เราที่เป็นลูกค้าซื้อของตามช่องทางออนไลน์ คุณจะรู้สึกหงุดหงิดใช่ไหม เวลาที่จะซื้อของสักชิ้นนึง แต่ซื้อไม่ได้ เพราะระบบจ่ายเงินมันแสนยุ่งยาก ซับซ้อน แถมต้องกรอกข้อมูลอะไรเยอะแยะเต็มไปหมดเลย
ทางฝั่งพ่อค้าแม่ค้าก็ยิ้มไม่ออกเหมือนกันเวลาที่ลูกค้าหยิบสินค้าใส่ตะกร้า แต่ว่าไม่เกิดการจ่ายเงินขึ้น ที่ไม่ได้มาจากคุณภาพของสินค้า แต่เป็นเพราะระบบจ่ายเงินไม่ดี ทำให้ยอด Conversion หรือยอดขายของร้านตกฮวบ
Omise (อ่านว่า โอ-มิ-เซะ) เป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน Payment Gateway ที่เล็งเห็นปัญหาตรงนี้ จึงได้เข้ามาลบล้างความยุ่งยากของการจ่ายเงินให้กับแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ นั้นออกไป
วันนี้ The Growth Master ก็จะพาคุณไปรู้จักกับ Omise ให้มากขึ้นถึงประวัติความเป็นมา ก่อนที่จะคิดค้นกลยุทธ์ต่าง ๆ จนถือว่าเป็น Payment Gateway อันดับต้น ๆ ของไทย
เส้นทางของ Omise จากแพลตฟอร์ม E-Commerce สู่ Payment Gateway
Omise คือ บริการระบบชำระเงินออนไลน์ หรือ Payment Gateway ก่อตั้งเมื่อปี 2014 โดย คุณดอน อิศราดร หะริณสุต และคุณจุน ฮาเซกาวา ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท FinTech สัญชาติไทย Omise Holdings ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น SYNQA ในปี 2020 ที่ผ่านมา
Omise ไม่ได้ทำธุรกิจให้บริการ Payment Gateway ตั้งแต่แรกเริ่มเลย แต่ทำธุรกิจ E-Commerce ที่เริ่มต้นด้วยเงินทุน 10 ล้านบาทก่อน ในระหว่างที่ทำธุรกิจนี้พวกเขาก็สัมผัสได้ถึงความยุ่งยาก เสียเวลาในการชำระเงินของลูกค้าที่ต้องกรอกข้อมูลมากมาย จนบางครั้งก็เกิดปัญหาติดขัดขึ้นบ้าง ซึ่งลูกค้าหลายคนตั้งใจที่จะซื้อสินค้าชิ้นนั้นอยู่แล้ว แต่พอเจอปัญหาแบบนี้ไปก็ทำให้ไม่อยากซื้อไปเลย
Omise ได้มองเห็น Pain Point เหล่านี้ และย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 ผู้ให้บริการ Payment Gateway ในประเทศไทยของเราเองก็มีเพียงไม่กี่แห่ง แล้วอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการหรือสร้างความสะดวกสบายที่ดีกับลูกค้าได้ Omise จึงได้เปลี่ยนตัวเองจากการเป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce สู่การเป็นผู้ให้บริการ Payment Gateway ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา
โดยช่วงแรก Omise ได้หาลูกค้าเป็นธุรกิจเจ้าเล็ก ๆ ก่อน เช่น SMEs ที่ไม่ได้มีเงินทุนมากพอที่จะไปใช้บริการ Payment Gateway เจ้าใหญ่ ที่บางทีอาจต้องมีการจ่ายเงินค่าบริการหลักแสนบาท Payment Gateway ของ Omise จึงเข้ามาตอบโจทย์พวกเขาได้เป็นอย่างดี
ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายฐานลูกค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งลูกค้าเจ้าเล็กและลูกค้าเจ้าใหญ่ ๆ เช่น ผู้ให้บริการร้านค้าระดับประเทศอย่าง True Corporation, The Pizza Company, King Power, McDonald’s, เครือ Minor International หรือพวกโทรคมนาคมที่ตอนนี้ Payment Gateway ของ Omise เริ่มกวาดเกือบหมดทุกเจ้าแล้ว
จากบทสัมภาษณ์ของคุณดอน บอกว่า “ตัวเขามอง Omise เป็นเต้าเสียบปลั๊กไฟ และธุรกิจ E-Commerce เป็นเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ ตู้เย็น หรือเตารีด ทุกเจ้าจะต้องมาเสียบไฟโดยใช้ Payment Gateway ของเขา นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ Omise มีอัตราการเติบโตที่แข็งแรง และสามารถดึงความสนใจจากนักลงทุนได้อย่างดีเยี่ยมนั่นเอง”
ถึงแม้ Omise นับว่าเป็นธุรกิจด้าน Payment Gateway ที่มีความยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชียแล้วในปัจจุบัน แต่เขาก็ยังไม่หยุดพัฒนาตัวเอง คอยมองหาช่องทางรองรับการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่เสมอ
ซึ่งช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแส Blockchain หรือ Cryptocurrency มาแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ Omise ได้เปิดตัวธุรกิจเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ธุรกิจ นั่นคือ OmiseGo (เงินดิจิทัล) และปลายปี 2019 ได้เปิดตัว Go.Exchange ขึ้นมา ซึ่งเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Go.Exchange จะเปิดตัวมาได้เพียง 3 เดือนก็ถูกปิดตัวลงเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่มีปริมาณการซื้อขายที่ต่ำ รวมไปถึงความไม่แน่นอนและความซับซ้อนของกฎระเบียบ ที่มีผลกระทบอย่างมากต่อการวิเคราะห์ต้นทุนและผลกำไร ทำให้ดำเนินการต่อได้ยาก ตามคำแถลงของ Go.Exchange
และธุรกิจน้องใหม่ล่าสุด Esimo แพลตฟอร์ม E-Commerce ครบวงจร (ซึ่ง Esimo เป็นการนำคำว่า Omise มาเขียนย้อนหลัง) เริ่มรับลูกค้าใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2021 เป็นต้นไป
ปัจจุบัน Omise ได้ขยายการให้บริการใน 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย ประเทศไทย, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และในอนาคตคาดว่าจะขยายตัวออกไปทวีปอื่น ๆ อีกด้วย
ตัวเลขการระดมเงินทุนของ Omise
ถึงแม้ว่าใครหลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยเห็นธุรกิจของ Omise แบบจริง ๆ จัง ๆ แต่คุณก็อาจเป็นหนึ่งคนที่เคยใช้บริการระบบ Payment Gateway ของเจ้านี้มานับครั้งไม่ถ้วนแล้วก็ได้
ซึ่ง Omise อาจเป็นธุรกิจที่คนทั่วไปไม่สังเกตเห็น แต่ธุรกิจของเขากลับสร้างแรงกระเพื่อมการเติบโตให้ธุรกิจเล็กใหญ่อีกหลายร้อยธุรกิจเลยทีเดียว และการเติบโตของเขาเองที่ค่อย ๆ แทรกซึมไปยังธุรกิจต่าง ๆ ทำให้นักลงทุนเห็นแววที่ไม่มีอะไรสามารถมาขัดขวางการเติบโตของ Omise ได้ จึงทำให้บริษัท FinTech สีน้ำเงินแห่งนี้ สามารถเรียกเงินระดมทุนได้จำนวนมหาศาล
คำศัพท์น่ารู้ของการระดมทุน (Fundraising)
ก่อนที่เราจะไปดูว่า Omise ได้รับการระดมทุนจากใครบ้าง และจำนวนเงินก้อนนั้นมีมูลค่าเท่าไร เราอยากจะอธิบายสั้น ๆ ถึงคำศัพท์ของการระดมทุนในแต่ละรอบก่อน เพื่อความเข้าใจมากขึ้น
- Venture Capital (VC) คือ กองทุนที่ลงทุนในบริษัท Startup
- Seed Funding คือ รอบการระดมทุนของบริษัทที่กำลังจะปล่อย Product ของตัวเองออกมา
- Series A, Series B, Series C คือ รอบการระดมทุนที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ
นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2014 จนถึงปัจจุบัน (2021) Omise มีการเปิดระดมทุนจากนักลงทุน Venture Capital (VC) ทั้งหมด 6 ครั้ง และการระดมทุนแบบ Initial Coin Offering (ICO) 1 ครั้ง ดังนี้
ปี 2014 ได้รับเงินลงทุน 3 แสนดอลลาร์ (ประมาณ 10 ล้านบาท) ในรอบ Seed Funding
ปี 2015 ได้รับเงินลงทุน 2.6 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 86 ล้านบาท) ในรอบ Series A และได้รับการระดมทุนจาก Golden Gate Ventures จากประเทศสิงคโปร์ ในรอบ Series B แต่ไม่มีการเปิดเผยจำนวนเงินลงทุนในครั้งนี้
ปี 2016 ได้รับเงินลงทุน 17.5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 581 ล้านบาท) ในรอบ Series B จาก SBI Asset Management ซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลัก
ปี 2017 บริษัท Omise ได้เปิดระดมทุนแบบ ICO* ผ่านการขายโทเคน OmiseGO ได้เงินไปทั้งสิ้น 25 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 875 ล้านบาท) *ICO คือ การระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ผ่านระบบ Blockchain ต่อสาธารณชน โดยผู้ระดมทุนจะเป็นผู้ออกโทเคนดิจิทัลมาแลกกับเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
ปี 2019 ได้รับเงินระดมทุนจากกลุ่มการเงินรายใหญ่ของญี่ปุ่น Nomura Holdings โดยไม่เปิดเผยตัวเลขเงินทุนในครั้งนี้
ปี 2020 ได้รับเงินลงทุนจำนวน 80 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.4 พันล้านบาท) ในรอบ Series C จาก SCB 10X และ SPARX Group (ผ่านกองทุน Mirai Creation Fund II) ผู้ลงทุนหลัก นอกจากนี้ Toyota Financial Services Corporation, SMBC Venture Capital (SMBCVC), Aioi Nissay Dowa Insurance Corporation (ADI) และ Sumitomo Mitsui Banking Corporation ก็เข้าร่วมลงทุนเช่นกัน
แล้ว Omise มีกลยุทธ์อะไรที่ทำให้นักลงทุนแห่มาลงทุนกับตัวเองมากขนาดนี้?
ถ้าดูจากตัวเลขการระดมทุนที่เรากล่าวไปเมื่อหัวข้อที่แล้ว เราจะเห็นได้ว่า Omise มีการระดมทุนที่ดุเดือดมากเลยทีเดียว The Growth Master จึงไปรวบรวมกลยุทธ์ที่ Omise ใช้เพื่อดึงดูดนักลงทุนมาให้ทุกคนดูกัน จะมีอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลย
1. มองตัวเองเป็น Premium Brand
Omise มองตัวเองเป็น Premium Brand ซึ่งหมายถึงว่า Omise ไม่ใช่แบรนด์ที่มีราคาถูกที่สุด แต่เป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพ Service ดีที่สุดในตลาด โดยการันตีว่าตัวเองมี Service Level สูงถึง 99.999% เรียกได้ว่าแทบไม่เว้นช่องว่างไว้ให้ข้อบกพร่องเข้ามาแทรกเลยทีเดียว
ให้ลองนึกภาพตามว่า ในช่วงสิ้นเดือนของชาวมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ เงินเดือนออก แล้วตรงกับช่วงที่ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์พอดี ซึ่งแน่นอนว่าคนก็มักจะแห่กันไปจ่ายช่วงนั้น ถ้าเกิดระบบชำระเงินไม่ดี ล่ม เพราะรับปริมาณ Transaction จำนวนมากที่เข้ามาพร้อมกันตอนนั้นไม่ไหว ก็ไม่ใช่แบรนด์ที่มี Service ดี แต่ว่า Omise สามารถรองรับจำนวนธุรกรรมที่เข้ามาพร้อมกันเยอะ ๆ ได้
นอกจากนั้น ยังมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายให้ผู้ใช้งานเลือกใช้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร, พร้อมเพย์, บัตรเครดิต / บัตรเดบิต, จ่ายบิลต่าง ๆ, TrueMoney Wallet รวมไปถึง AliPay ที่เข้ามารองรับการใช้จ่ายของจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่เข้ามาในไทยจำนวนมากในแต่ละปี (แต่ช่วงนี้ Covid-19 ก็ให้นักท่องเที่ยวจีนพักไปก่อน)
อย่างไรก็ตาม Omise ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มให้ระบบร้านค้าออนไลน์ครบลูปเท่านั้น แต่มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร้านค้าต่าง ๆ มียอดขาย หรือ Conversion Rate เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้มันก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ Omise ทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีเยี่ยมด้วย พอร้านค้ามียอดขายเพิ่มขึ้น พวกเขาก็อยากใช้งาน Omise ต่อไปเรื่อย ๆ
2. เน้นตอบโจทย์ User Experience เป็นหลัก
User Experience หรือประสบการณ์ของผู้ใช้งานสำคัญมาก นี่เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Omise ผันตัวเองจากการเป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce มาสู่การเป็นผู้ให้บริการ Payment Gateway นั่นเป็นเพราะว่าผู้ใช้งานไม่ได้รับความสะดวกในการจ่ายเงิน ต้องเจอกับอุปสรรคมากมายในการใช้งาน
Omise จึงให้ความสำคัญกับ User Experience เป็นหลัก เช่น ถ้าใครที่กำลังหิวสุด ๆ เลย แล้วต้องการสั่งพิซซ่ามากิน แต่ต้องมาเจอระบบจ่ายเงินที่ไม่ดีเต็มไปด้วยความยุ่งยากในการกรอกข้อมูล บวกกับความหิวอีก ทำให้ลูกค้าเกิดความหงุดหงิดจนต้องเปลี่ยนไปสั่งพิซซ่าร้านอื่นแทน
แต่ Omise ไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นแบบนั้นแน่นอน ถ้าใครเคยสั่งพิซซ่าจาก The Pizza Company (ลูกค้าที่ใช้ Omise เป็น Payment Gateway) แล้วละก็ จะรู้ว่าคุณกดไม่กี่คลิกก็จ่ายตังได้ และรอรับพิซซ่าที่หน้าบ้านได้เลย สะดวกรวดเร็ว
โดยปกติแล้ว ถ้าใครที่เคยสั่งสินค้าออนไลน์แล้วจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต บาง Payment Gateway จะพาเราเด้งไปอีกหน้านึง แต่ Omise ต้องการแก้ปัญหาจุดนั้น จึงมอบประสบการณ์แบบไร้รอยต่อให้ลูกค้า(Seamless Experience) คือ คุณสั่งพิซซ่าบนหน้าเว็บของร้านนั้น แต่คุณจะไม่รู้สึกเลยว่ากำลังจ่ายเงินด้วยเว็บไซต์ของ Third party จ่ายเงินได้แบบแนบเนียนเลยทีเดียว
3. ควบซื้อกิจการ Paysbuy เพื่อการเติบโตของอนาคต
ปี 2017 Omise ได้ประกาศซื้อ Paysbuy บริษัท Payment Gateway (บริษัทลูกของ Dtac) ซึ่งการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินการของ Omise ที่ว่า “ต้องการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมผู้ใช้บริการในประเทศอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีโอกาสในการขยายธุรกิจเข้าสู่บริษัทขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มบริษัทประกัน, ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ, โทรคมนาคม หรือร้านค้าปลีกออนไลน์อีกด้วย”
และนี่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้ Omise เติบโตขึ้น เพราะบริษัทพวกนี้เป็นฐานการให้บริการของ Paysbuy อยู่แล้ว และระบบของ Paysbuy มีความโดดเด่นในด้านการให้บริการ Payment Gateway มาตลอด 13 ปีแล้วยังได้ผนวกเข้ากับการบริการของ Omise ที่โดดเด่นในเรื่องของ User Experience ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน
นอกจากนั้น ยังสามารถส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของ Omise เช่น การวางและพัฒนาโครงสร้างของเครือข่ายสำหรับ OmiseGO กระเป๋าเงินออนไลน์ (Decentralized Wallet Network) ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
4. มองดูเทรนด์อนาคตไปกับ OmiseGo (OMG)
OmiseGo คือ Blockchain บน Ethereum ที่มี Protocol เป็นการแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจ หรือ Decentralized Exchange และเป็น Payment Service แบบ E-Wallet ที่ให้บริการทั้งเงินจริงและเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ต่าง ๆ
โดย Omise ได้เปิดตัว OmiseGo ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น OMG Network เพื่อเปลี่ยนโฉมมาอยู่ภายใต้บริษัทย่อยของ SYNQA) นับตั้งแต่ที่มีการระดมทุนแบบ ICO ซึ่งเป็นการระดมทุนของเหล่า Startup ที่พัฒนาด้าน Blockchain ด้วยการเสนอขายโทเคน OmiseGo (OMG) ต่อสาธารณชนผู้สนใจ (เป็น Startup รายแรกของไทยที่มีการระดมทุนแบบ ICO)
ซึ่งโทเคน OMG จะเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้บน Blockchain ของ OmiseGo และระบบนี้ทำให้ผู้คนสามารถจัดการกับสินทรัพย์ (Asset) ที่เป็นเงินจริงและเงินดิจิทัลได้พร้อม ๆ กันอีกด้วย
OmiseGo มีเป้าหมายเพื่อทำให้เงินจริงธรรมดา เงินดิจิทัล หรืออะไรก็ตามที่มีค่าสามารถแลกเปลี่ยนหรือโอนเงินกันได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร ทำให้ ไม่ใช่เฉพาะผู้ถือบัญชีธนาคาร แต่คนที่ยังไม่มีบัญชีก็สามารถที่จะเข้าถึงได้อีกด้วย (ตรงกับคำขวัญของเขาที่ว่า “Unbank the Banked”) ดังนั้น OmiseGo สามารถช่วยให้ผู้คนสามารถรับส่งเงินหรือแลกเปลี่ยนเงินด้วยต้นทุนที่ถูกลง ไม่ว่าจะเป็นเงินจริง ๆ หรือ Cryptocurrency ก็ตาม
5. Esimo แพลตฟอร์ม E-Commerce น้องใหม่
Esimo เป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce แบบครบวงจรที่ Omise เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2021 นี้เอง ซึ่งเกิดจากการจับมือกันระหว่าง Omise ที่มีประสบการณ์ทางด้าน Payment Gateway ส่วน Eventpop มาพร้อมกับประสบการณ์ด้าน E-Commerce การสร้างแพลตฟอร์ม และการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งผ่านการใช้งานจริงมาแล้วกว่า 10,000 อีเว้นท์
สำหรับ Esimo เราสามารถสร้างระบบ E-Commerce ได้ครบวงจรเลย ตั้งแต่การสร้างแพลตฟอร์มร้านค้า ตกแต่งร้านค้า ระบบชำระเงิน ระบบจัดการสต็อก ระบบขนส่ง รวมถึงมี Dashboard ให้ดูสถิติยอดขายแบบ Real-time ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์การขายได้ จัดแคมเปญการตลาดต่าง ๆ และทำการ Retargeting ดึงลูกค้าเก่า ๆ ให้กลับมาซื้อของได้อีกด้วย
จากการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ในครั้งนี้ เพราะ Omise เห็นว่าโลกได้ก้าวข้ามผ่านมาถึงยุค Digital Transformation แล้ว ทำให้การขายของออนไลน์มีการเติบโตขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต และ Omise เองก็อยากพัฒนาแพลตฟอร์ม Esimo ขึ้นให้สำหรับร้านค้าหรือแบรนด์ที่อยากขายของ แต่ไม่รู้จักการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่มีทีมนักพัฒนาระบบเป็นของตัวเอง รวมถึงไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง สามารถที่สร้างเว็บไซต์ E-Commerce เพื่อขายของด้วยตนเองได้
The Growth Master พาไปดู Omise Tech Stack
Omise เป็นบริษัท Startup ด้าน FinTech ที่มีการใช้ Tech Stack จำนวนมาก ซึ่งเราก็ได้ยกตัวเด่น ๆ เพียงส่วนหนึ่งมาให้ทุกคนดูกัน
JavaScript Libraries และ Functions
- Vue.js
- Bootstrap.js
- Lodash
- Crypto Browserify
- Elliptic
- Moment JS
- Core-JS
- Mermaid
Analytics และ Tracking
- Datadog เป็นบริการ Monitoring สำหรับแอปพลิเคชัน Cloud-scale ที่สามารถตรวจสอบ Servers, Databases, Tools หรือ Services ต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้ SaaS และยังสามารถตรวจข้อมูลได้ในหลายระบบปฏิบัติการ รวมไปถึง Docker, CoreOS, Cloud Service อย่าง Amazon Web Service, OpenShift ได้อีกด้วย
- Google Analytics เป็นซอฟต์แวร์วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าจากหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ที่พัฒนาขึ้นโดย Google ช่วยทำให้เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าที่เข้ามาที่หน้าเว็บ และช่วยวิเคราะห์ ประเมินความสามารถของการตลาด คอนเทนต์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัท
Widgets
- Google Tag Manager คือ ตัวกลางที่ช่วยให้อัปเดต Tag และข้อมูลโค้ดบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถใส่ Tag จากที่ต่าง ๆ เช่น Google Analytics, Google Ads, Facebook Pixel และ Tag ประเภทต่าง ๆ อีกมากมาย เพื่อให้เราสามารถติดตามดูผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนั่นเอง
- Google reCAPTCHA คือ บริการฟรีของ Google ที่เกิดมาเพื่อปกป้องเว็บไซต์จากสแปมทั้งหลายและการละเมิดต่าง ๆ เราอาจจะเคยเห็นบริการนี้มาในรูปแบบของหน้าต่างสี่เหลี่ยม ๆ ที่ให้เราติ๊กเครื่องหมายถูก "I'm not a robot" แล้วก็มีคำถามขึ้นมา เช่น ให้คลิกว่ารูปภาพไหนคือ Traffic lights (ไฟจราจร) เป็นต้น ซึ่ง “CAPTCHA” คือ การทดสอบเพื่อแยกมนุษย์และบอทออกจากกัน มนุษย์จะแก้ปัญหาได้ง่ายมาก แต่ยากสำหรับบอทนั่นเอง
Email Hosting Providers
- Mailgun คือ เครื่องมือบริการส่งอีเมลผ่านเว็บไซต์ มีข้อดี คือ มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ทำให้อีเมลที่ถูกส่งไปไม่ถูกมองว่าเป็น Junk Mail แล้วไปอยู่ในกล่องอีเมลขยะของผู้ใช้แต่ละคน และบางครั้งเว็บไซต์ E-Commerce อาจจะมีปัญหาต้องส่งอีเมลจำนวนมาก แต่อีเมลส่งไม่ไป การส่งอีเมลผ่านเครื่องมือนี้จะทำให้ปัญหานั้นหมดไป
- MailChimp คือ เครื่องมือช่วยทำระบบ E-mail Marketing ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากการตลาดออนไลน์ทั่วโลก เป็นระบบที่ใช้งานง่าย และมีระบบการวัดผลทางสถิติค่อนข้างชัดเจน มีประสิทธิภาพ และเข้าใจง่าย
สรุปทั้งหมด
Omise ถือว่าเป็นบริษัท FinTech ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่ใช่ผู้ให้บริการ Payment Gateway เจ้าแรกของโลกหรือของประเทศไทยก็ตาม แต่ Omise เริ่มดำเนินกิจการมาจาก Pain Point ที่ตัวเองสนใจจะแก้ไขให้มันดีขึ้น จนกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่สามารถระดมทุนได้ถึงระดับ Series C
และก็มองเห็นถึงเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นอยู่เสมอ จนปัจจุบันมีการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ๆ ออกมามากมายที่จะมารองรับและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเรื่อย ๆ ทั้งเทรนด์ Cryptocurrency และกลับมาทำระบบ E-Commerce แบบครบวงจรที่ดีขึ้นกว่าเดิมอีกครั้งนึง ในอนาคตเราก็ต้องมาจับตาดูว่าเส้นทางของ Omise จะดำเนินไปอย่างไรต่อไป และจะเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จจนเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทยได้หรือไม่อีกด้วย