Spotify เป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อว่ามอบทั้งอารมณ์ ความสุข และความสนุกให้กับคนทั่วไปได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นบริษัทผู้นำสตรีมมิ่งด้านคอนเทนต์เพลงและพอดแคสต์ที่ปัจจุบันกินส่วนแบ่งตลาดไปมากถึง 38.8% และมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 433 ล้านคนแล้ว
แต่ความสำเร็จนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หาก Spotify ไม่มีเบื้องหลังการจัดการองค์กรที่ดี ตั้งแต่การคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการทำงาน ไปจนถึงด้านวัฒนธรรมองค์กรที่มีรากฐานที่แข็งแรง ในบทความนี้เราเลยจะพาทุกคนไปดูกันว่า Spotify บริษัทที่มอบเสียงเพลงเป็นความสุขให้กับคนทั่วโลก เขามีวิธีการทำงานและมอบความสุขให้กับพนักงานไปพร้อม ๆ กันได้อย่างไรบ้างจนทำให้บริษัทเติบโตมาถึงปัจจุบัน ไปดูกันเลย
Spotify Model ต้นแบบการทำงานแบบ Agile
ปัจจุบันหลายบริษัทได้นำหลักการทำงานแบบ Agile เข้ามาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยจะเน้นการสื่อสารระหว่างทีมเป็นหลัก ลดขั้นตอนเอกสารลง ทำให้เกิดความรวดเร็วในการทำงานระหว่างทีมมากยิ่งขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทันใจกว่าเดิมอีกด้วย
สำหรับ Spotify เองก็ถือว่ามีการทำงานแบบ Agile ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ๆ จนหลายบริษัทต่างยกย่องให้เป็น ‘Spotify Model’ ต้นแบบการทำงานแบบ Agile ที่ทำให้องค์กรสามารถกระจายอำนาจในการจัดการพนักงานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีดังต่อไปนี้
- Squads – เป็นทีมทำงานหน่วยที่เล็กที่สุดในองค์กร โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็นทีมละ 6-12 คน แต่ละทีมจะประกอบไปด้วยคนที่มีหน้าที่หลากหลาย เพื่อช่วยกันทำโปรเจกต์ร่วมกัน และทุกทีมจะไม่มีหัวหน้าทีม แต่จะมี Product Owner ที่เป็นผู้ที่คอยไกด์งานที่ทำและแบ่งงานอย่างเป็นระบบ
- Tribe – เป็นการรวมตัวกันของคนที่ทำงานในด้านเดียวกันจากหลาย ๆ Squad (เหมือนเป็นชนเผ่าเดียวกัน) เช่น UX/UI Designer หรือ Backend Developer เป็นต้น โดยทั่วไปในแต่ละ Tribe จะมีจำนวนสมาชิกตั้งแต่ 40-150 คน และมี Tribe Lead ที่มีหน้าที่ช่วยให้แต่ละ Squad สามารถทำงานได้สอดคล้องกันมากขึ้น
- Chapter – การรวมตัวกันของคนที่ทำงานในสายเดียวกันของแต่ละ Squad เพื่อแบ่งปันทักษะ ความรู้ หรือปัญหาที่เคยพบเจอในการทำงาน เช่น Chapter ที่รวม Javascript Developer ของแต่ละ Sqaud เมื่อ Squad A เคยเจอปัญหานี้มาแล้ว ก็สามารถแชร์ให้ Squad B รู้ได้ว่าจะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่ไม่ต้องเสียเวลานั่งหาทางแก้ปัญหาที่คนอื่นเคยเจอมาแล้ว
- Guilds – เป็นการรวมกลุ่มสมาชิกในทีมที่มีความชอบเหมือน ๆ กัน ตั้งแต่การทำงานไปจนถึงงานอดิเรกก็สามารถรวมตัวกันสร้าง Guild หรือชมรมขึ้นมาได้ เช่น สนใจเรื่องการออกแบบกราฟิกดีไซน์ หรือการลงทุน เป็นต้น ซึ่งการสร้าง Guild ก็เป็นการกระตุ้นให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายมากกว่าแค่การทำงานเฉย ๆ เพียงอย่างเดียว รวมถึงทำให้พนักงานเกิดการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
- Alliance – เป็นการรวมกลุ่มของหลาย ๆ Tribe เพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กร ซึ่งการรวมตัวนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อองค์กรมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น และ Tribe เดียวไม่สามารถทำงานทั้งหมดนั้นได้เพียงเผ่าเดียว จึงทำให้เกิดการรวมตัว Tribe กลายเป็น Alliance ขึ้นมา (โดยทั่วไปมักจะรวมกันมากกว่า 3 Tribes)
เราจะเห็นได้ว่าการทำงานแบบ Agile ที่ Spotify นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร อย่างไรก็ตาม ที่ Spotify ก็ไม่ได้มีจุดเด่นอยู่ที่การทำงานแบบ Agile เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดเด่นอื่น ๆ อีก ซึ่งเราจะกล่าวถึงต่อไปในบทความนี้ สำหรับองค์กรไหนที่สนใจการทำงานแบบ Agile ของ Spotify ก็สามารถลองนำไปปรับใช้กันได้นะ (ข้อแนะนำ: ไม่ควรลอกเลียนแบบทั้งหมด เพราะบางรูปแบบอาจจะไม่ได้เหมาะกับองค์กรของคุณก็ได้)
เปิดกว้างและไว้ใจพนักงานของตัวเอง
วัฒนธรรมองค์กรของ Spotify นั้นเปิดกว้าง ไว้วางใจ และส่งเสริมให้พนักงานมีอำนาจตัดสินใจในการทำงานและให้ Feedback ผลงานของกันและกันอยู่เสมอ ซึ่งวัฒนธรรมแบบนี้ทำให้พนักงานแต่ละคนกล้าสื่อสารกับคนในทีมมากขึ้น
เพราะโดยทั่วไปแล้วหากองค์กรไหนที่เปิดกว้างให้พนักงานทุกระดับมีการสื่อสารและกล้าเปิดใจให้กันและกันมักจะทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้นที่ Spotify ไม่ว่าจะเป็นคนในระดับ Manager หรือ Leader ก็มักจะเปิดกว้างให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาเสมอ ซึ่งทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดมีคุณภาพที่สูงและประสบความสำเร็จจนมี Monthly Active Users มากกว่า 403 ล้านคนต่อเดือนเหมือนกับที่เราเห็นกันทุกวันนี้
นอกจากนี้ การที่บริษัทเปิดกว้างและไว้ใจพนักงานก็มักจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้พนักงานเก่ง ๆ อยากเข้ามาร่วมงานกับ Spotify มากขึ้นอีกด้วย ปัจจุบัน Spotify มีพนักงาน Full-time ทั่วโลกมากถึง 8,605 คน ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จขององค์กรในด้านการคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถมาร่วมทำให้บริษัทเติบโตขึ้นไปอีก
Hack Week ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้
Hack Week เป็นกิจกรรมที่ทาง Spotify จะจัดขึ้นในทุก ๆ ไตรมาสเพื่อให้พนักงานได้ทดลองสร้าง Product หรือฟีเจอร์ใหม่ ๆ ขึ้นมาตลอดช่วงเวลา 1 สัปดาห์ที่กำหนด ภายใต้คอนเซปต์ Think it, Build it and Ship it ถ้าหากทีมไหนที่พัฒนา Product หรือฟีเจอร์ได้โดนใจ CEO และ Chief R&D ก็จะได้นำไปใช้จริงด้วย
โดยหลาย ๆ ฟีเจอร์ไม่ว่าจะเป็นทั้ง Discover Weekly หรือ Time Capsule บน Spotify ก็ล้วนแล้วมาจากช่วงเวลา Hack Week นี้นั่นเอง
นอกจากนี้ Hack Week ยังเป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้พนักงานไปลองทำตำแหน่งไหนก็ได้อย่างอิสระตลอดช่วงเวลานั้น ๆ เช่น ถ้าหากคุณเป็น Software Engineer แล้วอยากไปลองทำ Data Science ก็สามารถทำได้
และที่สำคัญคือ สามารถทำงานร่วมกับใครก็ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในทีมเดียวกับเรา ซึ่งพนักงานหลายคนบอกว่าชอบช่วง Hack Week มาก ๆ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทำได้ได้ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ทุก ๆ ไตรมาสและรู้จักคนในทีมอื่นมากขึ้น (บางคนก็ชอบช่วงเวลานี้มากจนแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลยทีเดียว)
สวัสดิการที่แปลกแหวกแนวโดนใจพนักงาน
นอกจากจะมีการทำงานที่เป็นต้นแบบไปทั่วโลกแล้ว ที่ Spotify ก็ยังมีสวัสดิการที่เรียกว่าแปลกแหวกแนวไม่ซ้ำใครเลย และถือว่าเอาใจคนรุ่นใหม่แบบสุด ๆ ไปดูกันว่ามีสวัสดิการอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง
- ให้พนักงานลาคลอดได้มากถึง 6 เดือน
- สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการแช่แข็งไข่ (Egg Freezing) สำหรับพนักงานที่ยังไม่ต้องการมีทายาทตอนนี้ รวมถึงยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำ IVF หรือเด็กหลอดแก้ว สำหรับคนที่มีบุตรยากได้อีกด้วย
- สามารถ Work From Anywhere ได้จากทั่วโลก โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ
- ใช้ Spotify Premium ได้ฟรีตลอดระยะเวลาการเป็นพนักงาน
- Spotify On Tour สามารถเดินทางไปพร้อมกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อไปเข้าร่วมงานเทศกาลและอีเว้นท์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเพลงที่ Spotify จัด
- Heart & Soul ถ้าหากพนักงานมีปัญหา ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ หรือมีเรื่องราวเกี่ยวกับ Mental Health สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้
ซึ่งสวัสดิการเหล่านี้นับว่าเป็นสวัสดิการที่ถูกใจพนักงานหลายคนมากและหาได้ยากในบริษัทอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพิ่มเวลาการลาคลอดเป็น 6 เดือน การฝากไข่ และการทำเด็กหลอดแก้ว
นอกจากนี้ Spotify บอกว่าพอบริษัทเพิ่มสวัสดิการเหล่านี้ก็สามารถดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถหลายคนให้มาทำงานกับบริษัทเพิ่มได้อีกไม่น้อยเลยทีเดียว นี่ก็แสดงให้เห็นว่านอกจากรูปแบบการทำงานและค่าตอบแทนที่ดีแล้ว สวัสดิการก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนเลือกว่าจะทำงานกับบริษัทนั้น ๆ หรือไม่ คุณก็สามารถลองนำไปปรับใช้กับองค์กรของคุณได้เช่นกัน
องค์กรคุณก็เป็นแบบ Spotify ได้
แม้ว่าตลาดสตรีมมิ่งเพลงจะมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบัน แต่ Spotify ก็ยังคงรักษาบัลลังก์อันดับ 1 ของตลาดสตรีมมิ่งเพลงไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะวัฒนธรรมองค์กรของ Spotify มักจะมุ่งเน้นไปที่พนักงานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทั้งรูปแบบการทำงาน ต้องใช้วิธีการจัดการแบบไหนถึงจะทำให้พนักงานทำงานได้ง่าย มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพที่สุด, จัดกิจกรรมให้พนักงานเข้าร่วมเพื่อผ่อนคลายจากการทำงานหรือกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ไปจนถึงมีสวัสดิการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิมให้กับพนักงาน และสร้างความสุขให้พวกเขา
ปัจจัยเหล่านี้จึงถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ ในการรักษาวัฒนธรรมองค์กรให้มีสุขภาพที่ดีเสมอจนสามารถสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งออกมาได้ ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันหลักและความแข็งแกร่งทางธุรกิจในแบบฉบับของ Spotify นั่นเอง (สามารถอ่านวิธีสร้างการเติบโตในแบบของ Spotify ที่นี่)