นอกจากที่มีเทคโนโลยีมากมายเกิดขึ้นมาเพื่อทุกสายงานหรือทุกอาชีพบนโลกแล้ว เทคโนโลยีก็เกิดมาเพื่อเหล่าเกมเมอร์เหมือนกัน พักหลัง ๆ มานี้ เราอาจจะได้ยินชื่อ Discord กันบ่อยครั้งขึ้น ยิ่งในช่วงที่เกม Among Us กำลังได้รับความนิยมสุด ๆ นั้น หนึ่งในเครื่องมือชั้นเยี่ยมที่มีประสิทธิภาพจนในหมู่ของคนที่เล่นเกมนี้ยอมรับ และให้เข้ามาเป็นตัวช่วยในการติดต่อสื่อสารระหว่างการเล่นเกมก็คือ Discord นี่แหละ
Discord เป็นแอปแชตฟรี ที่ออกแบบมาเพื่อให้เหล่าเกมเมอร์สามารถใช้งานได้ทั้งในขณะที่พวกเขากำลังเล่นเกมหรือไม่ได้เล่น โดย Discord เกิดมาจากแนวคิดที่ค่อนข้างเรียบง่าย แต่เป็นแนวคิดที่ทำให้ในปัจจุบันตัวซอฟต์แวร์เองมีการประเมินมูลค่าอยู่ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผู้ใช้งานกว่า 300 ล้านบัญชี
พอเห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว ตาก็เริ่มลุกวาว และยิ่งอยากรู้จักแอปพลิเคชันนี้เพิ่มขึ้นกันใช่แล้วไหมคะ วันนี้ The Growth Master จะพาทุกคนไปลงสนามเล่นเกม เฮ้ย ไม่ใช่สิ ไปรู้จักกับแอปพลิเคชันตัวนี้กันว่าทำไมเมื่อพูดชื่อ Discord ออกไปแล้วถึงไม่มีเกมเมอร์คนไหนที่ไม่รู้จัก
ส่องเส้นทางของ Discord ที่สร้างโดย Game Builder แต่จบลงเพื่อ Gamer
Discord ถูกเปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคมปี 2015 โดย Jason Citron (CEO) และ Stanislav Vishnevskiy (CTO)
ก่อนหน้านี้ Jason Citron เคยสร้างเกมออนไลน์ที่ชื่อ OpenFeint ขึ้นมาขายบน App Store ของ Apple แต่ว่ามันกลับทำเงินได้ไม่ดีนัก เขาจึงตัดสินใจขาย OpenFeint ให้กับ GREE บริษัทสื่อญี่ปุ่นในปี 2011 ในราคา 104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ต่อมาในปี 2012 เขานำเงินก้อนนั้นมาก่อตั้งสตูดิโอพัฒนาเกมแห่งใหม่ที่ชื่อว่า Hammer & Chisel จึงได้ชวน Stanislav Vishnevskiy จาก GREE มาร่วมงานด้วยกัน โดยเกมแรกของพวกเขาที่ปล่อยมา คือ Fates Forever วางจำหน่ายในปี 2014 และเขาคาดหวังว่า มันจะเป็นเกม Multiplayer Online Battle Arena (MOBA) ที่คือเกมที่ต้องวางแผนในการเล่นแบบเป็นทีม เป็นเกมแรกบนแพลตฟอร์มมือถือ
ในระหว่างการพัฒนา เนื่องจากเกมนี้เป็นเกมที่ต้องเล่นกันเป็นทีม เขาก็ได้เห็นถึงปัญหาในด้านของการสื่อสารพูดคุยกันในระหว่างการเล่นเกม และโปรแกรมแชตในสมัยนั้นอย่าง Skype หรือ TeamSpeak ก็ไม่ตอบโจทย์สักเท่าไร เพราะมันไม่เอื้อต่อการเล่นและส่งผลกระทบต่อการประมวลผลของเกมอีกด้วย
ดังนั้น Stanislav Vishnevskiy จึงเชียร์ให้ Jason Citron ลองทำในไอเดียที่เขาเคยคิดเอาไว้ นั่นคือ โปรแกรมแชตที่เอาไว้พูดคุยติดต่อสื่อสารด้วยข้อความและเสียงสำหรับกลุ่มเกมเมอร์โดยเฉพาะ สุดท้ายพวกเขาจึงตัดสินใจมาพัฒนา Discord อย่างเต็มตัว
ซึ่ง Jason Citron ทำให้ Discord เป็นมากกว่าบริการแชตข้อความและเสียงผ่านการใช้เซิร์ฟเวอร์ โดยผู้เล่นจะสามารถแชตผ่านข้อความ เสียง วิดีโอคอล รับ-ส่งไฟล์ หรือแชร์หน้าจอกันได้ครบจบ (All-in-One) บนแพลตฟอร์มเดียวกัน และเลือกที่จะเข้าร่วมเซิร์ฟเวอร์ที่เจาะจงเกี่ยวกับห้องเกมนั้น ๆ ได้โดยเฉพาะเลย
Discord จึงกลายเป็นคำตอบแรก ๆ สำหรับชาวเกมเมอร์คนใดที่ต้องการเครื่องมือเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างเล่นเกมของพวกเขา
Discord Growth Rate ยอดผู้ใช้งานต่อเดือนเพิ่มขึ้น 10 เท่า ภายใน 4 ปี!
นับตั้งแต่เปิดตัวขึ้นในปี 2015 Discord ได้มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมียอดจำนวนผู้ใช้งานหลังจากเปิดตัวได้ 2 ปี จำนวน 45 ล้านคน และเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาถึงปี 2019 ที่มียอดผู้ใช้งาน 250 ล้านคน และสามารถทำสถิติทะลุ 300 ล้านคนได้ภายในปี 2020
และยังมีจำนวนยอด Monthly Active Users (MAUs) ภายในปี 2016 มากถึง 10 ล้านคน นับว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมากสำหรับแพลตฟอร์มที่เพิ่งเปิดตัวมาได้เพียงแค่ปีเดียว จนกระทั่งต่อมาในปีที่แล้ว 2020 ที่มียอด MAUs เพิ่มเป็น 100 ล้านคน (10 เท่าภายใน 4 ปี!)
ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ Coivd-19 ด้วย นอกจากนั้นยังทำให้มีผู้ใช้งานพร้อมกันจำนวน 10.6 ล้านคนอีกด้วย นับว่าเป็นสถิติ New Peak ครั้งใหม่ของ Discord เลยทีเดียว จากตัวเลขนี้เราคงรู้แล้วว่า Discord เป็นขวัญใจเหล่าเกมเมอร์ขนาดไหน
หลังจากเปิดตัวมาเข้าสู่ปีที่ 6 Discord มีจำนวนยอด Daily Active Users (DAUs) เกิน 14 ล้านคน ซึ่งมากกว่า Slack ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการติดต่อสื่อสารทีมภายในองค์กร ที่มีผู้ใช้งานเพียง 10 ล้านคนต่อวันอีกด้วย ส่วนอายุของผู้ใช้งานจะอยู่ในช่วง 18-34 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่คนมักจะเล่นเกมมากที่สุดอีกด้วย
กลยุทธ์การเติบโตแบบบริษัทอื่นมันธรรมดาเกินไป Discord ไม่อยากทำ
Discord จะไม่ใช้วิธีการตลาดทั่วไปที่บริษัทอื่น ๆ มักจะทำกัน อย่างการซื้อโฆษณา หรือใช้โมเดลสร้างฐานผู้ใช้งานใหม่จากการจ่ายเงิน (User Acquisition Model) แต่พวกเขามุ่งเป้าไปยังการเติบโตแบบ Organic Growth มากกว่า
อ้าว ถ้าอย่างนั้นพวกเขาทำอย่างไรล่ะ บริษัทถึงได้เติบโตจนน่าตกใจขนาดนี้? วันนี้ The Growth Master จะพาพวกคุณไปวิเคราะห์กลยุทธ์เหล่านั้นกัน ไปดูกันเลย
1. สร้างแพลตฟอร์มให้ดี แล้วผู้ใช้งานจะมาเอง
อย่างที่รู้กันว่า จุดแข็งหลัก ๆ ของ Discord คือ เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เหล่าเกมเมอร์สามารถสื่อสารได้โดยไม่ที่ต้องยุ่งยากและสะดุด
การสนทนาพูดคุยกันแบบไร้รอยต่อในขณะที่เล่นเกม เป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในแอปแชตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า Discord และแอปเหล่านั้นบางแอปก็ทำงานช้าบ้าง กระตุกบ้าง มอบประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักให้แก่ผู้ใช้งาน หรือแม้กระทั่งทำให้ประสิทธิภาพของ CPU แย่ลงอีกด้วย Discord จึงมีแนวคิดที่จะพาเหล่าเกมเมอร์ข้าม Pain Point เหล่านี้ไป
และ Discord ก็ทำได้ดีมากเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน เช่น ข้อความถูกส่งทันทีเมื่อกดส่ง ระบบโหลดได้อย่างรวดเร็วไม่ติดขัด และใช้เวลาในการตอบสนองที่น้อยมากเมื่อสื่อสารกันผ่านเสียง
ซึ่งพวกนี้จะเป็นหน้าที่ของ Tech Stack ใน Discord ที่จะมาช่วยอำนวยให้ผู้ใช้มีความราบรื่นในการใช้งาน นั่นหมายความว่าอุปสรรคระหว่างตัวผู้ใช้งานเองและระบบ ล้วนแล้วแต่ถูกลบออกไปโดยสิ้นเชิง
Discord ประสบความสำเร็จในการจัดการกับ Pain Point เหล่านี้ ซึ่งมีคู่แข่งมากมาย เช่น TeamSpeak และ Skype ไม่สามารถทำได้ จนสุดท้ายต้องเสียฐานผู้ใช้งานจำนวนมากมาให้กับ Discord
2. ฟีเจอร์เอาใจเกมเมอร์
Server : การทำงานของ Discord ที่สามารถเอาใจเกมเมอร์ได้ก็คือ Discord จะถูกจัดระเบียบโดยการแบ่งกลุ่มช่องแยกออกจากกัน หรือที่เราเรียกว่า เซิร์ฟเวอร์ (Server) ซึ่งเราสามารถสร้างเซิร์ฟเวอร์ได้ฟรี และเปิดเป็นสาธารณะได้
และในตอนนี้ถ้าเกมเมอร์คนไหนที่มีเซิร์ฟเวอร์เยอะเกินไป กว่าจะหาเจอทีนึงต้องเลื่อนลงมายาว ๆ Discord จึงจัดการปัญหานี้ให้ด้วยการที่สามารถสร้างโฟลเดอร์ที่เก็บเซิร์ฟเวอร์ไว้รวมกันได้แล้ว ด้วยวิธีง่าย ๆ คือลากเซิร์ฟเวอร์มาวางทับกัน ระบบก็จะสร้างโฟลเดอร์ให้เองอัตโนมัติ
Channel : เราสามารถสร้างช่อง (Channel) ได้อีกหลาย ๆ ช่องในแต่ละเซิร์ฟเวอร์อีกด้วย เพื่อติดต่อสื่อสาร รับส่งไฟล์ หรือสตรีมมิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเราต้องการความเป็นส่วนตัว เราสามารถกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงแต่ละช่องได้อีกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้ามาในระหว่างการสื่อสารของทีมเรา เป็นต้น
Video calls and Streaming : เป็นฟีเจอร์ที่ถูกเพิ่มขึ้นมาในเดือนตุลาคม 2017 ทำให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยกันแบบวิดีโอส่วนตัวที่มีผู้ใช้ได้สูงสุด 10 คน จนกระทั่งในช่วงที่ Covid-19 ระบาด Discord ก็ได้เพิ่มเป็นสูงสุด 40 คน
และในเดือนสิงหาคม 2019 มีการขยายช่องทางสตรีมมิ่งไลฟ์สดในเซิร์ฟเวอร์ ผู้ใช้สามารถแชร์หน้าจอได้ หาก Discord ตรวจพบว่าผู้ใช้งานกำลังเล่นเกม ผู้คนอื่น ๆ ในช่องนั้น ๆ ก็สามารถเข้าร่วมช่อง เพื่อรับชมสตรีมได้ แม้ว่าเราอาจจะคุ้นเคยว่าการสตรีมมิ่งวิดีโอเกมแบบนี้มันอยู่ใน Twitch แต่ Discord เองบอกว่าไม่ได้วางแผนที่จะแข่งขันกับบริการนี้กับใคร เพราะเขาเชื่อว่าฟีเจอร์แบบนี้ใช้กับคนกลุ่มเล็ก ๆ น่าจะดีที่สุด
นอกจากนั้น ล่าสุดในเดือนธันวาคมปี 2020 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีเสียงเรียกร้องจากผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก Discord จึงไม่รอช้า จัดให้ทันที นั่นคือ ผู้ใช้สามารถใช้ฟีเจอร์ Mobile Screen Sharing ได้แล้ว ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสตรีมเกมหรือดูคลิปวิดีโอจาก Youtube หรือ Tiktok พร้อมกันกับเพื่อน ๆ ได้แล้ว
User Profiles : ผู้ใช้ต้องลงทะเบียน Discord ด้วยอีเมล และต้องสร้าง Username ด้วย และปัญหาใหญ่สำหรับการตั้ง Username ในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม คือ มีคนตั้งไปแล้วและผู้ใช้ที่มาลงทะเบียนทีหลังจะไม่มีสิทธิ์ใช้ชื่อนั้น
Discord จึงเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ด้วยการที่จะมี "#" (Hashtag) แล้วตามด้วยตัวเลข 4 หลัก แปะเพิ่มไว้ที่ส่วนท้ายของ Username ของแต่ละคน นั่นจึงทำให้ผู้ใช้ทุกคนได้ใช้ Username ที่ตัวเองอยากใช้ นอกจากนั้น ในระดับทั้งตัวเซิร์ฟเวอร์เองหรือตัวผู้ใช้งาน สามารถเชื่อมต่อกับบัญชี Twitch หรือบริการเกมอื่น ๆ ได้
อีกทั้ง ผู้ใช้ทั่วไปยังสามารถกำหนดรูปโปรไฟล์ได้ และสำหรับสมาชิก Discord Nitro (บัญชีแบบพรีเมียม) ก็สามารถใช้รูปภาพโปรไฟล์แบบเคลื่อนไหวได้อีกด้วย
Developer Tools : ในเดือนธันวาคม 2016 บริษัทได้เปิดตัว GameBridge API ซึ่งช่วยให้นักพัฒนาเกมสามารถ Integrate รวมเข้ากับ Discord ได้โดยตรงภายในเกม
ในเดือนธันวาคม 2017 Discord ก็ได้เพิ่มชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ (SDK) ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถ Integrate รวมเกมของตัวเอง เข้ากับบริการที่เรียกว่า 'Rich Presence' เพื่อให้ผู้เล่นสามารถเข้าร่วมเกมของกันและกันผ่าน Discord ได้หรือเพื่อแสดงข้อมูลให้เห็นถึงความก้าวหน้า (Progression) ของเกมจากตัวผู้เล่น บนโปรไฟล์ Discord ของพวกเขา และภายในสิ้นปี 2017 Discord เผยว่ามีประมาณ 20 เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ฟีเจอร์ 'Rich Presence'
นอกจากนั้น Discord ยังมีเครื่องมือเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสร้างบอทอินเทอร์เน็ตของตนเองได้ ซึ่งเครื่องมือจะมี เช่น discord.js ที่ให้นักพัฒนาบอท (Bot Developers) สามารถโต้ตอบกับ Discord API เพื่อควบคุมบอทของพวกเขาเองได้
บอทบน Discord มีมากมายกันเลยทีเดียว เช่น
- Groovy : บอทเล่นเพลงบน Discord สามารถรองรับทั้ง Spotify, YouTube, Soundcloud และอื่น ๆ เมื่อเกมเมอร์คนไหนที่เบื่อการเล่นเกมก็สามารถเรียกบอทนี้มาเปิดเพลงให้ฟังได้
- StickyBot : บอทที่สร้างประกาศและกลายเป็นข้อความล่าสุดใน Channel ของสมาชิกแต่ละคน
- Mee6 : บอทที่จัดการเซิร์ฟเวอร์ทุกอย่าง เช่น ส่งข้อความต้อนรับสมาชิกที่เข้ามาใหม่, บอก Rank และให้รางวัลสำหรับผู้ใช้ที่ Active บ่อยที่สุด
สามารถดูบอทของ Discord เพิ่มเติมได้ ที่นี่
3. Partner Up!
ในเมื่อแพลตฟอร์มดีแล้ว ก็อาจทำให้เกิดการพูดกันแบบปากต่อปากจนทำให้ Discord เกิดการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นไม่นาน Discord ก็เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการเพิ่มขนาดกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท
เขาจึงไปร่วมมือกับแบรนด์ใหญ่ ๆ เช่น Youtube และ Twitch ซึ่งเป็นบริการสตรีมวิดีโอเกมทำให้เหล่าเกมเมอร์สามารถมองเห็น Discord ได้มากขึ้น และเพิ่มการเติบโตให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการเชื่อมบัญชี Twitch ผ่านการตั้งค่าใน Discord สามารถทำได้ทั้งคนที่เป็น Streamer และ Viwer เลย (สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมการตั้งค่าได้ ที่นี่)
และในปี 2017 ที่ Discord มีจำนวน DAUs มากถึง 9 ล้านคน นั่นก็เป็นเพราะว่า Fortnite หนึ่งในเกมที่มีผู้เล่นมากที่สุดในโลกมาร่วมมือกับ Discord ซึ่ง Discord เองก็เปิดเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้กลุ่มคนที่มาเล่นเกมนี้เข้าร่วมโดยเฉพาะเลย
และแน่นอนว่าจากการที่ Fortnite เป็นเกมที่มีผู้เล่นจำนวนมากที่สุดในโลก เซิร์ฟเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดบน Discord ก็หนีไม่พ้น Fornite โดยปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 650,000 คนแล้ว
4. Discord Nitro
ด้วยความที่ Discord สามารถใช้งานได้ทั้งบนเว็บไซต์ แอปบนเดสก์ท็อปหรือบน Smartphone ตัวแอปก็ยังกินพื้นที่น้อย ซึ่งมันสามารถรองรับได้ทุกระบบปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็น Windows, Linux หรือ Mac และสามารถดาวน์โหลดผ่านอุปกรณ์พกพาได้ทั้งระบบ Android และ iOS
และที่สำคัญตัวโปรแกรมก็ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดชีพอีกด้วย สะดวกสบาย สามารถใช้งานได้ทุกที่ขนาดนี้แล้ว นี่ก็เป็นเหตุผลมากพอที่จะทำให้เหล่าเกมเมอร์ทุกคนมี Discord ไว้ติดเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ของตัวเองกันแล้ว
อ้าว ในเมื่อ Discord ให้เราใช้งานแบบฟรี ๆ เลย แล้วเอารายได้ที่ไหนมาหล่อเลี้ยงบริษัทกันล่ะ?
Discord ในเวอร์ชันฟรีก็มีฟีเจอร์ที่ถือว่าครบรสพอสำหรับการติดต่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมทีม การมีส่วนร่วมใน Channel ต่าง ๆ และการสร้างเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองแล้ว แต่ Discord ก็มีบริการแบบพรีเมียมเหมือนกัน เพื่อหารายได้เข้าบริษัทและเอาใจเกมเมอร์ที่อยากจะได้อะไรที่เหนือกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งบริการนี้เรียกว่า Discord Nitro
Discord Nitro เป็นระดับการสมัครสมาชิกระดับพรีเมียมของ Discord บริการแชตเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ซึ่งราคามีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ Nitro (9.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 300 บาท) และ Nitro Classic (4.99 เหรียญต่อเดือน หรือประมาณ 150 บาท) นอกจากนี้ยังมีส่วนลดมากมายสำหรับการสมัครสมาชิกตลอดทั้งปีโดย Nitro มีราคาอยู่ที่ 99.99 เหรียญต่อปี (หรือประมาณ 3,000 บาท) และ Nitro Classic อยู่ที่ 49.99 เหรียญต่อปี (หรือประมาณ 1,500 บาท)
ส่วนใครที่สมัครแพ็กเกจ Nitro จะมีความต่างจากการใช้ฟรี นั่นคือ
- สามารถใช้อิโมจิข้ามเซิร์ฟเวอร์ได้ (รวมถึง Direct Message ด้วย)
- แท็กหมายเลข Discord ที่กำหนดเอง
- ตัว Avatar แบบเคลื่อนไหว
- เซิร์ฟเวอร์ประสิทธิภาพสูงจาก Community ที่คุณชอบ
- มีคุณภาพเสียงและวิดีโอสำหรับสตรีมมิ่ง Go Live ที่เหนือชั้นกว่าเดิม
- ได้รับ URL และแบนเนอร์ของเซิร์ฟเวอร์ที่กำหนดเอง
- สามารถอัปโหลดไฟล์ได้ใหญ่ขึ้นถึง 100MB ต่อไฟล์ จากเดิมที่ถูกจำกัดเพียง 8MB
ซึ่งสำหรับเกมเมอร์คนใดที่ต้องการเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมเพิ่มไปอีกขั้นหนึ่ง การสมัคร Discord Nitro ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้เหมือนกัน
The Growth Master พาไปดู
นอกจากจะมีกลยุทธ์เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตแบบพุ่งทะยานได้แล้ว หัวใจสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ การใช้ Tech Stack ขององค์กรนี่แหละ เพราะถ้าไม่มี Tech Stack เหล่านี้ก็จะไม่สามารถทำให้องค์กรทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
แล้วเครื่องมือที่ว่านั้นมีอะไรบ้างล่ะ เราไปดูโฉมหน้าของซอฟต์แวร์เหล่านั้นกันเลย !
หมวด Application and Data
สำหรับหมวดนี้จะเกี่ยวกับพวกระบบหลังบ้านเป็นส่วนใหญ่ เราจะเห็นได้ว่ามี Discord มีการใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น Javascript, React, CSS เป็นต้น
หมวด DevOps
และยังมีตัวช่วยแปลงไฟล์และรวมโค้ดให้เป็นไฟล์เดียวที่เว็บ Browser สามารถอ่านและเข้าใจได้ สิ่งที่เรากำลังพูดถึง คือ Automate Tool ที่ชื่อว่า Webpack นั่นเอง
ภาพจาก stackshare
แต่ที่เราอยากพาคุณไปรู้จักแบบลึกซึ้ง คือ หมวด Business Tools ที่เป็นซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการเก็บรวมรวบข้อมูล อย่างข้อมูลเทคโนโลยี ข้อมูลการตลาด หรือข้อมูลทางธุรกิจอื่น ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ธุรกิจในแต่ละด้าน รวมไปถึงสามารถวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินการล่วงหน้าได้
เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจ และข้อมูลทางการตลาดต่าง ๆ ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ ถ้าองค์กรไหนสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้มากกว่าก็สามารถคาดการณ์และเดาใจลูกค้าออก จนกระทั่งก้าวนำหน้าธุรกิจคู่แข่งได้หนึ่งก้าว
G-Suite - เป็น Product จาก Google ซึ่งเป็นการแชร์ข้อมูลแบบ Cloud สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกิจต่าง ๆ ทำให้ไม่ว่าอยู่ที่ไหน คนในองค์กรก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา บนทุกอุปกรณ์ เมื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แถมที่สำคัญยังมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Gmail, Google Drive, Google Calendar, Google Meet เป็นต้น
Zendesk - ซอฟต์แวร์ที่ช่วยในด้าน Customer Support, Customer Service หรือ CRM สำหรับธุรกิจออนไลน์ทุกประเภท โดยทำงานบนระบบ Cloud ที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร และเพิ่มความพึงพอใจให้กับฝั่งลูกค้าหรือเจ้าหน้าที่ Support ของคุณเองอีกด้วย
สรุปทั้งหมด
ในฐานะที่เป็นแอปแชตข้อความเสียง วิดีโอคอล และรับ-ส่งข้อความแบบที่เดียวจบครบ (All-in-One) Discord จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าใช้ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาและอุปสรรคที่ไม่ตอบโจทย์สำหรับเกมเมอร์ในขณะเล่นเกม
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า Discord จะถูกนำมาใช้ในวงการเกม แต่เราก็สามารถนำ Discord มาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารระหว่างทีมในระดับองค์กรได้เหมือนกัน เพราะฟีเจอร์ของแพลตฟอร์มนี้ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานทั้งชาวเกมเมอร์เองและฝั่งธุรกิจ ก็ทำให้มีคนหลั่งใหลมาใช้ Discord กันเป็นจำนวนมาก
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือทีมงาน The Growth Master เองที่ใช้ Discord ในการทำงานเหมือนกัน แต่มีข้อเสียอยู่หนึ่งข้อก็คือ กินแบตเตอรี่มากนั่นเอง แต่นี่ก็นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่ทำให้เราต้องจับตาดู Discord กันต่อไปว่าจะมีฟีเจอร์อะไรใหม่ ๆ ตามมาอีกในอนาคต