จากผลพวงของสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามามีบทบาทต่อการทำงานและการทำธุรกิจทั่วโลก ปัจจุบันก็กินระยะเวลาเกือบ 1 ปีเต็มแล้วที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานในชีวิตประจำวันของเราและมีแนวโน้มสูงที่เราจะต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ไปอีกสักพักใหญ่
ทำให้หลายองค์กรต้องปรับใช้การทำงานที่เรียกว่า Remote Working หรือการทำงานจากสถานที่ไหนก็ได้ แทนที่จะต้องมาทำงานพร้อมกันที่ออฟฟิศ ซึ่งบางองค์กรก็ได้มีการทำงานแบบ Remote Working ไปแล้วในระยะสั้น ๆ แต่ก็มีอีกหลายองค์กรดังที่ตัดสินใจเลือกการทำงานแบบ Remote Working มาปรับใช้ในแบบระยะยาว เช่น Facebook หรือ Microsoft
แต่ล่าสุดก็มีเรื่องน่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อ Salesforce และ Spotify 2 ธุรกิจด้านเทคโนโลยีชื่อดัง เริ่มมีการปรับรูปแบบการทำงานใหม่ โดยการให้อิสระแก่พนักงานให้ Remote Working ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น แทนที่จะต้องมาทำงานร่วมกันที่ออฟฟิศในสถานการณ์ที่มีโรคระบาด
โดยทั้ง 2 องค์กรแม้จะตัดสินใจแบบเดียวกัน แต่ก็มีรายละเอียดที่ให้พนักงานปฏิบัติแตกต่างกันออกไป ซึ่งทั้ง 2 แบบถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้องค์กรในบ้านเรานำไปปรับเปลี่ยนและประยุกต์กับวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่
แต่รายละเอียดการ Remote Working แบบเต็มระบบของทั้ง 2 องค์กรที่ว่ามานั้น จะมีอะไรบ้าง The Growth Master สรุปมาให้คุณแล้ว เชิญติดตามต่อได้ในบทความ
จาก Dropbox สู่ Salesforce กับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่การทำงานแบบ Remote Working 100%
เมื่อช่วงเดือนมกราคม The Growth Master ได้นำเสนอเบื้องหลังการปลดพนักงานของ Dropbox ที่เป็นผลมาจากการทำงานแบบ Remote Working 100% (Dropbox เรียกนโยบายนี้ว่า Virtual First) ทำให้องค์กรมองเห็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็นต่อการทำงาน จนนำไปสู่การลดจำนวนพนักงานในครั้งนี้
ล่าสุด Salesforce อีกหนึ่งบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำด้าน CRM ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานขององค์กรครั้งใหญ่ โดยพวกเขาตัดสินใจให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานแบบ Remote Working ได้อย่างอิสระ ตามความต้องการของพนักงาน
ซึ่งเรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย Brent Hyder ประธานฝ่ายบุคคลของ Salesforce มีใจความว่า “ปัจจุบันนั้นโลกของเรามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากมาย ที่ทำให้พนักงานของ Salesforce สามารถเชื่อมต่อกันได้ตลอดเวลาจากทั่วโลก แม้จะมี Time Zone ที่ต่างกัน แต่ก็ยังสามารถทำงานด้วยกันได้เสมอ”
“และเขาไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องบังคับให้พนักงานต้องมานั่งทำงานในออฟฟิศให้ครบ 8 ชั่วโมง มันเป็นอะไรที่ตกยุคไปแล้วสำหรับปัจจุบัน มีพนักงานบางคนที่พวกเขาต้องรีบกลับไปรับลูกจากโรงเรียน ดูแลคนในบ้านที่ป่วย หรือคนอื่นที่มีภาระสำคัญ พวกเขาไม่ควรที่จะต้องมาถูกกฏการทำงานที่ออฟฟิศ มาทำให้พวกเขาต้องลำบากในการทำหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ”
อีกทั้ง Brent Hyder ยังเสริมต่อว่า “เมื่อ Salesforce ปรับรูปแบบการทำงานมาใช้การ Remote Working ได้อย่างอิสระแบบนี้ ทำให้เราสามารถรับพนักงานเก่ง ๆ มีความสามารถสูงได้จากทั่วโลก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสถานที่หรือการเดินทางอีกต่อไป เพราะระบบการทำงานแบบ Remote Working ได้เชื่อมพวกเราไว้เป็นหนึ่งเดียวกันผ่านออนไลน์หมดแล้ว ซึ่งผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าการทำงาน 9TO5 (9โมงเช้าถึง5โมงเย็น) มันได้ตายไปแล้ว”
รายละเอียดของรูปแบบใหม่ของการทำงานแบบ Remote Working ในครั้งนี้นั้น Salesforce ได้เริ่มทำการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานทั้งองค์กร โดยให้พนักงานเขียนปัญหาของการทำงานแบบปกติที่ออฟฟิศรวมถึงสิ่งที่อยากให้ Salesforce แก้ไข หลังจากที่ได้สั่งให้พนักงาน Work From Home ไปในช่วงปีที่แล้วจากผลโควิดระลอกแรก
โดยผลสำรวจที่ได้มาพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ของ Salesforce รู้สึกมีความสุขกับการทำงานที่บ้านมากกว่าที่ออฟฟิศ ไม่อยากเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศทุกวันเหมือนก่อน แต่อย่างไรก็ตามเกือบ 80% ของพนักงานก็ไม่ได้อยากทำงานที่บ้านอย่างถาวร พวกเขาต้องการเข้ามาออฟฟิศบ้าง เพื่อทำงานสำคัญที่ไม่สามารถทำที่บ้านได้รวมถึงรักษาความสัมพันธ์ระหว่างที่ทำงานด้วย
ด้วยเหตุนี้เองเลยทำให้ Dropbox คิดทางเลือกให้กับพนักงานมา 3 แบบ ซึ่งอนุญาตให้พนักงานทุกคนเลือกวิธีการทำงาน (Option) ได้อย่างอิสระได้แก่
1. Fully Remote - คือรูปแบบการทำงานที่ให้พนักงานของ Salesforce ทำงานที่บ้านหรือ Remote Working ได้แบบ 100% ไม่ต้องเข้ามาที่ออฟฟิศเลยถ้าไม่มีธุระสำคัญ ซึ่งตัวเลือกนี้ได้รับความนิยมจากพนักงานที่มีที่พักอาศัยห่างไกลจากออฟฟิศของ Salesforce
2. Flex - คือรูปแบบการทำงานที่จะยืดหยุ่นขึ้น สำหรับใครที่เลือกตัวเลือกนี้จะต้องเข้ามาออฟฟิศแค่ 1-3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อนัดหมายการประชุมกับทีม พบลูกค้า พรีเซนต์งาน หรือทำงานสำคัญต่าง ๆ ที่ไม่สามารถทำที่บ้านได้
3. Office-Based - คือรูปแบบการทำงานที่พนักงานยังต้องเข้ามาออฟฟิศเป็นหลัก โดยสำหรับพนักงานที่เลือกตัวเลือกนี้จะต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศมากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์ (หรือมาทุกวันก็ได้) ซึ่ง Salesforce ขอความร่วมมือให้พนักงานเลือกตัวเลือกนี้เป็นอันดับสุดท้าย
ทาง Salesforce หวังว่าคำสั่งการทำงานแบบ Remote Working ในครั้งนี้จะช่วยให้พนักงานทุกคนได้อิสระในชีวิตการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องมายึดติดว่าวันหนึ่งต้องทำงานให้ครบ 8 ชั่วโมงอีกต่อไป ขอเพียงคุณจัดการกับงานได้ในเวลาที่กำหนด แค่นี้ก็เพียงพอ
นอกจากนั้น Salesforce ยังได้มีการบอก Toolskit หรือชุดเครื่องมือในการทำ Remote Working ที่มีประสิทธิภาพออกมาด้วย โดย Tools หลัก ๆ ที่ Salesforce ใช้ในการ Remote Working นั้นก็จะเป็น Tools ด้านการจัดการทีมของบริษัทตัวเองอย่าง Quip , Slack (อ่านสาเหตุที่ทำให้ Salesforce ตัดสินใจซื้อ Slack ได้ที่ > บทความนี้)
และ Brent Hyder ก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของ Salesforce สู่ความเป็น Remote Working อย่างเต็มรูปแบบในครั้งนี้ ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน แต่นี่คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรสู่อนาคตด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการทำงาน”
“ เราต้องใส่ใจการทำงานของพนักงานทุกคน เพราะพนักงานของเรา คือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของ Salesforce ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้”
Spotify ขอด้วย! กับการทำงานแบบ Remote Working เต็มรูปแบบที่จะเริ่มในเดือนนี้
ไม่ใช่เพียงแค่ Salesforce ที่จะเริ่มนโยบาย Remote Working เต็มรูปแบบในเดือนนี้แต่ Spotify ผู้นำด้าน Music Streaming ชื่อดังของโลกที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ก็ขอปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานขององค์กรให้มีความเป็น Remote Working มากขึ้นเช่นกัน
Anna Lundström (ตำแหน่ง Vice President HR of Spotify) ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า “ Spotify มีความเชื่อว่า งานคือสิ่งที่คุณทำ ไม่ใช่การมาที่ออฟฟิศ , การให้อิสระในการเลือกสถานที่ทำงานให้แก่พนักงาน เราเชื่อว่าจะช่วยทำให้งานชิ้นนั้นออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการเพิ่มสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัวของพนักงานทุกคนอีกด้วย”
“ที่สำคัญคือทุกวันนี้เราสามารถสื่อสารกันทั้งองค์กรได้แล้ว สิ่งนี้ช่วยให้เรามีการทำงานที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือต่าง ๆ ในปัจจุบัน”
โดยทาง Spotify ได้ออกมาให้ตัวเลือก (Option) การทำงานแบบ Remote Working ให้กับพนักงาน 2 ตัวเลือกด้วยกัน ได้แก่
1. My Work Mode - ตัวเลือกนี้จะอนุญาตให้พนักงานที่เลือก สามารถทำงานแบบ Remote Working ได้ 100% จากสถานที่ไหนก็ได้ แต่ทั้งนี้พนักงานก็ต้องเข้ามาออฟฟิศในวันที่ผู้จัดการของแต่ละแผนกต้องการหรือมีงานสำคัญ
2. Location Choices - หากพนักงานคนใดต้องการเข้ามาทำงานร่วมกันผู้อื่นที่ออฟฟิศบ้าง ทาง Spotify ได้จัดตัวเลือกนี้ไว้ โดยพวกเขาจะให้สิทธิ์การเป็นสมาชิก Co-Working Space ในละแวกต่าง ๆ ทั่วอเมริกาและยุโรปเพื่อใช้ในการทำงาน (เหมือนเป็นออฟฟิศเล็ก ๆ ของ Spotify ทั่วประเทศ) โดยพนักงานที่อยู่ละแวกใกล้ ๆ กันสามารถนัดวันมาทำงานด้วยกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาสำนักงานใหญ่
แต่สำหรับพนักงานคนใด ที่สมัครใจอยากมาทำงานที่สำนักงานใหญ่เหมือนปกติ Spotify ก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด
สำหรับการออกนโยบาย Remote Working รูปแบบใหม่ของ Spotify นั้นถือว่าเป็นอีกหนึ่งไอเดียในการดูแลพนักงานในองค์กรของ Spotify หลังจากที่ในปี 2018 Spotify เคยออกนโยบาย Flexible Holiday หรือการให้สิทธิ์พนักงานเลือกทำงานในวันหยุดราชการ,เทศกาล แล้วนำสิทธิ์วันหยุดนั้นไปใช้ในวันอื่นแทน ก็เป็นอีกนโยบายที่หลายองค์กรเริ่มนำไปปรับใช้กันแล้ว
โดย Spotify ทิ้งท้ายว่า “นโยบาย Remote Working ขององค์กรเกิดขึ้นจากความไว้วางใจที่เรามีให้กับพนักงาน ในการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน ทั้งหมดนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่ให้กับ Spotify เพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับพนักงานทุกคน”
“และเราจะสนับสนุนทั้งในด้านค่าใช้จ่าย ภาษี ประกันภัยทุกอย่าง สวัสดิการต่าง ๆ ให้พนักงานทุกคนของเราทำงานได้อย่างเต็มที่ แม้พวกเขาจะไม่ได้มาเจอกันที่ออฟฟิศทุกวัน เพื่อสร้างการเติบโตให้กับพนักงานเหมือนเดิม”
แล้วองค์กรในไทยสามารถปรับรูปแบบของ Remote Working ให้พนักงานมีความอิสระมากขึ้นได้หรือเปล่า ?
ถ้าคุณอ่านเนื้อหาในหัวข้อด้านบน จะพบเลยครับว่าทั้ง Salesforce และ Spotify จะพูดถึงและให้ความสำคัญกับ “เครื่องมือและเทคโนโลยี” เป็นอย่างมาก
เพราะถ้าองค์กรมีชุดเครื่องมือ Tools ที่ดี เหมาะสมกับขนาดขององค์กร สามารถให้ทั้งองค์กรทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมทั้งองค์กรเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน “สถานที่ทำงาน”อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญของการทำงานต่อไป (แต่อย่างไรก็องค์กรควรต้องมีการทำงานที่ออฟฟิศบ้าง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของทีม ไม่ใช่ Remote Working 100%)
ดังนั้นสำหรับองค์กรใดที่เริ่มเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีในการทำงาน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกใช้เทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์แบบไหนมาปรับใช้กับองค์กร, ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร The Growth Master ขอแนะนำบริการใหม่ “BUSINESS TECH STACK CONSULTING” บริการให้คำปรึกษาด้านการใช้ซอฟต์แวร์ในบริษัท เพื่อการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ สู่โลกยุคใหม่กับการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี หากองค์กรใดสนใจ เริ่มติดต่อ The Growth Master ได้ที่ >> ลิงก์นี้