คุณอาจเคยได้ยินข่าวสินค้าขาดตลาด ในช่วงเศรษฐกิจไม่ราบรื่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากการขนส่งหรือขั้นตอนการผลิตก็ตาม แต่สำหรับบทความนี้ เราจะเสนอในสิ่งที่ไม่มีวันขาดตลาด เรียกว่าจับต้องไม่ได้แต่ถือเป็นพลังในการ ‘สร้างอิทธิพล’ ให้กับธุรกิจได้มั่นคงไปอีกขั้น
ซึ่งแนวทางแบบ Content Industy นั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่ช่วยส่งให้ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ มุ่งสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไม่น่าเชื่อ แน่นอนว่าเบื้องหลังความสำเร็จมักเกิดจากการวางแผนที่ดีตั้งแต่ต้น โดยวิธีการเหล่านี้จะถูกเรียกเป็นภาพรวมว่า “Soft Power”
และตัวอย่างความสำเร็จที่ The Growth Master ยกขึ้นมาในวันนี้คือ อิทธิพล Soft Power จากประเทศเกาหลีใต้ (South Korea) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ใบเบิกทาง’ ทำให้ประเทศฝั่งเอเชียได้รับการยอมรับไปทั่วโลก และเราจะมาเรียนรู้วิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมและความสนใจของผู้คนเพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจได้เติบโตกัน
Soft Power คืออะไร? ทำไมธุรกิจต้องให้ความสำคัญ
Soft Power คือ การใช้ความสามารถเพื่อสร้างอิทธิพลให้ผู้อื่นยอมรับ พร้อมสร้างกระแสให้กลายเป็นที่ต้องการของลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง ด้วยการค่อย ๆ ดึงความสนใจ เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของผู้บริโภค (ที่ไม่ใช่การบังคับ) ซึ่งความสำเร็จที่มาจากการปลูกฝัง ‘จุดขาย’ ของแต่ละธุรกิจให้ลูกค้ารับรู้นั้น จะกลายเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางความสำเร็จของธุรกิจต่อ ๆ ไป
แล้วคุณสงสัยไหมว่า Soft Power รูปแบบไหน? ที่ปลุกปั้นธุรกิจ เศรษฐกิจ และส่งต่อไปจนถึงสเกลใหญ่ระดับประเทศได้ ซึ่งเราจะยกความสำเร็จจาก Unicorn (ธุรกิจสตาร์ทอัปที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์) ที่เติบโตได้จาก Soft Power อิทธิพลทางวัฒนธรรมและความเชื่อของเกาหลีใต้
ซึ่ง ‘เกาหลีใต้’ ถือเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ผลักดันและใช้ Soft Power เพื่อขับเคลื่อนประเทศอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันพวกเขาพิสูจน์ด้วยการสร้างสุดยอดสตาร์ทอัป K-Unicorn ขึ้นมาถึง 11 แห่ง เท่านั้นยังไม่พอ ภาครัฐของเกาหลีใต้ยังส่งเสริม และทุ่มทุนกว่า 11.7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ปัญหาให้กับ ‘เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก’ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ Covid-19 อีกด้วย
แน่นอนว่าเกาหลีใต้สามารถพิสูจน์ความสร้างสรรค์ ดึงดูดผู้บริโภคทั่วโลกให้หันมาสนใจอุตสาหกรรมจากเกาหลี ได้แบบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นวงการ K-pop ภาพยนตร์ ซีรีส์ แฟชั่น หรืออาหารจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุกธุรกิจ ‘ต้องหันมาเปิดใจ’ และให้ความสำคัญกับ ‘จุดเด่น’ ของตนเอง โดยอาศัยคุณค่าจากยุทธศาสตร์ Soft Power
ตัวชี้วัดความสำเร็จจาก ‘เกาหลีใต้’ ในเชิงธุรกิจ
ด้วยยุทธศาสตร์ Soft Power ที่ทำให้อิทธิพลจากเกาหลีใต้ค่อย ๆ สร้างความประทับใจได้สำเร็จ ผ่านโลกออนไลน์ไร้พรมแดน จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า K-Shaped Discovery (ภาวะฟื้นตัวจากวิกฤติ Covid-19) ซึ่งหากพูดถึงสถิติที่ย้อนไปเมื่อปี 2020 ก็ต้องบอกว่าเกาหลีใต้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 6.3% และปัจจุบันเพิ่มขึ้น 0.3% ส่งผลให้ทุก ๆ ธุรกิจในประเทศมีแนวโน้ม ‘เติบโตอย่างต่อเนื่อง’
นั่นเป็นเพราะความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามนโยบาย Growth on Innovation จึงทำให้เกิดธุรกิจสัญชาติเกาหลีระดับ Unicorn ที่เป็นต้นแบบให้กับสตาร์ทอัปที่ใช้แนวทาง Soft Power ไปทั่วโลก
(Growth on Innovation คือ นโยบายหลักของประเทศเกาหลีใต้ ที่สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัป และอุตสาหกรรมบันเทิงและอย่างเต็มรูปแบบ)
ซึ่งเส้นทางการเติบโตของ K-Unicorn ที่โดดเด่นขึ้นมานั้น เราจะขอยกกรณีของ Dunamu บริษัทผู้สร้าง Upbit แพลตฟอร์มสำหรับเทรดคริปโทเคอร์เรนซี (การันตีด้วยมาตรฐานระดับโลก สร้างกำไรสูงถึง 1.68 พันล้านดอลลาร์) พวกเขาเติบโตด้วยการค่อย ๆ ส่งต่ออิทธิพลความเชื่อใจของผู้บริโภคแบบมีลำดับขั้น
โดยเริ่มจากการสั่งสมประสบการณ์จาก FinTech (เทคโนโลยีการเงินบนโลกออนไลน์) ด้วยเวลาที่นานถึง 10 ปี และก่อตั้งบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงิน รับให้คำปรึกษากับนักลงทุนเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเข้าใจในด้านการเงินโดยเฉพาะ นั่นถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์จาก Soft Power ที่สามารถดึงดูดผู้ที่มีความสนใจในการลงทุนเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีเข้ามานั่นเอง
(หากอยากทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กรณีศึกษาของบริษัทที่อยู่ภายใต้การบริหารของ FinTech สัญชาติไทย สามารถอ่านได้ที่ บทความนี้)
หัวข้อถัดไปเราจะมาดูกันว่า เกาหลีใต้ใช้เส้นทาง Soft Power ในการตีความกลยุทธ์อย่างไร? ถึงเติบโตในรูปแบบที่ส่งกระแสวัฒนธรรมอย่าง Korean Wave ให้ต่อเนื่อง และไปได้ไกลถึงระดับโลกกัน
เกาหลีใต้ ตีความกลยุทธ์ Soft Power อย่างไรให้สำเร็จต่อเนื่อง
เกาหลีใต้วางแผนแล้วว่า หากอยากดึงจุดเด่นของประเทศตนเองด้วย Soft Power ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การเดินตามนโยบายหลักของประเทศในด้าน ‘คุณภาพของสื่อ’ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการส่งต่อกระแส Korean Wave ให้ยังคงสำเร็จต่อเนื่อง
โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ถูกก่อตั้งเมื่อปี 1998 (เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศเจอวิกฤติทางการเงิน) ‘คิมแดจุง’ ผู้นำเกาหลีใต้เลือกที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมเกาหลี ผ่านนโยบายภาครัฐ โดยเน้นผลักดัน Pop Culture และสื่อต่าง ๆ (ภายใต้แผน Hallyu Industry Support) เกาหลีใต้สั่งสมเวลาสร้าง Soft Power กว่า 24 ปี สร้างรายได้เข้าประเทศไปมากถึง 12.3 พันล้านดอลลาร์
ซึ่งเกาหลีใต้ใช้การเติบโตแบบ Green Growth ที่มุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์ (อย่างการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อน) โดยร่วมมือกับสถาบันโลก Global Green Growth Institute ทำให้มีผลพลอยได้ก็คือ พวกเขาสามารถขับเคลื่อน ‘อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว’ ผ่านสื่อได้อย่างแยบยล ด้วยการโฆษณาสินค้าหรือสถานที่ท่องเที่ยวในเชิงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อจูงใจผู้คนร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี (เป็นหนึ่งในตัวอย่างจากอิทธิพล Soft Power)
และความต่อเนื่องของกระแส Korean Wave ที่เกิดขึ้นได้นั้น เราจะยกปัจจัยที่สร้างอิทธิพลแบบ Soft Power ผ่านอุตสากรรมบันเทิงในแบบที่เห็นได้ชัด ดังนี้
1. จาก Sandbox ในซีรีส์ สู่ Born2Global (แหล่งสนับสนุนสตาร์ทอัป) ในชีวิตจริง
การเติบโตทางธุรกิจของเกาหลีใต้ ถูกเผยแพร่ผ่านซีรีส์มาตลอด เพราะพวกเขาใช้หลักคิดแบบ Global Mindset (ทัศนคติแบบสากล) ที่เปิดกว้าง มองภาพรวมใหญ่ ๆ ในเศรษฐกิจสังคม และนำมาวางแผนสร้างภาพยนตร์ ซีรีส์ ให้ไปไกลได้ระดับโลกมายาวนานถึง 10 ปี
(หากใครที่อยากรู้ว่าก่อนหน้านี้เรามีวิธีการทำงานแบบ Work From Home อย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถเข้าไปอ่านรีวิวการทำงานของเราแบบละเอียดได้ที่ บทความนี้)
SANDBOX คือ ชื่อนิยามของสถาบันที่ช่วย ‘ส่งเสริมสตาร์ทอัป’ ในซีรีส์ ที่เกาหลีใต้ ตั้งใจสร้างให้เป็นตัวแทนของแหล่งสนับสนุนเงินทุนในชีวิตจริงอย่าง Born2Global (หน่วยงานไอซีทีและการวางแผนอนาคตประเทศเกาหลีใต้) เห็นได้ชัดว่า พวกเขานำเสนอการเติบโตในประเทศ ผ่านอาชีพเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่คนทั่วไปแทบไม่คุ้นหูอย่าง Developer (นักพัฒนาซอฟต์แวร์) อาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่
เท่านั้นยังไม่พอ เกาหลียังมอบความสำคัญให้กับ Keyman (บุคคลกลางที่ช่วยพยุงความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้ากับนักลงทุน) ที่เรียกว่าสำคัญมาก ๆ กับสตาร์ทอัปในช่วงเริ่มต้น ด้วยบทบาท ‘พระรอง’ ที่สร้าง Soft Power ให้ผู้ชมรู้สึกว่า หากขาดคน ๆ นี้ไปแล้ว ธุรกิจจะไม่สามารถมองภาพรวม และก้าวข้ามปัญหาไปได้อย่างเฉียบคมนั่นเอง
2. K-Food อาวุธแบบซอฟต์ ๆ จากเกาหลีใต้
ซีรีส์อีกเรื่องที่คนทั่วโลกต้องหันมาสนใจ ก็คงไม่พ้นการชู ‘อาหารเกาหลี’ หรือ K-Food ผ่านซีรีส์ Itaewon Class (ฉายปี 2020) ซีรีส์ของคนไม่ยอมแพ้ ที่ว่าด้วยการช่วงชิงไหวพริบระหว่างธุรกิจรายเล็กกับรายใหญ่ ประกอบกับกิมมิคของอาหารสไตล์ทันบัม ที่ได้กลายเป็นเมนูยอดนิยมสร้างรายได้ไปอย่างล้นหลาม
เนื้อเรื่องในซีรีส์นั้น เสนอมุมมองธุรกิจที่เริ่มจากต้นทุนติดลบ โดยเขียนบทบาทให้ตัวละครหลัก ‘เถ้าแก่พัคแซรอย’ มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดัน แฟรนไชส์อาหารเกาหลี ให้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพื่อให้ธุรกิจเติบโต ไม่ว่าจะเป็น ซุปเต้าหู้อ่อน กิมจิ หมูผัดซอสโคชูจัง (เป็นกระแสและขายดีมาก ๆในช่วงซีรีส์ออนแอร์) กิมจิ สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้มากถึง 89 ประเทศในปี 2021 และมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยมากถึง 18% ต่อปี
นอกจากนี้ Itaewon Class ยังให้ข้อคิดทางการลงทุน เช่น ในช่วงที่ร้านกำลังต้องการเงินทุนจำนวนมาก พระเอกตัดสินใจ (โดยใช้หลัก Diversify หรือการกระจายความเสี่ยง) ใช้เงินทุนที่มี ซื้อหุ้นของกิจการคู่แข่งทิ้งไว้ในตอนที่หุ้นตกด้วยราคาที่ไม่สูงนัก เพราะเขามองว่า กิจการนี้มีรากฐานธุรกิจที่ดี และมีโอกาสเติบโต จนในที่สุดก็ได้เงินทุนก้อนใหญ่จากดอกเบี้ยทบต้นมานั่นเอง
จะเห็นได้ว่าภายในปี 2020 เกาหลีใต้สามารถทำให้เกิด Soft Power ‘ปลูกฝังค่านิยม’ กับคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก๋า ๆ ที่อยากจะเริ่มต้นธุรกิจหรือเลือกทำสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยผสานเข้ากับการเติบโตของเทคโนโลยี นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ และการลงทุนในอาหารเกาหลีได้อย่างแนบเนียน ผ่านเนื้อหาของซีรีส์ Start-up หรือ Itaewon Class ที่ตัวละครมีความเชื่อว่า
‘ทุก ๆ ก้าวของความพยายามนั้น มีโอกาสเติบโตและชนะต้นทุนชีวิต ที่ติดลบได้’
3. ดึงดูดใจด้วย Virtual Idol ตัวแทนเทคโนโลยี AI
หากพูดถึงอุตสาหกรรมดนตรี Pop Culture ก็ต้องบอกว่า K-pop จากเกาหลีใต้ยืนหนึ่งไม่แพ้ใคร เพราะพวกเขาสื่อสารวัฒนธรรมผ่านเพลงด้วยภาษาเกาหลีเป็นหลัก และโชว์ความสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร จนกลายเป็นที่ชื่นชอบ เรียกแฟนคลับได้จากทั่วโลก
และจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้ผสมผสาน ทดแทนการทำงานของคนได้หลายบทบาท ซึ่งล่าสุด เกาหลีใต้ก็นำเทคโนโลยี AI มาสร้างคอนเซ็ปต์ให้วงการเพลง อย่างเช่นวง Aespa
Aespa คือ ศิลปินเกิร์ลกรุปจากเกาหลีใต้วงแรก ที่ใช้ AI สร้างสีสันและเป็นจุดขาย ซึ่งชื่อของวง (แบรนด์) นั้นย่อมาจาก Avatar x Experience เรียกว่าเป็นการผสมอย่างลงตัวระหว่างศิลปินกับ AI ที่เป็นตัวแทนจาก Metaverse หรือโลกเสมือนจริง เปิดตัวด้วย Youtube ที่มีผู้ชมมากถึง 282.5 ล้านวิว
โดยแบ่งเป็นศิลปิน 4 คน และร่าง AI (สมาชิก Avatar) ที่เป็นเหมือนคู่หูของศิลปิน อีก 4 ร่าง และศิลปิน AI ทั้ง 4 คนนั้น จะมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง เปิดให้แฟนคลับสามารถพูดคุยหรือซัพพอร์ตได้ ซึ่งนั่นเป็นการปฏิวัติวงการและเรียกฐานแฟนคลับที่ชื่นชอบเทคโนโลยีเสมือนจริง ได้เป็นอย่างดี
คอนเซ็ปต์นี้แสดงจุดยืนของค่าย SM Entertainment (หนึ่งในสามบริษัทอุตสาหกรรมบันเทิง ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเกาหลีใต้) เคยออกมาเผยไว้ว่า พวกเขาต้องการเป็นผู้นำในการสร้างศิลปินให้เป็น Virtual Idol และก็ทำได้สำเร็จ (ปัจจุบัน Aespa ทำรายได้รวมสูงสุดมากถึง 1.37 ล้านดอลลาร์)
นี่ถือเป็นก้าวสำคัญจากเกาหลีใต้ ที่ใช้ Soft Power ผสานเข้ากับเทคโนโลยี AI ได้สำเร็จในมุมของการโปรโมตให้ทั่วโลกได้รู้ว่า พวกเขาพร้อมรับมือและก้าวไปสู่โลก Metaverse อย่างเต็มตัว
มาถึงตรงนี้ ก็คงจะเห็นความสำเร็จของการใช้ ‘อิทธิพลจากความชอบ ไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI ได้’ ซึ่งเราเชื่อว่าในอนาคต เกาหลีใต้จะสร้างแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ที่เป็นของตัวเองขึ้นมาเพื่อผลักดันประเทศให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกให้เราได้เห็นมากขึ้นอีกอย่างแน่นอน
สรุปทั้งหมด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศเกาหลีใต้ มอบบทเรียนใหญ่ให้กับผู้คนในประเทศอื่น ๆ ไปทั่วโลก โดยใช้อาวุธลับสำคัญอย่างพลังแห่ง ‘Soft Power’ ในการเผยแพร่คุณค่าด้านเทคโนโลยี และค่านิยมของการสร้างธุรกิจ หรือแนวความคิดในลักษณะ Growth Mindset ให้เป็นไปแบบร่วมสมัย ซึ่งเกาหลีใต้พิสูจน์แล้วด้วยการกอบโกยรายได้เข้าประเทศไปอย่างมหาศาล พูดง่าย ๆ ก็คือ
ยุทธศาสตร์ Soft Power จะช่วยเปลี่ยนอิทธิพลทางธุรกิจ ให้เป็นความสำเร็จ และพร้อมจะเติบโตไปอย่างสร้างสรรค์นั่นเอง :-)
Source: Vox, Voi.id, Reuters