ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ นอกจากกระแสของโลก Blockchain และคริปโทเคอร์เรนซีจะแรงดีไม่มีตกแล้ว อีกหนึ่งกระแสที่มาแรงไม่แพ้กันก็คงจะเป็น NFT (Non-Fungible Token) ที่จัดเป็นคริปโทเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งมีความคล้ายกับ Bitcoin หรือ Ethereum แต่ NFT จะเป็นเหรียญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำทดแทนได้ มีมูลค่าในตัวเอง และที่สำคัญ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้
นั่นจึงทำให้มีแพลตฟอร์มที่เป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล NFT มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ OpenSea ที่ถือว่าเป็น NFT Marketplace ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในโลกถึง 95% ซึ่งตัวเลขนี้ทำให้ OpenSea กลายเป็นแพลตฟอร์มที่น่าจับตามองมาก ๆ ในปัจจุบัน
บทความนี้ The Growth Master เลยอยากจะพาทุกคนไปหาคำตอบว่า OpenSea มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และเขามีกลยุทธ์อย่างไร OpenSea ถึงกลายเป็น NFT Marketplace ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในโลกได้ ไปติดตามกันได้เลย
OpenSea คืออะไร?
OpenSea คือ แพลตฟอร์มตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนผลงานหรือของสะสมดิจิทัลในรูปแบบ NFT เช่น ผลงานด้านศิลปะ, รูปภาพ, กราฟิก, คลิปวิดีโอ, ไอเทมในเกม เป็นต้น โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าใช้งานผ่านการเชื่อมกับ Crypto Wallet (เช่น Metamask, Coinbase Wallet และ Trust Wallet) ได้เลย และสามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน ประมูล NFT ผ่าน 4 เชนด้วยกัน ประกอบไปด้วย Ethereum, Polygon, Klatyn และ Solana (ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน 2022)
สำหรับวิธีการซื้อขาย NFT บน OpenSea นั้น Creator จะสามารถทำได้ 2 แบบ คือ การตั้งราคาขาย (Fixed Price) และตั้งราคาประมูล (Timed Auction) โดยเราอยากให้คุณลองนึกภาพตามง่าย ๆ OpenSea เป็นแพลตฟอร์มที่คล้าย ๆ กับการที่เราเข้าไปซื้อของใน Amazon หรือประมูลของใน eBay แต่เปลี่ยนจากสินค้าหรือของสะสมทั่วไปมาเป็นในรูปแบบ NFT แทน
นอกจากนั้น OpenSea จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เช่น หากใครลงผลงานผ่านเชน Ethereum จะต้องเสียค่าธรรมเนียม (Gas Fee) ในการลงผลงานครั้งแรก รวมถึงค่าธรรมเนียมสำหรับการทำ Transaction ต่าง ๆ เช่น การกดซื้อผลงาน, การกดยกเลิกการลิสต์ราคา เป็นต้น
แต่กลับกันถ้าหากใครทำ Transaction ผ่านเชน Polygon จะไม่เสียค่าธรรมเนียมยิบย่อยใด ๆ เหมือนกับ Ethereum (หากใครสงสัยว่าทำไม Ethereum ถึงเสียค่าธรรมเนียมมากกว่า Polygon เราได้อธิบายเหตุผลไว้ที่พาร์ทกลยุทธ์ด้านล่างแล้ว)
ปัจจุบัน OpenSea ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับ Creator ทุกคน เพราะ OpenSea เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ Creator ทั่วโลกสามารถเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนผลงาน NFT บนแพลตฟอร์มได้อย่างอิสระไร้ตัวกลาง และนับว่าเป็นอนาคตการสร้างรายได้รูปแบบใหม่ที่น่าสนใจอีกด้วย
ปัจจุบันวงการ NFT ก็ถือว่าเติบโตเป็นอย่างมาก อย่างในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมาในประเทศไทยก็ได้มีการจัดงานนิทรรศการ Bangkok NFT Art Festival 2022 ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินไทยกว่า 800 คน เช่น FAHFAH, StoeyP, Erisakie, Job Catherapy, LATTE LATTE ได้มาร่วมกันแสดงผลงาน NFT ของตัวเองในรูปแบบที่จับต้องได้ และนิทรรศการนี้ยังจัดผ่านนวัตกรรม AR เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกของ Metaverse
สำหรับการจัดนิทรรศการ Bangkok NFT Art Festival 2022 นี้ขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นการช่วยสร้าง Awareness ในมุมของผลงานและตัวศิลปิน NFT ให้ผ่านสายตาคนทั่วไปที่อาจจะยังไม่รู้จักและคุ้นเคยกับ NFT มากขึ้น และยังช่วยให้ผู้ที่สนใจในผลงานสามารถร่วมกันสนับสนุนผลงานพวกเขาได้อีกด้วย
เส้นทางความเป็นมาของ OpenSea จากความหลงใหลในเทคโนโลยี Blockchain สู่ NFT Marketplace ระดับโลก
OpenSea ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 โดย Devin Finzer (CEO) และ Alex Atallah (CTO) ซึ่งทั้งสองคนเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
สำหรับ Alex Atallah หลังจากที่ปี 2014 ได้จบการศึกษาจาก Stanford University สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เขาก็ได้กลายมาเป็นนักพัฒนา hostess.fm แพลตฟอร์มสำหรับสถานบันเทิงยามค่ำคืน และขายให้กับ SFX Entertainment ได้สำเร็จ และต่อมาก็กลายเป็นผู้ก่อตั้ง Whatsgoodly แพลตฟอร์มที่ใช้สำรวจความคิดเห็นทางโซเชียล ซึ่งเติบโตจนมีผู้ใช้มากกว่า 300,000 คน
เช่นเดียวกันกับ Devin Finzer หลังจากที่ปี 2013 ได้เรียนจบจาก Brown University ในสาขาคณิตศาสตร์ ด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 เขาก็ได้ไปทำงานเป็น Software Engineer ที่ Pinterest และต่อมาปี 2016 เขาก็ได้หันมาพัฒนาแพลตฟอร์มบริการเรียกคืนเงินที่มีชื่อว่า Claimdog และขายให้กับบริษัทการเงินส่วนบุคคลสัญชาติอเมริกัน Credit Karma ได้สำเร็จ
ต่อมาในขณะนั้นเองปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Devin Finzer เริ่มหันมาสนใจเทคโนโลยี Blockchain และคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น เลยได้ลองศึกษาหาข้อมูลดู จนเริ่มเกิดความหลงใหลและอยากที่จะทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้
เขาเลยไปชวน Alex Atallah มาร่วมกันทำ Wificoin ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับธุรกิจแชร์สัญญาณ Wi-Fi โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain โดยเขาได้รับเงินสนับสนุนจาก Y Combinator สตาร์ทอัป Accelerator ชื่อดัง ด้วยจำนวนกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันที่ตอนนั้น NFT ได้กลายมาเป็นโปรเจกต์ที่เริ่มดึงดูดผู้คน และหลาย ๆ คนก็เริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้น ประจวบเหมาะกับตอนนั้นที่ Devin Finzer ได้เห็นข่าวคราวของ CryptoKitties เกมสะสมการ์ดแมวที่มีผู้คนนำคอลเลกชันในเกมชื่อว่า Genesis มาซื้อขายกันจนมีมูลค่าสูงถึง 246.9255 ETH หรือคิดเป็นเงินมูลค่าสูงถึงราว ๆ 3.8 ล้านบาทในขณะนั้น
ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็สร้างความประหลาดใจให้กับเขาเป็นอย่างมาก และทำให้เขามองว่าถ้าหากเทคโนโลยี Blockchain แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต ก็น่าจะทำให้มูลค่าการซื้อขาย NFT สูงขึ้นกว่านี้หลายเท่าตัว และอาจจะมี NFT ประเภทใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน
Devin Finzer จึงได้ตัดสินใจหันใบเรือเปลี่ยนจากการทำธุรกิจ Wificoin มาทำตลาดสำหรับซื้อขายสินทรัพย์ NFT แทน โดยมีชื่อว่า OpenSea ซึ่งพวกเขาก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา จนกระทั่งเปิดตัวขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2018
จากวันนั้นจนวันนี้ Devin Finzer ก็พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าตลาดการซื้อขายสินทรัพย์ NFT ได้เติบโตขึ้นจริง จนทำให้ OpenSea ได้กลายเป็น NFT Marketplace ที่เติบโตและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปโดยปริยาย
ปัจจุบัน OpenSea มีผู้ใช้งานมากกว่า 1.6 ล้านคน (Dune Analytics) มีมูลค่าขายซื้อขายบนแพลตฟอร์มมากกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีผลงาน NFT ที่มาลงซื้อขายบนแพลตฟอร์มกันมากกว่า 80 ล้านชิ้นไปแล้ว
ตัวเลขการเติบโตของ OpenSea ที่มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ภายใน 4 ปี
OpenSea ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ NFT ที่มีตัวเลขที่น่าสนใจมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น การระดมทุน, ตัวเลขผู้ใช้งาน, รายได้ และอื่น ๆ
สำหรับการระดมทุน OpenSea มีการระดมทุนถึง 6 รอบด้วยกัน ประกอบไปด้วย
- Pre-Seed เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2018 จาก Y Combinator ด้วยจำนวนเงิน 120,000 ดอลลาร์
- Seed Round เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2019 ด้วยจำนวนเงิน 2.1 ล้านดอลลาร์ นำโดย 1confirmation, Animoca Brands, Blockchain Capital และคนอื่น ๆ
- Series A เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2021 จำนวนเงิน 23 ล้านดอลลาร์ จาก Andreessen Horowitz, Justin Kan, Kevin Hartz และนักลงทุนอีกหลายคน
- Series B วันที่ 20 กรกฎาคม 2021 จำนวน 100 ล้านดอลลาร์ จาก Andreessen Horowitz, Ashton Kutcher, Coatue Management รวมถึงนักลงทุนคนอื่น ๆ อีกหลายคน
- ล่าสุด Series C เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนเงิน 300 ล้านดอลลาร์ จาก Coatue Management, Kathryn (Katie) Haun, Sequoia Capital และ Seth Weinstein
จากการระดมทุนทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ปัจจุบัน OpenSea กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์ทันที โดยใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น
นอกจากนั้น OpeaSea ยังมีการเติบโตในด้านของตัวเลขผู้ใช้งานอย่างเห็นได้ชัด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเราจะเห็นได้ว่าเมื่อช่วงต้นปี 2020 จากที่ OpenSea เคยมี Monthly Active Users เพียงแค่ 4,000 คนเท่านั้น แต่ตัวเลขนี้กลับพุ่งขึ้นเป็น 546,000 คน ถือว่าเป็นสถิติ Monthly Active Users ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของ OpenSea อีกด้วย
และตั้งแต่ที่ OpenSea เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2018 ทางแพลตฟอร์มก็มี Crypto Address ที่เข้ามาทำธุรกรรมต่าง ๆ อย่างน้อย 1 ครั้ง มากกว่า 1.6 ล้าน Address แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า OpenSea เป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
สำหรับปริมาณการซื้อขาย (Trading Volume) NFT บน OpenSea ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว โดยปี 2020 มี Trading Volume เพียง 21.7 ล้านดอลาร์เท่านั้น แต่พอปี 2021 ทาง OpenSea ก็สามารถทำสถิติใหม่ด้วยปริมาณ Trading Volume สูงถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ ถือว่าเพิ่มขึ้นถึง 646 เท่าจากปี 2020
แต่ปริมาณ Trading Volume ในปี 2021 ที่ดูเหมือนว่าเยอะแล้ว มันเยอะได้มากกว่านี้อีก…
ในช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมานี้ ทาง Opensea สามารถบันทึกสถิติ Trading Volume สูงสุดได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ (ในไตรมาสที่ 1) แต่ล่าสุดปริมาณ Trading Volume กลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีก ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2022
ซึ่งหากดูเฉพาะในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว จำนวน Trading Volume ก็พุ่งทะลุกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ไปแล้ว ถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 40% และปริมาณการซื้อขายในเดือนเมษายนนี้ก็ถือว่าเป็นปริมาณการซื้อขายมากกว่าปี 2021 ทั้งปีรวมกันอีกด้วย (1.4 พันล้านดอลลาร์)
จากตัวเลขนี้ก็แสดงให้เห็นว่าหลายคนให้ความสนใจเข้ามาซื้อขาย NFT สินทรัพย์ดิจิทัลบน OpenSea อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน เมื่อเราเห็นปริมาณการซื้อขายไปแล้วก็มาดูรายรับของ OpenSea ที่มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม (2.5% ต่อธุรกรรม) กันบ้าง ซึ่งตอนนี้ OpenSea ก็มีรายรับเฉลี่ยสูงกว่า 50 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2021 เป็นต้นมา
ซึ่งถ้าหากดูภาพรวมรายได้ตลอดปีแล้ว จะถือว่า OpenSea มีรายได้มากถึง 750 ล้านดอลลาร์ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเลยทีเดียว (ขึ้นอยู่กับราคาคริปโทเคอร์เรนซีในเวลานั้น ๆ ด้วย)
ทั้งนี้ก็อาจเป็นผลมาจากการที่ OpenSea กลายเป็น NFT Marketplace ที่ครองส่วนแบ่งตลาดไปถึง 95% จึงทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างไม่ขาดสายทุกเดือน รวมถึงผู้ใช้งานหลายคนก็อาจจะยังไม่มั่นใจในศักยภาพของแพลตฟอร์มผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดได้มากเท่ากับ OpenSea จึงทำให้แพลตฟอร์มนี้ยังสามารถครองตลาดได้เหมือนทุกวันนี้นั่นเอง
กลยุทธ์การเติบโตของ OpenSea ทำอย่างไรถึงเป็น NFT Marketplace ที่ครองตลาดไปถึง 95%
1. ใช้หลักการ Product-Led Growth
แม้ว่าช่วงปี 2017-2018 จะมีคนบางกลุ่มที่เริ่มรู้จักและมีความสนใจใน NFT มากขึ้นแล้ว แต่ถ้าพูดถึงในวงกว้าง NFT ก็ถือว่ายังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ดังนั้นในช่วงแรก ๆ CEO ของ OpenSea จึงไม่ได้รีบเร่งขยายธุรกิจมากสักเท่าไร และมีพนักงานในบริษัทเพียง 7 คนเท่านั้น ตั้งแต่ก่อตั้งมาจนถึงปี 2020
เพราะเขาให้เหตุผลว่าต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ รวมถึงต้องการพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีคุณภาพดีเสียก่อน เพื่อเตรียมพร้อมจังหวะที่กระแส NFT เริ่มติดตลาดกว่านี้จริง ๆ OpenSea จะได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีความพร้อมที่สุดในตลาด และสามารถรองรับจำนวนธุรกรรมที่คาดว่าจะมีจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้ในที่สุด
สิ่งที่ OpenSea กำลังทำอยู่นั้น เราเรียกว่า Product-Led Growth หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากที่สุด เพราะถ้าหากผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพแล้วก็จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ในท้ายที่สุด ซึ่งภาพที่ CEO มองเอาไว้ก็ถือว่ามีความเฉียบขาดมากและเป็นแบบนั้นจริง
เนื่องจากอย่างที่เราเห็นกันว่าในช่วงปี 2020-2021 ที่ผ่านมา กระแสของ NFT ถือว่าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมาแรงแบบสุด ๆ ทำให้ช่วงเวลาที่เขาค่อย ๆ พัฒนาแพลตฟอร์มมาอย่างเต็มที่ ก็เกิดเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก
โดย OpenSea สามารถกลายเป็น NFT Marketplace ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยกวาดส่วนแบ่งตลาดไปมากถึง 95% และปัจจุบันก็มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายใน 4 ปีเท่านั้น
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
2. Business Model
OpenSea มี Business Model คือ การเก็บค่า Service Fee จากผู้ใช้งาน โดยจะแบ่งเก็บค่าธรรมเนียมออกเป็น ดังนี้
Account Registration Fees
Account Registration Fees เป็นค่าธรรมเนียมที่ผู้ขายจะต้องทำการเสียในครั้งแรกที่ทำการลิสต์ NFT บน OpenSea ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้เป็นค่าที่จำเป็นสำหรับการอนุญาตการทำธุรกรรมระหว่าง OpenSea และ Crypto Wallet เพื่อให้ทำงานเชื่อมต่อกันได้ และยังทำให้ OpenSea สามารถเข้าถึงรายการ NFT หลังการซื้อ-ขายเกิดขึ้นอีกด้วย
ถ้าลองมาเทียบกับ NFT Marketplace คู่แข่ง เช่น Rarible ที่ผู้ใช้งานจะมีการเสียค่า Gas ในทุกครั้งที่ลงผลงาน ดังนั้นการเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพียงแค่ครั้งแรกครั้งเดียวก็ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดเด่นที่ทำให้มีผู้ใช้งานเข้ามาซื้อขายบน OpenSea อยู่ได้เรื่อย ๆ นั่นเอง
Gas Fees
Gas Fees จะเป็นค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้งานจะต้องจ่ายทุกครั้งเมื่อทำธุรกรรมบน OpenSea จำนวน 2.5% ซึ่ง Gas Fee เป็นค่าธรรมเนียมที่ทางแพลตฟอร์มนำมาครอบคลุมค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าพลังงานคอมพิวเตอร์ (Computing Energy) บนเชน Ethereum ในแต่ละธุรกรรม
โดยผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทุกครั้งก็ต่อเมื่อซื้อ NFT แบบ Fixed Price ในขณะที่ผู้ขายเองก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนกัน หากยอมรับข้อเสนอนั้น และถ้าหากผู้ขายยกเลิกการลิสต์ NFT บนแพลตฟอร์ม (ไม่ลงขายแล้ว) ก็จะเสียค่าธรรมเนียมเช่นกัน
แต่ถ้าหากใครซื้อ-ขายผลงานบนเชน Polygon จะไม่มีค่าธรรมเนียม เนื่องจาก Polygon เป็นเชนที่ถือว่ายังใหม่อยู่ และที่สำคัญ ค่าธรรมเนียมบน Polygon มีราคาถูกมาก OpenSea จึงเป็นผู้รับผิดชอบค่า Gas นั้นแทนผู้ใช้งานทุกคน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมได้แบบฟรี ๆ
เกร็ดเพิ่มเติม: ผู้ซื้อขายอาจจะต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมในการ Swap เหรียญ กล่าวคือปกติบนเชน Polygon จะใช้เหรียญ MATIC ในการทำธุรกรรม แต่เมื่อมาทำการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม ผู้ใช้จำเป็นต้อง Swap เหรียญ MATIC เป็น WETH ก่อนจึงจะสามารถทำธุรกรรมบน OpenSea ในเชน Polygon ได้ (เป็นเรื่องพื้นฐานของการใช้เหรียญที่คุณจำเป็นต้องศึกษาก่อน ถ้าหากคุณต้องการทำธุรกรรมบน OpenSea หรือแพลตฟอร์มเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ)
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ศิลปินหน้าใหม่ที่อาจไม่ได้มีต้นทุนสูง แต่อยากลองลงผลงานในตลาด NFT บางส่วนก็นำผลงานไปลงในเชน Polygon แทนที่จะนำไปลงในเชน Ethereum (แต่แค่ตลาดอาจจะไม่ได้ใหญ่เท่านั่นเอง)
Facts: ส่วนมากศิลปินดัง ๆ ระดับโลกที่มีมูลค่าการซื้อขายรวมเยอะ (เช่น Bored Ape Yacht Club) และนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูง หรือที่เราเรียกว่า ‘วาฬ’ ส่วนใหญ่จะอยู่บนเชน Ethereum ในทางเดียวกัน บนเชน Polygon ผู้ใช้จะทำได้เพียงซื้อขายแบบ Fixed Price ไม่สามารถทำการซื้อขายแบบ Timed Auction ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสถิติการซื้อขายส่วนมากจะเกิดบนเชน Ethereum และมีมูลค่าที่สูงกว่า Polygon
3. ฟีเจอร์ที่ช่วยสร้าง User Experience ที่ดี
OpenSea ถือว่าเป็น NFT Marketplace ระดับโลกที่มีการสร้าง User Experience ที่ดีให้กับผู้ใช้งานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
ฟีเจอร์สุ่มผลงาน NFT ของศิลปินมาแสดงบนหน้าแพลตฟอร์ม
OpenSea จะมีฟีเจอร์การสุ่มผลงานของศิลปินขึ้นมาโชว์บนหน้าแพลตฟอร์ม ไม่เพียงเฉพาะแค่การสุ่มผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงดังระดับโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศิลปินหน้าใหม่เองด้วย ซึ่งถ้าหากระบบสุ่มผลงานของพวกเขาขึ้นมาโชว์บนหน้าแพลตฟอร์ม ก็จะยิ่งทำให้นักสะสมหรือนักลงทุนเจอผลงานของพวกเขาได้ง่ายมากยิ่งขึ้นกว่าการที่ไปค้นหาเองในแต่ละ Category
ซึ่งถ้าหากเหล่านักลงทุน นักสะสม หรือคนทั่วไปที่สนใจในงานนั้นมาพบเจอ ก็จะเพิ่มโอกาสให้ศิลปินขายผลงานของตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากจะเป็นการช่วยแจ้งเกิดให้ศิลปินแล้ว OpenSea ก็ยังมีโอกาสเก็บค่า Gas Fees จาก Transaction เหล่านั้นได้ด้วย (ทำให้ศิลปินยังอยู่บนแพลตฟอร์ม ไม่ออกไปไหน)
สำหรับฟีเจอร์นี้ก็ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสให้กับศิลปินใหม่ ๆ ได้เติบโตในพื้นที่ที่ยังไม่มีใครรู้จักพวกเขามาก่อน เช่นเดียวกันฟีเจอร์นี้ก็เป็นช่องทางที่สร้างโอกาสให้กับผู้ซื้อหรือนักสะสมงานได้เจอกับงานที่เป็นเหมือน Rare Item สำหรับพวกเขาเอง
นั่นจึงทำให้ OpenSea ไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกยึดครองโดยศิลปินดัง ๆ หรือศิลปินกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปซะทีเดียวเลย แต่เป็นการกระจายโอกาสให้กับศิลปินทุกคนได้มีโอกาสเติบโตเท่า ๆ กันอีกด้วย
แยก Category ออกอย่างชัดเจน
OpenSea เป็นแพลตฟอร์มที่นอกจากจะมีการรองรับ NFT หลากหลายรูปแบบแล้ว (เช่น Art, Collectibles, Music, Sports, Photography, Trading Cards และอื่น ๆ) ยังมีการแยก Category ออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจนอีกด้วย เพื่อให้ทั้งผู้ใช้งานและศิลปินสามารถค้นหาได้ตามหมวดหมู่ที่ต้องการอย่างง่าย
นอกจากนั้น OpenSea ยังมีการแยกหมวดหมู่ออกมาให้ผู้ใช้งานเห็นว่าผลงาน NFT ใดที่มีติดอันดับ Top 15 ภายใน 24 ชั่วโมง, 7 วัน, 30 วัน, All Time ถ้าหากใครที่สนใจก็สามารถกดเข้าไปดูศิลปินที่ต้องการเหล่านั้นได้
ฟีเจอร์ให้ผู้ใช้เริ่มต้นสร้าง NFT ได้อย่างง่ายดาย
บน OpenSea นอกจากจะเป็นตลาดการซื้อขาย NFT แล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ศิลปินสามารถมาสร้าง NFT บนแพลตฟอร์มได้เลย โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งการทำงานของฟีเจอร์นี้ก็ง่าย ๆ เพียงแค่ศิลปินต้องเตรียมผลงานที่เป็นไฟล์ดิจิทัลของตัวเองมาก่อน แล้วนำมาอัปโหลดผลงาน ใส่รายละเอียดข้อมูล และเผยแพร่สู่หน้าสาธารณะได้ทันที ไม่มีความซับซ้อนใด ๆ เลย
ให้ศิลปินขาย NFT Bundle ได้
OpenSea เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ NFT Marketplace ในโลกที่ให้ศิลปินสามารถลงขายผลงานแบบ Bundle ได้มากถึง 30 ชิ้น (Fixed Price) แต่ถ้าหากลงผลงานแบบประมูล ศิลปินจะสามารถสร้าง Bundle ได้ 15 ชิ้น
สำหรับระบบ Bundle นี้ จะมีความพิเศษอยู่ตรงที่ผู้ขายสามารถเพิ่มของให้กับคนที่มาซื้อได้ เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น สมมติเราเป็นศิลปินที่ลงขาย NFT ภาพวาด ถ้าเป็นคนทั่วไปจะเห็นเพียงผลงานภาพวาดที่เราลงขายเท่านั้น แต่ถ้าหากคนที่มาซื้อแบบ NFT Bundle นี้ ก็จะสามารถเห็นผลงานชิ้นอื่นด้วย เช่น ภาพ Sketch ก่อนหน้าที่ผลงานจะเสร็จ (คล้าย ๆ กับระบบ Premium ที่ต้องจ่ายเงินก่อนถึงจะได้ของที่พิเศษกว่าคนอื่น)
4. แก้ปัญหาการคัดลอกผลงาน
NFT ถือว่าเป็นผลงานศิลปะของศิลปินที่สามารถเกิดปัญหาการลอกเลียนแบบขึ้นมามากมายได้ เช่น การที่คนอื่นคัดลอกผลงานศิลปะจาก Account โซเชียลมีเดีย (เช่น Twitter, Instagram, Discord) ของเจ้าของตัวจริงแล้วไปทำเป็น NFT ลงขายใน OpenSea หรือแพลตฟอร์ม Marketplace อื่น ๆ ก่อนเจ้าของผลงาน นั่นทำให้เจ้าของผลงานตัวจริงไม่สามารถขายผลงานชิ้นนั้นได้
เพราะอย่างที่รู้กันว่า NFT จะเป็นผลงานที่มีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ไม่สามารถทำซ้ำออกมาได้หลาย ๆ ชิ้นได้ (นอกจากการคัดลอก) ซึ่งช่วงหลัง ๆ ที่วงการ NFT ได้รับความนิยมแบบสุดขีด OpenSea ก็เห็นว่ามีผลงานหลายชิ้นจากศิลปินดังหลายคนที่โดนคัดลอกมา
OpenSea ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้เลย และล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางแพลตฟอร์มก็ได้ใช้มาตรการตรวจสอบผลงานขั้นสูงสุด พร้อมทั้งปลดแอคเคาท์ที่ลงขาย NFT ปลอมทันทีถ้าหากตรวจพบ
โดยวิธีที่ใช้ในการตรวจสอบประกอบไปด้วย การสแกนผลงาน NFT ที่มีทั้งหมดบน Marketplace รวมถึงผลงานที่กำลังจะนำไป Mint ลงบนแพลตฟอร์ม ด้วยการใช้ เทคโนโลยี Image Recognition และใช้มนุษย์ในการรีวิวผลงาน (Human Reviewers) เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด และมีความแม่นยำมากขึ้น
*Mint คือ การสร้าง NFT หรือการนำผลงานที่เรามีอยู่ทำให้เป็นไฟล์ดิจิทัล จากนั้นนำมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบของ NFT และทำการบันทึกลงใน Blockchain
นอกจากนั้น OpenSea ยังมีการอัปเดตระบบยืนยันตัวตนสำหรับศิลปินทุกคน เพื่อแสดงให้เห็นว่า NFT ชิ้นนั้นที่นำมาวางขายบน OpenSea เป็นของแท้ 100% และ OpenSea ก็จะมอบ Badge ให้ศิลปินที่วางขาย NFT ที่มีมูลค่า Trading Volume รวมไม่ต่ำกว่า 100 ETH
ซึ่ง Badge นี้ก็จะเป็นสัญลักษณ์ยืนยันจาก OpenSea ที่บ่งบอกว่าแอคเคาท์นั้นได้รับความนิยม มีฐานแฟนคลับ และมีการวางขายผลงานไปหลายคอลเลกชันแล้วนั่นเอง
การใช้มาตรการตรวจสอบนี้ก็แสดงให้เห็นว่า OpenSea มีความใส่ใจและสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานของตัวศิลปินไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ไม่หวังดีหรือผู้ที่ต้องการแสวงหากำไรจากความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่น
เพราะถ้าหากไม่ทำแบบนี้ OpenSea ก็จะกลายเป็น Marketplace ที่เต็มไปด้วยผลงานละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถหยิบผลงานของคนอื่นมาลง ไม่ใช่ผลงาน NFT ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าเทียบเท่ากับผลงานที่มาจากศิลปินจริง ๆ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
สรุปทั้งหมด
มาถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า OpenSea แม้ว่าจะเป็น NFT Marketplace ที่เกิดมาเพียง 4 ปีเท่านั้น แต่ก็มีการเติบโตที่ดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ที่วงการ NFT ได้รับกระแสตอบรับที่ดีและเป็นที่นิยมสำหรับนักลงทุน นักสะสม รวมถึงตัวศิลปินเองที่หาช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง
และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมี NFT Marketplace เกิดขึ้นมามากมายและพร้อมที่จะเป็นคู่แข่ง แต่ OpenSea ก็ยังสามารถครองตลาดนี้ไปได้อยู่ดี ด้วยสถิติมูลค่าการซื้อขาย ตัวเลขผู้ใช้งานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาฟีเจอร์ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ พร้อมรองรับการเติบโตในตลาด NFT อย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้
สำหรับ OpenSea ก็ถือเป็นกรณีศึกษาชั้นดีสำหรับเจ้าของธุรกิจ แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ที่ต้องการอยากก้าวเข้ามาสู่โลกของ Blockchain อย่างเต็มตัวอีกด้วย :–)