เมื่อช่วงเดือนเมษายน ปี 2021 ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวคราวการรายงานจากหลายสำนักว่า ได้เกิดเหตุการณ์ The Great Resignation ในสหรัฐอเมริกาขึ้นมา หรือการที่พนักงานเต็มใจลาออกจากงานครั้งใหญ่ของปี ซึ่งการลาออกในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นตัวเลขทำลายสถิติตลอดกาลด้วย
ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่กินระยะเวลายาวมาตลอด 2 ปีและมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้หลายบริษัทไม่สามารถกลับไปทำงานร่วมกันในออฟฟิศได้เหมือนเดิม จึงต้องมีนโยบายให้พนักงานทุกคน Remote Working แทน เพื่อลดการแพร่ระบาดขึ้น
แต่เมื่อปรับการทำงานเป็นแบบ Remote Working แล้ว พนักงานส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าตัวเองเครียด เกิดอาการ Burnout ไม่มีความสุขกับการทำงานเหมือนแต่ก่อน ขาด Work-Life-Balance ทำงานเยอะกว่าปกติ ตรงข้ามกับตอนที่ได้ทำงานในออฟฟิศ ที่ทำงานสนุกกว่าและได้มีการพูดคุยพบปะกับเพื่อนร่วมงาน
เราจึงได้ไปหาคำตอบที่แท้จริงมาว่า ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา เพียงเพราะแค่การที่พวกเขา Remote Working อย่างเดียวหรือเปล่า ที่ทำให้พวกเขาเกิดความคิดในการลาออกครั้งใหญ่ขึ้นมา หรือมีเหตุผลอื่นร่วมด้วยหรือไม่? ไปหาคำตอบกันต่อในบทความนี้ได้เลย
The Great Resignation คืออะไร?
The Great Resignation คือ เหตุการณ์ที่พนักงานบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาเต็มใจลาออกจากงานครั้งใหญ่ที่สุดของปี
ซึ่งจากสถิติพบว่าเดือนเมษายน 2021 มีพนักงานชาวอเมริกันกว่า 4 ล้านคนลาออกจากงานของตัวเอง ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้ลดน้อยลงเลย แต่กลับพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปลายเดือนกรกฎาคม 2021 พบว่าในบริษัทต่าง ๆ มีตำแหน่งงานว่างมากถึง 10.9 ล้านตำแหน่ง ถือว่าทำลายสถิติตำแหน่งงานว่างที่มากที่สุดนับตั้งแต่เคยมีมาในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
สำหรับพนักงานช่วงวัยที่ลาออกมากที่สุด จะเป็นพนักงานระดับ Mid-Level ช่วงอายุ 30-45 ปี โดยมีการลาออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 20% ในช่วงระหว่างปี 2020-2021 ในขณะที่พนักงานระดับ Entry-Level ในช่วงอายุ 20-25 ปี มีอัตราการลาออกลดน้อยลงกว่า
ทั้งนี้เป็นเพราะว่าจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้หลายบริษัทต้องทำงานแบบ Remote Working ซึ่งถ้าหากบริษัทจ้างงานผู้ที่มีประสบการณ์น้อย อย่างกลุ่ม Entry-Level มา จะมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ เพราะพวกเขาไม่สามารถเทรนงานแบบตัวต่อตัว ให้การอบรม ให้คำแนะนำแก่คนกลุ่มนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับตอนที่ได้เข้าออฟฟิศ
ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงอยากได้พนักงานที่มีประสบการณ์การทำงานมาอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนในกลุ่ม Mid-Level ถึงมีอัตราการลาออกจากงานเยอะที่สุด เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ มีตัวเลือกในการเลือกงานมากกว่ากลุ่ม Entry-Level ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้นเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาเลือกเดินออกจากบริษัทเดิมที่เคยทำงานอยู่ แต่ก็ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจครั้งใหญ่ออกไป
เหตุผลที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ The Great Resignation
ไม่มีการใช้เครื่องมือเทคโนโลยี ระบบการจัดการขององค์กรไม่มีประสิทธิภาพ และขาดความยืดหยุ่น
การทำงานแบบ Remote Working ถือว่าเป็นด่านวัดใจสำหรับหลาย ๆ บริษัท เพื่อดูว่าตัวเองมีระบบการจัดการที่ดี หรือมีความพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตมากน้อยขนาดไหน ซึ่งพนักงานกว่า 72% บอกว่า พวกเขาไม่ชอบ ‘ระบบการจัดการ’ และ ‘วิธีการทำงาน’ ขององค์กรมากกว่า ‘เนื้องานที่กำลังทำอยู่’ จึงนำไปสู่การลาออกในที่สุด
เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า บริษัทไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีและระบบ Automation มาใช้ในองค์กร ปัจจุบันถ้าหากบริษัทไหนที่ไม่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้จะค่อนข้างทำงานยากมากขึ้น ไม่เพียงแต่เรื่อง Scale-up บริษัทในอนาคตเท่านั้น แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ทุกอย่างล้วนจะเป็นออนไลน์มากขึ้น
และเราเชื่อว่าระบบหรือวิธีการทำงานขององค์กรต่าง ๆ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะพนักงานเริ่มเคยชินกับการทำงานรูปแบบใหม่ (ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ) หลายบริษัทดังระดับโลก เช่น Salesforce, Spotify, Facebook และอีกมากมาย ต่างก็มีการเปลี่ยนการระบบการทำงานเป็นแบบไฮบริด คือให้พนักงานเลือกได้ว่าอยากทำงานแบบ Remote Working หรือกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้อย่างอิสระ
เพราะจริง ๆ แล้ว ถ้าระบบการจัดการขององค์กรดี การทำงานก็จะยืดหยุ่น ไม่ว่าจะทำงานที่ออฟฟิศหรือทำงานจากที่ไหนก็มีประสิทธิภาพได้ทั้งนั้น ดังนั้นหากบริษัทมีการนำเครื่องมือเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร เช่น นำเครื่องมือด้าน Project Management มาใช้ ก็จะช่วยให้องค์กรมีระบบการจัดการที่ดีขึ้นด้วย
ไม่ว่าจะเป็น ด้านการติดตามงานที่ดูง่ายไม่ซับซ้อน, ระบบ Task Management ที่ทำให้ Workflow เป็นระเบียบมากขึ้น, การติดต่อสื่อสาร หรือการ Assign งานที่ไม่ตกหล่น ซึ่งไม่ว่าพนักงานจะทำงานที่ไหน พวกเขาก็สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบระเบียบ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแน่นอน
ภาวะ Burnout และขาด Work-Life Balance
หลังจากที่ Covid-19 มีการแพร่ระบาดขึ้น หลายบริษัทก็ได้ปรับการทำงานมาเป็นแบบ Remote Working ทำให้พนักงานกว่า 3 ใน 4 รู้สึกว่า ตัวเองไม่มี Work-Life Balance และรู้สึก Burnout มากกว่าเดิม
จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า 72% ของพนักงานทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตลอดระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา และอีก 75% บอกว่า ภาระหน้าที่งานของพวกเขาเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกเท่าตัวโดยไร้สาเหตุ
เพราะการทำงานแบบ Remote Working สำหรับบางบริษัทหมายถึงว่า พนักงานต้องสามารถทำงานได้ทั้งวัน เช่น หัวหน้าจะเอางานตอนไหนก็ต้องส่งให้ได้ทันที, สามารถประชุมเกินเวลาพักผ่อนของพวกเขาได้ หรือสั่งงานล่วงหน้ามาก่อน ทำให้พนักงานรู้สึกว่าต้องทำงานนั้นเลยหรือมีภาระงานรออยู่ตลอดเวลา
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้พนักงานรู้สึกขาด Work-Life Balance แม้จะทำงานอยู่ที่บ้านก็ตาม แต่ก็ไม่มีเวลาให้ตัวเองหรือครอบครัวเลย ทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อยและ Burnout ได้ง่ายกว่าตอนที่ต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศเสียอีก
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ The Great Resignation กับบริษัทของคุณ
นำเครื่องมือเทคโนโลยีและระบบ Automation มาใช้ในองค์กร
จริง ๆ แล้ว พนักงานที่ลาออกบางส่วนบอกว่า พวกเขาไม่ได้มีความคิดอยากเปลี่ยนที่ทำงานเลย เพราะใคร ๆ ก็อยากทำงานที่ตัวเองชอบ มีความสุข และอยู่ในสังคมที่คุ้นเคยกันแล้วทั้งนั้น แต่สิ่งที่พวกเขาอยากเปลี่ยน คือ “วิธีการทำงาน” ต่างหาก
เพราะหลังจากที่หลายบริษัทปรับนโยบายให้พนักงานทุกคน Remote Working พวกเขาก็พบว่าบริษัทของตัวเองไม่สามารถรับมือกับการทำงานแบบนี้ได้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน ทำให้วิธีการทำงานมีปัญหา ไม่มีความยืดหยุ่น เช่น ติดต่อสื่อสารยาก, เทรนงานให้กับพนักงานใหม่ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร, หัวหน้าทีมไม่สามารถติดตามการทำงานของแต่ละฝ่ายได้ การทำงานจึงต้องหยุดชะงักลงในบางครั้ง
จากสถิติชี้ให้เห็นว่า พนักงานในบริษัทที่ใช้ระบบ Automation ในที่ทำงานมีเพียง 14% เท่านั้นที่มีความคิดลาออกจากงาน เมื่อเทียบกับพนักงานที่อยู่ในบริษัทที่ไม่ได้ใช้ระบบ Automation มีจำนวนมากถึง 42% ที่ตัดสินใจลาออกจากงาน
และ 74% ของพนักงานที่ไปสำรวจมายังบอกอีกว่า พวกเขาชอบที่จะทำงานในตำแหน่งเดิมมากกว่าไปตามหาโอกาสใหม่ ๆ ในที่ทำงานใหม่ และตัวเลขนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 90% เมื่อพนักงานเหล่านี้ได้ทดลองใช้ระบบ Automation ในการทำงาน ภายในระยะเวลา 18 เดือน
เพราะพวกเขามีความยืดหยุ่นในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเลือกทำงานแบบ Remote Working หรือเข้าออฟฟิศ ทุกคนก็สามารถทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข ติดตามงานจากทีมอื่น ๆ ได้ง่ายมากขึ้น
ดังนั้นคุณจะเห็นแล้วว่าพนักงานส่วนใหญ่มักจะชอบใช้เครื่องมือเทคโนโลยีและใช้ระบบ Automation ในการทำงาน เพราะเครื่องมือพวกนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความผิดพลาด ช่วยทุ่นแรงให้กับตัวพนักงานเท่านั้น แต่ยังช่วยให้การทำงานระหว่างทีมเป็นไปอย่างไร้รอยต่ออีกด้วย
มีการพูดคุยกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ
ใครหลายคนที่มีการทำงานแบบ Remote Working อยู่ ก็อาจจะรู้สึกว่า คุณขาดการติดต่อกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานไปบ้าง จากที่เคยได้มีการพูดคุยทักทายกันในทุก ๆ วัน ตอนเข้าออฟฟิศ แต่เมื่อต้อง Remote Working ก็ห่างหายกันไปเลย (จะได้คุยกันก็เฉพาะตอน Daily StandUp หรือไม่ก็ตอนที่ต้องประชุมอัปเดตงานกันเท่านั้น)
พนักงานหลายคนจึงไม่ค่อยได้มีโอกาสได้พูดคุย มีส่วนร่วม หรือปรับทุกข์กันเหมือนที่เคยเป็นก่อนหน้านี้ ดังนั้นสำหรับใครที่เป็นหัวหน้าหรือระดับ Manager ก็อย่าลืมหาโอกาสไปพูดคุยกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอด้วย ในช่วงเวลาที่ต้องทำงานแบบ Remote Working
โดย Manager อาจจะมีการจัดเซสชั่นพูดคุยกันแบบ 1-1 ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อที่จะได้ถามสารทุกข์สุขดิบคนในทีม หรือถามว่ามีปัญหาระหว่างการทำงานหรือไม่ ช่วยเพิ่มเป้าหมายและความท้าทายในการทำงานให้กับพนักงานด้วยการวาง Career Path ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หรือเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่เขาอยากลองทำ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
ลองเพิ่มความใกล้ชิดให้กับพวกเขา แสดงให้พวกเขาเห็นถึงความใส่ใจของคุณ เมื่อพนักงานและคุณมีความใกล้ชิดกัน ก็จะยิ่งทำให้พวกเขากล้าที่จะเปิดใจมาพูดคุยกับเรามากขึ้น แล้วเราก็สามารถผลักดันเขาไปในทางที่เขาต้องการได้ดีมากขึ้น พวกเขารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับองค์กร และเป็นคนสำคัญของทีม ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้พวกเขารู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเอง และเกิดแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการทำงานขึ้น
เปิดโอกาสให้พนักงานทดลองอะไรใหม่ ๆ
เป็นธรรมดาที่พนักงานต้องทำงานซ้ำ ๆ แบบเดิมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งถ้าหากบริษัทไม่เปิดโอกาสหรือกระตุ้นให้พวกเขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เลย ก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกเบื่อ จนนำไปสู่การลาออก เพื่อไปอยู่กับองค์กรที่พร้อมเปิดใจรับความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาจริง ๆ
เพราะโดยส่วนมากแล้ว พนักงานหลาย ๆ คนมักจะมีความคิดสร้างสรรค์เป็นของตัวเอง แล้วการที่องค์กรเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ ได้คิดค้นแคมเปญหรือฟีเจอร์ที่แปลกใหม่ สิ่งนั้นอาจกลายเป็นนวัตกรรมชิ้นโบว์แดงของบริษัทอีกชิ้นหนึ่งก็ได้
จากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า พนักงานมากถึง 81% บอกว่าพวกเขาเต็มใจที่จะอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าหากนายจ้างเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำงานในสิ่งที่พวกเขารู้สึกสนุกและมีความสุขไปด้วยอยู่เสมอ
ดังนั้น ลองหันมาเปลี่ยนองค์กรของคุณให้เป็นมากกว่าแค่ที่ทำงาน ทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่ได้มาทำงานเพื่อรับค่าตอบแทนเพียงเท่านั้น แต่ให้พวกเขาได้เป็นตัวของตัวเอง ได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรออกมาอย่างเต็มที่
เพราะถ้าหากคุณไม่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองอะไรใหม่ ๆ ได้ทดลองทำในสิ่งที่พวกเขาชอบ และคิดว่าเป็นไอเดียที่ดีต่อองค์กร ก็อาจเท่ากับว่าบริษัทไปปิดกั้นพวกเขา ทำให้สุดท้ายแล้วคุณอาจเสียพนักงานดี ๆ ให้กับบริษัทคู่แข่งก็เป็นได้
ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
การที่บริษัทให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจ (Mental Health) และความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของพนักงาน ดูเหมือนว่ามันเป็นปัจจัยที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับข้ออื่น แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจัยข้อนี้สำคัญมาก ๆ
เพราะหลังจากหลายบริษัทปรับเปลี่ยนการทำงานมาเป็นแบบ Remote Working ข้อดีที่พนักงานหลายคนกล่าวถึงคือ ทำให้พวกเขาสามารถจัดสรรเวลาเองได้ และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร หรือค่าเสื้อผ้า แถมยังไม่ต้องเผชิญกับการเมืองในที่ทำงานอีกด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน การทำงานแบบ Remote Working ก็ทำให้สภาพจิตใจของพนักงานหลายคนบอบช้ำมากยิ่งขึ้นจากอาการ Burnout ที่เกิดจากบางองค์กรไม่มี Work-Life Balance ที่ดีให้พวกเขาเลย ยิ่งทำงานก็ยิ่งเหมือนเวลาส่วนตัวหายไป
ดังนั้นทางที่ดีถ้าองค์กรไหนที่รู้ว่าตัวเองกำลังไปรุกล้ำเวลาส่วนตัวของพนักงาน เช่น จากปกติทำงาน 9.00-17.00 น. พอเปลี่ยนเป็น Remote Working ก็ลากยาวไปจน 19.00-20.00 น. (หรือมากกว่านั้น) เราก็แนะนำให้คุณเคารพเวลาพักผ่อนของพวกเขาด้วย เพราะถ้าทำงานหนักจนเกิดภาวะ Burnout การทำงานของพวกเขาก็จะยิ่งไม่มีประสิทธิภาพตามไปด้วย
เปลี่ยนวิธีการทำงานขององค์กร ก่อนที่จะเสียพนักงานคนสำคัญของคุณไป
เหตุการณ์ The Great Resignation จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับองค์กรของคุณอย่างแน่นอน หากคุณปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน อย่างการนำเครื่องมือเทคโนโลยีและระบบ Automation มาใช้ในองค์กร ก็เป็นหนึ่งในวิธีนั้น
เพราะเครื่องมือเทคโนโลยี อย่างเช่น Project Management Tool จะช่วยลดภาระการทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพวกเขาลง ให้เขามีเวลาไปโฟกัสงานสำคัญ (เช่น งานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์) ลดข้อผิดพลาด และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น เมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้แล้ว การทำงานก็จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พนักงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเหมือนที่เคยเป็นก่อนหน้านี้ แต่ทั้งนี้คุณก็ต้องมีการดูแลสุขภาพจิตใจ สวัสดิการ และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงานมากขึ้นด้วย
หากพนักงานรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับคุณ รู้สึกใกล้ชิดกับองค์กรแล้ว พวกเขาก็จะกล้าเปิดใจพูดคุยกับคุณ ดังนั้นองค์กรของคุณควรลองเปิดใจทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ เพื่อไม่ให้เสียพนักงานที่มีความสามารถอีกคนหนึ่งของคุณไป