ทุกวันนี้นอกจากคำว่า Blockchain แล้ว เราคงอาจได้เห็นคำว่า Web3 ผ่านตากันมานับครั้งไม่ถ้วน และอาจได้ยินบางคนบอกว่า Web3 จะเข้ามาเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ทำให้โลกของเรามีความเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอีกด้วย เพราะ Web3 จะทำให้ข้อมูลของเรามีความปลอดภัยมากขึ้นในการใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook
ในบทความนี้เราเลยอยากจะมาเล่าวิวัฒนาการตั้งแต่ Web1, Web2 และ Web3 ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แล้วทั้งสามยุคนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ไปดูกันต่อได้เลย
ความแตกต่างระหว่าง Web1, Web2 และ Web3 Web1: เว็บบอร์ด อ่านได้อย่างเดียว (One-way Communication) Web1 คือ เว็บไซต์รุ่นแรก ๆ ที่ให้คนมาอ่านข้อมูลได้เท่านั้น แต่โต้ตอบกลับไม่ได้ (One-way Communication) ซึ่งถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คงจะเป็นพวก เว็บบอร์ด สมัยก่อนที่เรายังเป็นเด็กที่เข้าไปอ่านข้อมูลได้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถเข้าไป Interact, คอมเมนต์ แสดงความคิดเห็นอะไรกลับได้เลย เช่น Yenta4, Yahoo, Reddit เป็นต้น
ภาพจาก distilled Web2: โซเชียลมีเดีย เขียน อ่าน โต้ตอบกันได้ (Two-way Communication) Web2 คือ เว็บไซต์ที่เปิดให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบสื่อสารกันได้แบบเรียลไทม์ ทั้งเขียนและอ่าน (Two-way Communication) โดยในยุคนี้บรรดาบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลกเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, YouTube, TikTok และอื่น ๆ ที่เข้ามาผลิตคอนเทนต์และเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานไป ทำให้กลายเป็นว่าข้อมูลของผู้ใช้งานถูกควบคุมโดยบริษัทนั้น ๆ บางครั้งก็ทำให้ผู้ใช้งานถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวไปได้
ถ้าให้อธิบายแบบเห็นภาพได้ชัด ๆ เลยก็คงจะเป็นการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานของ Facebook ซึ่งเราจะรู้กันอยู่แล้วว่า Facebook เป็นแพลตฟอร์มฟรี แต่ทำรายได้จากการขายโฆษณา (Ads) ซึ่งก็เท่ากับว่าการที่แพลตฟอร์มจะส่งโฆษณาไปให้ถูกกับกลุ่มเป้าหมายได้นั้น Facebook ก็ต้องมีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานบางอย่างไป
จะเห็นได้ว่าในช่วงพักหลัง ๆ Facebook ก็มีโฆษณาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราเคยสงสัยไหมว่าทำไมโฆษณามันตรงกับความคิด หรือความต้องการของเราเลย Facebook รู้ได้ยังไงกัน? พูดคุยเล่นกับเพื่อนในช่องแชท หรือไปเสิร์ชดูข้อมูลรองเท้าบน Google แต่พอกลับมาไถไทม์ไลน์ Facebook ปุ๊บ ก็เจอรองเท้าที่เรากำลังอยากได้ที่เคยค้นหาไปพอดีเลย นั่นแหละคือการที่ Facebook เก็บข้อมูลของเราไป ทำให้เราเสียความเป็นส่วนตัว (Privacy) บางส่วนไปด้วย
ยิ่งแพลตฟอร์มนั้น ๆ ทั้ง Google, Facebook หรืออื่น ๆ มีผู้ใช้งานมากขึ้นเท่าไร ก็เท่ากับว่าข้อมูลของผู้ใช้งานก็จะถูกรวบรวมไว้ที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นนั่นแหละ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Web3 เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความเป็นส่วนตัวนี้
ภาพจาก shopify Web3: ระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) Web3 คือ รูปแบบของเว็บไซต์ที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized Web) กล่าวคือจะไม่มีการดูแลและควบคุมโดยหน่วยงานหรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะเป็นระบบการกระจายอำนาจ ไม่มีเซิร์ฟเวอร์กลาง ทำให้ข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้งานจะอยู่ในมือของผู้ใช้เท่านั้น ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในการพัฒนาเหมือนเป็นหนึ่งในเจ้าของแพลตฟอร์มนั้น ๆ อย่างเท่าเทียมกัน
ตัวอย่างแพลตฟอร์มบน Web3 เช่น Storj , IPFS พื้นที่ที่ใช้เพื่อเก็บและแชร์ข้อมูล ซึ่งมีการทำงานคล้าย Dropbox, Google Drive หรือ Brave ที่ทำหน้าที่คล้าย Chrome เป็นต้น
นอกจากนี้ Web3 ยังเป็น ระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) อีกด้วย โดยปกติบน Web2 บางครั้งถ้าเราต้องมีการทำธุรกรรมบางอย่าง เช่น ซื้อของบน E-Commerce หรือเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ ซึ่งเราอาจจะต้องมีการจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์ม Third-party (เช่น PayPal, Omise) ทำให้ข้อมูลของเราจะไปอยู่บนแพลตฟอร์ม Third-party ไปจนถึงธนาคารปลายทางด้วย
แต่พอเป็น Web3 ระบบ Digital Wallet เราก็จะรู้ทันทีเลยว่ากระเป๋านั้นเป็นกระเป๋าเงินของเรา แล้วเราก็สามารถโอนเงินนั้นไปยังกระเป๋าเงินปลายทางได้โดยตรงเลย และในระหว่างทางข้อมูลของเราก็จะไม่รั่วไหลไปยังแพลตฟอร์มอื่นอีกด้วย ทำให้มีความปลอดภัยมากกว่าเดิม รวมถึงมีการตรวจสอบทุกอย่างได้
หรืออีกในกรณีหนึ่ง ใครหลายคนอาจเคยเจอปัญหา “เงินเรา ไม่ใช่เงินเรา” แม้เราจะมีเงินมากมายอยู่ในธนาคาร แต่เราก็ไม่สามารถใช้เงินนั้นได้ เพราะการโอนเงินในแต่ละวัน มักจะมีเพดานจำกัดอยู่เสมอว่าเราสามารถโอนเงินได้กี่บาทต่อวัน ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะอยากใช้เราของเรามากแค่ไหน แต่เราก็ไม่สามารถทำได้อยู่ดี
กลับกันถ้าเป็น Digital Wallet บน Blockchain ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะเงินเรา จะเป็นเงินเราอย่างแท้จริง ไม่มีเพดานจำกัดว่าเราจะใช้ได้วันละหลักแสนบาทเท่านั้น แต่เราจะมีอิสระในการใช้เงินเราอย่างแท้จริง
ข้อจำกัดของ Web3 ในตอนนี้แม้จะมีคนเริ่มใช้ Web3 แล้วก็ตาม แต่ Web3 ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
เรื่องของประสิทธิภาพและความสามารถในการขยายระบบ (Scalability) ทำได้ช้า กว่าการใช้ Cloud Server หรือเว็บไซต์แบบ Centralized ในปัจจุบัน เพราะด้วยความที่ Web3 เป็นระบบ Decentralized นั่นหมายความว่าการประมวลผลจะถูกแยกออกไปให้คอมพิวเตอร์ทั่วโลกทำงาน ซึ่งจำเป็นต้องจ่ายค่าแก๊สให้คนทั่วโลกช่วยประมวลผลด้วย ในปัจจุบันผู้ใช้งานก็ยังเข้าถึงการใช้งาน Web3 ได้ยาก เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้งาน Web Browser ในตอนนี้ยังคงมีการเชื่อถือและยึดติดการใช้บริการจากแพลตฟอร์ม Web2 มากกว่า ยังรวมไปถึงเรื่องของ Generation Gap หรือ Knowledge ในการใช้งานด้วย ซึ่งถ้าเป็นผู้ใช้งานใน Gen ก่อนหน้านี้ หลายคนก็อาจจะยังไม่เปิดใจใช้งาน Web3 หรือ Blockchain สักเท่าไร เพราะหลายคนมองว่ายังเป็นระบบที่ค่อนข้างซับซ้อนและเข้าใจยาก การพัฒนา Web3 ยังทำได้ยากกว่าปกติ เพราะมีพื้นฐานเทคโนโลยีที่ค่อนข้างต่างกัน ทำให้ต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้จริง ๆ มาพัฒนา ซึ่งอาจทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่าการพัฒนา Web2 แบบปกติอีกด้วยตอนนี้ยังถือว่าเป็นเพียงแค่ยุคเริ่มต้นของ Web3 ที่ส่วนใหญ่มักจะมีความเกี่ยวข้องกับบริการทางด้านการเงินและคริปโทเคอร์เรนซีเป็นหลัก และอาจจะยังไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากนัก แต่ในอนาคตเราเชื่อว่า Web 3 จะมีการขยายตัวไปในทุก ๆ อุตสาหกรรมอย่างแน่นอน และมี Use Case ใหม่ ๆ ออกมาให้เราได้มีการเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเริ่มมีความเคลื่อนไหว เข้ามาลงทุน และทำงานด้วย Web3 กันมากขึ้นแล้ว
สรุปทั้งหมด แน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Web3 เป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เหมือนในยุค Web1 และ Web2 ที่เราเคยผ่านมาแล้วและกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งเราก็อาจเห็นแล้วว่าวิวัฒนาการของคำว่า Web3 มันมาเร็วขนาดไหน เมื่อก่อนเราอาจจะไม่เคยได้ยินคำว่า Web3, NFT, Blockchain หรือ Cryptocurrency เลย แต่ตอนนี้เราเห็นหรือได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
ดังนั้นเรื่องของ Web 3 ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะมีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจมากขึ้นในอนาคต ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่ดีที่คุณจะเริ่มศึกษาทำความรู้จักกับเรื่องนี้ไว้ก่อนนั่นเอง