หากพูดถึงแพลตฟอร์ม E-Commerce ช็อปปิ้งออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มาก มักจะนึกถึง “Amazon” ชื่อนี้ขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ เพราะมีสินค้าทุกชนิดขายอยู่บน Amazon ตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ เรียกได้ว่า ขายทุกอย่างครอบจักรวาลสุด ๆ ด้วยราคาสินค้าที่ถูกและบริการจัดส่งที่รวดเร็วทันใจ ทำให้ Amazon ครองใจลูกค้ามากมายจากทั่วทุกมุมโลก
Amazon เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกและ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon ขึ้นแท่นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยมีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการขายหนังสือออนไลน์ จนได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการ Internet Company
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงสงสัยว่า Amazon ทำอย่างไรถึงสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างมั่นคงมาเป็นระยะเวลานานกว่า 27 ปี บทความนี้ The Growth Master จึงจะพาคุณไปไขความลับว่า Amazon มีความเป็นมาอย่างไร เปิดกลยุทธ์การเติบโตที่เป็นหัวใจหลักของ Amazon รวมถึงดูตัวเลขการเติบโตที่น่าทึ่งของ Amazon ไปหาคำตอบกันต่อได้เลย
กว่าจะมาเป็น Amazon ผู้นำด้าน E-Commerce อันดับต้น ๆ ของโลก
Amazon ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1994 โดย Jeff Bezos ที่ทำงานเป็นพนักงานบริษัทอยู่ใน Wall Street และมีอายุเพียง 30 ปีในเวลานั้น
Jeff Bezos มองเห็นโอกาสการทำธุรกิจผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตในขณะนั้น จากสถิติการใช้งานเว็บไซต์ที่เพิ่มขึ้นมากถึง 2,300% ต่อปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี 1994 ซึ่งทำให้ Jeff Bezos ประหลาดใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากสถิติตัวเลขการใช้งานเว็บไซต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ทำให้เขาเริ่มคิดว่าธุรกิจใดที่เหมาะสมกับเทรนด์การเติบโตของอินเทอร์เน็ตในครั้งนี้ เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานและก่อตั้ง Internet Company ขึ้นมา
เริ่มแรก Jeff Bezos ได้ตั้งชื่อบริษัทว่า Cadabra (มาจากเวทมนตร์ Abracadabra) แต่ Todd Tarbert ทนายความคนแรกของ Amazon บอกว่าชื่อนี้ฟังดูเหมือนกับคำว่า Cadaver (แปลว่า ซากศพ) มากเกินไป จนในที่สุด Jeff Bezos ตัดสินใจเลือก ‘Amazon’ เป็นชื่อบริษัท โดยต้องการสื่อถึงการเป็นแพลตฟอร์มขายออนไลน์รายใหญ่ที่สุด เช่นเดียวกับ Amazon ที่เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก
หลังจากนั้น Jeff Bezos ได้ควักเงินของตัวเองเป็นจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นเงินทุนให้กับบริษัท และลิสต์รายชื่อสินค้า 20 อันดับแรก ที่สามารถขายได้ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเขาตัดสินใจเลือก หนังสือ เพราะเขาคิดว่าหนังสือมีต้นทุนต่ำ ง่ายต่อการบรรจุหีบห่อ จัดส่ง และมีความต้องการซื้อ (Demand) จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งการขายหนังสือออนไลน์เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของ Amazon เท่านั้น
ช่วงปี 1996 Amazon ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เป็นบริษัทน้องใหม่ที่มีมูลค่ามากถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐและได้เข้าสู่ตลาดหุ้น Jeff Bezos ได้ประกาศว่าจะลงทุนในด้านเทคโนโลยีและการตลาดมากขึ้น เพื่อแข่งขันกับ Barnes & Noble (ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา)
ปีต่อมา Amazon คิดค้นและจดสิทธิบัตรฟีเจอร์ “One-click” ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่มอบความสะดวกสบายให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ด้วยการกดเพียงคลิกเดียว โดยข้ามขั้นตอนการกดสินค้าลงตะกร้า (Add-to-Cart) และไม่ต้องกรอกข้อมูลการชำระเงิน หรือการจัดส่งใหม่อีกครั้ง
ฟีเจอร์ One-Click ช่วยแก้ปัญหาการที่ลูกค้ากดสินค้าใส่ตะกร้าไว้ แต่สุดท้ายไม่กลับมาซื้อ (Shopping Cart Abandonment) ซึ่งทำให้ผู้ขายและแพลตฟอร์ม E-Commerce สูญเสียรายได้จำนวนมาก
ซึ่งหลังจากปล่อยฟีเจอร์ One-Click ทำให้ Amazon สร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นถึง 5% หรือประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
ช่วงปี 1999 Amazon ได้เริ่มให้ผู้ขายทั่วไปใช้แพลตฟอร์ม Amazonในการลงขายสินค้า ซึ่งเดิม Amazon เป็นช่องทางสำหรับเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายหนังสือ ของสะสมหรือสินค้าหายากที่ไม่สามารถหาได้ในร้านค้าท่ัวไป
3 ปีต่อมา Amazon ได้ขยายตลาดไปจำหน่ายสินค้าอื่นนอกจากหนังสือ คือ เสื้อผ้า โดยเป็น Partner กับแบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่หลายแบรนด์ รวมไปถึงของใช้ภายในบ้าน เครื่องครัว และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำไปสู่การทำแคตตาล็อกสินค้าเหมือนในปัจจุบัน
ต่อมา Amazon ได้ปล่อยระบบ Subscription ที่ชื่อว่า “Amazon Prime” ออกมาในปี 2005 ซึ่ง Prime เป็นระบบที่มอบคุณค่าให้กับทั้งธุรกิจและลูกค้า ทำให้ Amazon กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ที่มอบประสบการณ์ที่ดีและความสะดวกสบายให้ลูกค้า
Amazon ไม่หยุดแค่เพียงธุรกิจ E-Commerce เท่านั้น แต่ได้ขยายไปยังธุรกิจด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการให้บริการด้านซอฟแวร์อีกด้วย โดยในปี 2006 Amazon ได้ปล่อย Amazon Web Services (AWS) แพลตฟอร์มระบบ Cloud สาธารณะและบริการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั่วโลกในปัจจุบันออกมา
ต่อมาในปี 2007 Amazon ได้เปิดตัว Kindle อุปกรณ์สำหรับอ่าน E-Book ซึ่งผู้ใช้สามารถจัดเก็บหนังสือ นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ไว้บน Kindle เครื่องเดียว เปรียบเหมือนห้องสมุดดิจิทัลส่วนตัวนั่นเอง
ในปี 2014 Amazon ได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีชื่อว่า Echo ซึ่งเป็นลำโพงอัจฉริยะ ที่มีระบบผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Assistant) Alexa อยู่ภายในลำโพง โดยคุณสามารถพูดคุยหรือถามคำถามกับ Alexa ได้ เช่น สอบถามสภาพอากาศหรือให้ Alexa เปิดเพลง ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างมาก
ปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง CEO ของ Amazonในวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งแทน Jeff Bezos คือ Andy Jassy
ผลิตภัณฑ์และบริการหลัก ๆ ของ Amazon มีอะไรบ้าง?
Amazon.com
เว็บไซต์ E-Commerce ขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งได้ขยายไปทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรปและเอเชีย มีสินค้าให้เลือกมากมายครบทุกหมวดหมู่ พร้อมบริการจัดส่ง ซึ่ง Amazon.com ถือเป็นบริการแรกของบริษัท Amazon ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นร้านขายหนังสือออนไลน์เท่านั้น
Amazon Web Services (AWS)
Amazon Web Service (AWS) คือ แพลตฟอร์มระบบ Cloud และบริการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั่วโลก ที่สร้างขึ้นมาเพื่อบริการให้เช่าด้าน Hosting และ Cloud Computing เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความคล่องตัวให้กับบริษัทต่าง ๆ รวมถึงตัว Amazon เองด้วยเช่นกัน
Amazon Prime
Amazon Prime คือ บริการพิเศษและสิทธิประโยชน์เฉพาะสมาชิกในรูปแบบ Subscription Model ที่เชื่อมโยงกับบริการอื่น ๆ ของ Amazon ยกตัวอย่างเช่น
Delivery Benefits - การจัดส่งรวดเร็วแบบภายในวันเดียว (Same-day) หรือภายใน 1-2 วัน หรือจัดส่งฟรีเมื่อซื้อของใน Amazon.com
Shopping Benefits - ส่วนลดพิเศษในอีเวนท์ Prime Day และ Prime Exclusive Deals และยังมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย
Streaming และ Digital Benefits - บริการ Prime Video, Amazon Music, Amazon Kids และ Prime Gaming
Reading Benefits - บริการ Prime Reading เข้าถึง E-Books มากกว่า 1,000 เล่ม และ Amazon First Reads ให้คุณอ่านหนังสือออกใหม่ก่อนใครโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
Amazon Kindle
Kindle คือ ระบบสำหรับอ่าน E-Books ของ Amazon ประกอบด้วย
- เครื่อง Kindle ฮาร์ดแวร์สำหรับอ่าน E-Books
- แอปพลิเคชัน Kindle สำหรับอ่าน E-Books ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบ Android และ iOS
- E-Books Kindle หนังสือที่ Amazon มีจำหน่าย ซึ่งมีมากกว่า 6 ล้านเล่มให้เลือก
โดยหากคุณเป็นสมาชิก Amazon Prime คุณก็จะได้สิทธิพิเศษ Amazon First Read อ่านหนังสือใหม่ก่อนใคร และ Prime Reading อ่านหนังสือได้มากกว่า 1,000 เล่ม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
Amazon Alexa และลำโพง Echo
Alexa คือ ระบบผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Assistant) ของ Amazon เปรียบได้กับ Siri ของ Apple ที่สั่งการด้วยเสียงจากผู้ใช้ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือสิ่งต่าง ๆ ประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามทั่วไป เล่นวิทยุ โทรหาคนที่อยู่ในรายชื่อ หรือฟีเจอร์แจ้งเตือนต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์อัจฉริยะอื่น ๆ ภายในบ้าน โดยอุปกรณ์ที่รองรับ Alexa คือ ลำโพงอัจฉริยะ Echo ที่มีหลากหลายรุ่น เช่น Echo Plus, Echo Dot หรือ Echo Show ราคาเริ่มต้นที่ 25 ดอลลาร์ โดยสร้างยอดขายมากถึง 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020
เปิดกลยุทธ์ความสำเร็จสู่การเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ Internet-Based Company
ให้ความสำคัญกับลูกค้า ไม่ใช่คู่แข่ง
Jeff Bezos กล่าวไว้ว่า “สิ่งแรกที่สำคัญที่สุด คือ การให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งตรงกันข้ามกับการหมกมุ่นอยู่กับคู่แข่ง“
เขาอธิบายต่อไปว่า การให้ความสำคัญกับคู่แข่งอาจได้ผลในช่วงแรกของธุรกิจ แต่มักไม่ได้มีผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว
เพราะเมื่อโฟกัสที่คู่แข่ง คุณต้องรอจนกว่าคู่แข่งจะทำอะไรสักอย่าง จากนั้นค่อยพยายามนำมาดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของคุณกลายเป็นผู้ตาม การเติบโตทางธุรกิจจึงอาจเป็นไปได้ยาก แต่การให้ความสำคัญกับลูกค้าจะทำให้คุณเป็นผู้ริเริ่มทำอะไรเพื่อลูกค้าได้เอง และสามารถกลายเป็นผู้นำในด้านนั้น ๆ ได้
และด้วยการให้ความสำคัญกับลูกค้า และรับฟังว่าลูกค้ามีความต้องการอะไร Amazon จึงได้สร้างธุรกิจ Amazon Web Services (AWS) ขึ้นเพื่อแก้ปัญหา Hosting ที่มีราคาแพงจนเกินไปและบริการด้าน Open Source (ซอฟต์แวร์ที่เปิดเผย Source Code ให้นำไปแก้ไขหรือดัดแปลงต่อได้) ที่ไม่เพียงพอในการสนับสนุนธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วหรือธุรกิจรายใหญ่
ซึ่งในปัจจุบัน Amazon Web Services เป็นธุรกิจที่มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างรายได้มากถึง 13% ของรายได้ธุรกิจเครือ Amazon ทั้งหมดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2021
มัดใจลูกค้าอยู่หมัดด้วย Customer Experience
Amazon เป็นหนึ่งใน Online Retailer ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ด้วยการสร้าง Customer Experience ที่ดีให้แก่ลูกค้า ซึ่งทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการซ้ำ (Customer Retention) และบอกต่อความประทับใจรวมถึงคุณค่าที่พวกเขาได้รับจาก Amazon
ซึ่ง Amazon มองว่า ลูกค้าคาดหวัง 3 ปัจจัยนี้เป็นสำคัญเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ นั่นคือ จำนวนตัวเลือกสินค้า, สินค้าราคาถูก และการจัดส่งรวดเร็ว
เมื่อ Amazon ยึด 3 สิ่งที่เป็น Core หลักนี้ เป็นส่วนสำคัญในการสร้าง Customer Experience Amazon จึงได้ออกแบบ Loop ที่มีชื่อว่า “Amazon Flywheel” ขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างการเติบโตให้กับบริษัท
- เริ่มต้นจากเมื่อลูกค้าได้รับประสบการณ์การช็อปปิ้งที่ดีจาก Amazon (Customer Experience) พวกเขาก็จะกลับมาใช้บริการใหม่ (Customer Retention) รวมถึงแนะนำให้เพื่อนหรือคนรู้จักมาใช้ Amazon ซึ่งเป็นการสร้าง Traffic
- เมื่อมี Traffic จำนวนมากเข้ามาที่ Amazon แน่นอนว่าผู้ขายจะตามเข้ามาเปิดร้านใน Amazon มากขึ้น เพราะเป็นเหมือนกับที่ทำเลทองที่มีลูกค้าผ่านไปมาเยอะ
- เมื่อมีผู้ขายมากขึ้น ก็จะมีสินค้าให้ลูกค้าเลือกมากขึ้นตามไปด้วย
- และพอมีสินค้าให้ลูกค้าเลือกมากมาย ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ ลูกค้าก็จะสามารถหาของที่ต้องการผ่าน Amazon ซึ่งทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีกับ Amazon
โดย 4 องค์ประกอบนี้ มีส่วนในการสร้างการเติบโตให้กับ Amazon และมี Economics of Scale หรือจำนวนสินค้ามากมายมหาศาลบน Amazon ทำให้ Amazon มีต้นทุนโครงสร้างต่าง ๆ ต่ำลง (Lower Cost Structure) ราคาของสินค้าบน Amazon จึงถูกลง (Lower Prices) และสามารถสร้างความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้
ซึ่งเราจะสังเกตเห็นได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Amazon เป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่ครองใจผู้คนทั่วทุกมุมโลก เพราะ Amazon ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าและประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับเมื่อใช้บริการ
กล้าที่จะ “เสี่ยง” เริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ
Amazon ชื่นชอบที่จะเป็นผู้บุกเบิกในทุก ๆ เรื่อง “เพราะเมื่อใดที่เขาพยายามทำตามคนอื่นหรือทำอะไรที่เป็นที่เป็นกระแส ก็มักจะล้มเหลว ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องทำสิ่งที่แตกต่างและไม่เหมือนใคร และเป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบ" Jeff Bezos ได้กล่าวไว้
โดยสิ่งสำคัญ คือ ผู้นำหรือผู้บริหาร ต้องมองสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นความท้าทายและโอกาสมากกว่ามองว่าเป็นปัญหา เพราะถ้าผู้นำติดกับคำว่า ปัญหา ก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และพาบริษัทอยู่รอดไปได้
เพราะกว่าที่ Amazon จะประสบความสำเร็จเหมือนทุกวันนี้ ก็ได้สร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่ประสบผลสำเร็จและผ่านความล้มเหลวมานับไม่ถ้วนเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
เกมฟรีแบบ Multiplayer ‘Crucible’ ที่ใช้เวลาพัฒนามานานกว่า 5 ปี และใช้เงินลงทุนไปกว่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ถูกปล่อยออกมาในเดือนพฤษภาคมปี 2020 โดยหลังจากเปิดตัวได้เพียง 1 เดือน Amazon ก็นำ Crucible ออกจากแพลตฟอร์ม เนื่องจาก Crucible ไม่สามารถแข่งขันกับเกมเจ้าอื่นได้ และยังมีจำนวนผู้เล่นไม่มากพอที่จะสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้
หรือ ‘Amazon Spark’ แพลตฟอร์ม Visual Shopping คล้ายกับ Instagram ที่เปิดตัวในปี 2017 โดยเริ่มต้นจากความคิดว่าลูกค้ามักจะค้นหารูปสินค้าจำนวนมากเพื่อเปรียบเทียบในการซื้อสินค้าแต่ละชิ้น Amazon จึงรวมสินค้าไว้ในรูปถ่ายรูปเดียว เป็นแนวทางใหม่ในการช็อปปิ้งและค้นหาสินค้ามากมายที่ขายใน Amazon.com
อย่างไรก็ตาม Amazon ปิดตัว Amazon Spark นี้ในปี 2019 และได้ปรับเว็บไซต์ให้ลิงก์ไปยัง #FounditOnAmazon (หน้ารวมสินค้า Women Fashion และ Home Decor) แทน
“ความล้มเหลวและการคิดค้น เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ คุณจำเป็นต้องทดลอง และถ้าคุณรู้ล่วงหน้าว่ามันจะได้ผล มันก็ไม่ใช่การทดลอง” เห็นได้ชัดว่า Jeff Bezos หัวเรือใหญ่ของ Amazon ไม่เกรงกลัวต่อความล้มเหลว และยังมองความล้มเหลวเป็นความท้าทาย มากกว่าปัญหา ซึ่งถือเป็น Growth Mindset ที่ดี ที่นำพา Amazon ไปสู่ความสำเร็จได้จนทุกวันนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง
สร้างการทำงานแบบใหม่ในยุคดิจิทัล เพื่อการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยแนวคิดแบบ Growth (Mindset)
เปิดโอกาสให้พนักงานอย่างเต็มที่
สิ่งที่ Amazon ให้ความสำคัญไม่แพ้กับลูกค้าเลย ก็คึอ พนักงาน โดยเปิดโอกาสให้พนักงานสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่กลัวว่าจะล้มเหลว Jeff Bezos มองว่า การยอมรับความล้มเหลวเป็นวิธีเดียว ที่ทำให้คุณพยายามทำสิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องและมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ
ซึ่งบริษัทใหญ่ ๆ หลายบริษัท ไม่กล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่อาจล้มเหลวและทำให้เสียเงินจำนวนมาก แต่ Amazon มีความกล้า ซึ่งความกล้าที่เริ่มให้พนักงานลองทำสิ่งใหม่ ๆ ทำให้ Amazon ก้าวไปได้ไกลกว่าเจ้าอื่น ๆ และกลายเป็นหนึ่งธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล
คุณเชื่อหรือไม่ว่า บริการ Amazon Prime เกิดขึ้นมาจากไอเดียของพนักงาน Amazon
โดย Amazon มีเป้าหมาย ที่จะสร้างระบบ Loyalty Program ที่สามารถเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมค้าปลีกได้ ซึ่ง Amazon เลือกที่จะเปิดโอกาสให้กับพนักงานทุกคนได้ใส่ไอเดียของตัวเองลงใน Employee-Suggest Box ที่เตรียมไว้ โดยไม่สนใจตำแหน่งและแผนกของพวกเขา
จนในที่สุด Amazon ก็ได้ไอเดียหนึ่งจาก Charlie Ward พนักงาน Software Engineer โดยเขานำเสนอการจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี เพื่อแลกกับการจัดส่งสินค้าฟรี ซึ่งไอเดียนี้ได้ถูกพัฒนาและกลายมาเป็น Amazon Prime ในปัจจุบัน
ส่องตัวเลขการเติบโตอันน่าทึ่งของ Amazon
Amazon สร้างรายได้กว่า 3.86 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020
Amazon เป็นบริษัทมหาชนที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกหากนับกันตามรายได้ โดยมีรายได้รองจาก Walmart และบริษัท Petrochemical จากจีนเท่านั้น
ในปี 2020 ที่ผ่านมา Amazon ทำรายได้มากถึง 3.86 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมากถึง 37.6% จากปี 2019 ที่มีรายได้ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มากที่สุด นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้คนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป หันมาซื้อของผ่านช่องออนไลน์กันมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่ง AWS เป็นหนึ่งในบริการของ Amazon ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 29.5% จากปี 2019 เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ต้องปรับตัวมาทำทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต จึงให้ความสำคัญกับระบบ Cloud การจัดเก็บข้อมูล ฐานข้อมูล Database รวมถึงเรื่องของ Server และ Network มากขึ้น ซึ่ง AWS ได้จัดเตรียมระบบ Infrastructure และซอฟต์แวร์ไว้หลากหลายและครบถ้วน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทใหญ่และธุรกิจ SMEs หรือสตาร์ทอัพได้เป็นอย่างดี
กำไรของ Amazon เพิ่มขึ้นถึง 84% ในปี 2020
ในช่วงแรก Amazon ยังสร้างกำไรได้ไม่มากนัก เนื่องจาก Jeff Bezos CEO ของ Amazon นำผลกำไรส่วนใหญ่ของ Amazon กลับมาลงทุนและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในบริษัท แต่หลังจากที่มี Service ที่ทำกำไรได้มากอย่าง Amazon Web Services (AWS) จึงทำให้ผลกำไรรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2018
และในปี 2020 Amazon มีผลกำไรมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากถึง 84.2% จากปี 2019 ที่มีผลกำไร 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
จำนวนสินค้าที่ขายบน Amazon ต่อ 1 นาที มากกว่า 6,500 ชิ้น
มีธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือ SMBs หลายล้านรายทั่วโลกที่เปิดร้านบน Amazon โดยทุก ๆ 1 นาที Amazon สามารถขายสินค้าได้มากกว่า 6,500 ชิ้น และขายสินค้าได้มากกว่า 3.4 พันล้านชิ้นในปี 2020
ถือได้ว่า Amazon ได้มอบโอกาสให้กับ SMBs มากมายในการทำให้ธุรกิจเติบโตผ่านการขายสินค้า บน Amazon และ SMBs ก็ได้สร้างการเติบโตให้กับ Amazon เช่นกัน เนื่องจากร้านค้าบน Amazon มากกว่าครึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง
Amazon ได้จัดอีเวนท์มากมายเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็น Amazon Academy ทั่วยุโรป, Boost Conference สำหรับธุรกิจที่ใช้บริการ Amazon FBA โดยเฉพาะ หรือ Selling Partner Summits ซึ่งเป็นการประชุมที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อช่วยให้ร้านค้าต่าง ๆ ขยายธุรกิจและเติบโตใน Amazon
จำนวน Sellers บน Amazon มีมากถึง 1.5 ล้านคน
จำนวนผู้ขายบน Amazon เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ขายที่ Active มากถึง 1.5 ล้านคน และมีผู้ขายที่ลงทะเบียนเข้ามาใหม่มากถึง 492,000 คนในปี 2021 ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้ขายใหม่ 1,738 คนต่อวัน และคาดว่าจะมีผู้ขายใหม่รวมประมาณ 634,000 คนในสิ้นปีนี้ อ้างอิงจาก Marketplace Pulse 2021
แม้ว่าจะมีผู้ขายจำนวนมหาศาลที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดบน Amazon แต่รายได้ส่วนใหญ่ของ Amazon Marketplace มาจากผู้ขายส่วนน้อยเท่านั้น โดยมีจำนวนผู้ขายน้อยกว่า 10% หรือประมาณ 150,000 คน ที่สามารถสร้างยอดขายมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีผู้ขายเพียง 1% เท่านั้นที่สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี
Amazon Web Services (AWS) ครองอันดับ 1 ส่วนแบ่งตลาดคลาวด์ IaaS
ในปี 2020 Amazon Web Services หรือ AWS ครองอันดับ 1 ส่วนแบ่งตลาดคลาวด์ IaaS (Infrastructure-as-a-Service) ด้วยรายได้มากถึง 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 28.7%
โดยมีอัตราส่วนแบ่งมากถึง 40.8% ห่างจาก Microsoft Azure ซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 พอสมควร โดย Microsoft Azure มีอัตราส่วนแบ่งเพียง 19.7%
ซึ่งสาเหตุที่ AWS ครองส่วนแบ่งตลาดมากขนาดนี้ เป็นเพราะประสิทธิภาพการใช้งานที่ยอดเยี่ยม มีระบบปฏิบัติการที่ดีที่สุดในราคาที่สมเหตุสมผล โดยมีแบรนด์ดังระดับโลกมากมายใช้บริการ AWS เช่น Netflix และ Disney+
ผู้คนมากกว่า 200 ล้านคนเป็นสมาชิก Amazon Prime
Amazon Prime เป็นระบบ Paid Subscription ของ Amazon ที่มอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้กับผู้ที่เป็นสมาชิก ไม่ว่าจะเป็น Two-day shipping ส่งสินค้าเร็วถึงมือภายใน 2 วัน หรือ บริการ Music & Video Streaming
จำนวนสมาชิก Amazon Prime เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี โดยมีสมาชิก Amazon Prime ทะลุ 200 ล้านคนในปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่มีสมาชิกเพียง 150 ล้านคน ถึง 33.33%
จากผลสำรวจของ Statista พบว่า ผู้ที่เป็นสมาชิก Amazon Prime มีส่วนร่วมกับแบรนด์มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก โดย 20% ของสมาชิก Amazon Prime ซื้อสินค้าบน Amazon 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และอีก 7% กล่าวว่าพวกเขาซื้อสินค้าเป็นประจำเกือบทุกวันบน Amazon
ซึ่ง Amazon เป็น Marketplace เจ้าใหญ่ที่ครองตลาดในสหรัฐอเมริกา โดยมีชาวอเมริกันกว่า 95 ล้านคนที่เป็นสมาชิก Amazon Prime ซึ่งถือเป็น 2 ใน 3 ของผู้ใช้งาน Amazon ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว
สรุปทั้งหมด
เราจะเห็นได้ว่า Amazon มีกลยุทธ์และการทำงานแบบให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก (Customer Centric) ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ Amazon ประสบความสำเร็จ โดยการสร้าง Customer Experience ที่ดี เพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้ซ้ำและบอกต่อให้กับผู้อื่น เป็นการสร้างการเติบโตให้กับ Amazon แบบยั่งยืน
Amazon ไม่หยุดพัฒนาอยู่ที่เว็บไซต์ E-Commerce ที่ขายเฉพาะหนังสือเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่มองเห็นช่องโหว่ทางการตลาด ด้วยการคิดค้นและทดลอง โดยไม่ย่อท้อต่อความผิดพลาดล้มเหลวที่เกิดขึ้น และมองอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นโอกาส ทำให้บริษัท Amazon สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และครองใจผู้คนมากมายทั่วทุกมุมโลกได้สำเร็จ
นอกจากนี้ Jeff Bezos ยังมี Growth Mindset กล้าที่จะลงมือริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ไม่จำกัดตัวเองให้อยู่ในกรอบ ซึ่งเป็น Mindset ที่ทุกธุรกิจในยุคนี้ควรนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้กับธุรกิจของคุณ