หลังจากที่เราต้องอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 มาเกือบจะครบ 1 ปีเต็มแล้ว อย่างที่ทุกคนทราบกันว่าวิกฤตในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อโลกในหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเรื่องการทำธุรกิจ ในช่วงปีที่ผ่านมาข่าวการปิดกิจการ ซื้อกิจการ หรือการเลิกจ้างพนักงานมีมาให้เราเห็นจนเป็นเรื่องปกติ
ล่าสุดก็ถึงคิวของ Dropbox บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการจัดเก็บและแชร์ไฟล์ชื่อดังก็ได้ตัดสินใจปลดพนักงานกว่า 315 ชีวิตคิดเป็น 11% ของพนักงานทั้งหมดในองค์กรหลังจากที่เจอผลกระทบของวิกฤตโควิดเล่นงาน
ซึ่งการประกาศปลดพนักงานของ Dropbox ในครั้งนี้สร้างความแปลกใจให้กับผู้ติดตามมากมาย เพราะดูจากลักษณะธุรกิจของ Dropbox น่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีในช่วงโควิด เพราะเป็นซอฟต์แวร์ที่เข้ามาช่วยทำให้การ Remote Working มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทำไมกลับปลดพนักงานออกต้อนรับปีใหม่แบบนี้
แน่นอนว่าเรื่องนี้มีเบื้องหลังที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ไปติดตามกันต่อในบทความได้เลย
รับปีใหม่! เปิดข้อความจาก CEO สู่พนักงาน กับคำสั่งปลดฟ้าผ่าของ Dropbox
เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา CEO ของ Dropbox อย่าง Drew Houston ได้ทำการตัดสินใจครั้งใหญ่ด้วยการปลดพนักงานกว่า 315 ชีวิตออกจากองค์กร ซึ่งคำสั่งมีผลทันทีนั่นหมายความว่าพนักงาน 315 คนนั้นปัจจุบันก็เข้าสู่สถานะ “คนว่างงาน” ไปแล้วเรียบร้อย
ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องเล่าย้อนไปในช่วงวิกฤตโควิดระบาดรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว Dropbox ได้ออกมาประกาศว่าถึงแม้โควิดจะระบาดหนักแค่ไหน ในปี 2020 พวกเขาจะพยายามไม่ปลดพนักงานออกแน่นอน ขอให้พนักงานทุกคนสบายใจได้ แต่พอเข้าสู่เดือนแรกปี 2021 Dropbox ก็ไม่ได้ทำตามสัญญานั้นอีกแล้ว
โดย Drew Houston ได้ออกมาให้คำอธิบายผ่านทางหน้าเว็บไซต์มีใจความว่า “ผมเสียใจที่ต้องตัดสินใจครั้งนี้ มันเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิตการเป็น CEO ตลอด 14 ปีของผม ผมได้ให้คำสัญญากับพนักงานทุกคนไว้เมื่อปี 2020 ว่าเราจะทำให้พนักงานทุกคนมีหน้าที่การงานที่มั่นคง และผมก็ได้ทำตามคำมั่นสัญญานั้น”
“แต่เมื่อมองภาพรวมของปี 2021 เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อการสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีความยั่งยืนในอนาคตต่อไป สิ่งที่เขาตัดสินใจในครั้งนี้ก็เพื่อการเติบโตของบริษัท และจะเริ่มสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่อย่าง Virtual First ที่จะทำให้กลยุทธ์การทำธุรกิจของเราเป็นได้อย่างราบรื่น จึงเป็นเหตุผลของการลดขนาดทีมในครั้งนี้”
โดยคำสั่งปลดพนักงานในครั้งนี้ทางทีมผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องอย่าง Olivia Nottebohm ที่เป็น COO ของ Dropbox ก็ขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการสมัครใจลาออกพร้อมพนักงานที่ถูกปลดเช่นกัน (แต่ด้วยสัญญา Olivia จะสิ้นสุดการเป็นพนักงานในวันที่ 5 กุมภาพันธ์)
อาจฟังดูเป็นเรื่องที่เจ็บปวดแต่ Dropbox ก็จำเป็นต้องทำ ซึ่งถ้าใครที่ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมองค์กรดัง ๆ มาบ้างน่าจะพอทราบว่าที่ Dropbox ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ใส่ใจพนักงานมากที่สุดอีกที่หนึ่ง
เพราะแม้จะสั่งปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก แต่พวกเขาก็ไม่ตัดเยื่อใย ด้วยการมอบสวัสดิการเป็นของขวัญส่งท้ายด้วยการให้ จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครอง, โบนัสเต็มปี, ใช้ประกันสุขภาพได้อีก 6 เดือน, ยกอุปกรณ์ในการทำงานให้เป็นของที่ระลึกไปเลย หรือถ้าใครต้องการทำงานจริง ๆ บริษัทก็จะช่วยในเรื่องของการจัดหางานใหม่ให้ฟรี ๆ แสดงให้เห็นถึงความห่วยใยที่ Dropbox มีให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ทุกคน
แม้ได้กำไร! สาเหตุที่แท้จริงของคำสั่งปลดพนักงานของ Dropbox ในครั้งนี้คืออะไร ?
เชื่อว่าหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะเกิดความสงสัยใช่ไหมครับว่าองค์กรระดับ Dropbox ที่ตัวธุรกิจให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ด้านการจัดเก็บและแชร์ไฟล์ออนไลน์ มันน่าจะไปได้สวยในช่วงโควิดเพราะเป็นซอฟต์แวร์ที่เอื้อต่อการทำ Remote Working นี่หน่า แต่ทำไมถึงปลดพนักงานเหมือนธุรกิจกำลังจะล้มเช่นนี้
ถ้าดูตัวเลขจากรายงานประจำปีที่ Dropbox ได้เผยแพร่ออกมานั้นก็พบว่าในปี 2020 ที่ผ่านมา Dropbox ก็สามารถ “ทำกำไร” ได้จริง ๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปียาวจนถึงปลายปี โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2020 Dropbox ทำรายได้เพิ่มกว่า 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว และมีผู้ใช้งาน (Active Users) ที่ใช้บริการแบบเสียเงินมากกว่า 15.25 ล้านบัญชี
ซึ่งถึงแม้จะทำกำไรในเกณฑ์น่าพอใจแต่ความเป็นจริงแล้ว คำสั่งปลดพนักงานของ Dropbox ครั้งนี้ไม่ได้มาจากเรื่องนี้เลยครับ แต่เกิดมาจากนโยบายที่ Dropbox เรียกมันว่า “Virtual First” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ Dropbox ต้องการสร้างการทำงานยุคใหม่และได้ประกาศใช้งานอย่างเต็มระบบไปเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา
อธิบายเพิ่มเติมก็คือนโยบาย Virtual First นั้นจะอนุญาตให้พนักงานของ Dropbox ทุกคนทำงานจากที่บ้าน (หรือที่ไหนก็ได้) ได้อย่างถาวร ให้สิทธิ์พนักงานว่าจะเข้ามาทำที่ออฟฟิศก็ได้หรือไม่เข้าก็ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ทาง Dropbox อาศัยช่วง Work From Home เมื่อตอนโควิด-19 ระบาดหนักในการวัดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และให้พนักงานได้ทำแบบสอบถามความพึงพอใจ
จากการสำรวจพบว่าพนักงานในองค์กร ก็สามารถทำงานได้ดีแม้จะอยู่ที่บ้าน และจากการแบบสอบถามก็พบว่า 90% ของพนักงาน (เกือบทั้งองค์กร) พอใจและอยากทำงานในลักษณะ Remote Working แบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนทำให้ Dropbox องค์กรที่ขึ้นชื่อเรื่องการดูแลพนักงานอยู่แล้ว ออกนโยบาย Virtual First ขึ้นมาตามคำขอจากพนักงานส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามหากพนักงานต้องการที่จะทำงานแบบเจอหน้ากันจริง ๆ ทาง Dropbox ก็ได้สร้าง Dropbox Studio ที่เป็นเหมือนพื้นที่ Co-Working Space ขนาดย่อม ๆ กระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ของอเมริกา เช่น San Francisco, Seattle, Austin เพื่อให้พนักงานได้ความรู้สึกเหมือนมาทำงานที่ออฟฟิศ แต่ไม่ต้องเดินทางมาที่ Headquarters
ด้วยเหตุนั้นเองครับ ทำให้ Dropbox เริ่มเห็นอะไรบางอย่างที่ “ไม่จำเป็น” ในองค์กร เพราะเมื่อการทำงานที่ออฟฟิศเริ่มลดบทบาทลง พนักงานสามารถใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ ในการ Remote Working ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าหน่วยงานบางแผนกก็จะต้องถูกลดความสำคัญลงไปอย่างชัดเจน
ซึ่งกลุ่มผู้โชคร้ายกลุ่มแรกของ Dropbox ที่โดนคำสั่งปลดในครั้งนี้ก็คือพนักงานที่รับผิดชอบด้าน “สนับสนุนการทำงานในออฟฟิศ” เช่นงานด้านธุรการ, ทรัพยากรบุคคล และอื่น ๆ
โดย Dropbox ให้เหตุผลทิ้งท้ายว่าที่พวกเขาต้องปลดพนักงานเพราะเราจะนำค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ไปพัฒนารูปแบบการทำงานแบบ Virtual First ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มุ่งเน้นในด้านเทคโนโลยีการทำ Remote Working สำหรับองค์กรอย่างยั่งยืน จึงเป็นเหตุผลของการปลดพนักงานรับปีใหม่ของ Dropbox ในครั้งนี้
สรุปทั้งหมด
จากคำสั่งปลดพนักงานของ Dropbox ในครั้งนี้ ผมว่าเคสนี้คือกรณีศึกษาอย่างดีสำหรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับองค์กร ที่ Dropbox ใช้โอกาสในช่วงโควิด ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนกับการทำงาน ออฟฟิศกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นกับองค์กรมากที่สุดเหมือนเดิม เพราะไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศแต่พนักงานก็ทำงานได้ดีเหมือนเดิม ฝั่งองค์กรเองก็มอบอิสระให้กับพนักงานได้เต็ม ๆ และยังลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นได้มากขึ้น
แม้อาจจะดูใจร้ายกับพนักงานบางกลุ่ม แต่ที่ Dropbox ตัดสินใจใหญ่ครั้งนี้ก็เพื่อการพาองค์กรเข้าสู่ นโยบาย Virtual First อย่างเต็มตัว ไม่แน่ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็น (หรือสัมผัส) การทำงานในลักษณะนี้กับองค์กรในบ้านเราก็เป็นได้