ถ้าหากพูดถึงแพลตฟอร์ม E-Commerce ระดับโลกแล้ว Amazon ก็อาจจะขึ้นมาเป็นชื่อแรก ๆ ในใจของใครหลายคนอย่างแน่นอน ซึ่งคุณรู้หรือไม่ว่าตอนนี้ Amazon ดำเนินธุรกิจมาแล้วเกือบ 30 ปี และมูลค่าปัจจุบันทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว
ถามว่าทำไม Amazon ถึงสามารถสร้างการเติบโต รวมถึงผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครเคยคิดทำมาก่อนออกสู่ตลาดได้ตลอดเวลา จุดเริ่มต้นของคำตอบนั้นก็คงจะหนีไม่พ้น ‘การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง’ จนกลายเป็น DNA ของพนักงานตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานในบริษัท
เราไปหาคำตอบกันว่า Amazon ทำอย่างไรถึงมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและสร้างให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนมาเกือบ 30 ปีได้ ไปดูกันต่อเลย
วัฒนธรรมองค์กรฉบับ Amazon ที่ทำให้พนักงานมีความสุขและธุรกิจเติบโตมาเกือบ 30 ปี
สวัสดิการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับพนักงาน
Amazon เป็นบริษัท E-Commerce และนวัตกรรมยุคใหม่ที่มีการส่งเสริมสวัสดิการให้พนักงานอย่างเต็มที่ ทั้งด้านการเติบโตในสายอาชีพ และความสุขของพนักงาน ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงเพิ่มโอกาสให้พนักงานได้มีความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย โดยสวัสดิการเด่น ๆ ของ Amazon เช่น
เพิ่มค่าแรงให้พนักงานถึง 2 เท่า
Amazon ได้ประกาศแผนการที่จะเพิ่มฐานเงินเดือนสูงสุดเป็น 2 เท่า ตั้งแต่ปลายปี 2021 ที่ผ่านมา เพื่อตอบแทนการทำงานอย่างหนักของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในบริษัท พนักงานในสายเทคโนโลยี หรือพนักงานคลังสินค้าก็ตาม ในช่วงที่ Covid-19 เข้ามามีบทบาทเร่งการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ ซึ่ง Amazon ก็มีผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจในช่วงนั้น ซึ่งพนักงานที่ Amazon จะได้รับค่าจ้างเฉลี่ย 18 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (หรือประมาณ 660 บาท) โดยบริษัทได้เพิ่มค่าจ้างให้กับพนักงานมากกว่า 5 แสนคนไปแล้ว
โอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ
Amazon เป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อว่ามีการให้โอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพแก่พนักงานมาก ๆ ด้วยโปรแกรมต่าง ๆ เช่น AWS Grow Our Own Talent ที่มอบการฝึกอบรวมภาคปฏิบัติและโอกาสในการหางานสำหรับพนักงานของ Amazon และโปรแกรม Surge2IT สำหรับพนักงานไอทีระดับเริ่มต้นที่ต้องการพัฒนาอาชีพด้านไอทีที่ Amazon นอกจากนี้ยังมีพนักงานของ Amazon เคยมาบอกเล่าประสบการณ์ที่ Quora อีกว่า ที่ Amazon สามารถทดลองงานในแผนกต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น วันนี้เป็น Operation Manager ส่วนพรุ่งนี้ก็สามารถไปลองทำงานในแผนก HR ได้ ซึ่งก็จะช่วยให้ได้สัมผัสประสบการณ์ทางอาชีพที่หลากหลายขึ้น
Career Choice Program
ที่ Amazon มีโปรแกรม Career Choice หรือโปรแกรมสนับสนุนค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยให้กับพนักงานเต็ม 100% เพื่อช่วยลบกำแพงที่ใหญ่ที่สุดในการศึกษาต่อของพนักงาน นั่นคือเวลาและเงิน โดยการสนับสนุนจะครอบคลุมทั้งค่าเทอม ค่าหนังสือ และค่าเล่าเรียน ที่ไม่ต้องจ่ายคืนเมื่อจบหลักสูตร อย่างไรก็ตาม คนที่จะได้รับสิทธิ์นี้จะต้องทำงานที่ Amazon มาแล้วไม่ต่ำกว่า 90 วัน และจะต้องเป็นพนักงานที่มีผลงานดีอีกด้วย ปัจจุบันนี้มีพนักงาน Amazon ทั่วโลกที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้มากกว่า 50,000 คนเลยทีเดียว
Short Work Break
นอกจากวันหยุดพักร้อน วันลาป่วย และวันลากิจส่วนตัวแล้ว พนักงานของ Amazon สามารถลาหยุดงานในระยะสั้นเพื่อไปทำสิ่งที่ต้องการได้ เช่น ลาไปเรียนหรือท่องเที่ยว ตั้งแต่ 3 สัปดาห์ไปจนถึง 4 เดือน ซึ่ง Short Work Break นี้จะมีให้สำหรับนักเรียน พนักงานบริษัท และพนักงานที่ Amazon Sortation Centers (พนักงานศูนย์คัดแยกสินค้า) รวมถึงพนักงานแบบ Blue-Badge หรือพนักงาน Part-time ที่ได้รับการเปลี่ยนสถานะมาเป็น Full-time อีกด้วย (แต่จะลาได้หลังจาก 21 วันของการจ้างงานเป็น Full-time เท่านั้น)
ทำงานฉบับสตาร์ทอัปเหมือน Day 1 เสมอ
แม้ว่า Amazon จะเป็นบริษัทที่มีขนาดยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ที่มีพนักงาน 1.3 ล้านคนทั่วโลก แต่ Amazon ก็ยังพยายามที่จะรักษาความคิดในการเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยการทำงานแบบ ‘สตาร์ทอัป’ เพราะลักษณะการทำงานของสตาร์ทอัปนั้นจะมีความยืดหยุ่นสูง ทำงานเป็นทีมแบบ Cross-functional เพื่อสื่อสารระหว่างทีมได้อย่างรวดเร็ว สามารถลองผิดลองถูก เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตไปได้ในระยะยาว
ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้ว ในการส่งจดหมายถึงพนักงานหรือผู้ถือหุ้น Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Amazon มักจะใช้คำว่า Day 1 เพื่อคอยย้ำว่าการทำงานของ Amazon จะเหมือนวันแรกที่เขาก่อตั้งเสมอ ตอกย้ำให้พนักงานกล้าที่จะทดลองอะไรใหม่ ๆ มีอิสระ กล้าคิด กล้าทำ กล้าที่จะล้มเหลว ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็น DNA ที่ฝังรากลึก และหัวใจสำคัญของชาว Amazon ไปแล้ว
กฏพิซซ่า 2 ถาดของ Jeff Bezos ทีมขนาดเล็ก เพิ่มความคล่องตัว
กฏพิซซ่า 2 ถาด (Pizza-team Rule) เป็นกฏที่ Jeff Bezos ซีอีโอคนแรกของ Amazon ตั้งขึ้นมา เพื่อจำกัดจำนวนคนเข้าประชุมในแต่ละครั้งให้อยู่ในปริมาณที่สามารถแบ่งพิซซ่า 2 ถาดใหญ่กันได้อย่างเพียงพอ โดยจำนวนคนที่เหมาะสมที่สุดก็จะอยู่ที่ประมาณ 6-7 คน ที่ทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพที่สุด (แต่ถ้าหากไม่สามารถจำกัดอยู่ในจำนวนนั้นได้ ก็ไม่ควรเกิน 10 คน)
ที่ Jeff Bezos ตั้งกฏนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า บ่อยครั้งเราจะสังเกตเห็นได้ว่าการประชุมที่มีจำนวนคนเยอะเกินไป (มากกว่า 10 คน) นอกจากจะทำให้การประชุมมีคนที่ไม่เกี่ยวข้องมากเกินไปแล้ว ยังเสียเวลาและทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย เพราะบางครั้งเมื่อคนเยอะเกินไป อาจทำให้หลุดโฟกัสประเด็นนั้นไปง่าย ๆ จับใจความจากการประชุมยาก จนกลายเป็นว่าการประชุมครั้งนั้นจะต้องใช้เวลาในการสื่อสารมากกว่าเวลาในการลงมือทำงานนั่นเอง
ดังนั้นการที่มีทีมขนาดเล็ก ๆ จากกฏพิซซ่า 2 ถาด ก็จะช่วยทำให้ทีมไม่ต้องเสียเวลาในการประชุมเยอะ บุคคลที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ทีมสามารถลงมือทำงานหรือสร้างนวัตกรรมออกมาได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นนั่นเอง นี่จึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานอีกหนึ่งข้อที่ Amazon และกลายเป็นต้นแบบไปยังบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย
สรุปทั้งหมด
เราจะเห็นได้ว่าที่ Amazon นอกจากการมีการส่งเสริมสวัสดิการให้กับพนักงานที่ดี ทั้งในเรื่องการทำงานและการเรียนรู้แล้ว ยังมีวัฒนธรรมองค์กรหลาย ๆ อย่างเช่น กฏพิซซ่า 2 ถาด ที่เป็นหัวใจสำคัญช่วยให้พนักงานสามารถทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ธุรกิจเติบโตจนกลายเป็นผู้นำด้าน E-Commerce ระดับโลกมาเกือบ 30 ปี
ถ้าหากบริษัทไหนที่อยากสร้างวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง ก็อย่าลืมลองนำวัฒนธรรมในแบบฉบับ Amazon ไปเป็นแบบอย่างดู เราเชื่อว่าองค์กรของคุณจะมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างแน่นอน และเพิ่มโอกาสในการดึงดูดให้คนเก่ง ๆ มาทำงานกับบริษัทของคุณเพิ่ม รวมถึงสามารถรักษาพนักงานที่มีความสามารถของคุณให้ร่วมกันสร้างการเติบโตไว้นาน ๆ ได้อีกด้วย