ในขั้นตอนแรกของการเริ่มต้นสร้างธุรกิจให้เติบโต โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัป คงไม่มีอะไรสำคัญไปมากกว่า “การลงมือสร้างผลิตภัณฑ์ที่คนต้องการใช้งานจริง ๆ ”ซึ่งคำว่าต้องการใช้งานจริง ๆ ในที่นี้ก็คือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานได้ดีกว่าคู่แข่ง หรือธุรกิจเจ้าอื่นในตลาด
แต่ปัญหาที่หลายธุรกิจมักจะพบก็คือ เรายังไม่มีไอเดียมากพอในการคิดค้นสร้างผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา และเราก็ยังไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์รูปแบบไหนที่ตอบโจทย์ความต้องการของจริง ๆ
ดังนั้นถ้าหากคุณคิดว่าตอนนี้ ธุรกิจของคุณกำลังประสบปัญหาไอเดียตัน ยังไม่รู้จะเริ่มสร้างผลิตภัณฑ์แบบไหนดี แต่มีทีมพร้อม มีงบประมาณพร้อมแล้ว ในบทความนี้ The Growth Master จะมาสรุปวิธีการแก้ปัญหานี้ ผ่าน Mindset ในการทำงานของทีมงานบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง Google พวกเขาจะมีวิธีรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ไปติดตามกัน
“การระดมไอเดีย” วิธีคิดเบื้องหลังของการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ในสไตล์ Google
Google นั้นถือเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลกมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การสร้าง google.com ในการเป็น Search Engine ผู้พลิกโฉมการเล่นอินเทอร์เน็ตของมนุษย์โลกไปอย่างถาวร ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกคน
รวมถึงผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ๆ ในเครือ Google ทั้งแบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เช่น Google Maps, Google Workspace, Google Analytics, Google Optimize, Google Home หรือแม้แต่ Youtube ที่ก็เป็นแพลตฟอร์มในเครือของ Google เหมือนกัน (Aplhabet บริษัทแม่ของ Google ซื้อกิจการมาพัฒนาต่อ)
ซึ่งจากผลิตภัณฑ์ที่เราได้ยกตัวอย่างไปหรือผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ๆ ในเครือ Google แม้จะมีวิธีการใช้งานและหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ผลิตภัณฑ์ของ Google ทุกตัวมีเหมือนกันก็คือ การมอบคุณค่าและช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ให้กับผู้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ เช่น
- Google Maps - ช่วยให้การเดินทางไปไหนมาไหนของเราทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รู้เส้นทางสถานที่แม้ตัวคุณเองจะไม่เคยไปมาก่อน รวมทั้งช่วยให้เส้นทางที่จะให้คุณไปถึงที่หมายได้เร็วที่สุด
- Google Workspace - ระบบคลาวด์ที่ช่วยให้การจัดการทำงานภายในองค์กรต่าง ๆ มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทุกอย่างจะถูกเปลี่ยนขึ้นไปอยู่ในออนไลน์ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ย่อย ๆ เช่น G-Mail, Google Docs, Google Meet, Google Sheet และอื่น ๆ
- Google Analytics - ช่วยทำให้คุณได้เห็นสถิติระบบหลังบ้านของเว็บไซต์ตัวเอง ช่วยทำให้การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจทำได้อย่างถูกจุดและแม่นยำ อีกหนึ่งเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ของการทำธุรกิจออนไลน์ยุคปัจจุบัน
- Google Optimize - เครื่องมือทดสอบเว็บไซต์ด้วย A/B Testing หลากหลายรูปแบบ พร้อมฟีเจอร์ Personalize เครื่องมือช่วยปรับแต่งเว็บไซต์ให้ถูกใจผู้ใช้แม้จะมีความชอบที่แตกต่างกัน เพื่อหาคำตอบของการทำทดลองดีไซน์เว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่สุด
- Google Home - ลำโพงอัจฉริยะที่เป็นเหมือนผู้ช่วยประจำบ้าน มาพร้อมระบบการสั่งงานด้วยเสียง ที่มีความฉลาดเหมือนมนุษย์จริง ๆ ช่วยให้การใช้ชีวิตในบ้านของเราสะดวกขึ้น
โดยในการสร้างผลิตภัณฑ์ทุกตัวในเครือของ Google นั้น จะไม่ได้เกิดจากไอเดียของใครคนใดคนหนึ่ง แต่พนักงานของ Google ทุกคน (เฉพาะในแผนกที่เกี่ยวข้องกับการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์) จะมีส่วนร่วมในการเสนอไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งหมดผ่าน “การระดมไอเดีย”
กล่าวคือทีมงานของ Google ที่เกี่ยวข้องทุกคนจะมีสิทธิ์ในการเสนอไอเดียของตัวเอง รวมถึงเสนอแนะแนวทางเพิ่มเติมของไอเดียคนอื่นภายในทีมได้อย่างเต็มที่ด้วย โดย Team Lead ของการระดมไอเดียแต่ละครั้งนั้นจะต้องสนับสนุน Mindset ของทีมงานทุกคนให้ “ไม่กลัวต่อการเสนอไอเดีย” และสร้างวิธีคิดที่ไม่มีผิด ไม่มีถูกของการเสนอไอเดียในที่ประชุม
เหตุผลก็เพราะว่า ถ้าพนักงานสามารถออกไอเดียได้อย่างไร้ข้อจำกัดและไม่กลัวที่จะเสนอความคิดเห็นอื่น ๆ กับเพื่อนร่วมงาน มันคือพื้นฐานของการระดมไอเดียที่ดีอยู่แล้ว และเป็นเหมือนการปลูกฝัง Innovation Mindset ให้กับทีมของ Google ทุกคนให้ชื่นชอบและสนุกในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ
รวมถึงทาง Google เองก็ยังมีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร ให้เอื้อต่อการระดมไอเดียหรือการสร้างสรรค์ความคิดของพนักงานด้วย เช่นที่ Google จะมีการพักเบรคสั้น ๆ ในระหว่างวันทำงาน 15-30 นาที ในแต่ละช่วง เพื่อให้พนักงานได้ผ่อนคลายสมองจากงานหลัก ช่วยกระตุ้นให้ทีมเกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ด้วย
แต่จริง ๆ แล้ว Google จะมีวิธีปลูกฝัง Mindset ที่ทำให้พนักงานทุกคนในองค์กรรักในการคิดค้นและสร้างสิ่งใหม่ ผ่านขั้นตอนการระดมไอเดียทั้งหมด 3 ขั้นตอน ที่ช่วยให้ Google ได้ไอเดียที่สามารถนำไปต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาและสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้จริง
3 ขั้นตอนที่ Google ใช้ในการระดมไอเดียสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ [พร้อมแนะนำเครื่องมือที่นำไปปรับใช้กับองค์กรคุณได้]
ขั้นตอนที่ 1 : Know the user - ทำความรู้จักลูกค้า
จริงอยู่ว่าการระดมไอเดีย เป็นกิจกรรมที่ทำได้แบบไม่มีกฎถูกผิด แต่การระดมไอเดียแบบที่ไม่มีโครงสร้าง ไม่มีสมมติฐานอะไรเลย ก็ไม่ต่างอะไรจากการให้ทีมมานั่งเถียงกันห้องประชุม และสุดท้ายองค์กรก็ไม่ได้ไอเดียอะไรที่เป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อได้
เพราะฉะนั้นในขั้นตอนแรกของการเริ่มระดมไอเดียเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Google ทีมทุกคนจะต้องทำความรู้จักลูกค้าให้ดีเสียก่อน โดยทีมที่จะเสนอไอเดียแต่ละอย่างนั้นต้อง “เตรียมข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย” ที่คิดว่ากลุ่มเป้าหมายนี้แหละ ที่ต้องมาเป็นผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ (ลูกค้า) แน่ ๆ โดยข้อมูลดังกล่าวก็ต้องครอบคลุมทั้งข้อมูลทั่วไปและข้อมูลพฤติกรรม เช่น ลูกค้าเป็นใคร เพศไหน อายุเท่าไร มีการศึกษาระดับไหน รายได้เท่าไร อาศัยอยู่ที่ไหน มีไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร
อีกอย่างคือทีมก็ต้องคิดไว้ด้วยว่าผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะสร้างขึ้นมานั้น จะเข้ามาแก้ปัญหาอะไรให้ลูกค้า และผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้จริงหรือไม่ เพราะ Google มองว่าถ้าเรามีข้อมูลของลูกค้าที่มากพอ รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร มันก็จะเป็นเรื่องง่ายในการต่อยอดไอเดียใหม่ ๆ เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์
ซึ่ง Google ก็ได้เปรียบเรื่องข้อมูลของลูกค้าอยู่แล้ว เพราะมีสิ่งสำคัญที่ทำให้รู้ข้อมูลลูกค้าอย่าง Google Account ที่ผู้ใช้งาน Google และบริการอื่น ๆ ในเครือจำเป็นต้องมี สิ่งนี้ช่วยให้ Google มีชุดข้อมูลของลูกค้าอย่างละเอียดจากทั่วโลก ทำให้ทีมของ Google ไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องมือตัวอื่น ๆ ในการหาข้อมูลลูกค้าเลย
แนะนำเครื่องมือสำหรับการหาข้อมูลลูกค้า ที่องค์กรของคุณนำไปปรับใช้ได้ทันที
หากคุณเริ่มเห็นถึงความสำคัญของการหาข้อมูลลูกค้า เพื่อเป็นข้อมูลเริ่มต้นในการระดมไอเดีย สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับทีม แต่ติดตรงที่คุณไม่ได้มีข้อมูลลูกค้าพร้อมใช้งานแบบ Google หรือไม่เคยทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมายมาก่อน คุณสามารถเริ่มต้นสำรวจพฤติกรรมและปัญหาของลูกค้า ผ่านการทำแบบสอบถามใน Google Forms ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของ Google ที่ใช้งานได้ฟรี ๆ (ถามได้ทั้งคำถามปลายเปิดและปลายปิด) เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการทดลองการสำรวจลูกค้า
หรือถ้าองค์กรไหนที่ต้องการความละเอียดขึ้นอีกระดับหรือต้องการเครื่องมือช่วยในการประมวลผลจากข้อมูลลูกค้าที่ได้รับมา เราแนะนำเป็นตัว SurveyMonkey เครื่องมือ Web-based Survey ที่มาพร้อมกับเทมเพลตแบบสอบถามต่าง ๆ มากมาย ช่วยให้เราสามารถสร้างแบบสอบถามได้ภายในไม่กี่นาที และส่งไปให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งานของเราทำได้อย่างรวดเร็ว
ช่วยในการสำรวจและวิเคราะห์ผล ว่าลูกค้าส่วนใหญ่มีข้อมูลทั่วไปรวมทั้งข้อมูลด้านพฤติกรรมเป็นอย่างไร รวมถึงสามารถ Feedback ความคิดเห็นของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ของคุณให้ออกมาอยู่ในรูปแบบของ Data ที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ทันที สามารถทำการ A/B Testing คำถามได้ (ต่างจาก Google Forms ที่ทำไม่ได้)
และจุดเด่นอีกอย่างของ SurveyMonkey คือสามารถคำนวณผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็น Net Promoter Score (NPS) - NPS หรือดัชนีชี้วัดความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งคะแนนในส่วนนี้จะแสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีแนวโน้มจะแนะนำธุรกิจของเราให้กับคนรอบข้างมากน้อยแค่ไหน (ตั้งแต่ 0-10 ) รวมถึงระบบการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาให้อัตโนมัติ พร้อมกับ Export ข้อมูลเหล่านั้นออกมาได้หลากหลายรูปแบบทั้ง กราฟ, แผนภูมิ ในรูปแบบ PDF, PPT Files ให้ทีมสามารถใช้ในการเป็นข้อมูลการระดมไอเดียได้ทันที
ส่วนราคา คุณสามารถทดลองใช้งาน SurveyMonkey แบบฟรี ๆ ได้เหมือนกันแต่จะถูกจำกัดจำนวนคำถามไว้แค่ 10 ข้อ (คงไม่เหมาะสำหรับการสำรวจลูกค้าแน่ๆ) แนะนำให้สมัครแบบ Business Plan รายเดือนเริ่มต้นที่ 525 บาทต่อผู้ใช้ สามารถสร้างแบบสอบถามและคำถามได้อย่างไม่จำกัด รวมถึงใช้งานฟีเจอร์ได้อย่างครบถ้วนสำหรับการสำรวจลูกค้าในขั้นตอนนี้
ดูแพคเกจทั้งหมดของ SurveyMonkey ได้ > ที่นี่
ขั้นตอนที่ 2 : Think 10X - คิดเพิ่มให้ได้ 10 เท่า
Think 10x หรือการคิดเพิ่มให้ได้ 10 เท่าเป็นขั้นตอนในการระดมไอเดียที่สำคัญที่สุดของทีมงาน Google ที่ต้องปฏิบัติ เป็น Mindset ในการทำงานที่ Larry Page ผู้ก่อตั้ง Google ยึดถือและปฏิบัติมาโดยตลอด ซึ่งหลักการของขั้นตอนนี้คือ ไอเดียแต่ละไอเดียต้องเป็นไอเดียที่ทำให้ธุรกิจเติบโต 10 เท่า ไม่ใช่เติบโตแค่ 10%
เพราะถ้าทีมระดมไอเดียแต่ละอย่างที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้แค่ 10% ไอเดียแต่ละอย่างก็จะไม่เป็นอะไรที่ไม่สร้างสรรค์ แถมยังต้องถูกยึดติดกับข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ถ้าทีมเริ่มเปลี่ยน Mindset มองภาพการเติบโต คิดเพิ่มเป็น 10 เท่า ทีมทุกคนก็จะเริ่มคิดไอเดียที่ออกนอกกรอบมากขึ้น กล้าคิดในสิ่งที่องค์กรไม่เคยทำมาก่อน จนได้ไอเดียเจ๋ง ๆ ที่เปลี่ยนมาเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ได้จริง
อย่างเช่น Project Loon ในปี 2016 ที่เป็นตัวส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตรูปแบบบอลลูนของ Google ก็ได้ไอเดียขึ้นมาจากขั้นตอนนี้เหมือนกัน
โดยขั้นตอน Think 10X ของทีม Google ในการระดมไอเดียสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด
6 ขั้นตอนย่อย (หลังจากที่ได้ข้อมูลของลูกค้ามาแล้ว) ได้แก่
1. สร้าง Mindset ให้ทีมทุกคนระดมไอเดียออกมาให้ได้มากที่สุด (Generate lots of ideas)
ในการระดมไอเดียของ Google แต่ละครั้ง Team Lead จะสร้าง Mindset ให้ทีมทุกคนระดมไอเดียออกมาให้ได้เยอะที่สุด เป็นการเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ไม่มีถูกผิด โดยแต่ละคนจะต้องเขียนไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือฟีเจอร์ใหม่ ๆ ลงไปในกระดาษ PostIt แล้วไปแปะไว้บนไวท์บอร์ด ภายในระยะเวลาที่กำหนด
2. ต่อยอดจากไอเดียของทีมแต่ละคน (Build on each other’s idea)
ในการเลือกไอเดียที่จะถูกนำไปต่อยอดแน่นอนว่าบางไอเดียของเพื่อน ตัวเราก็อาจไม่เห็นด้วย แต่ในการจะพูดคุยกับทีมว่าเราไม่เห็นด้วยนั้น อาจเป็นเรื่องที่ต้องระวัง (เพราะทุกคนจะมีความคิดว่าไอเดียของตัวเองดีที่สุด) ดังนั้นในการระดมไอเดียของทีม Google จะให้พนักงานหลีกเลี่ยงการพูดคำว่า “No, But” และให้ใช้คำว่า “Yes, And” แทน
หรือก็คือแทนที่จะพูดว่า “ฉันไม่ชอบไอเดียนี้เลย แต่…” ก็ให้พูดว่า “ใช่! โอเค และฉันคิดว่า….” แล้วก็อธิบายเหตุผลของตัวเองไป
สาเหตุเพราะทาง Google มองว่าการที่ประโยคสนทนาในการระดมไอเดียมีแต่ประโยคเชิงบวก จะช่วยสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นและเป็นการกระตุ้นให้ทีมทุกคนส่งเสริมไอเดียซึ่งกันและกัน
3. เขียนไอเดียที่ชอบในลักษณะการพาดหัวข่าว (Write Headlines)
หลังจากที่เรามีไอเดียที่ชื่นชอบจากความคิดของทีมแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการเขียนไอเดียลงไปในกระดาษ PostIt แต่การเขียนไอเดียที่เราชอบนั้นจะต้องใช้การเขียนแบบพาดหัวข่าว สั้น ๆ กระชับ โดยทาง Team Lead จะให้ทีมทุกคนลองคิดภาพว่าถ้ามี หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารมาทำข่าวไอเดียนี้ พวกเขาจะเขียนพาดหัวข่าวว่าอย่างไร
วิธีนี้จะช่วยให้เห็นถึงความแตกต่างและสิ่งที่เหมือนกันของไอเดียทีมแต่ละคน มีจุดขายตรงไหนที่น่าสนใจ และฝั่ง Google เอามาพัฒนาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์จริงต่อได้บ้าง
4. วาดภาพประกอบว่าผลิตภัณฑ์จะมีหน้าตาแบบไหน (Illustrate)
เมื่อได้ไอเดียของผลิตภัณฑ์ที่เลือกไว้แล้ว ขั้นตอนต่อไป Team lead จะให้ทีมทุกคนวาดภาพของตัวผลิตภัณฑ์หรือหน้าตาเวลาใช้งานออกมาแบบคร่าว ๆ ว่าจะมีลักษณะแบบใด ให้ทีมทุกคนเห็นภาพของไอเดียมากกว่าคำพูด
5. สร้าง Mindset ของการคิดนอกกรอบ ไม่มีถูก-ผิด (Think Big)
ถือเป็นขั้นตอนสำคัญของ Think10X หลังจากไอเดียเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ก็จะให้ทีมทุกคนคิดไอเดียต่อยอดให้ได้เยอะที่สุดเหมือนกัน โดยไอเดียนั้นไม่มีกฎตายตัว คิดนอกกรอบได้เต็มที่ ไม่มีถูก-ผิด เพราะ Google มองว่าถ้าทีมเอาแต่คิดแต่อะไรที่อยู่ในกรอบ มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดเป็นนวัตกรรมออกมาได้ อย่างจะเพิ่มฟีเจอร์อยากให้ผลิตภัณฑ์มีหน้าตาอย่างไร หรือวิธีการเปิดตัวจะเป็นอย่างไร ก็คิดออกมาได้เลย
6. โยนอคติของตัวเองทิ้งไปให้หมด (Defer Judgement)
ในการระดมไอเดียของ Google นั้น ทีมทุกคนที่เข้าร่วมจะต้องโยนคำว่า “อคติ” ออกไปจากห้องประชุมให้หมด ถ้าเจอไอเดียผลิตภัณฑ์ไหนที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้จริง และมันดีกว่าไอเดียของเรา ก็ต้องยอมรับและสนับสนุนไอเดียนั้น ให้องค์กรนำไปต่อยอดและพัฒนาต่อไป ไม่ควรปฏิเสธไอเดียนั้นเพียงเพราะว่าเราไม่ชอบ โดยไม่มีเหตุผลมารองรับ หรือไม่ชอบเพราะมันไม่ใช่ไอเดียของเรา (ถ้ามีความรู้สึกนี้ก็ย้อนกลับไปดูที่ข้อ 1 ใหม่)
แนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้คุณและทีมระดมไอเดียแบบ Think 10X ได้แม้อยู่ในช่วง Work From Home
ถ้าองค์กรของคุณอยากเริ่มต้นการระดมไอเดีย แบบ Think 10X ตามแบบฉบับของทีม Google แต่ติดที่ช่วงนี้ต้อง Work From Home ไม่มีห้องประชุม กระดานไวท์บอร์ด หรือกระดาษ PostIt ให้ทีมได้ระดมไอเดียกัน ปัญหานี้จะหมดไปทันที ถ้าคุณได้รู้จักกับ “Miro”
Miro เป็นซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมการฟีเจอร์ Online Whiteboard แบบ Infinite Canvas (กระดานไม่มีที่สิ้นสุด) ที่ให้ความรู้สึกเหมือนยกกระดานในห้องประชุมขึ้นมาบนออนไลน์ ให้คุณได้พูดคุยงานเหมือนนั่งทำงานอยู่ด้วยกัน เพิ่มหรือแก้ไขทุกคนสามารถเห็นได้แบบ Real-Time
โดยผู้เริ่มการระดมไอเดีย จะต้องส่งลิงก์ที่เป็น Access ในการเข้ากระดานให้ทุกคนก่อน แล้วเมื่อทุกคนเข้ามาพร้อมกันแล้วค่อยเริ่มการประชุม ซึ่งเราก็สามารถกำหนดได้ด้วยว่าจะให้พนักงานที่เข้ามามีสิทธิ์อะไรบ้างเช่น ดูอย่างเดียว, แก้ไขได้
ซึ่งการเขียนข้อมูลบน Online Whiteboard ก็ทำได้อย่างอิสระมีตัวเลือกให้คุณได้ใช้มากมายตั้งแต่ ปากกา ไฮไลท์, Text Box, ลูกศร, แทรกรูปภาพ ไปจนถึงกระดาษโพสต์อิท ตัวช่วยสำคัญในการระดมไอเดียสไตล์ Google ให้คุณได้เติมแต่งไอเดียได้อย่างเต็มที่
อีกทั้งยังมีฟีเจอร์ Chat, Video Chat ให้คุณได้คุยกับเพื่อนร่วมทีมบนแพลตฟอร์มได้เลย, Voting ฟีเจอร์ให้ทุกคนช่วยกันลงคะแนนโหวตในกรณีที่ตัดสินใจไอเดียไม่ได้ ให้ความรู้สึกทุกอย่างเหมือนตอนระดมไอเดียที่ออฟฟิศแม้อยู่ในช่วง Work From Home แถม Miro ยังมีแพคเกจ Freemium ให้ทดลองใช้กันได้ฟรี ๆ เริ่มใช้งานได้เลย
สำหรับใครที่สนใจใช้งาน Miro เพื่อการระดมไอเดียร่วมกับทีมแบบ Think 10X ในช่วง Work From Home แต่ยังใช้งานไม่เป็น เพิ่งได้ลองเล่น คุณสามารถดูวิดีโอรีวิวแนะนำการใช้งานจริงจากรายการ We Need Tool Talk ด้านล่างนี้ได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้อง:
7 ซอฟต์แวร์สำหรับการ Work From Home ที่เราอยากแนะนำให้คุณใช้ในปี 2021
ขั้นตอนที่ 3 : เริ่มสร้างผลิตภัณฑ์ตัวต้นแบบ (Prototype)
เมื่อทีม Google ได้ไอเดียที่นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นไอเดียที่เกิดจากปัญหาของลูกค้าและความคิดร่วมกันของทีมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ตัวต้นแบบ ที่จะเริ่มปล่อยให้ทีมและลูกค้ากลุ่มตัวอย่างได้ทดลองใช้งาน เพื่อให้ฝั่ง Google ได้รับทราบถึงความรู้สึก และ Feedback ของการใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นจริง ๆ ว่าจะมีอะไรที่ต้องปรับปรุงเพิ่มอีกไหม
ซึ่ง Prototype ของผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องเน้นความรวดเร็วในกระบวนการทำ อาจจะไม่ต้องมีฟีเจอร์เยอะแยะ ขอแค่มีฟีเจอร์หลัก ๆ ที่สร้างคุณค่าหรือแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ออกมาก่อน เพื่อทำการทดสอบดูว่าเมื่อลูกค้าใช้งานจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์นั้นมีปัญหาอย่างไร และพวกเขามีเสียงตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง (หลักการจะคล้าย ๆ การสร้าง Mininum Viable Product หรือ MVP ขั้นตอนการเริ่มต้นสร้างผลิตภัณฑ์ของธุรกิจสตาร์ทอัป)
โดยเมื่อปล่อยผลิตภัณฑ์ตัวต้นแบบไปให้กลุ่มตัวอย่างได้ใช้งานแล้ว ก็จะมีการเก็บ Feedback ผ่านการตอบแบบสำรวจ (เหมือนขั้นตอนที่ 1) หรือจะเป็นการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่ได้ใช้งานไป ก็เป็นอีกวิธีที่ Google และสตาร์ทอัปดัง ๆ เลือกมาใช้งาน ก่อนที่จะนำปัญหาการใช้งานเหล่านั้นมาพัฒนาต่อไปจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมปล่อยออกสู่ตลาดอย่างเต็มตัว
แนะนำเครื่องมือสำหรับการเริ่มออกแบบ Prototype ที่ช่วยต่อยอดไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์จริงได้ดีขึ้น
ถ้าตอนนี้คุณกำลังมองหาเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณและทีมเริ่มต้นการออกแบบ Prototype ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉีกกรอบจากโปรแกรมเดิม ๆ The Growth Master ขอแนะนำให้คุณรู้จักกับเครื่องมือที่ชื่อว่า “Figma”
Figma คือเครื่องมือ UX/UI Design ที่เราสามารถนำมาออกแบบ Prototype ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้ โดย Figma ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ไม่ซับซ้อน ใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ ไม่ต้องโหลด ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมอะไรทั้งนั้น ทีมคนไหนที่ไม่ค่อยเก่งด้านดีไซน์ก็พอที่จะใช้งานได้
และจุดเด่นอีกอย่างที่เหมาะสำหรับการระดมไอเดียในองค์กรคือ Figma สามารถทำงานร่วมกับทีมอื่น ๆ ได้ในแพลตฟอร์ม เช่น Developer, Designer, Project Manager, Markerter ให้ทีมทุกคนเห็นภาพการทำงาน รวมทั้งปรับแต่งแก้ไข ได้อย่างพร้อมกันเหมาะสำหรับช่วง Work From Home
นอกจากนั้น Figma ยังมีข้อดีในการใช้งานอื่น ๆ ที่ช่วยให้การระดมไอเดียหรือการเริ่มต้นสร้าง Prototype ทำได้หลากหลายมากขึ้นเช่น การจัด Layout ด้วยการลากวาง (Drag&Drop), มี Community ไว้แลกเปลี่ยนไอเดียหรือเรียนรู้เทคนิคการดีไซน์อื่น ๆ, เพิ่มขีดความสามารถของการทำงานได้ด้วยการติดตั้ง Plug-In, ฟีเจอร์ FigJam กระดานไวท์บอร์ดออนไลน์ระดมไอเดียร่วมกับทีมได้ (คล้าย Miro) และไฮไลท์สุดท้ายอย่าง ฟีเจอร์แสดงผล Prototype ที่แสดงผลของ Performance ได้เสมือนจริง เรากำหนดได้เลยว่าจะทดสอบกับอุปกรณ์ สมาร์ทโฟนรุ่นอะไร แล้วเวลาใช้งานจริงหน้าตาจะเป็นอย่างไร
แถม Figma ยังเริ่มใช้งานได้ฟรี สร้างงานได้ 1 โปรเจ็กต์แบบไม่จำกัดความจุ สามารถส่ง Access ให้ทีมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูหรือคอมเมนท์งานได้ และดู History ประวัติการแก้ไขย้อนหลังได้ 30 วัน หรือองค์กรไหนอยากใช้งาน Figma แบบจัดเต็ม สร้างงานได้หลายโปรเจ็กต์ พร้อมใช้งานฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้ย่างครบถ้วน ก็เพิ่มเงินเพียง 12 ดอลลาร์/1 Account เท่านั้น ดูแพลนราคาทั้งหมดของ Figma ได้ที่นี่
แต่ถ้าใครยังลังเลในการใช้ Figma อยู่หรือมีความคิดว่า Figma จะแตกต่างจาก Design Tools ตัวอื่น ๆ อย่าง Sketch หรือ Adobe XD มากน้อยแค่ไหนแล้วเครื่องมือตัวไหนจะดีกว่ากันคุณสามารถอ่าน บทความนี้ ประกอบการตัดสินใจได้เลย
สรุปทั้งหมด
เพราะการจะสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น ไม่มีทางที่คุณจะเริ่มต้นทุกอย่างได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว การได้รับไอเดียหรือข้อเสนอแนะจาก “ทีมหรือเพื่อนร่วมงาน” ถือเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งที่จะทำให้การสร้างผลิตภัณฑ์และการเติบโตของธุรกิจเกิดขึ้นได้จริงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
แต่ทั้งหมดก็ยังไม่สำคัญเรื่องของการปลูกฝัง Mindset ให้ทีมงานขององค์กรคุณกล้าคิด กล้าริเริ่มทำอะไรในสิ่งที่แปลกใหม่ เปิดใจยอมรับไอเดียที่แตกต่าง คิดนอกกรอบในแบบที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางครั้งกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโต อาจจะไม่ได้มาจากตัวคุณทั้งหมดเสมอไป เหมือนสิ่งที่ Google พยายามปลูกฝัง Mindset ให้กับพนักงานทุกคนอยู่เสมอนั่นเอง