เคยไหม เมื่อถึงคราวที่คุณมีโอกาสทำงานดีไซน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Presentation, Resume สมัครงาน, Poster ประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ, หรือแม้กระทั่งทำการ์ดวันเกิดให้แฟน แต่คุณไม่มีไอเดียว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหนดี วาดรูปก็ไม่เป็น ไม่ถนัดใช้โปรแกรมออกแบบอีก ซึ่งก็ส่งผลให้งานที่ออกมาไม่สวยงาม และไม่น่าดึงดูด
จากปัญหาเหล่านี้ จึงได้เกิด “Canva” ขึ้นมา เป็นตัวช่วยให้การดีไซน์ให้งานของคุณดูน่าสนใจ และน่าดึงดูด โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการออกแบบมาก่อน เพราะมี Template ที่ช่วยให้ผู้คนสร้างงานดีไซน์ได้ง่ายขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ปัจจุบันมีผู้ใช้ Canva มากกว่า 55 ล้านคนทั่วโลก กว่า 190 ประเทศ และช่วยให้ผู้ใช้สร้างสรรค์งานออกแบบมาแล้วมากกว่า 3,000 ล้านชิ้น
แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยใช้ Canva หรือใครที่อยากรู้แล้วว่าเส้นทางการเติบโตของ Canva เป็นอย่างไร บทความนี้ The Growth Master จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Canva ให้มากขึ้น และเรียนรู้ถึงกลยุทธ์ที่ Canva ใช้ จนทำให้ประสบความสำเร็จ และกลายเป็น Unicorn ในที่สุด (บริษัท Startup ที่มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท)
Canva คืออะไร ?
Canva เป็นเครื่องมือออกแบบทรงพลัง ที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนที่ไม่ถนัดด้านออกแบบ ให้สามารถดีไซน์งานออกมาได้อย่างมีคุณภาพ ในระยะเวลาอันสั้น เริ่มต้นใช้งานได้ฟรี โดยที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
ฟีเจอร์หลัก ๆ ของ Canva คือการมี Template สำเร็จรูปไว้ให้พร้อม และครอบคลุมงานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Presentation, Resume, Report, Poster, Banner, แผ่นพับ, การ์ด, นามบัตร และอื่น ๆ อีกมากมาย โดย Canva ได้สร้าง Template ใหม่ ๆ ออกมาอยู่ทุกวัน มากกว่า 420,000 Template [ข้อมูลเดือนกรกฎาคม ปี 2021]
หลักการใช้งานของ Canva คือการทำงานรูปแบบ “Drag-and-Drop” โดยให้ผู้ใช้สร้างหรือเลือก Template มาเป็นแบบ จากนั้น ใส่ข้อความ, ลากรูปภาพ หรือ Vector ที่ต้องการมาใส่, เปลี่ยนสีให้เข้ากับงานของตน, และจัด Layout ต่าง ๆ ผ่านการลากเมาส์ไปมา เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ออกมาแล้ว 1 ชิ้น ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
รวมถึง เมื่อสิ้นปี 2020 ที่ผ่านมา Canva ก็เพิ่งเปิดตัวการใช้งานรูปแบบของ Collaboration ที่ผู้ใช้สามารถนำเพื่อนร่วมทีมมาออกแบบงานชิ้นเดียวกันได้ในเวลาเดียวกัน เพิ่มรูปแบบการทำงานร่วมกันที่เหมาะกับองค์กรยุคสมัยนี้มาก ๆ
ประวัติของ Canva เครื่องมือออกแบบสำหรับทุกคน เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
ต้นกำเนิดของ Canva เกิดขึ้นมาจาก เมื่อปี 2007 Melanie Perkins ผู้ก่อตั้ง Canva ที่กำลังเรียนอยู่ที่ The University of Western Australia ได้ไปเป็นติวเตอร์สอนคนใกล้ตัวของเธอเรื่องการใช้โปรแกรมออกแบบ ซึ่งก็คือ Indesign และ Photoshop นั่นเอง
จากประสบการณ์การสอนของเธอ ทำให้เธอพบว่าโปรแกรมเหล่านี้นั้นยากตั้งแต่การเรียนรู้ จนกระทั่งการใช้งานเลย นี่จึงทำให้เธอเกิดประกายความคิดที่ว่า ในอนาคตมันจะต้องมีโปรแกรมการออกแบบที่ใช้งานได้ง่าย และไม่ยากต่อการเรียนรู้ รวมถึงต้องอยู่บน Online Platform ที่รองรับการทำงานร่วมกันได้
หลังจากนั้น เธอก็ได้ร่วมงานกับ Cliff Obrecht แฟนของเธอนั่นเอง พวกเขาได้สร้าง Fusion Books เมื่อปี 2008 เป็นโปรแกรมสำหรับนักเรียนเอาไว้ออกแบบหนังสือรุ่นร่วมกันบน Online Platform โดยพวกเขาทำโปรแกรมนี้ขึ้นมาเพื่อทดสอบไอเดียที่อยากจะสร้าง Online Platform สำหรับการออกแบบขึ้นมาว่าจะเวิร์คไหม
หลังจากผ่านไป 5 ปีของการเก็บสะสมข้อมูล ในปี 2013 พวกเขาตัดสินใจที่จะขยายขอบเขตของการออกแบบบน Online Platform และครอบคลุมวงการงานออกแบบทั้งหมด โดยเปิดตัว Graphic Design Platform ที่มีชื่อว่า “Canva”
ตอนแรก ธุรกิจนี้เริ่มต้นด้วยชื่อ Canvas Chef เป็นการแสดงถึง Software ที่มีวัตถุดิบ (Template, ฟอนต์, และรูปภาพ) สำหรับการออกแบบอย่างเพรียบพร้อม แต่ไป ๆ มา ๆ Co-founder คนอื่น ๆ ก็ต้องการหาชื่อใหม่ และได้เสนอไอเดียขึ้นมาว่า Canvas ในภาษาฝรั่งเศส ออกเสียงว่า “Can-Va” จึงเป็นเหตุให้กลายมาเป็นชื่อ Canva อยู่ทุกวันนี้
ปัจจุบัน Canva มีออฟฟิศอยู่ทั้งหมด 3 แห่งทั่วโลก นั่นก็คือ Sydney, Manila, และ Beijing มีพนักงานกว่า 1,500 คน พร้อมกับนักถ่ายภาพ Freelance กระจายอยู่ทั่วโลกด้วย [ข้อมูลเดือนกรกฎาคม ปี 2021]
เส้นทางการเติบโตที่น่าสนใจของ Canva เว็บไซต์ Graphic Design ที่ถูกเข้าถึงเป็นอันดับ 1 ของโลก
เรามาเริ่มที่การเปิดตัวของ Canva เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2013 ภายใน 4 เดือน Canva มีผู้เริ่มต้นใช้งานไปแล้ว 150,000 คน และภายในเดือนตุลาคม ปี 2014 ซึ่งนับเป็น 14 เดือนหลังจากการเปิดตัว มีผู้ใช้กว่า 1 ล้านคนที่แชร์งานที่ออกแบบโดย Canva (หลังจากนี้จะใช้คำว่า “ผลงาน”) ที่ตนเองดีไซน์ลง Social Media, Blog, และ Email นี่ถือเป็นปีแห่งการเปิดตัวที่สามารถครองใจผู้ใช้ไปได้มากเลยทีเดียว
และเมื่อการเปิดตัวผ่านไป 2 ปีเต็ม ในปี 2015 มีผู้ใช้ Canva ไปกว่า 4 ล้านคน ถือเป็นการเติบโตมากกว่า 300% เมื่อเทียบจากจำนวนผู้ใช้ในปีแรก พร้อมกับมีผลงานที่ถูกสร้างออกมาเป็นจำนวน 2.95 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือคิดง่าย ๆ คือจะมีผลงานใหม่ออกมาทุกวินาทีเลยทีเดียว
ด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2017 มีจำนวนผลงานที่ถูกสร้างออกมาเพิ่มขึ้นเป็น 34 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือคิดเป็น 11 เท่าจากปี 2015 โดย Canva ได้สร้างผลกำไรไปทั้งหมด 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐจากผู้ใช้ที่ซื้อแพ็กเกจเพิ่มเติม (Paid User) จนกลายเป็น Unicorn เมื่อปี 2018 ด้วยมูลค่าธุรกิจ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ถัดมาในปี 2019 Canva ได้ขยับจากการเป็น Graphic Design Platform ที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ ไปสู่ Workspace ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ในระดับองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลงานถูกออกแบบมากกว่า 2,000 ล้านชิ้น และในเดือนตุลาคม ปี 2019 ก็ได้มีผลงานออกมา 139 ล้านชิ้น ซึ่งมากกว่าปี 2016 ทั้งปีเลยด้วยซ้ำ ถือเป็นปีที่ Canva เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยสร้างรายได้ไปมากกว่า 291 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าธุรกิจถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ไป 6 เท่าเลยทีเดียว
จนถึง ปัจจุบัน Canva ถือเป็นเว็บไซต์ที่คนเข้าถึงเป็นอันดับ 1 ในหมวดของ Graphics Multimedia and Web Design จากการจัดอันดับโดย SimilarWeb โดยมีคนเข้าถึงเว็บไซต์ Canva กว่า 255 ล้านคนต่อเดือน ได้รายได้มากถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี มีผู้ใช้กว่า 55 ล้านคนทั่วโลก ในมากกว่า 190 ประเทศ และครองมูลค่าธุรกิจสูงถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว (ข้อมูลอัปเดตล่าสุด ปี 2021) จนทำให้ Melanie Perkins ได้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดอันดับ 2 ของประเทศออสเตรเลีย
หากอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า Canva มีมูลค่าธุรกิจเติบโตสูงถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้อย่างไร เรามีบทความเต็ม ๆ ไว้แล้ว อ่านได้ที่นี่ >> มาแรง! Canva เครื่องมือด้านการออกแบบยอดนิยมมีมูลค่าธุรกิจทะลุ 15,000 ล้านดอลลาร์เรียบร้อยแล้ว
Canva ใช้กลยุทธ์อะไร ให้ครองใจผู้ใช้ไปมากกว่า 55 ล้านคนทั่วโลก
1. มี Template ที่ตอบโจทย์งานหลากหลายรูปแบบ
Canva ได้เจาะตลาดโดยกำจัด Pain Point ของคนที่ทำงานดีไซน์แต่ไม่ถนัดงานออกแบบได้อย่างตรงจุด ด้วยการสร้าง Template สำเร็จรูปขึ้นมาให้ผู้ใช้นำไปสร้างสรรค์ต่อให้เหมาะสมกับงานของตน
Template ที่ให้มานั้นก็ครอบคลุมงานทุกรูปแบบมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น Presentation, Resume, Report, Poster, กราฟ, โบรชัวร์, ปกหนังสือ, เมนูอาหาร, การ์ดแต่งงาน และอื่น ๆ อีกมายมาย เรียกได้ว่ามีความยืดหยุ่นมากเลยทีเดียว
ผู้ใช้สามารถ Customize ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับขนาด, ปรับเปลี่ยนสี หรือฟอนต์, หรือจะ Advanced หน่อย โดยการนำ Template หลาย ๆ อันมารวมร่างกัน และสร้าง Template ที่ไม่ซ้ำใครขึ้นมาเอง (ซึ่งก็ยังง่ายกว่าการดีไซน์แบบดั้งเดิมอยู่ดี)
ปกติแล้ว ถ้าหากจะสร้างสรรค์ผลงานในโปรแกรมออกแบบทั่วไป ผู้ใช้จะต้องคิด Layout ขึ้นมาเองทั้งหมด กว่าจะสร้างรูปทรงที่ต้องการได้ บางคนอาจจะต้องเจอกับปัญหาที่เลือกสีกับฟอนต์เท่าไหร่ก็ดูไม่เป็นทางเดียวกันสักที
แต่ด้วยการทำงานรูปแบบ Drag-and-Drop และ Template สำเร็จรูปของ Canva จะช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น โดยมีกรอบรูปมากมายให้เลือก อาจจะนำไปใส่สีทึบหรือใส่รูปก็ทำได้ รวมถึงอำนวยความสะดวกด้วยการจัดพาเลทสีมาให้ เป็นคู่สีที่เอาไปใส่ปุ้บแล้วเข้ากันทันที ยังไม่หมดแค่นั้น หากไม่รู้ว่าธีมสีนี้จะเข้ากับฟอนต์อะไร Canva ก็จัดมาให้ทั้งคู่สีและคู่ฟอนต์ รับรองว่างานออกแบบของเราจะออกมาเป็นธีมที่ไปในทิศทางเดียวกันอย่างแน่นอน
การมีฟีเจอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนทำงานออกแบบ เป็นเหตุผลหลักที่ Canva สามารถดึงดูดผู้ใช้ให้เลือก Canva ได้เสมอมา เพราะ Canva สามารถทำให้ทุกคนทำงานดีไซน์ออกมาได้อย่างสวยงาม มีคุณภาพ รวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องมีความรู้ใด ๆ มาก่อน ถือเป็น Graphic Design Platform ที่ใคร ๆ ก็ออกแบบได้อย่างแท้จริง
2. กลยุทธ์การเก็บเกี่ยวผู้ใช้งานใหม่ที่น่าสนใจ
อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเลย คือ Canva มีธุรกิจโมเดลในรูปแบบของ “Freemium” ซึ่งย่อมาจาก “Free + Premium” ที่มีความหมายว่า ลูกค้าสามารถเริ่มใช้บริการได้ฟรี โดยผู้ใช้จะได้รับ 250,000 Template พร้อมรูปภาพและ Vector ให้เลือกสรรมากมาย ซึ่งเท่านี้คุณก็สามารถเริ่มสร้างสรรค์งานออกแบบได้แล้ว และถ้าอยากได้ฟังก์ชันที่พรีเมียม ก็สามารถสมัครแพ็กเกจ Pro ได้ โดยสิ่งที่คุณจะได้รับเพิ่มเติมคือ 420,000 Template ที่จะมีเพิ่มขึ้นทุกวัน, ฟีเจอร์ลบ Background รูปภาพ, และการ Resize ให้เหมาะสมกับการลงรูปบน Social Media หลาย ๆ แพลตฟอร์ม
การใช้ธุรกิจโมลเดลรูปแบบ Freemium ส่งผลให้ผู้ใช้ได้มีประสบการณ์การใช้งานว่ามันช่วยแก้ปัญหาการทำงานดีไซน์ได้มากแค่ไหน จนเมื่อเขาติดใจการบริการจาก Canva และหากต้องการฟังก์ชันเพิ่มเติม พวกเขาก็สามารถผันตัวมาเป็น Paid User ได้ ซึ่งนี่ก็เป็นหลักการที่ Growth Hacking ใช้สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอย่างหนึ่ง
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ Canva ยังมีแคมเปญที่ชื่อว่า “Refer friends” เป็นแคมเปญที่ให้ผู้ที่ใช้งาน Canva อยู่แล้ว แนะนำให้เพื่อนหันมาลองใช้ Canva ดูบ้าง ถ้าหากผู้ใช้ใหม่กดสมัครสมาชิกผ่าน Referral Link ทั้ง 2 คนก็จะได้รูปภาพหรือ Vector จากแพ็กเกจ Pro ฟรีไป 1 ชิ้นทันที (ปกติแล้วหากไม่ได้สมัครแพ็กเกจ Pro จะต้องเสียเงิน 35 บาทต่อชิ้น)
การทำแบบนี้ทำให้มีผู้ใช้ใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ บวกกับฟีเจอร์ฟรีต่าง ๆ ที่สามารถออกแบบงานได้จริง ก็ยิ่งเกื้อหนุนให้ผู้คนหันมาใช้งาน Canva มากขึ้น โดยยิ่งมีผู้ใช้ใหม่มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสของจำนวน Paid User มากขึ้นเท่านั้น
3. การร่วมมือกับแบรนด์อื่น
Canva ได้มีการร่วม Collaboration กับแบรนด์อื่นไปแล้วกว่า 40 แบรนด์ ใน 18 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Samsung, HP, Hubspot, Wattpad, Fedex Office US, Office Depot US, TradePrint UK, Zoomin India, Staples Canada, Kmart Australia และอื่น ๆ อีกมากมาย การร่วมมือกับบริษัทที่หลากหลายทำให้ Canva ยิ่งสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และไม่มีสัญญาณของการชะลอตัวใด ๆ
โดยการ Collaboration ครั้งล่าสุดของ Canva ก็คือการจับมือร่วมกับ FedEx บริษัทขนส่งขนาดใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีสาขามากกว่า 2,000 แห่ง โดยให้ผู้ใช้ดีไซน์งานบน Canva และหากต้องการให้งานออกมาเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ก็สามารถส่งไปปรินต์ที่ FedEx ได้โดยตรง พร้อมกับบริการขนส่งที่ให้ผลงานถึงมือคุณอย่างรวดเร็วและปลอดภัย
การปรินต์โดย FedEx จะไม่ใช่การพิมพ์ลงบนกระดาษทั่ว ๆ ไป เพราะ FedEx ครอบคลุมการปรินต์ตั้งแต่กระดาษโปสเตอร์ที่นำไปแปะประชาสัมพันธ์ได้จริง, พิมพ์แผ่นผ้าใบเอาไว้ติดหน้าร้าน, หรือจะพิมพ์ลายลงบนเสื้อหรือแก้วก็ได้เช่นกัน ซึ่ง FedEx ก็มีตัวเลือกให้เลือกได้มากมาย ครอบคลุมทุกการใช้งานแน่นอน
การร่วมมือกับ FedEx ครั้งนี้จะไปช่วยให้ Brand Awareness ของ Canva เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้คนรู้จักและใช้งาน Canva ในวงที่กว้างขวางกว่าเดิม และตอบสนองจุดประสงค์ของการทำงานออกแบบได้ครบถ้วนมากขึ้นไปอีก
4. Interface ที่บ่งบอกตัวตนของ Canva
เริ่มต้นที่ Homepage กันก่อนเลย เป็นสิ่งแรกที่ทุกคนที่เพิ่งรู้จัก Canva จะเข้ามาเห็น ถือเป็น First Impression กันเลยทีเดียว Canva ออกแบบหน้า Homepage ที่บอกตัวตนของ Canva ได้อย่างตรงประเด็น โดยใช้รูปภาพในการสื่อว่า Canva ให้บริการการดีไซน์ พร้อมกับตัวหนังสือเพียงไม่กี่คำ อย่าง “Design anything. Publish anywhere.” ที่บ่งบอกถึงจุดขายของ Canva อย่างชัดเจน
เรามาดูกันที่ Landing Page กันบ้าง ซึ่ง Landing Page ก็ยังคง Concept เดิม โดยการแสดงตัวตนของ Canva อย่างสั้นกระชับ และตรงไปตรงมา สามารถไขข้อสงสัยจากผู้ใช้ใหม่ได้ทันทีว่าเว็บไซต์นี้มันเอาไว้ทำอะไร ด้วยคำว่า “Design anything” พร้อมกับมี Template สำเร็จรูปให้เลือกในบรรทัดต่อมาทันที
เมื่อกดเลือก Template เข้ามาแล้ว Canva ก็ยังคงใช้การอธิบายวิธีการใช้งานด้วยรูปภาพเหมือนเดิม มีเพียงตัวอักษรเล็กน้อยเอาไว้กำกับว่าปุ่มไหนเอาไว้ทำงานอะไร ซึ่งบอกเลยว่าเป็นการออกแบบ Interface ที่คงความใช้งานง่าย และรวดเร็วที่เป็นจุดเด่นของ Canva ได้อย่างลงตัว
ทั้งหมดนี้ทำให้ Canva มีคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า (Value Proposition) ที่ชัดเจน เจาะประเด็นไปที่จุดขายได้ทันที นั่นก็คือการที่ใคร ๆ ก็ทำงานดีไซน์ได้อย่างมีคุณภาพในระยะเวลาอันสั้น โดยไม่จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานด้านการออกแบบมาก่อน ส่งผลให้ Canva สามารถสร้างจุดยืนในวงการ Graphic Design Platform ได้อย่างแข็งแกร่ง และดึงดูดผู้ใช้งานใหม่ ๆ ได้เสมอ นอกจากนี้ มันยังช่วยให้ผู้คนเข้าใจได้ว่าการบริการของ Canva จะมีประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างไร และรู้ว่า Canva ก็เป็นอีกทางเลือกในการทำงานออกแบบที่ประหยัดเวลาได้ดีที่สุดอีกทางนึงเลย
สรุปทั้งหมด
จากการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการเติบโตของ Canva ทำให้ Canva สามารถประสบความสำเร็จจนกลายเป็น Unicorn ได้ภายในเวลา 5 ปีหลังจากการเปิดตัว และครองใจผู้ใช้ไปได้กว่า 55 ล้านคนทั่วโลก ต้องยอมรับเลยว่า Canva ถือเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์จริง ๆ สำหรับ Graphic Design Platform ที่ใคร ๆ ก็สามารถออกแบบได้ในระยะเวลาอันสั้น และการที่คุณไม่มีสกิลออกแบบก็จะไม่ปิดกั้นการทำงานดีไซน์ของคุณอีกต่อไป
ไม่ว่าสกิลอออกแบบของคุณจะเป็นยังไง หากมีงานออกแบบที่กำลังจะทำ เราอยากแนะนำให้คุณลองใช้งาน Canva ดู รับประกันเลยว่า ถึงแม้คุณจะไม่มีสกิลออกแบบ คุณก็สามารถทำมันได้ออกมาดีแน่นอน หรือหากคุณมีสกิลอยู่แล้ว Canva ก็จะช่วยให้คุณประหยัดเวลากับงานออกแบบที่ไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมที่แอดวานซ์เกินไปได้เช่นกัน
หลังจากนี้ เราจะมาคอยดูกันว่าในไตรมาสต่อไป Canva จะมีสถิติการเติบโตอะไรใหม่ ๆ ให้เราได้ติดตามกัน จะมีกลยุทธ์เด็ด ๆ อะไรเพิ่มเติมที่เราควรเรียนรู้ The Growth Master จะคอยอัปเดตข่าวสารกันอยู่เรื่อย ๆ มากดติดตามกันไว้ได้เลย