ในปีนี้ We Are Social ได้เผยรายงานสถิติ Digital และ Social Media ออกมาแล้ว ซึ่งเป็นสถิติข้อมูลพฤติกรรมออนไลน์ของผู้บริโภคบนโลก Digital และ Social Media ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์กับนักการตลาดทุกคนมาก ๆ ซึ่งในวันนี้ The Growth Master ก็ได้สรุป 20 ไฮไลท์สำคัญ ๆ มาให้แล้ว ไปดูกันดีกว่าว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
1. ภาพรวมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก
จากทั้ง 2 ภาพข้างต้น สรุปได้ดังนี้
- จำนวนประชากรโลกอยู่ที่ 8.01 พันล้านคน และอาศัยอยู่ในเมือง 57.2% ถือว่าเกินครึ่ง
- มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ 5.44 พันล้านคน คิดเป็น 68% โดยเพิ่มขึ้น 3.2% จากปีที่ผ่านมา
- จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตปัจจุบันอยู่ที่ 5.16 พันล้านคน คิดเป็น 64.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.9% เท่านั้น
- ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วโลกมี 4.76 พันล้านคน คิดเป็น 59.4% ของประชากรโลก We are social กล่าวว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่ใช่อัตราการเติบโตที่หวือหวาอะไรมากนัก โดยในปีนี้มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นเพียง 137 ล้านคนเท่านั้น
2. คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับที่ 23 ของโลก
สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยก็ไม่แพ้ประเทศอื่นใดเลย เพราะคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับที่ 23 ของโลก คิดเป็น 85.3% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการใช้อินเทอร์เน็ตของทั่วโลกคิดเป็น 64.4% ซึ่งหากธุรกิจไหนที่ยังไม่เข้าสู่ออนไลน์ เราคิดว่าตอนนี้เป็นโอกาสดีแล้วที่คุณควรเริ่มปรับธุรกิจให้มีช่องทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ช่องทาง เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของคุณได้มากขึ้น
สำหรับใครที่ต้องการที่ปรึกษาด้านการทำการตลาด The Growth Master เป็นเอเจนซี่ด้านการตลาดออนไลน์ครบวงจรที่จะสร้างทุกความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้จริงและช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตบนโลกออนไลน์ได้ สามารถปรึกษาเราได้เลยที่นี่
3. การใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ทั่วโลกต่อวันลดลง 4.8%
สถิติชี้ให้เห็นว่าไตรมาสที่ 3/2022 การใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ทั่วโลกต่อวันลดลงถึง 4.8% ซึ่งตัวเลขที่ลดลงนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติกันแล้วจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และผู้คนส่วนมากก็ออกไปใช้ชีวิตจริงมากกว่าเสพสื่อออนไลน์ โดยตัวเลขนี้สอดคล้องกับไตรมาสที่ 3/2019 ช่วงเวลาก่อนที่ Covid-19 จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกนั่นเอง
4. คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8.06 ชั่วโมง/วัน
สืบเนื่องจากข้อที่แล้วที่ค่าเฉลี่ยการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนทั่วโลกลดลง 4.8% ก็ส่งผลเช่นเดียวกันกับพฤติกรรมคนไทยที่ใช้งานลดลงเหลือเพียง 8 ชั่วโมง 6 นาทีเท่านั้น จากเดิมในปี 2022 ที่ใช้งาน 9 ชั่วโมง 6 นาที
แต่การที่ผู้คนใช้เวลาบนโลกออนไลน์ลดลงนั้นบอกอะไรเราเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคบ้าง? ซึ่งสิ่งแรกเลยถึงแม้ว่าจะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ลดลง แต่ก็ไม่มีข้อมูลใดเลยที่บอกเราว่าอินเทอร์เน็ตจะมีความสำคัญน้อยลงในชีวิตของผู้คนตามไปด้วย
โดยมีหลายสำนักที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลออกมาและชี้ให้เห็นว่า จริงอยู่ที่ผู้ใช้งานน้อยลงแต่การใช้งานของพวกเขาก็มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า ในการเข้าอินเทอร์เน็ตแต่ละครั้ง พวกเขาจะเข้ามาทำอะไรบ้าง ดังนั้นสิ่งที่ธุรกิจควรต้องให้ความสำคัญต่อมา คือ การให้ความสำคัญกับคุณภาพคอนเทนต์มากกว่าปริมาณนั่นเอง
5. การหาข้อมูล คือเหตุผลหลักที่ผู้คนใช้งานอินเทอร์เน็ต
สำหรับเหตุผลหลักที่ผู้คนใช้งานอินเทอร์เน็ต มีดังนี้
- หาข้อมูล 57.8%
- ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว 53.7%
- อัปเดตข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ 50.9%
- รับชมวิดีโอ ทีวีโชว์ และภาพยนตร์ 49.7%
- ค้นคว้าหาข้อมูลในการทำสิ่งต่าง ๆ 47.6%
จากสถิติข้างต้น นักการตลาดก็สามารถนำไปปรับใช้กับการทำคอนเทนต์ของแบรนด์ได้ ซึ่งแบรนด์ควรทำคอนเทนต์ที่เน้นสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับผู้บริโภคมากกว่าการขายสินค้าและบริการทั่วไปเพียงอย่างเดียว
6. คนไทยที่มีโทรศัพท์มือถือ 95.3% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากมือถือ
สำหรับคนไทยมักจะใช้โทรศัพท์มือถือเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวน 95.3% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งสถิตินี้ก็ทำให้เรารู้ว่าคนไทยที่มีโทรศัพท์ต่างเล่นอินเทอร์เน็ตกันเกือบทั้งหมด
ดังนั้นสิ่งที่ธุรกิจควรนำไปปรับใช้กับแบรนด์ตัวเองคือ การที่ปรับแต่งเว็บไซต์ให้รองรับกับทุกอุปกรณ์ (Responsive Design) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้งานของคุณ และเกิด Conversion ที่คุณต้องการในที่สุด
7. คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก
คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยใช้เวลามากถึง 5 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เป็นรองแค่ฟิลิปปินส์ (5 ชั่วโมง 31 นาที) บราซิล (5 ชั่วโมง 28 นาที) และแอฟริกาใต้ (5 ชั่วโมง 13 นาที) ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 46 นาที และญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เล่นมือถือน้อยที่สุด 1 ชั่วโมง 54 นาที
8. คนไทยเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์เพียง 47.6%
หลังจากที่ดูสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือไปแล้วมาดูทางฝั่งของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์หรือแล็บท็อปกันบ้าง
จากสถิติบอกว่าคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์เพียง 47.6% เท่านั้น สวนทางกับโทรศัพท์มือถือมาก ๆ และยังถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 65.6% อีกด้วย ดังนั้นเวลาแบรนด์ทำคอนเทนต์ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับฝั่งโทรศัพท์มือถือกันด้วยนะ
9. คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตบนคอมพิวเตอร์ 3 ชั่วโมง 1 นาทีต่อวัน
สำหรับเวลาเฉลี่ยของการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ทั่วโลกอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 51 นาทีต่อวัน แต่คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตบนคอมพิวเตอร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 1 นาทีต่อวัน
10. การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือทั่วโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกปี
จากกราฟเราจะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างบนคอมพิวเตอร์และบนโทรศัพท์มือถือแล้ว การเติบโตของการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกันกับในปี 2023 นี้ที่เติบโตขึ้นมากถึง 2.4%
11. สัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือของคนไทย
สำหรับสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยนั้นแบ่งออกเป็น 62.8% บนโทรศัพท์มือถือ และ 37.2% บนคอมพิวเตอร์
และถ้าหากแบ่งตามอายุเราก็จะเห็นได้ชัด ๆ เลยว่าผู้ใช้งานในกลุ่มวัยรุ่นนิยมใช้งานอินเทอร์เน็ตกันผ่านโทรศัพท์มือถือ ส่วนกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุจะนิยมใช้งานอินเทอร์เน็ตกันผ่านคอมพิวเตอร์จอใหญ่ ๆ กันมากกว่า
12. Chrome ครองอันดับ 1 สัดส่วนของ Web Traffic แยกตามเบราว์เซอร์
สัดส่วนของ Web Traffic แยกตามเบราว์เซอร์ มีดังนี้
- Chrome 65.86% (เพิ่มขึ้น 2.8%)
- Safari 18.67% (ลดลง 2.9%)
- Microsoft Edge 4.45% (เพิ่มขึ้น 6.2%)
- Firefox 3.04% (ลดงลง 22.3%)
- Samsung Internet 2.68% (ลดลง 4.3%)
- Opera 2.27% (ลดลง 3.0%)
- Android 0.72% (เพิ่มขึ้น 7.5%)
- Other 2.31% (ลดลง 17.8%)
13. คนไทยใช้งาน Voice Search อันดับ 16 ของโลก
สำหรับการใช้งาน Voice Search หรือการใช้เสียงในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ของคนไทยอยู่ที่ 18.4% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 21.7% นอกจากนี้ สถิติก็ชี้ให้เห็นว่าทั่วโลกคนใช้งาน Voice Search ลดลง 3.6% อีกด้วย
ดังนั้นสิ่งที่แบรนด์หรือนักการตลาดควรทำก็คือ การทำ SEO ด้วยการเปลี่ยนคีย์เวิร์ดจากเดิมที่เป็นรูปแบบ Short-tail ให้เป็นรูปแบบ Long-tail รวมถึงใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติ เพื่อให้อัลกอริทึมสามารถจับทางได้อย่างถูกต้อง สามารถอ่านปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงเราได้มากขึ้นในยุคของ “Voice Search”
14. สัดส่วนการรับชมวิดีโอคอนเทนต์
ในปี 2023 พฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกหันมารับชมวิดีโอคอนเทนต์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- วิดีโอในประเภทต่าง ๆ 92.8%
- Music Video (MV) 50%
- วิดีโอตลก มีม หรือวิดีโอไวรัล 35.8%
- วิดีโอประเภท Tutorial และ How to 28.7%
- วิดีโอ Livestream 29.7%
- วิดีโอการศึกษา 27.1%
- วิดีโอรีวิวผลิตภัณฑ์ 26.4%
- วิดีโอกีฬาและไฮไลท์กีฬาต่าง ๆ 26.7%
- วิดีโอเกม 26.2%
- วิดีโอ Vlog จาก Influencer 25.5%
สำหรับแนวทางการปรับตัวของแบรนด์ในปี 2023 นี้ก็อาจจะลองหันมาทำวิดีโอคอนเทนต์เพิ่มขึ้นดู เช่น ถ้าเป็นแบรนด์ที่ขายผลิตภัณฑ์ก็อาจจะทำ Tutorial วิธีการใช้งาน, ทริคที่ช่วยทำให้ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสนใจวิดีโอคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น
15. คนทั่วโลกดูทีวีบนอินเทอร์เน็ตเกือบ 100%
อีกหนึ่งพฤติกรรมที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดคือ การที่ผู้คนทั่วโลกต่างพร้อมใจกันดูคอนเทนต์วิดีโอสตรีมมิ่ง (Netflix, YouTube, และอื่น ๆ) บนอินเทอร์เน็ตกันเกือบ 100% ทำให้เราจะเห็นได้ว่าการดูเคเบิลทีวีแบบเดิม ๆ อาจไม่ค่อยได้ผลตอบรับที่ดีเท่าเมื่อก่อนแล้ว
โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 90.9% ประเทศไทยอยู่ที่ 95.4% ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นถือว่าดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตน้อยที่สุด 69%
16. คนทั่วโลกฟัง Podcast เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 2 นาที/วัน
สำหรับวงการ Podcast ในปีนี้ก็ยังคงเติบโตขึ้น 1.6% และเวลาที่ผู้คนใช้ฟัง Podcast เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 2 นาที/วัน ซึ่งเป็นสถิติที่ดีและสูงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย
และจากสถิติบอกว่าคนไทยฟัง Podcast สูงเป็นอันดับ 19 ของโลกคิดเป็น 21.8% ขยับขึ้นจากปีที่แล้ว 2.7% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 21.2% ซึ่งถือว่าไม่ได้ต่างกันมากเท่าไร สำหรับใครที่อยากลงทุนทางด้าน Podcast มากขึ้นก็ต้องทำการสำรวจด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายของเราฟัง Podcast มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนที่สุด
17. คนไทยใช้ QR Code เป็นอันดับ 5 ของโลก
ด้วยพฤติกรรมของคนไทยที่มักจะมีการใช้ QR Code เพื่อใช้ชำระซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ทำให้ผลออกมาว่าคนไทยใช้ QR Code มากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกจำนวน 54.1% นี่หมายความว่ามากกว่าครึ่งของคนไทยที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีการใช้ QR Code ดังนั้นร้านค้าไหนที่ยังไม่มี QR Code อาจจะต้องเพิ่มเป็นอีกหนึ่งทางเลือกการใช้งานสำหรับคนไทยด้วย
แม้ว่าสถิติข้างต้นจะชี้ให้เราเห็นว่าคนไทยมีการใช้งาน QR Code มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านออนไลน์ของคนไทย อย่างการใช้แอปบนมือถือมีเพียง 30.5% เท่านั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 27.7% เพียงเล็กน้อย
18. ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตครอบครองคริปโทเคอร์เรนซีลดลง 3.3%
แม้ว่าในปี 2021-2022 ที่ผ่านมา กระแสคริปโทเคอร์เรนซีในโลกค่อนข้างมาแรง และหลายคนก็แห่ไปลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี่มากขึ้น แต่ในปีนี้กลับพบว่าคนครอบครองคริปโทฯ น้อยลง 3.3% ทั้งนี้ก็อาจเป็นผลพวงมาจากข่าวคราวต่าง ๆ เช่น ตลาดอยู่ในช่วงขาลง จึงทำให้คนครอบครองน้อยลง
นอกจากนี้ อาจจะดูสวนกระแสเล็กน้อยกับสถิติข้างต้น เพราะคนไทยครอบครองคริปโทเคอร์เรนซีมากเป็นอันดับ 4 ของโลก 21.9% (มากกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 10%) ซึ่งก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าคนไทยบางส่วนก็ยังมีความเชื่อมั่นในอนาคตของคริปโทเคอร์เรนซี
และแม้คนไทยจะครอบครองคริปโทเคอร์เรนซีเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่จะเห็นได้ว่าคนไทยมีการใช้จ่ายคริปโทฯ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (135 ดอลลาร์สหรัฐ) เสียอีก ทั้งนี้ก็อาจจะเป็นเพราะด้านกฎหมายไทยที่ยังไม่รองรับให้นำคริปโทเคอร์เรนซีมาใช้จ่ายแทนสกุลเงินที่รัฐบาลรองรับ ซึ่งเราก็ต้องมาติดตามดูในอนาคตว่ากฎหมายในด้านนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
19. การเติบโตของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเติบโตขึ้นเล็กน้อย
สำหรับในปี 2023 การเติบโตของโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นเพียง 3% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่เพิ่มขึ้น 10.1% และปี 2021 ที่เพิ่มขึ้น 13.2%
โดยการวิเคราะห์ของ Kepios เผยให้เห็นว่าจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 30% นับตั้งแต่ Covid-19 เริ่มระบาด ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้ใช้ใหม่มากกว่า 1 พันล้านคนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Covid-19 เป็นตัวเร่งการเติบโตชั้นดีของโซเชียลมีเดียอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เหตุการณ์ค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมเกือบ 100% แล้วการเติบโตของการใช้งานโซเชียลมีเดียจึงได้ชะลอตัวลงอย่างมากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และตัวเลขการเติบโตทั่วโลกที่ We are social ได้รายงานในรายงาน Digital 2023 ครั้งนี้ต่ำที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาเลย
20. ผู้คนใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ยมากขึ้น
ในปี 2023 ผู้คนใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากกว่าที่เคยเป็นมา โดยเราจะเห็นได้ว่าสถิติการใช้โซเชียลมีเดียของคนทั่วโลกมีอัตราเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีนี้ผู้คนใช้เวลา 2 ชั่วโมง 31 นาทีต่อวัน แม้จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้วเพียง 3 นาทีเท่านั้น แต่ก็ยังสามารถทำสถิติ All The High ได้อยู่ดี
21. Facebook ยังครองอันดับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก
แม้ว่าจะมีโซเชียลมีเดียน้องใหม่อย่าง TikTok เกิดขึ้นมา และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ แต่ Facebook ก็ยังคงเป็นแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 2,958 ล้านคนต่อวัน ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง YouTube จำนวน 2,514 ล้านคนต่อวัน ตามมาติด ๆ ด้วย อันดับ 3 Whatsapp และ Instagram 2,000 ล้านคนต่อวัน ส่วน TikTok อยู่อันดับที่ 6 จำนวน 1,051 ล้านคนต่อวัน และที่น่าสนใจคือ Telegram แอปพลิเคชันม้ามืดที่สามารถแซงหน้าเจ้าใหญ่อย่าง Snapchat และ Twitter ได้แล้ว
22. YouTube ครองอันดับแอปพลิเคชันที่ผู้คนใช้เวลามากที่สุด
สำหรับแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่มีคนใช้เวลาด้วยมากที่สุดคือ
- YouTube 23 ชั่วโมง 9 นาที/เดือน
- Facebook 19 ชั่วโมง 43 นาที/เดือน
- Whatsapp 17 ชั่วโมง 20 นาที/เดือน
- Instagram 12 ชั่วโมง/เดือน
- TikTok 23 ชั่วโมง 28 นาที/เดือน
- Telegram 3 ชั่วโมง 57 นาที/เดือน
สุดท้ายการทำ Social Media Marketing จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญมากที่ธุรกิจควรให้ความสนใจ
23. ผู้ใช้งานทั่วโลกใช้ TikTok เฉลี่ยมากถึง 23.5 ชั่วโมง/เดือน
TikTok เรียกได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันที่มาแรงแซงทางโค้งมาก ๆ เพราะจากสถิติชี้ให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกใช้งาน TikTok มากถึง 23.5 ชั่วโมง/เดือน หรือพูดง่าย ๆ ว่าใน 1 เดือนผู้คนจะอุทิศเกือบ 1 วันเต็ม ๆ ให้กับ TikTok ซึ่งมากกว่าโซเชียลมีเดียรุ่นเก๋าอย่าง YouTube (23.1 ชั่วโมง/เดือน) และ Facebook (19.7 ชั่วโมง/เดือน)
สำหรับนักการตลาดคนใดที่มองหาช่องทางใหม่ ๆ ในการทำการตลาด TikTok ก็ถือเป็นช่องทางที่น่าลองมาก ๆ สามารถศึกษา 7 เรื่องที่คุณต้องรู้หากต้องการทำการตลาดผ่าน TikTok ได้ที่นี่
24. คนไทยใช้งานโซเชียลมีเดียเฉลี่ย 7.1 แพลตฟอร์ม
สำหรับการใช้งานโซเชียลมีเดียไม่จำเป็นที่ 1 คน จะใช้เพียงแค่ 1 แพลตฟอร์มเท่านั้น โดยสถิติออกมาว่าผู้ใช้ทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 64 ปี มีการใช้งานแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ร่วมกับแพลตฟอร์มเก่าในเวลาเดียวกันด้วย เช่น
- 82.5% ของผู้ใช้ TikTok ยังคงใช้ Facebook ทุกเดือน
- 84.3% ของผู้ใช้ Telegram ใช้ WhatsApp ทุกเดือน
- 60.7% ของผู้ใช้ Snapchat ยังใช้ Twitter ในแต่ละเดือน
ซึ่งคนไทยใช้งานโซเชียลมีเดียเฉลี่ย 7.1 แพลตฟอร์มต่อเดือน โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกเล็กน้อย (7.2 แพลตฟอร์ม)
จากสถิติก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับนักการตลาดในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ที่สามารถทำการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในหลากหลายช่องทาง แต่ทั้งนี้เราก็ควรที่จะเข้าหากลุ่มเป้าหมายให้ถูกช่องทาง และทำการตลาดได้เหมาะสมกับลักษณะของโซเชียลมีเดียด้วยจึงจะเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจที่สุด
สรุปทั้งหมด
ในบทความนี้เราก็จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของคนไทยและคนทั่วโลกก็มีทิศทางไปในทางเดียวกัน เช่น มีการใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตน้อยลง แต่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการใช้งานแต่ละครั้งมากขึ้น รวมไปถึงการเติบโตของโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook ที่มีการเติบโตขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ TikTok มีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นต้น
ซึ่งสถิติจาก Digital Report 2023 ที่เราคัดมาให้ในวันนี้ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนในการนำไปปรับใช้กับการทำธุรกิจเพื่อวางกลยุทธ์เข้าถึงคนกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากได้ต่อไป
สำหรับใครที่อยากดู Digtial Report จาก We Are Social ฉบับเต็ม สามารถเข้าไปดูได้ ที่นี่ เลย