หลังจากในช่วงเดือนที่ผ่านมามีกระแสข่าวลือออกมาเป็นอย่างหนักว่า Slack แพลตฟอร์มด้านการสื่อสารภายในองค์กร กำลังจะถูก Salesforce ธุรกิจแพลตฟอร์มด้านระบบ CRM อันดับ 1 ของโลกซื้อกิจการไปด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล
ซึ่งเมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาข่าวลือที่ว่านั้นก็กลายเป็นความจริง เมื่อ Salesforce ทำการยืนยันว่าพวกเขาได้ซื้อกิจการของ Slack มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยจำนวนเงินกว่า 27,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 837,232 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งดีลประวัติศาสตร์ของธุรกิจออนไลน์แพลตฟอร์ม
และดีลนี้เองก็สร้างความประหลาดใจและความสงสัยของผู้ที่ติดตามไม่น้อยว่า ทำไมธุรกิจแพลตฟอร์ม CRM ถึงบ้าเลือดไปซื้อกิจการแพลตฟอร์มเรื่องการจัดการองค์กร ที่ดูไม่มีความเกี่ยวข้องกันสักนิด
แน่นอนว่าเบื้องหลังของดีลนี้ก็ถูกออกมาเปิดเผยแล้วจากปาก CEO ของ Salesforce ว่าที่พวกเขาตัดสินใจซื้อกิจการของ Slack ในครั้งนี้เป้าหมายไม่ได้มีอะไรมากเลย พวกเขาแค่ต้องการ “สร้างการเติบโตที่มากขึ้นให้กับธุรกิจ” เท่านั้นเอง
ในบทความนี้ The Growth Master เลยขอพาทุกท่านไปศึกษาเบื้องหลังของดีลแห่งปี 2020 นี้ว่า ทำไม Salesforce ถึงต้องทุ่มเงินมหาศาลเข้าซื้อกิจการของ Slack หากพร้อมแล้วไปติดตามต่อได้เลย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! จุดเริ่มต้นดีลนี้เกิดเพราะ Slack จะมาซื้อ (สินค้า) Salesforce ก่อน
แม้จะฟังดูน่าตลกไปสักนิด แต่เบื้องหลังของดีลแห่งปีนี้ ต้นเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นจาก Slack ติดต่อไปหา Salesforce ก่อน โดยเรื่องนี้ถูกเล่าจากปากของ Stewart Butterfield (CEO ของ Slack) เขาเล่าว่าในตอนแรกนั้น Slack ติดต่อไปหา Salesforce ก่อนจริง
แต่ Slack นั้นไม่ได้ติดต่อไปหา Salesforce เพื่อขายกิจการนะครับ แต่พวกเขาโทรศัพท์ไปหาฝ่ายขายของ Salesforce เพื่อติดต่อขอซื้อซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Quip ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ด้านการจัดการงานเอกสารร่วมกันขององค์กร (ลักษณะคล้าย Google Workspace) ที่เป็นอีกหนึ่ง Software Product ที่ Salesforce ได้ไปซื้อกิจการมาเป็นของตัวเอง
โดย Butterfield กล่าวว่าเดิมทีนั้น Slack ต้องการซื้อ Quip มาเป็นของตัวเอง เพราะคิดว่า Quip นี่แหละคือซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาเติมเต็มฟังก์ชันการใช้งานให้กับ Slack (คุยงาน ประชุมทีม แล้วแก้เอกสารให้จบใน Slack ได้เลย) และเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการพา Slack ไปสู่การเติบโตได้
ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของดีลนี้ครับ เมื่อหลังจากนั้นทาง Bret Taylor ที่เป็นผู้ก่อตั้ง Quip และปัจจุบันก็กลายมาเป็น COO ของ Salesforce ทราบเรื่องที่ Slack จะมาขอซื้อ Quip ในช่วงเดือนเมษา แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาดหนักในตอนนั้น ทำให้ทาง Taylor ขอเวลาไปตัดสินใจมาก่อน ซึ่งก็หายไปนานกว่า 6 เดือน จนทาง Slack เริ่มตัดใจ
แต่ใครจะไปเชื่อครับว่า 6 เดือนที่หายไป Taylor และ Salesforce ได้ติดต่อกลับมาหา Slack อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้พวกเขาไม่ได้ต้องการที่จะขาย Quip ให้อีกแล้ว แต่พวกเขาตัดสินใจขอฮุบกิจการ ซื้อ Slack ทั้งหมด! ด้วยเงินกว่า 8.3 แสนล้านบาท
ทำไม Salesforce ถึงตัดสินใจซื้อกิจการของ Slack ด้วยจำนวนเงินมหาศาล?
หลังจากที่อ่านเรื่องราวในมุมของผู้ถูกซื้อ Slack ไปแล้ว เรามาดูเรื่องราวของผู้ซื้ออย่าง Salesforce กันบ้างครับ ว่าทำไมพวกเขาถึงตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ขององค์กรแบบนี้ และทำไมต้องเป็น Slack ?
ซึ่งเรื่องนี้ถูกอธิบายจากฝั่งที่ติดต่อมาขอซื้ออย่าง Bret Taylor โดยเขากล่าวว่าสาเหตุที่ต้องเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลกว่า 2.77 หมื่นล้าน USD (8.3แสนล้านบาท) ก็เพราะว่าทาง Salesforce เชื่อเหลือเกินว่า Slack นี่แหละจะเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้ Saleforce สร้างการเติบโตได้มากขึ้น
โดยทาง Taylor ยังกล่าวอีกว่าขอให้ทุกคนเชื่อใจได้เลยว่า เม็ดเงินมหาศาลที่ลงทุนไปนั้น “คุ้มค่า” แน่นอน เพราะ Slack จะเข้ามาเป็นแกนกลางที่เชื่อมทุกซอฟต์แวร์ของ Salesforce ไว้ด้วยกัน
เพราะอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า Salesforce มีหลายซอฟต์แวร์รวมกันอยู่ข้างใน เริ่มต้นจากเรื่องของ CRM ที่โด่งดัง ไปจนถึงซอฟต์แวร์องค์กรประเภทอื่น ๆ เช่น งานขาย งานบริการลูกค้า วิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือซอฟต์แวร์การสื่อสารภายในองค์กร ซึ่งถึงตอนนี้ Slack คือตัวเลือกที่ดีที่สุด
กลับมาทาง Stewart Butterfield (CEO ของ Slack) เขาก็ยอมรับข้อเสนอนี้จาก Salesforce แต่โดยดี และมองว่าการถูก Salesforce เข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าเขาพ่ายแพ้ แต่เขากำลังร่วมมือกับ Salesforce พัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะทำให้องค์กรยุคใหม่ทำงานได้เร็วขึ้น ลดขั้นตอนความวุ่นวาย ด้วยการรวมเอาข้อดีในการสื่อสารของ Slack และฟีเจอร์เด็ด ๆ ของ Salesforce ไว้ในที่เดียว
นอกจากนั้นทาง Marc Benioff (ผู้ก่อตั้งและ CEO คนปัจจุบันของ Salesforce) ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเป้าหมายของเขาคือทำให้รายได้ต่อปีของ Salesforce เติบโตขึ้น 2 เท่า จาก 2.55 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มมาเป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) และเขาพร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนี้ได้
และการซื้อ Slack นี่แหละที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง Salesforce ได้เพราะลูกค้าองค์กรในปัจจุบันกำลังปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานภายในองค์กรอย่างมาก มีการ Remote Working กันมากขึ้น (จากโควิด-19) การมี Slack จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางการบริการของ Salesforce ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กรที่ใช้บริการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Salesforce รับปาก! ไม่ได้เอา Slack มาแข่งกับ Microsoft และสัญญาจะไม่แทรกแซงการทำงาน
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า Slack นั้นกำลังโดน Microsoft จ้องเล่นงานมาโดยตลอด ซึ่งหลายปีผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า Slack ได้เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารในองค์กรให้สะดวกมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมา Slack ที่น่าจะอาศัยช่วงโควิด-19 โกยรายได้ไปได้นั้น ก็ต้องมาพบกับผลิตภัณฑ์จากคู่แค้น (Microsoft) อย่าง Microsoft Teams ซึ่งทำให้การขยายฐานลูกค้าของ Slack ทำได้ยากมากขึ้นอีกหลายเท่า
เรื่องนี้ทาง Bret Taylor ก็ออกมาบอกว่าการที่ Slack ยอมเข้าพวกกับ Salesforce นั้นไม่ได้ต้องการที่จะแข่งขันกับ Microsoft แต่อย่างใด และการเข้ามาซื้อกิจการ Slack ในครั้งนี้ Salesforce ยืนยันว่าพวกเขาจะไม่ไปแทรกแซงการทำงานของ Slack แน่นอนโดยพวกเขาจะหาจุดที่เหมาะสมที่จะรวมทั้ง 2 แพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน
หรือกล่าวคือ Slack ก็ยังคงเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสารกันภายในองค์กรต่อไป แต่แค่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การดูแลของ Salesforce ในอนาคตอันใกล้โดย Salesforce มีแผนที่จะให้ Slack เป็นส่วนหนึ่งของ Salesforce Cloud (ระบบ Cloud ของ Salesforce) และจะให้ Slack จะกลายเป็นฟีเจอร์เสริมใหม่สำหรับ Salesforce Customer 360 (ซอฟต์แวร์ด้าน CRM ชื่อดังของ Salesforce)
สรุปทั้งหมด
รายละเอียดของการซื้อกิจการ Slack ในครั้งนี้นั้นทาง Salesforce จะใช้วิธีแลกหุ้น 0.0776 หุ้น Slack ต่อ 1 หุ้น Salesforce และแถมเงินสดให้อีก 26.79 ดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดว่าดีลแห่งปี 2020 นี้จะแล้วเสร็จภายในงบประจำปีของบริษัทในปี 2022 ซึ่งก็น่าจะลุล่วงไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตามดีลนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่ดุเดือดมากในตลาดซอฟต์แวร์ปัจจุบัน โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการองค์กร หรือการสื่อสารภายในองค์กร ที่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจมากในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะ “สำคัญมากกว่านี้” ในอนาคตอันใกล้แน่นอน