เชื่อว่าสำหรับคอภาพยนตร์ คอซีรีส์ทั้งหลายน่าจะเคยได้ยินข่าวการเปิดตัวของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าใหม่อย่าง Disney+ (ดิสนีย์พลัส) ในต่างประเทศกันมาตั้งแต่ช่วง 1-2 ปีที่แล้วและทุกคนคงเฝ้าคอยกันว่าเมื่อไรที่แพลตฟอร์มนี้ จะเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย
และในที่สุดเมื่อช่วงเดือนที่แล้ว ข่าวดีก็มาถึงเมื่อมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า ประเทศไทยจะเริ่มเปิดให้บริการ Disney+ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่จะถึงหรือก็คืออีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว ผ่าน AIS ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเครือข่ายการสื่อสารของไทย
แต่ในรายละเอียดของการเปิดตัวนั้นก็มีบางอย่าง ที่ทำให้หลายคนต้องสงสัยเมื่อ Disney+ ที่เตรียมจะให้บริการในบ้านเรานั้น กลับมีชื่อพ่วงท้ายแปลก ๆ ติดมาด้วยอย่าง “Hotstar” ท่ามกลางความสับสนว่า Hotstar คืออะไร และมันจะแตกต่างจาก Disney+ แบบ Original มากแค่ไหน ซึ่งความจริงแล้วถ้าลองศึกษาข้อมูลจะพบว่า Disney+ Hotstar มีเรื่องราวและกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
บทความนี้ The Growth Master จะขอพาทุกคนมาทำความรู้จักแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งตัวใหม่ (ที่ชื่อคุ้นๆ) อย่าง Disney+ Hotstar แบบเจาะลึก พร้อมเปิดกลยุทธ์ที่ Disney+ Hotstar ใช้สร้างการเติบโตทั้งในตลาดต่างประเทศรวมถึงตลาดในประเทศไทย จะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ติดตามต่อได้ในบทความ
Disney+ Hotstar คืออะไร ?
Disney+ Hotstar คือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งคอนเทนต์ความบันเทิงประเภท ภาพยนตร์ซีรีส์ สารคดี จากทั่วทุกมุมโลกไว้ในแพลตฟอร์มเดียว โดยส่วนใหญ่คอนเทนต์ในแพลตฟอร์มของ Disney+ Hotstar จะเป็นคอนเทนต์ที่อยู่ในเครือของ Disney, Marvel, Pixar, Star Wars และเครือสารคดีระดับโลกอย่าง National Geographic นอกจากนั้นยังมีคอนเทนต์ความบันเทิงอีกมากมายทั้งระดับ Hollywood และ Original Content ของแต่ละประเทศ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการในไทยครั้งแรกในวันที่ 30 มิถุนายน 2564
Disney+ กับ Disney+ Hotstar แตกต่างกันหรือไม่ ?
จริง ๆ แล้ว Disney + กับ Disney+ Hotstar ไม่ใช่บริการเดียวกัน เป็นบริการคนละตัว แต่อยู่ในเครือเดียวกันนั่นก็คือ Walt Disney Company ซึ่ง Disney+ Hotstar นั้นเกิดจากการรวมตัวกันของ 2 แพลตฟอร์มก็คือ Disney+ และ Hotstar
โดย Hotstar คือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายใหญ่ในอินเดีย ก่อตั้งโดยกลุ่มทุน Star India ที่เป็นบริษัทลูกในเครือของ 21 Century Fox บริษัทชั้นนำด้านภาพยนตร์ของโลก ซึ่งในช่วงปี 2019 ทาง Walt Disney Company ได้เข้าซื้อกิจการของ 21 Century Fox ไปด้วยเงินกว่า 71,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ Hotstar เลยตกไปอยู่ในความดูแลของ Walt Disney Company ไปโดยปริยาย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Disney+ Hotstar ถือกำเนิดขึ้น
สาเหตุที่ Walt Disney Company เลือก Hotstar เป็น Partner ในการสร้างบริการใหม่ของ Disney+ ก็เพราะว่าเดิมที่ Hotstar นั้นถือครองตลาดผู้ใช้งานในประเทศอินเดียอยู่ในมืออยู่แล้ว ซึ่งคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มของ Hotstar ก็เต็มไปด้วยภาพยนตร์ในเครือบริษัทแม่อย่าง 21 Century Fox, คอนเทนต์ของ Disney และ Pixar รวมถึง Original Content ในประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็น 1 ประเทศที่มีภาพยนตร์เป็นจุดขายไม่แพ้ฝั่งอเมริกาเลย
ตัวอย่างที่ทำให้ Disney+ สนใจ Hotstar ก็คือในช่วงการแข่งขันกีฬาคริกเก็ตชิงแชมป์โลกที่ทาง Hotstar รับหน้าที่ในการถ่ายทอดสด ก็มีผู้เข้าใช้งาน Hotstar ในตอนนั้นมากกว่า 100 ล้านราย ทำให้เมื่อช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา Disney มองเห็นความสำเร็จในส่วนนี้ของ Hotstar ที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจนำ Hotstar มารวมกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของบริษัทตนเองอย่าง Disney+ จนกลายเป็น Disney+ Hotstar ในที่สุด
ในปัจจุบัน Disney+ Hotstar ก็ได้ทำการให้บริการในประเทศในแทบเอเชียเป็นหลัก โดยเริ่มจาก อินเดีย ที่เป็นที่ตั้งของ Hotstar รวมถึงในแทบอาเซียนเราก็มีประเทศที่เปิดให้บริการ Disney+ Hotstar อย่าง อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยเป็นประเทศล่าสุด
ส่วนเรื่องของคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มนั้น Disney+ Hotstar จะมีคอนเทนต์เหมือนกับที่ Disney+ มีเกือบทุกคอนเทนต์ แต่ที่จะเพิ่มเข้ามาก็คือ Original Content ในแต่ละประเทศนั้น ๆ (ของไทยก็จะมีซีรีส์ไทย หนังไทย เพิ่มเข้ามาด้วย) ที่ถือเป็นจุดขายของ Disney+ Hotstar เลยทีเดียว
ตัวเลขผู้ใช้งานของ Disney+ Hotstar มีจำนวนเท่าไร ?
แม้ Disney+ Hotstar จะยังไม่ได้เปิดให้บริการทั่วโลก (ส่วนใหญ่จะมีเฉพาะประเทศในทวีปเอเชีย) แต่ตัวเลขผู้ใช้งานก็เรียกว่าสูงใช้ย่อย โดยจากตัวเลขผู้ใช้งานแบบ Paid Users อัปเดตล่าสุดเดือนเมษายน Disney+ Hotstar มีผู้ใช้งานรวมทั้งหมด 34.5 ล้านคน
ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถิติที่มีการอัปเดตครั้งก่อนในเดือนกันยายน 2020 ที่มีตัวเลขผู้ใช้งานแบบ Paid Users เพียง 28 ล้านคน หรือสรุปง่าย ๆ ภายในระยะเวลาแค่ 6 เดือน Disney+ Hotstar เพิ่มผู้ใช้งานแบบ Paid Users ได้ถึง 6.5 ล้านคน (เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 1 ล้าน Paid Users)
และจากตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ ก็ดันให้แพลตฟอร์มแม่อย่าง Disney+ ได้ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย ซึ่งตัวเลขผู้ใช้งานปัจจุบันของ Disney+ ก็มีผู้ใช้งานทะลุ 103 ล้านคนไปแล้ว (อัปเดตล่าสุดเดือนเมษายน 2021) ส่งผลโดยตรงให้ Disney+ มีรายได้ที่เติบโตขึ้นกว่า 59% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 19 เดือนที่แพลตฟอร์มนี้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งบอร์ดบริหารของ Disney ได้ทำการคำนวณไว้แล้วว่าแพลตฟอร์ม Disney+ (รวมถึง Disney+ Hotstar ด้วย) น่าจะทำกำไรแบบเต็ม ๆ ให้องค์กรได้ภายในไม่เกินปี 2024 แน่นอน
และคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้ใช้งานของ Disney+ Hotstar น่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้แน่นอน เพราะตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมผู้ใช้งานในประเทศไทยเลย รวมถึงทิศทางการเจาะตลาดทวีปเอเชียของ Disney+ Hotstar ในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ก็ต้องมาดูกันเมื่อถึงช่วงปลายปีอีกที ว่าตัวเลขผู้ใช้งานจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 34.5 ล้านคน ไปอยู่ที่ตัวเลขเท่าใด
กลยุทธ์ที่ Disney+ Hotstar เตรียมใช้สร้างการเติบโตในตลาดประเทศไทยมีอะไรบ้าง ?
Disney+ Hotstar กำลังจะเปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นไป เราลองมาศึกษากันดีดูว่าแล้วพวกเขา จะมีกลยุทธ์อะไรบ้างที่จะมาสร้างการเติบโตและเข้าถึงผู้ใช้งานในตลาดใหม่อย่างประเทศไทย The Growth Master สรุปมาให้คุณแล้วดังนี้
1. ร่วมมือเป็น Partner กับบริษัทผู้นำในด้านต่าง ๆ ของไทย
คงต้องบอกว่า Disney+ Hotstar นั้นจะไม่ได้เปิดให้บริการในประเทศไทย หากไม่มี Partner ที่เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การใช้งานในประเทศอย่าง AIS ที่เป็นบริษัทผู้นำด้านเครือข่ายการสื่อสารของไทย ที่ถือครองผู้ใช้บริการเครือข่ายมากกว่าหลัก 42.7 ล้านเลขหมายประเทศ ด้วยตัวเลขมหาศาลแบบนี้ทำให้ Disney+ Hotstar ได้ประโยชน์ในเรื่องของการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าไปเต็ม เพราะมี Partner อย่าง AIS ที่คุ้นเคยกับการขาย ทำการตลาดกับกลุ่มตลาดระดับประเทศอยู่แล้ว ประกอบกับความต้องการของทาง AIS ที่ต้องการเป็น Digital Life Service Provider ในประเทศไทยอยู่แล้ว หลังจากที่ปล่อยแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง AIS Play ออกมาเมื่อไม่นานนี้
นอกจากนั้นในการเริ่มเข้าสู่ตลาดประเทศไทย Disney+ Hotstar ยังได้มีการร่วมเป็น Partner กับอีกหนึ่งผู้นำด้าน Entertainment Business ของไทยอย่าง กันตนา (Kantana) ในการเปิดตัว Original Content ซีรีส์เรื่องแรกของไทยบนแพลตฟอร์ม Disney+ Hotstar อย่าง “อินจัน” ซีรีส์แนวอิงประวัติศาสตร์ย้อนยุค ซึ่งจะออนแอร์ในวันที่ 30 มิถุนายนพร้อมการเปิดตัวของ Disney+ Hotstar ในไทยเลย
เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า Disney+ Hotstar จะแตกต่างจาก Disney+ ปกติตรงที่จะมี Original Content ของในแต่ละประเทศที่ใช้บริการ ดังนั้น Disney+ Hotstar เลยต้องอาศัยบริษัทที่เป็นผู้นำด้าน Production หรือการผลิตภาพยนตร์ของไทยในการเข้ามาเป็น Partner สร้าง Original Content เปิดตัวให้แก่แพลตฟอร์มของตน เพื่อใช้ในการตีตลาดและเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในประเทศไทย (รวมถึงตลาดสากลด้วย)
2. ราคาแพ็กเกจที่ “ถูกกว่า” แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าอื่น
สำหรับใครที่ได้มีโอกาสติดตามข่าวของ Disney+ Hotstar กับการเปิดใช้บริการในประเทศไทยมาบ้าง น่าจะพอทราบอยู่แล้วว่า ราคาแพ็กเกจ ของแพลตฟอร์มนี้มีราคาที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าอื่นที่น่าจะเป็นคู่แข่งกันโดยตรงอย่าง Netflix
โดยราคาของ Disney+ Hotstar เมื่อทำการแปลงเป็นเงินบาทไทยแล้ว จะมีค่าบริการแบบรายเดือนอยู่ที่เดือนละ 99บาท/เดือน ส่วนแพ็กเกจรายปีอยู่ที่ปีละ 799 บาท/ปี (หารเฉลี่ยก็จะตกอยู่ที่ 67 บาท/เดือน) แต่ถ้าเป็นลูกค้า AIS ก็จะได้โปรโมชัน Early Bird ในการสมัคร Disney+ Hotstar ที่เดือนละ 35 บาทเท่านั้น + แถมเดือนที่ 2 ฟรี (เสียดายที่หมดเขตไปแล้ว) ซึ่งปัจจุบันเป็นลูกค้าของ AIS ก็ยังสมัครโปรโมชันนี้ได้อยู่ แต่ราคาตอนนี้จะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 49 บาท/เดือน + แถมฟรีอีก 1 เดือน และรายปีที่ 499/ปี แต่โดยรวมก็ยังถือว่าถูกกว่าราคาปกตินะครับ
เราลองมาดูราคาของคู่แข่งเจ้าตลาดตอนนี้อย่าง Netflix กันบ้าง ปัจจุบัน Netflix ในไทยมีราคาแพ็กเกจอยู่ทั้งหมด 4 ระดับ (99,279,349,419) ตามความต้องการของผู้ชมเริ่มตั้งแต่แพ็กเกจต่ำที่สุดหรือแพ็กเกจที่รับชมได้เฉพาะในโทรศัพท์อย่างเดียว ราคา 99 บาท/เดือน ไล่ไปจนถึงแพ็กเกจพรีเมียม ความคมชัด 4K+ HDR (ดีที่สุด) ราคา 419 บาท/เดือน ซึ่งคุณจะเห็นได้เลยว่าแม้แพ็กเกจราคาต่ำที่สุดของ Netflix ยังแพงกว่า Disney+ Hotstar ราคาโปรโมชันถึง 50 บาทต่อเดือนเลย
นอกจาก Netflix แล้ว Disney+ Hotstar ก็ยังมีราคาแพ็กเกจ (วัดเฉพาะรายเดือน) ที่ถูกกว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรูปแบบ Subscribtion Model เจ้าอื่น ๆ ด้วยเช่น Viu 119บาท/เดือน, HBO GO 149บาท/เดือน, Apple TV+ 99บาท/เดือน, AIS Play Premium 199บาท/เดือน, Youtube Premium 159 บาท/เดือน
สังเกตได้เลยว่าจากราคาของแพลตฟอร์มตัวอื่น ๆ ทั้งหมด ไม่มีตัวไหนเลยที่ราคาแพ็กเกจรายเดือนต่ำกว่า Disney+ Hotstar จะมีเพียงแค่ Apple TV+ เท่านั้นที่ราคาเท่ากันที่ 99 บาท/เดือน แต่ถ้าวัดที่ราคาโปรโมชันอย่างเดียว Disney+ Hotstar “ถูกที่สุด” เพราะมีราคาเพียงแค่ 49 บาท/เดือนแล้วยังได้แถมฟรีอีก 1 เดือน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ 49 บาท/ 2 เดือนเท่านั้นเอง (เฉลี่ยตกเดือนละ 24.50 บาท) ซึ่งราคาโปรโมชัน 49 บาทนี้จะมีถึงแค่สิ้นเดือนกรกฏาคมและสงวนสิทธิ์ไว้ให้เฉพาะลูกค้า AIS เท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
CASE STUDY : Netflix สตรีมมิ่งหนังรายใหญ่ของโลกกับกลยุทธ์ระบบหลังบ้านที่เดือดทะลุปรอท
Business Model Hack ตอนที่ 1: Subscription
3. คุณภาพคอนเทนต์ที่ไม่มีใครเทียบได้
Disney + Hotstar ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่คอหนัง คอซีรีส์ห้ามพลาดอย่างแท้จริง เพราะในแพลตฟอร์ม Disney + Hotstar ได้รวบรวมคอนเทนต์ที่พวกเขาถือลิขสิทธิ์อยู่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ฝั่ง Disney ยุคคลาสสิค อย่าง MickyMouse, SnowWhite ไปจนถึงยุคใหม่ เช่น Lion King, Frozen, Mulan, Aladdin, Maleficent และภาพยนตร์ตระกูลเจ้าหญิงดิสนีย์ทั้งหมด
ฝั่ง Pixar ก็จะเป็นตระกูลอนิเมชั่นที่อยู่ในใจของใครหลายคน (รวมถึงตัวผมเองด้วย) เช่น Toy Story, The Incredibles, Cars, Inside Out, CoCo, Raya and the Last Dragon และอื่น ๆ อีกเพียบ ถึงตรงนี้อย่าเพิ่งตกใจไปนะครับว่า เห้ย! ที่พูดมาก็มีแต่ภาพยนตร์การ์ตูนเด็ก ๆ นี่มันแพลตฟอร์มสำหรับเด็กหรือเปล่า แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้นครับ เพราะ Disney ยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของฝั่ง Marvel หรือภาพยนตร์ตระกูลซุปเปอร์ฮีโร่ในตระกูล Avengers ทั้งหมด รวมถึงฝั่งตระกูล StarWars และภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูดในเครือ 20 Century Fox ทั้งหมดก็อยู่ในแพลตฟอร์ม Disney + Hotstar เหมือนกัน
นอกจากภาพยนตร์แล้ว สำหรับใครที่เป็นสายสารคดี (Documentary) ก็ไม่มีผิดหวังแน่นอน เพราะใน Disney + Hotstar ก็ยังถือครองลิขสิทธิ์ของ National Geographic เครือบริษัทสารคดีเบอร์ต้น ๆ ของโลกอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสารคดีสัตว์โลก ภูมิศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ก็มีให้คุณเลือกรับชมทั้งหมด
หรือใครที่เป็นคอหนังไทยใน Disney+ Hotstar ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์การเผยแพร่ภาพยนตร์ไทยในเครือของ GDH, สหมงคลฟิล์ม, One31 เอาไว้ด้วยเหมือนกัน และทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึง Original Content ที่ทาง Disney+ (บริษัทแม่) จะสร้างใหม่อีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น The Mandalorian, The Falcon and The Winter Soldier, WandaVision และอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิต เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของคอหนัง คอซีรีส์ และผู้ที่ชื่นชอบสารคดีจากทั่วทุกมุมโลกไว้ในแพลตฟอร์มเดียวก็ว่าได้
ซึ่งกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ที่เหนือกว่านี้เองก็ถือเป็นจุดดึงดูดที่ทำให้กลุ่มลูกค้าเห็นความสำคัญและข้อดีของ Disney+ Hotstar จนนำไปสู่การสมัครสมาชิกอย่างถล่มทลายภายในปีเดียว
4. ฟีเจอร์การใช้งานที่เหมาะกับทุกคนในครอบครัว
สำหรับฟีเจอร์การใช้งานของ Disney+ Hotstar นั้นก็มีหลายส่วนที่มีความน่าสนใจและโดดเด่น เริ่มตั้งแต่การรับชม ที่ทาง Disney+ Hotstar อนุญาตให้ 1 Account สามารถรับชมได้ 2 จอ เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ที่มีอุปกรณ์ในการรับชมหลายแบบ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ค หรือสมาร์ททีวี, สามารถดาวน์โหลดคอนเทนต์เก็บไว้ดูแบบออฟไลน์และ Chromecast ได้ เหมือนกับสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มตัวอื่น และการรับชมคอนเทนต์แบบพรีเมียม ไม่มีโฆษณามาคั่นให้เสียอรรถรสในการรับชม
นอกจากนั้นใน Disney+ Hotstar ยังเอาใจกลุ่มผู้ใช้งานเด็ก ๆ หรือผู้ปกครองทั้งหลายด้วยการจัดหมวดหมู่คอนเทนต์สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ที่จะเต็มไปด้วยการ์ตูนสนุกสนาน รวมถึงสารคดีและคอนเทนต์เสริมสร้างความรู้, จินตนาการสำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะอีกด้วย ซึ่งฟีเจอร์นี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของ Disney+ อยู่แล้ว ที่เข้ามาทำให้แพลตฟอร์มนี้เหมาะสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัวอย่างแท้จริง
โดยคุณสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Disney+ Hotstar ได้ผ่านระบบ App Store และ Play Store หรือจะรับชมผ่าน Internet Browsers ในเว็บไซต์ของ Disney+ Hotstar Thailand เพื่อรับชมคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มก็ได้เช่นกัน
สรุปทั้งหมด
ด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ Disney+ Hotstar นำมาใช้ในการเตรียมสร้างการเติบโตในตลาดประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาหรือคอนเทนต์คุณภาพที่มีความน่าสนใจ ต้องยอมรับว่าพวกเขามาได้ถูกทาง เพราะจากผลตอบรับในประเทศ ที่ผมได้ไปสำรวจมาก็เรียกว่า Disney+ Hotstar ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีไม่น้อยจากกลุ่มผู้ใช้งานชาวไทยกับการเริ่มให้บริการในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
ประกอบกับปัจจัยภายนอกอย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดหนักขึ้นอีกครั้งในช่วงนี้ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มีเวลาได้อยู่บ้านและหากิจกรรมทำแก้เบื่อมากขึ้น ซึ่งมันก็ช่างประจวบเหมาะกับการเปิดให้บริการของ Disney+ Hotstar พอดี เหตุผลนี้เองอาจทำให้ Disney+ Hotstar เหมือนถูกแจคพอตเลยก็ว่าได้ เพราะในช่วงปี 2020 ที่โควิด-19 ระบาดระลอกแรกในไทยก็เป็น Netflix ที่สามารถโกยผู้ใช้งานไปได้มากมายเหมือนกัน
คราวนี้เราก็คงต้องมาติดตามกันแล้วว่า Disney+ Hotstar จะเข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มของไทยได้มากน้อยเพียงใด แล้วในทิศทางการเติบโตในอนาคตของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เราคงต้องตามดูกันยาว ๆ แต่ผมรับประกันได้ว่าตลาดประเทศไทยนั้น Netflix กำลังเจอคู่แข่งที่ “สมน้ำสมเนื้อ” เข้าแล้วล่ะครับ