอกได้แน่ชัดว่า เขาจะเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่หายไปของธุรกิจคุณได้หรือไม่

ดังนั้นคุณควรต้องพิจารณาเลือกหุ้นส่วน ผ่านการใช้วิธีทั้ง 6 แบบ ที่เราได้ทำการสรุปมาให้คุณแล้ว..

6 วิธี เลือกหุ้นส่วนให้กับธุรกิจสตาร์ทอัปเพื่อการเติบโต มีอะไรบ้าง ?

ในการเลือกหุ้นส่วนของธุรกิจสตาร์ทอัป หลังจากที่คุณเริ่มมีตัวเลือกในหัวแล้วว่า “ว่าที่หุ้นส่วน” คนนั้น ควรจะเป็นใคร ให้คุณลองใช้ 6 วิธีเหล่านี้ในการสแกนเลือกหุ้นส่วนเพิ่มเติม โดยทั้ง 6 วิธีนี้จะเป็นเหมือนการหาลักษณะนิสัย (Character) ของหุ้นส่วนที่ดีและเป็นคนที่ “ใช่” สำหรับธุรกิจ ของคุณ

1 ตามหาคนที่เป็น Vision Driven ก่อนเสมอ

อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วว่าในการทำธุรกิจสตาร์ทอัปหรือการเริ่มต้นสร้างผลิตภัณฑ์ มันคือการทำธุรกิจแบบระยะยาว เพราะฉะนั้นอันดับแรกคุณควรต้องหาคนที่มี Vision หรือแนวคิดเดียวกันกับคุณ (Vision Driven) เพราะเมื่อทั้งตัวคุณและหุ้นส่วนคนนั้นมีวิสัยทัศน์เดียวกัน คุณและหุ้นส่วนก็จะมีภาพเป้าหมายเดียวกัน คือการทำให้ธุรกิจเติบโตให้ได้มากที่สุด และร่วมกันทำทุกวิถีทางที่พาธุรกิจไปสู่เส้นชัย

โดยให้คุณพยายามหลีกเลี่ยง หุ้นส่วนที่มีนิสัยแบบ Money Driven หรือคนที่มองเรื่องเงิน เรื่องผลตอบแทนเป็นสำคัญ วิธีดูก็ง่าย ๆ กลุ่มคนแบบนี้เมื่อคุณได้ชวนเขาเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของธุรกิจ เขาจะถามถึงเรื่องเงิน ผลตอบแทนที่เขาจะได้รับเป็นอันดับแรก โดยที่ไม่ได้ถามคุณกลับเลยว่า คุณกำลังมีแผนธุรกิจอย่างไรหรือจะสร้างผลิตภัณฑ์อะไร ? 

เพราะเขาไม่ได้สนใจถึงเรื่องคุณค่า เรื่องการทำธุรกิจอะไรเลย เขาเพียงแต่สนใจในเรื่องเงินทอง ที่จะได้เมื่อเขาเข้ามาทำธุรกิจกับคุณ ดังนั้นถ้าคุณเจอคนที่อยากเข้ามาเป็นหุ้นส่วนลักษณะแบบนี้ ให้รีบตัดทิ้งออกไปก่อนได้เลย และมองหาคนที่เป็น Vision Driven ก่อนเสมอในขั้นตอนแรก (ธุรกิจสตาร์ทอัประดับโลกมักจะมีหุ้นส่วนแบบ Vision Driven แทบทุกองค์กร)

ภาพจาก ciolook

2. หาคนที่ Work Hard มากกว่า Work Smart

ส่วนต่อมาก็คือเรื่องของการหาหุ้นส่วนที่ต้อง Work Hard หรือเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่ จะเรียกว่าทำงานหนักกว่าพนักงานคนอื่นก็ไม่ผิดอะไร เพราะในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัปช่วงเริ่มต้น คุณจำเป็นต้องอาศัยแรงงาน ความสามารถอย่างหนักในการสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ แน่นอนว่าไม่ใช่งานง่ายเลย แถมยังต้องมีเรื่องของกรอบเวลามาอีก ดังนั้นคุณควรต้องมองหาหุ้นส่วนที่ต้องพร้อมทุ่มเทให้กับการทำงานหนักจริง ๆ ในช่วงแรกของการสร้างธุรกิจนี้

แต่ผมเชื่อว่าน่าจะมีหลายคนที่เกิดคำถามว่า เห้ยตรงหัวข้อนี่พิมพ์ผิดหรือเปล่า เพราะสมัยนี้เคยได้ยินว่าเราควรทำงานแบบ Work Smart (ทำงานอย่างฉลาด) มากกว่า Work Hard (ทำงานหนัก) นะ ?

ซึ่งความเป็นจริงแล้วผมไม่ได้พิมพ์ผิดหรอกครับ สำหรับการหาหุ้นส่วนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัปนั้นคุณควรหาคนที่ Work Hard ก่อนเสมอ จริงอยู่ครับที่ Work Smart หรือการทำงานแบบฉลาด ทำน้อยได้มาก มันคือสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในการทำธุรกิจปัจจุบัน แต่สกิลการทำงานแบบ Work Smart นั้น มันควรจะต้องเป็นสิ่งที่ว่าที่หุ้นส่วนของคุณควรมีติดตัวอยู่แล้ว หรือพูดง่าย ๆ ว่าคนที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนให้กับธุรกิจของคุณจะต้องทำงานหนักและทำงานอย่างฉลาดในคนเดียวกัน หรือ Work Hard + Work Smart นั่นเอง

ภาพจาก greatperformanceacademy

3. มองหาคนที่ให้ความสำคัญกับ “ทีม” เป็นอันดับแรก

ในการเริ่มสร้างธุรกิจหรือเริ่มสร้างผลิตภัณฑ์อะไรสักชิ้นขึ้นมา บางทีแค่ตัวคุณเองกับหุ้นส่วนอีกคน ก็ควไม่สามารถสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาได้อย่าสมบูรณ์แบบที่สุด หากแต่ต้องใช้ “ทีมงาน” หรือพนักงานในองค์กรของคุณเข้ามาช่วยอีกหลายแรง 

ดังนั้นหุ้นส่วนคนที่คุณกำลังมองหาอยู่นั้นจะต้องมีลักษณะนิสัยที่เป็น Team Oriented หรือต้องเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบ “ทีม” เป็นอันดับแรก เพราะการร่วมมือกันระหว่างเจ้าของธุรกิจ หุ้นส่วน และทีมงาน เพื่อการสร้างธุรกิจและผลิตภัณฑ์นั้น มันย่อมดีกว่าการทำงานแบบต่างคนต่างทำ โยนงานกันไปมาอยู่แล้ว (เราอาจจะเรียกลักษณะการทำงานแบบนี้ว่า Silo) 

ซึ่งในการมองหาว่าที่หุ้นส่วน ที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้วิธีสังเกตก็ง่าย ๆ คุณอาจจะลองใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานหรือใช้เวลาร่วมกับเขาในการพิจารณาว่า เขาต้องเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับทีมมาก่อนตัวเองเสมอ นึกถึงทีมก่อนเสมอ เช่น มีการคุยงาน ระดมความคิด กำหนดเป้าหมายกับทีมเสมอ สนับสนุนให้ทีมทุกคนรู้หน้าที่ของตนเอง คอยช่วยเหลือทีมทุกคนอย่างเต็มที่ และที่สำคัญคือ เขาจะมีความคิดว่าถ้าเขาหายไปหรือเขาทำงานไม่สำเร็จ เขาจะเลือกไม่ทำในสิ่งนั้นเลยตั้งแต่แรกเพราะจะต้องทำให้ทีมคนอื่น ๆ ต้องทำงานเพิ่มขึ้นในส่วนของเขาแทน

ภาพจาก pinterest

4. ต้องเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

“If we have optimism without empathy then it doesn’t matter how much we master the secrets of science. We’re not really solving problems, we’re just working on puzzles.” - Bill Gates

ต่อจากข้อที่แล้วในเรื่องของ การให้ความสำคัญกับทีม อีกหนึ่งสิ่งที่จะขาดไม่ได้สำหรับหุ้นส่วนที่คุณกำลังตามหา ก็คือเรื่องของ Empathy Skills หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งต้องยอมรับว่าองค์กรสมัยใหม่หรือธุรกิจสตาร์ทอัประดับโลกปัจจุบันก็จะเริ่มมองหาบุคลากรที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้กันมากขึ้น

เพราะคนที่มีลักษณะนิสัยที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ในการทำงานเขาจะเข้าใจถึงปัญหาของผู้อื่นก่อนเสมอ และไม่ตัดสินผู้อื่นผ่านมุมมองของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ถ้าเปรียบกับการทำธุรกิจหรือการสร้างผลิตภัณฑ์นั้น ผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เขาจะคิดถึงความต้องการของลูกค้าก่อนเสมอ  คิดว่าพวกเขาเจอปัญหาอะไรอยู่ ปัญหานั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนเหล่านั้นมากแค่ไหน เราจะสร้างผลิตภัณฑ์อะไร มีฟีเจอร์แบบไหนมาช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาได้อย่างดีที่สุด 

ซึ่งเรื่องนี้ทาง Satya Nadella CEO ของ Microsoft ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก เขามีความเชื่อว่าการสร้าง Empathy Skills นั้นไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวกันมาตั้งแต่เกิด ทุกคนสามารถสร้างลักษณะนิสัยแบบนี้ขึ้นมาได้ เหมือนกับการสร้างกล้ามเนื้อ เพราะตัวของ Satya Nadella เขาเคยผ่านจุดที่ลำบากที่สุดในชีวิตมาก่อนที่จะได้ก้าวเป็น CEO ของ Microsoft ดังนั้นเขาเลยเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการสร้างองค์กรด้วยการมี Empathy Skills เป็นอย่างมาก 

ภาพจาก panasm

กลับมาที่ธุรกิจของคุณ ดังนั้นการมีหุ้นส่วนที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแบบนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์ให้ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้จริงและยังเป็นสิ่งที่ผู้นำองค์กรยุคใหม่ ควรมีติดตัวไว้เพื่อการสร้างองค์กรให้แข็งแกร่ง

5. ต้องมีทักษะในการแก้ปัญหา ไม่กลัวกับการเจออุปสรรค

ในการทำธุรกิจสตาร์ทอัปหรือการลงมือสร้างผลิตภัณฑ์ คงยากที่จะปฏิเสธว่าในระหว่างการทำงานคุณจะต้องพบกับ “ปัญหา” ที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนและดูดเวลาการทำงานของคุณไปในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็ก ๆ ยิบย่อยในการหาไอเดียการสร้างผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด 

เมื่อปัญหากับการทำธุรกิจสตาร์ทอัปคือของคู่กันแบบนี้ ว่าที่หุ้นส่วนที่คุณกำลังตามหาอยู่นั้น ก็ควรจะต้องเป็นคนมีทักษะในการแก้ปัญหา ไม่กลัวกับการเจออุปสรรค ถึงจะช่วยเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่องค์กรของคุณกำลังมองหา

คนที่มีสกิลในการแก้ปัญหาแบบที่เราต้องการ สังเกตได้เลยว่า เมื่อเวลาที่ทีมหรือธุรกิจกำลังมีปัญหา เขาจะเป็นคนแรกที่จะเข้ามาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกหรือมาขอความช่วยเหลือ มีทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รู้ที่มาที่ไปของแต่ละปัญหาว่า ต้นตอเกิดมาจากอะไร และที่สำคัญคือเขาต้องเป็นคนที่ลงมือแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จริง ไม่ใช่แค่เพียงให้ความคิดแล้วโยนไปให้คนอื่นทำต่อ

ซึ่งคนที่มีทักษะในการแก้ปัญหาและไม่กลัวกับการเจออุปสรรค ถือว่าเป็นบุคลิกของคนที่จะเข้ามาช่วยทำให้การทำธุรกิจในช่วงเริ่มต้นของคุณง่ายขึ้นได้นั่นเอง

6. ควรมี Builder Mindset หรือแนวคิดในการริเริ่มอะไรใหม่ ๆ  

อย่างสุดท้ายคือ คนที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของธุรกิจคุณนั้น ควรจะต้องมีแนวคิดที่เรียกว่า “Builder Mindset” หรือแนวคิดชอบในการคิดริเริ่มอะไรใหม่ ๆ และสามารถลงมือทำเองได้บ้างในบางขั้นตอน ถือเป็นลักษณะของหุ้นส่วนที่คุณควรต้องหาเจอ

วิธีสังเกตผู้ที่มี Builder Mindset ควรต้องพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขาว่า เขาเคยลงมือสร้างผลิตภัณฑ์อะไรขึ้นมาได้เองมั้ย และสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมามันประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

เพราะผู้ที่เคยผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์ลักษณะนั้นมา เขาจะรู้กระบวนการสร้างธุรกิจ/ผลิตภัณฑ์ในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างดี ซึ่งจะได้เปรียบกว่าผู้ไม่มีประสบการณ์ ที่จะไม่รู้กระบวนการทำงานที่ถูกต้อง เมื่อลงมือทำจริงอาจเกิดปัญหาตามมา

ซึ่งนอกจากหุ้นส่วนที่คุณกำลังตามหาแล้ว หากพูดถึง Builder Mindset ก็ควรเป็นสิ่งที่คุณควรใช้ในการเลือกหาทีม/บุคลากรในองค์กรด้วย เพราะถ้ามีทีมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแนวคิดแบบนี้ ก็จะช่วยทำให้ธุรกิจของคุณมีไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดตลอด (อาจจะไม่ต้องถึงขั้นลงมือทำจริงได้) หรือออกไอเดียต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในที่ประชุมเสมอ มันก็ย่อมดีกว่าการมีทีมที่ปราศจาก Mindset แบบนี้ ถูกต้องไหมครับ

ดังนั้นคงบอกได้ว่าการมองหาหุ้นส่วน (รวมถึงการมีทีม) ที่มี Builder Mindset นี่แหละที่จะเป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของคุณให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน

ภาพจาก inc


สรุปทั้งหมด

ในการหาหุ้นส่วนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัป ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมไหนก็ตาม หุ้นส่วนคนที่คุณเลือกเข้ามานั้น จะต้องเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ธุรกิจของคุณยังขาดหายไป หรือต้องเข้ามาเป็นกำลังในสิ่งที่องค์กรของคุณยังไม่มีความเชี่ยวชาญจริง ๆ 

แต่กลับกันถ้าเขาคนนั้นเขามีความสามารถ มีความรู้ที่เหมือนกับที่คุณและทีมมีอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่ได้ช่วยทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตไปได้มากขึ้น คุณต้องเริ่มมองหาสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของธุรกิจตัวเองก่อน แล้วจากนั้นค่อยทำมาตกผลึกว่าถ้ามีหุ้นส่วนสักคนเข้ามา เขาคนนั้นจะช่วยทำให้ธุรกิจของคุณสร้างความแตกต่างได้จริงหรือไม่ ผ่านวิธีการพิจารณาทั้ง 6 วิธีที่เราได้นำเสนอไป ก็จะช่วยทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมก้าวไปสู่ขั้นตอน (Stage) ต่อไปในการทำธุรกิจ

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe