เวลาที่คุณไปเดินห้าง นั่งกินข้าวอยู่ที่ร้านอาหาร ฟังวิทยุระหว่างขับรถ แล้วในระหว่างนั้นเองคุณเกิดได้ยิน “เพลง” เพลงหนึ่งที่คุณไม่เคยฟังมาก่อน แล้วรู้สึกชอบเพลงนั้นจนอยากเก็บไว้ใน Playlist ทันที แต่ติดตรงที่ว่าคุณไม่รู้ว่า เพลงนั้น ชื่อเพลงว่าอะไร… ถ้าเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นคุณจะทำอย่างไรครับ ?
บ้างก็อาจจะพยายามจำเนื้อเพลงให้ได้มากที่สุด แล้วไปค้นหาใน Google หรือบางคนก็อาจจะเอาทำนอง เอาเนื้อร้องมาสร้างกระทู้ให้ชาวเน็ตช่วยหาในเว็บ Pantip เหมือนที่เราเคยเห็นกันมาบ้าง
แต่ในปัจจุบันการตามหาเพลงด้วยวิธีการแบบนั้น คงเป็นอะไรที่ล้าสมัยสุด ๆ ตั้งแต่มีการเข้ามาของ“Shazam” แอปพลิเคชันสุดอัจฉริยะที่สามารถค้นหาชื่อเพลงได้ เพียงแค่ได้ยินเสียงเพลงปริศนานั้น ระบบก็จะขึ้นชื่อเพลง พร้อมชื่อศิลปินมาให้คุณทราบเลยโดยใช้เวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น
ด้วยระบบการทำงานที่น่าทึ่งส่งผลให้ Shazam กลายเป็นแอปพลิเคชันที่สร้างการเติบโตได้อยู่ในเกณฑ์ดีมาโดยตลอด โดยจากตัวเลขปี 2020 Shazam ก็มีผู้ใช้งานครบ 200 ล้านบัญชีไปแล้ว ถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมากสำหรับแอปพลิเคชันที่มีหน้าที่แค่ค้นหาเพลง
ในบทความนี้เราเลยขอพาทุกคนไปไขเบื้องหลังการเติบโตของ Shazam แอปพลิเคชันค้นหาชื่อเพลงด้วยเสียงสุดอัจฉริยะ ว่าพวกเขาทำอย่างไรถึงสร้างการเติบโตได้มากมายขนาดนี้ ไปติดตามกันครับ
เปิดประวัติ Shazam จุดเริ่มต้นแอปพลิเคชันค้นหาเพลงผ่านสมาร์ทโฟน เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
Shazam คือแอปพลิเคชันค้นหาเพลงบนสมาร์ทโฟนผ่านการใช้เสียงในการค้นหาชื่อเพลงเจ้าแรกของโลก โดยใช้เทคโนโลยีที่ชื่อว่า Audio Fingerprint เป็นเบื้องหลังของความอัจฉริยะบนแอปพลิเคชัน
ซึ่ง Shazam ถูกสร้างขึ้นมาโดย Chris Barton, Philip Inghelbrecht, Avery Wang และ Dhiraj Mukherjee ตั้งแต่ปี 1999 ทั้งหมดเป็นกลุ่มเพื่อนโปรแกรมเมอร์ที่สนิทกันจาก University of California, Berkeley พวกเขาตั้งใจอยากจะสร้างซอฟต์แวร์ประเภท Audio Analyst ขึ้นมา เพื่อวัตถุประสงค์ในการค้นหาชื่อเพลง สำหรับเพลงที่ถูกเปิดในวิทยุ
ต้องเรียนให้ทราบครับว่า ย้อนกลับไปในสมัยเกือบ 22 ปีที่แล้วในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟูเท่าทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เราก็มักจะฟังเพลงจากวิทยุ และปัญหาของวัยรุ่นสมัยนั้นคือ “วิทยุเปิดเพลง ซึ่งเราเกิดชอบเพลงนั้น แต่ไม่ทราบชื่อเพลง” เลยทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาหลักที่พวกเขาต้องการจะสร้าง Shazam ขึ้นมาแก้ปัญหา
แต่ Chris Barton ที่เป็นแกนนำของกลุ่มเพื่อน ด้วยความที่เขาเป็นนักศึกษาด้าน MBA (บริหารธุรกิจ) เขา ได้เล็งเห็นว่าในอนาคตโทรศัพท์มือถือจะต้องมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างมากแน่ ๆ เขาจึงอยากออกแบบให้ซอฟต์แวร์ของเขาใช้งานได้บนโทรศัพท์มือถือมากกว่าคอมพิวเตอร์
ส่วนสาเหตุที่ต้องชื่อว่า Shazam นั้น ไม่ได้เอามาจากการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ของทาง DC นะครับ แต่เกิดจากการที่ Chris Barton เขาต้องการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่า ซอฟต์แวร์ของเขามีเวทมนตร์ ซึ่งคำว่า “Shazam” เป็นเหมือนคำกล่าวเวลาที่นักเวทมนตร์ จะเสกคาถานั่นเอง
จนในที่สุดเมื่อปี 2002 Shazam ก็ได้ถูกปล่อยออกมาให้ใช้งานได้จริง หลังจากทีมงานค้นคว้าและพัฒนาอยู่เกือบ 4 ปีเต็ม โดยรูปแบบการทำงานของ Shazam ในยุคแรกนั้น (ช่วงนั้นยังไม่มีสมาร์ทโฟน) จะอยู่ในระบบ Call Center หากใครที่จะใช้บริการก็ต้องกดไปที่เบอร์ 2580 แล้วเปิดเพลงปริศนานั้นให้ฟัง จากนั้น Shazam จะใช้เวลาประมวลผล แล้วส่งชื่อเพลง-ศิลปิน กลับไปทาง SMS ซึ่งในการค้นหาแต่ละครั้งจะเสียค่าบริการราว 30 บาท/ครั้ง
และทาง Shazam จะแนบลิงก์สั้น ๆ เพื่อให้คุณสามารถเข้าไปกดดาวน์โหลด Ringtone เพลงนั้นได้เลยซึ่งถือเป็นอะไรที่ใหม่มากในยุคเกือบ 20 ปีที่แล้ว
หลังจากนั้น Shazam ก็ยังคงให้บริการอยู่เรื่อยมา พร้อมกับการพัฒนาฐานข้อมูลอยู่ทุกวัน เพราะอย่างที่เราทราบกันว่าในแต่ละวันมี “เพลง” ออกมาใหม่มากมาย ซึ่ง Shazam ก็ต้องนำเพลงเหล่านั้นเข้าสู่ฐานข้อมูลอยู่ทุกวัน
จนกระทั่งในปี 2008 ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในตลาดโทรศัพท์มือถือ เมื่อสมาร์ทโฟนอย่าง iPhone เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ทาง Apple จึงได้ทำการสร้าง App Store ขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทาง Shazam เห็นแบบนั้นก็ไม่รอช้า เปลี่ยนการให้บริการจากระบบ Call Center เข้าสู่ระบบ Application ทันทีเพื่อหวังสร้างการเติบโตในรูปแบบ Software Application ตามเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการให้ซอฟต์แวร์ของพวกเขา ใช้งานบนโทรศัพท์
ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ Shazam ก็ถือเป็นแอปพลิเคชันเพียงไม่กี่ตัวที่ยังใช้บริการได้ ที่เปิดให้ดาวน์โหลดมาตั้งแต่วันแรกของการเปิดตัว App Store เมื่อปี 2008 อีกด้วย
แต่ใครจะไปรู้ครับว่าการที่ Shazam มองเห็นช่องทางในตลาดแอปพลิเคชันตั้งแต่ปี 2008 หรือยุคแรกของการก่อตั้งแอปพลิเคชัน และยังคงให้ความสำคัญกับตลาดแอปพลิเคชันเรื่อยมา จะไปเตะตาเข้ากับนายทุนกระเป๋าหนัก เจ้าของ App Store อย่าง Apple เข้าเต็ม ๆ จนนำไปสู่การเติบโตขั้นต่อไป
Shazam กับตัวเลขการเติบโตที่น่าทึ่ง จนถูก Apple เข้าซื้อกิจการด้วยเงินกว่า 400 ล้านดอลลาร์
จากวันแรกที่ Shazam เริ่มให้บริการในรูปแบบแอปพลิเคชันในปี 2008 และยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้ Shazam ก็สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องมาตลอด เริ่มตั้งแต่ปี 2009 หรือ 1 ปีแรกหลังเข้าสู่ App Store Shazam ก็กวาดยอดดาวน์โหลดไปได้ถึง 10 ล้านดาวน์โหลด จากผู้ใช้งานทั้งหมด 150 ประเทศทั่วโลก
และตัวเลขก็พุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี อย่างในปี 2015 Shazam ก็มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากทุกช่องทางทะลุ 1,000 ล้านดาวน์โหลด , ปี 2016 มีการค้นหาเพลงบนแอปพลิเคชัน Shazam มากถึง 30,000 ล้านครั้ง , ปี 2017 มีผู้ใช้งานทั้งปีมากกว่า 400 ล้านคน
จนในปี 2018 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะกราฟการเติบโตของ Shazam ที่พุ่งขึ้นแบบไม่เห็นแววจะลดลง ดันไปเข้าตานายทุนเจ้าของสัมปทาน App Store อย่าง Apple เข้าเต็ม ๆ จนทำให้ Apple ไม่รอช้า เข้าซื้อกิจการของ Shazam ด้วยเงินมูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์ (เงินไทยประมาณ 12,000 ล้านบาท ณ ขณะนั้น)
โดยเบื้องหลังดีลนั้นก็ถูกออกมาเปิดเผยจาก Apple ว่าสาเหตุที่พวกเขาต้องเข้าซื้อกิจการของ Shazam นั้น “ส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์อันดีที่ Shazam อยู่ร่วมกับเรามาตั้งแต่วันแรกที่เราปล่อย App Store และธุรกิจของเราทั้งคู่ยังมุ่งเน้นการสร้างเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานทุกคน” รวมถึง Shazam เป็นอีกหนึ่งแผนในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Apple Music แพลตฟอร์ม Music Streaming ของ Apple อีกด้วย
ซึ่งหลังจากที่ Shazam กลายเป็นหนึ่งเดียวกับ Apple ในปี 2018 หลายคนคิดว่า Apple จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของ Shazam ไปจากแต่ก่อนอย่างสิ้นเชิงแน่ ๆ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยครับ เพราะทันทีที่ Apple ปิดดีลกับ Shazam เรียบร้อย พวกเขาก็ออกมาสัญญาว่าต่อไปนี้ Shazam จะไม่มีโฆษณาในแอปแล้ว เพราะทาง Apple ต้องการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าเป็นอันดับแรก
รวมถึงการถอดระบบการติดตามข้อมูลจำพวก Third Part SDK (เช่น Facebook Ads , AdMob) ออกจากแอปพลิเคชันทั้งหมด เพื่อไม่ให้ธุรกิจเจ้าอื่นดูดข้อมูลไปทำการโฆษณาและป้องกันเรื่องความปลอดภัยของลูกค้า
- นอกจากนั้น Shazam ถือเป็นธุรกิจซอฟต์แวร์ที่เนื้อหอมมานานมากแล้ว เพราะก่อนการเข้าซื้อกิจการของ Apple ในปี 2018 Shazam เป็นธุรกิจที่ได้รับการระดมทุน (Fundraising) อยู่ตลอด เพราะพวกเขาได้รับการระดมทุนมาตั้งแต่ปี 2004 , 2012 , 2013 , 2014 จากเหล่าบริษัท Venture Capital ทั้งหลาย รวมเป็นมูลค่าเงินทั้งหมดกว่า 600 ล้านดอลลาร์
และจากสถิติในปี 2020 ที่ผ่านมา Shazam ภายใต้การดูแลของ Apple ก็มียอดผู้ใช้งาน (Active Users) ทะลุ 200 ล้านบัญชีไปแล้ว จากการดาวน์โหลดทั้ง iOS และ Andriod ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เยอะมากสำหรับแอปพลิเคชันที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการสื่อสาร
Shazam ใช้กลยุทธ์ใดในการสร้างการเติบโต จนเป็นแอปพลิเคชันที่คนรักในเสียงเพลงทุกคนต้องมีติดโทรศัพท์
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ Shazam ได้ดำเนินกิจการมาและสร้างการเติบโตจนประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้ พวกเขามีกลยุทธ์หลักอะไรบ้างที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ ในหัวข้อนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
1. เทคโนโลยี Audio Fingerprint เบื้องหลังเวทมนตร์ ของ Shazam
เชื่อว่าใครที่เคยได้ลองใช้ Shazam เป็นครั้งแรกน่าจะต้องทึ่งกับระบบการทำงานของแอปพลิเคชันราวกับมี “เวทมนตร์ ” ของ Shazam ที่แค่เปิดเพลงให้ฟังแค่ไม่กี่วินาที แอปก็รู้ชื่อเพลงแล้ว พร้อมกับคำถามในหัวว่า “เห้ย! มันทำได้ไง?”
ซึ่งความจริงแล้ว Shazam ไม่ได้มีเวทมนตร์ อะไรเลยครับ เพียงแต่พวกเขามีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Audio Fingerprint (ลายพิมพ์เสียง) ที่เป็นระบบการทำงานหลักที่ Shazam สร้างขึ้นมาเป็นเจ้าแรกของโลก และเป็นเทคโนโลยีจุดขายที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน
ทาง Avery Wang หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Shazam ได้เคยออกมาอธิบายหลักการทำงานของ Audio Fingerprint ว่าเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบเสียง ไปทำเป็นระบบคลื่นลายนิ้วมือ เพราะพวกเขาคิดว่า “เพลง” ก็เหมือนกับ ลายนิ้วมือของมนุษย์ แต่ละคนก็มีลายนิ้วมือที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็ยังระบุตัวตนได้ เพลงก็เช่นกัน แต่ละเพลงก็จะมีคอร์ด มีเมโลดี้ เครื่องดนตรี ที่แตกต่างกันออกไป การแยกออกมาเป็น Fingerprint System แบบนี้จะทำให้ Shazam ค้นหาเพลงได้เร็วกว่า
โดยเบื้องหลังการของการทำงานบน Shazam จะเชื่อมต่อการสตรีมมิ่งอยู่แล้ว เมื่อมีเพลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม ระบบ Algorithm ของ Shazam ก็จะแปลงเพลงนั้นให้เข้าสู่ Audio Fingerprint และเก็บใน Database ของ Shazam
และเมื่อมีผู้ที่กดค้นหาเพลงนั้น แอปพลิเคชันของ Shazam ก็จะประมวลผลเสียงที่ได้ยิน ให้กลายเป็นรูปแบบของ Audio Fingerprint และตามหาจับคู่เพลงนั้นใน Database จนเมื่อเจอเพลงที่มี Fingerprint ตรงกัน Shazam ก็จะแสดงชื่อเพลง ชื่อศิลปิน รูปปกอัลบั้ม และช่องทางในการดาวน์โหลดหรือสตรีมมิ่งให้เราทันที
ซึ่งนอกจากความฉลาดของเทคโนโลยีตัวนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นจุดเด่นก็คือเรื่องความเร็วและความแม่นยำในการค้นหา ที่ Shazam พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีจากเริ่มให้บริการครั้งแรกในปี 2002 การค้นหาเพลงผ่าน Shazam 1 เพลงใช้เวลากว่า 1 นาที (หรือมากกว่า) และค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ
จนในปี 2018 ความเร็วในการค้นหาของ Shazam อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 10-15 วินาที/เพลง แต่ทุกวันนี้ (2021) ความเร็วในการค้นหาเพลง 1 เพลงของ Shazam อยู่ที่ไม่เกิน 5 วินาทีเท่านั้น (ล่าสุดที่ผมลองค้นหาแค่ อินโทรเพลงขึ้นไม่เกิน 1-2 วินาที Shazam รู้แล้ว!) และที่สำคัญแม่นยำ ถูกเป๊ะ ไม่มีพลาดราวกับมีเวทมนตร์ จริงๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องความเร็วและความแม่นยำก็ขึ้นอยู่ปัจจัยหลาย ๆ อย่างนะครับทั้งเรื่องไมค์ของโทรศัพท์ที่ใช้งาน สภาพแวดล้อม เสียงรบกวน สัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี Shazam ได้ยินเสียงเพลงชัด กล้ายืนยันได้เลยครับว่าแอปนี้ไม่มีพลาดแน่นอน
ซึ่งเรื่องของเทคโนโลยี Audio Fingerprint สุดอัจฉริยะนี่เองที่ทำให้ Shazam เป็นแอปพลิเคชันที่ใครได้ลองใช้งานจะต้องตะลึงกับความสามารถ และเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ Shazam สร้างการเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน
2. วาง Structure ของแอปพลิเคชันให้น้อยที่สุด เพื่อประสบการณ์การใช้งานที่ดีของผู้ใช้
หากใครที่ได้ผ่านการใช้งานแอปพลิเคชัน Shazam น่าจะพอคุ้นเคยกับหน้าตาของแอปพลิเคชันที่จะเป็นโทนสีฟ้าเข้ม ดูมินิมอล ไม่มีฟังก์ชันอะไรเยอะ สาเหตุก็เพราะเรื่องของประสบการณ์การใช้งานก็คืออีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ Shazam ใช้สร้างการเติบโตมาโดยตลอดเช่นกัน
ตั้งแต่ Shazam กระโดดเข้ามาอยู่แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันเมื่อปี 2008 Shazam แทบจะไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของ UI เลย กล่าวคือเมื่อเข้าแอปพลิเคชันมา คุณก็จะพบกับหน้าหลักของ Shazam (Tap To Shazam หรือหน้าค้นหาเพลง) ทันที ซึ่งก็จะมีแค่ปุ่มใหญ่ ๆ ปุ่มเดียวให้คุณกดค้นหาเพลงแค่นั้น เรียกได้ว่าในการค้นหาเพลงแต่ละครั้ง คุณจะมีการ Tap หรือกดอยู่แค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือกดเข้าแอป Shazam และกดค้นหา
ส่วนหน้า My Music หรือหน้าที่แสดงประวัติการค้นหาเพลงของเรา จะมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนสักกี่ครั้ง ก็ยังใช้ง่ายอยู่เหมือนเดิม ซึ่งทั้งหมดก็ถือเป็นคอนเซปต์ของ Shazam ที่ต้องการให้แอปพลิเคชันของตัวเองมี Page หรือหน้าต่าง ๆ น้อยที่สุด เพื่อไม่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่า แอปพลิเคชันของพวกเขามีความซับซ้อนและใช้งานยากเกินไป
และนอกจากเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานแล้ว กลยุทธ์นี้ยังทำให้ Shazam สร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่งเจ้าอื่นในตลาด เช่น SoundHound , MusiXmatch หรือแอปอื่น ๆ จนกลายเป็นแอปพลิเคชันค้นหาเพลงเบอร์ 1 ของโลกจนถึงปัจจุบัน
3.เป็นมากกว่าแอปพลิเคชันค้นหาเพลง แต่ยังเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน Music Streaming ด้วย
หากยังจำกันได้ในหัวข้อที่แล้วยุคแรกของ Shazam สมัยเป็นการค้นหาเพลงผ่านระบบ Call Center ตอนที่พวกเขาส่ง SMS เพื่อบอกชื่อเพลง-ศิลปินที่ผู้ใช้กำลังตามหาอยู่นั้น พวกเขาจะแนบ “ลิงก์” สำหรับการดาวน์โหลดเสียง Ringtone เพลงนั้นแนบมากับ SMS นั้นด้วย (ในยุคนั้นยังไม่มีแม้แต่บริการดาวน์โหลดเพลงเต็ม)
หลังจากนั้นเมื่อ Shazam เข้าสู่ตลาดแอปพลิเคชัน มีการเข้ามาของ iTunes หรือคลังในการดาวน์โหลดเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์ของ Apple ฝั่ง Shazam ก็จะมีการใส่ปุ่มที่เป็นเหมือน CTA ให้คุณสามารถดาวน์โหลดเพลงนั้นผ่าน iTunes ได้ทันทีเหมือนกัน
แต่หลังจากนั้นธุรกิจ Music Streaming เริ่มเข้ามีบทบาทต่อไลฟ์สไตล์การฟังเพลงของผู้คนทั่วโลก ในปี 2015 Shazam เลยเริ่มปล่อยฟีเจอร์ในการ Sync เข้ากับ Spotify ได้ กล่าวคือถ้าคุณค้นหาเพลงไหน ก็จะมีปุ่ม Open In Spotify ให้คุณฟังเพลงนี้เต็ม ๆ ได้ใน Spotify เลย พร้อมทั้งสร้างเป็น Playlist : My Shazam Track เก็บเพลงที่เคยค้นหาใน Shazam เซฟลง Spotify อัตโนมัติ
แต่ภายหลังการเข้าซื้อกิจการ Shazam ของ Apple เมื่อปี 2018 ทุกคนรู้ดีว่า ณ ตอนนั้น Apple กำลังมี Apple Music ที่ถือเป็นแพลตฟอร์ม Music Streaming ของตัวเอง นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่า คู่แข่งอย่าง Spotify ที่ยึด Shazam มานานคงถึงคราวกระเด็นแน่นอน แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นครับ
เพราะต่อให้เจ้าของเป็น Apple แต่ทาง Shazam ก็ยังให้ Spotify เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันตัวเองได้เหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือการเชื่อมต่อกับ Apple Music ด้วย และทาง Shazam เองก็ดูจะเน้นไปที่การเชียร์ให้ผู้ใช้สตรีมเพลงผ่าน Apple Music มากกว่าด้วย เช่น มี CTA ที่ Sync ไป Apple Music แบบเด่น ๆ (หรือคำชวนให้ดาวน์โหลด Apple Music ในรูปด้านล่าง)
รวมถึงการออกโปรโมชันร่วมกันระหว่าง Shazam กับ Apple Music โดยอย่างล่าสุดถ้าใครที่ค้นหาเพลงผ่าน Shazam แล้วกดสมัคร Apple Music ในแอป Shazam คุณก็จะได้รับแพคเกจฟัง Apple Music ฟรี ๆ ไปเลย 5 เดือนเต็ม (Refferal Program ลางๆ)
อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของการเติบโตของ Shazam เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา Shazam ก็เริ่มขยับขยายฐานไปสู่ระบบ Andriod มากขึ้น โดยเริ่มอนุญาตให้ผู้ใช้ในระบบ Andriod เชื่อมต่อ Shazam กับ Apple Music ได้แล้ว หลังจากที่แต่ก่อนระบบ Andriod ไม่สามารถเชื่อมต่อกับ Apple Music ได้
จนทำให้การเปลี่ยนแปลงสู่ตลาด Andriod ของ Shazam ในครั้งนี้ พวกเขาสามารถเพิ่มผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน (ที่สร้างบัญชีกับ Shazam) ไปแตะระดับเกิน 200 ล้านคนได้แล้วเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้ง
ซึ่งสาเหตุที่ Shazam ไม่ได้เป็นเพียงแค่แอปช่วยค้นหาชื่อเพลง-ศิลปินอย่างเดียว แต่จะแทรกช่องทางการดาวน์โหลดหรือสตรีมมิ่งมาด้วยเสมอตั้งแต่เปิดให้บริการ ก็เป็นเพราะว่า พวกเขาเชื่อว่าการที่เราจะเริ่ม “ค้นหาเพลง” นั้นมันก็ต้องเกิดจากความชอบของเรา จนมีความรู้สึกอยากที่จะรู้จักชื่อเพลง เพื่อฟังซ้ำ
และเมื่อคุณชอบคุณก็ต้องอยากจะเก็บเพลงนั้นไว้ใน Playlist หรือฟังเพลงเต็ม ๆ อีกเมื่อมีเวลาว่าง จึงเป็นเหตุผลที่ Shazam จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อกับ Music Streaming แบบอัตโนมัติ ส่งผลให้ฟีเจอร์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้งานชื่นชอบในตัว Shazam นั่นเอง
4. การเป็นพันธมิตรร่วมกับแบรนด์ , ศิลปินดัง โดยเปิดโอกาสให้เข้ามาโฆษณาบนแอปพลิเคชัน
ถ้าพูดถึงแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับเรื่องเพลงหรือดนตรี การทำโฆษณาก็คงจะต้องอยู่แต่ในอุตสาหกรรมที่เป็นเรื่องดนตรีเหมือนกันเช่นคอนเสิร์ต, เทศกาลดนตรี รวมไปถึงรายการทีวีต่าง ๆ
แต่ Shazam ไม่ได้คิดแบบนั้นเพราะพวกเขาเปิดโอกาสให้แบรนด์รวมไปถึงศิลปินที่ต้องการโปรโมทเพลง , อัลบั้ม เข้ามาโฆษณาในแพลตฟอร์มของพวกเขาได้เลย โดยให้ชื่อโฆษณาว่า Brand Takeover ซึ่งถือเป็นรูปแบบโฆษณาเดียวของ Shazam ที่ให้ธุรกิจอื่นเข้ามาโฆษณาบนแพลตฟอร์มในหน้าแรกของ Shazam
ซึ่งแบรนด์ที่เข้ามาซื้อพื้นที่โฆษณา Brand Takeover ของ Shazam นั้นก็มีตั้งแต่แบรนด์ระดับโลก CocaCola, McDonalds, Netflix และภาพยนตร์ต่าง ๆ เช่น Transformers ก็มาใช้ Shazam Brand Takeover เพื่อเป็นเหมือน Billboard ออนไลน์ในการโปรโมต รวมถึงศิลปินที่กำลังมีแพลนที่จะปล่อยเพลง หรืออัลบั้มใหม่ก็สามารถมาใช้พื้นที่โปรโมตใน Shazam ได้เหมือนกัน (หลังจากการเข้ามาซื้อกิจการของ Apple ก็ได้ลดความสำคัญของ Brand Takeover ไป แต่ Shazam ก็กอบโกยรายได้จนอิ่มแล้ว)
กลยุทธ์นี้นอกจากจะเป็นพื้นที่ให้แบรนด์หรือศิลปินได้มาทำโฆษณากับ Shazam แล้ว บางแบรนด์ก็ได้มีการทำแคมเปญร่วมกับ Shazam ด้วยเช่น CocaCola ที่นำเทคโนโลยี AR มาใช้กับ Shazam สร้างความสนุกให้กับผู้บริโภค โดยให้คนที่อยู่ทางบ้าน เปิด Shazam แล้วสแกนภาพโฆษณา Tvc ของ CocaCola ที่กำลังรินเครื่องดื่มผ่านหน้าจอ เมื่อใครที่สเกน Ads นี้คุณก็จะสามารถนำหลักฐานการสแกนในแอป ไปแลกรับ CocaCola ฟรี ๆ ที่ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมรายการได้เลย
จากในแอป Shazam บนสมาร์ทโฟนก็จะแสดงแก้วเปล่าที่ค่อย ๆ ถูก CocaCola รินถือเป็นการสร้างความสนุกและประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้งาน Shazam และทำให้ Shazam มียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นในปี 2015 ด้วย
สรุปทั้งหมด
จากเนื้อหาทั้งหมดที่ได้กล่าวไปนั้น คุณจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า Shazam เป็นแอปพลิเคชันที่มีการเติบโตที่ดีมาโดยตลอดเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีตั้งแต่เปิดให้บริการในสมัย Call Center มาถึงวันนี้ Shazam พัฒนามาได้ไกลมาก ถ้าเราจะเรียกพวกเขาว่า เป็นแอปพลิเคชันที่ประสบความสำเร็จ ก็คงไม่เขอะเขินที่จะพูดแต่อย่างใด
และจากกลยุทธ์ในการเติบโตของพวกเขา จะมีอยู่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด นั่นก็คือประสบการณ์การใช้งานที่ Shazam ต้องการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน เช่นการออกแบบแอปให้ใช้งานง่ายที่สุด ไม่ยุ่งยาก รวมถึงการเชื่อมต่อกับ Music Streaming Application ต่าง ๆ
สำหรับ Shazam ก็ถือเป็นกรณีศึกษาชั้นดีสำหรับเจ้าของธุรกิจแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ในการที่จะเริ่มสร้าง ประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้งานตั้งแต่วันนี้นั่นเองครับ