ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จนทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไป รวมไปถึงการทำงานด้วย หลายบริษัทก็ต้องหาเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้การทำงานและการสื่อสารภายในองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเครื่องมือเทคโนโลยีด้านการจัดการขององค์กร (Management Technology) นี่แหละที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ของคุณตรงนั้นได้ และหนึ่งในเครื่องมือที่ว่านั้นก็อาจจะมี Slack รวมอยู่ด้วย
เพราะว่า Slack เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในแผนกไหนขององค์กรก็ตาม ก็ทำให้เราสามารถทำการสื่อสารกับทีมทั้งหมดได้ภายในที่เดียว และตัวซอฟต์แวร์เองก็ได้รวบรวมความสามารถจากหลาย ๆ แพลตฟอร์ม เช่น การคอล การส่งข้อความ หรือการแชร์ไฟล์งานต่าง ๆ ให้มารวมกันอยู่ใน Slack
และการเติบโตของ Slack ที่เปิดตัวมาไม่ถึง 10 ปี ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว แต่ว่าจะมีตัวเลขการเติบโตและมีกลยุทธ์อะไรกันบ้าง The Growth Master จะพาคุณไปหาคำตอบกันในบทความนี้
Slack แอปพลิเคชันการทำงานที่ปิ๊งไอเดียขึ้นจากความบังเอิญภายในองค์กร
Slack หรือที่ย่อมาจาก Searchable Log of All Conversation and Knowledge ถูกเปิดตัวขึ้นมาในปี 2013 โดย Stewart Butterfield ปัจจุบันเป็น CEO ของ Slack และอดีตผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์แชร์รูป Flickr (ภายหลังเขาขายให้ Yahoo ในปี 2004 ในราคา 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ก่อนหน้านั้นในปี 2009 Stewart Butterfield เคยก่อตั้งบริษัทชื่อว่า Tiny Speck เป็นบริษัทที่พัฒนาเกี่ยวกับระบบเกมออนไลน์ Glitch แต่ภายหลังเกมนี้ไม่สามารถดึงดูดให้ผู้เล่นจำนวนมากมาสนใจได้ จึงถูกประกาศปิดตัวลงไปภายในปี 2012
แต่อย่างไรก็ตาม ใครจะรู้ว่าจากความล้มเหลวในครั้งนี้ มันจะก่อให้เกิดความประสบความสำเร็จที่มีมูลค่ามหาศาลตามมา เพราะในขณะเดียวกันกับที่เขาพัฒนาเกมออนไลน์ Glitch ถึง 3 ปีนั้น บริษัทของเขาก็ได้มีการพัฒนาโปรแกรมแชทขึ้นมาใช้ภายในองค์กร เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และพูดคุยสื่อสารกันระหว่างสำนักงานในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา แล้วเขาก็ค้นพบว่าเครื่องมือนี้ ทำให้การทำงานขององค์กรนั้นมีประสิทธิภาพมาก ซึ่งเป็นการจุดประกายให้เกิดเป็น Slack ขึ้นมานั่นเอง
หลังจากที่บริษัทเกมออนไลน์ปิดตัวลงไป Stewart Butterfield ก็ได้มองเห็นโอกาสใหม่ขึ้นมา นั่นคือการพัฒนา Slack โปรแกรมที่สามารถรวบรวมการสื่อสารทั้งหมดขององค์กรเอาไว้ในแพลตฟอร์มเดียว และพร้อมใช้งานได้ทุกที่
โดยตอนนี้ Slack เปิดให้ใช้งานได้มากถึง 8 ภาษา และมีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคนต่อวัน จากองค์กรมากกว่า 600,000 แห่งที่ตั้งอยู่ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และมีบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 65 จาก 100 บริษัท และบริษัทดัง ๆ ของโลก ต่างก็ใช้บริการแอปพลิเคชันนี้เหมือนกัน เช่น Airbnb, Pinterest, Shopify, Amazon, Ebay, Fastly
ตัวเลขการเติบโตของ Slack มูลค่ามหาศาล ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 8 ปี
นับตั้งแต่ปี 2013 มาจนถึงปีนี้ ก็เป็นเวลาประมาณ 8 ปีแล้วที่ Slack ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก แต่ภายในระยะเวลาเท่านี้ถือว่า Slack มีตัวเลขการเติบโตที่สุดยอดมากจริง ๆ
ซึ่งรายได้ของ Slack เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2014 ที่มีรายได้อยู่ที่ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 2 ปีต่อมา ในปี 2016 ก็สามารถแตะ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้เป็นครั้งแรก หนึ่งปีถัดมาก็เพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กำไร 146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จนกระทั่งในปี 2020 ที่ผ่านมา มีรายได้พุ่งไปถึง 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.8 หมื่นล้านบาท (กำไร 91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 3 พันล้านบาท)
และในด้านของตัวเลขผู้ใช้งานต่อวัน (Daily Active Users: DAUs) นับตั้งแต่ปี 2014 จากที่ผู้ใช้งานเพียง 400,000 บัญชี ก็ได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ
ปี 2016 มี Daily Active Users 4 ล้านบัญชี แบ่งเป็น Paid Users 1.3 ล้านบัญชี
ปี 2017 มี Daily Active Users 6 ล้านบัญชี แบ่งเป็น Paid Users 2 ล้านบัญชี
ปี 2018 มี Daily Active Users 8 ล้านบัญชี แบ่งเป็น Paid Users 3 ล้านบัญชี
ในเดือนกันยายน 2019 มีจำนวน Daily Active Users ที่ใช้งาน Slack มากกว่า 12 ล้านบัญชี ถือว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 37% เมื่อเทียบเป็นรายปี และแบ่งเป็น Paid Users มากกว่า 6 ล้านบัญชีอีกด้วย พอเห็นจากตัวเลขนี้แล้ว Slack ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาก
นอกจากนั้น Slack เองก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลดีจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมาด้วย โดย Stewart Butterfield ได้เปิดเผยบน Twitter ของตัวเองว่า Slack มีผู้ใช้งานใหม่ที่เชื่อมต่อการใช้งานพร้อมกัน เพิ่มขึ้นจาก 10.5 ล้านคนในวันที่ 17 มีนาคม 2020 เป็น 12.5 ล้านคนในวันที่ 26 มีนาคม 2020 เพียงในเวลาไม่ถึง 10 วัน ก็มีจำนวนยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถล่มถลายขนาดนี้
Slack Growth Strategy กลยุทธ์และวิธีการที่บ้าคลั่งในการเติบโต
วันนี้ The Growth Master จะขอพาพวกคุณไปดูวิธีการความบ้าคลั่งที่ Slack ใช้ เพื่อการเติบโตของพวกเขา จะมีอะไรกันบ้างไปดูกันต่อเลย
1. ใช้การตลาดแบบปากต่อปาก (Word-of-Mouth Marketing)
75% ของลูกค้าไม่เชื่อโฆษณา แต่ 92% เชื่อคำแนะนำ รีวิวของเพื่อน ของคนรู้จัก – Nielsen
เห็นไหมว่าวิธีการตลาดแบบปากต่อปากนั้นสามารถสร้างแบรนด์จากเล็ก ๆ ธรรมดาให้เติบโตจนเป็นแบรนด์ที่ทรงพลังขึ้นได้ ซึ่ง Slack ก็ใช้วิธีการนี้เช่นกัน (อ่านบทความ สร้างแบรนด์ให้ดังด้วยพลังของการบอกต่อ)
Slack พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าผู้คนจำนวนมากก็ยังคงเชื่อคำบอกต่อของคนสนิทอย่าง ครอบครัว ญาติ เพื่อน พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คนในอินเทอร์เน็ตเองก็ด้วย มากกว่าการโฆษณาของแบรนด์
ในช่วงแรก ๆ Butterfield ก็ใช้ประโยชน์จากการบอกต่อนี่แหละมาทำการตลาดให้กับ Slack ผ่านการติดต่อกับคอนเนคชั่นที่เขามีกับบริษัทต่าง ๆ รวมถึงสื่อมวลชนด้วย เพื่อให้ข่าวเกี่ยวกับแพลตฟอร์มใหม่ของเขาที่กำลังปล่อยออกมา
นอกจากนี้ เขายังทำตัวเป็น Influencer เสียเอง เพื่อไปบอกต่อให้เพื่อน ๆ ที่เป็นผู้ประกอบการบริษัทต่าง ๆ ของเขาให้มาลองใช้ Slack ดู จากเหล่าผู้คนคอนเนคชั่นที่เขามี และการพูดกันแบบปากต่อปากเหล่านี้ ส่งผลให้มีคน 8,000 คนมาลงทะเบียนทดลองใช้งาน Slack ในวันแรกที่เปิดตัว ยัง แค่นั้นยังไม่พอจำนวนตัวเลขผู้ใช้งานก็เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายใน 2 สัปดาห์อีกด้วย
Marc Andreessen นักลงทุนของ Slack ได้ทวีตแผนภูมิที่มีผลการเติบโตเพราะการตลาดแบบปากต่อปากของบริษัท เมื่อเดือนสิงหาคม 2014
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่การบอกเล่าปากต่อปากเท่านั้นที่ทำให้เกิดการเติบโตนี้ขึ้นมา แต่ Slack ก็ยังใช้เครื่องมือโซเชียล เช่น Twitter เพื่อเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง และผลักดันการเข้าชมโดยตรงไปยังเว็บไซต์อีกด้วย
และการสร้างกระแสในโลกออนไลน์จะเป็นอีกหนึ่งประโยชน์ต่อแบรนด์ เพราะเป็นการยืนยันทิศทางของตัวผลิตภัณฑ์เองด้วยว่าจะเป็นไปในทางบวกหรือลบ จากการบอกเล่าแบบปากต่อปากของผู้คนโดยเฉพาะบน Twitter และเว็บไซต์รีวิวที่มีความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาของผู้คนอยู่ในนั้น
“เราเดิมพันอย่างมากบน Twitter ถึงแม้ว่าบางคนจะดิ้นรนอย่างมาก เพื่อให้คนมารู้จักเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ จริง ๆ แล้ว การบอกเล่าปากต่อปากจะทำให้คนเพียงไม่กี่หยิบมือเท่านั้นมารู้จักเรา แต่ถ้ามีคนทวีตเกี่ยวกับเราบน Twitter คำพูดทวีตเหล่านั้นก็จะมีคนอีกเป็นร้อยเป็นพันคนที่ได้เห็น” — Butterfield, CEO of Slack
2. เร่งการเติบโตผ่านการผสมผสานกับซอฟต์แวร์ตัวอื่น (Piggyback Marketing)
Piggyback Marketing คือ กลยุทธ์การตลาดโดยใช้ช่องทางอื่นในกลุ่มตลาดที่เกี่ยวข้องในการแสดงผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่ง Slack ก็ได้ใช้การทำการตลาดแบบนี้กับแบรนด์ตัวเองเหมือนกัน
กล่าวคือ Slack มีการผสมผสาน (Integration) กับซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ มากกว่า 1,000+ เจ้า เช่น Asana, Zapier, Google Hangouts, Jira, MailChimp, Clickup หรือ GitHub เป็นต้น จากการทำงานร่วมงานกับเครื่องมืออื่น ๆ ก็ทำให้ Slack เอง มีการแจก API ให้ไปประยุกต์ต่อเองได้ด้วย และทำให้มีพาร์ทเนอร์มากขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทไปได้ไกลขึ้นอีกด้วย
และยังเป็นการเพิ่มการ Referral ผู้ใช้ไปยังเว็บไซต์ของตัว Slack เอง คือ ถ้าผู้ใช้งานค้นหาซอฟต์แวร์เจ้าที่ไป Integrate กับ Slack จาก Search Engine ต่าง ๆ มันก็จะมีชื่อของ Slack แปะอยู่บนหน้าค้นหาด้วย ตัวอย่างเช่น หากใครก็ตามค้นหา Zapier ใน Google ก็จะพบ Zapier-Slack App Directory ที่แสดงเป็นหนึ่งในผลการค้นหาบนหน้าของ Google
นอกจากนั้น อีกหนึ่งข้อดีจากการที่ Slack ไป Integrate กับซอฟต์แวร์อื่น ๆ นั่นคือ เนื่องจาก Slack เป็นแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันบนคลาวด์ที่เปิดใช้งานการสื่อสารพร้อมกันบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งทีมงานทุกคนสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ในการส่งมอบบริการ สนับสนุนขั้นตอนการทำงานขององค์กร กระบวนการเตรียมความพร้อม (Onboarding) กับลูกค้า และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
ในเมื่อ Slack ไป Integrate กับซอฟต์แวร์ตัวอื่นแล้ว เราก็สามารถดึงข้อมูลจากแพลตฟอร์มนั้น ๆ นำมาใช้ได้เลย และยังทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เร็วขึ้นอีกด้วย นับว่าสะดวกมากสำหรับการใช้งานขององค์กรที่มีข้อมูลอยู่ในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม มันทำให้เราสามารถทำงานได้จบภายในที่เดียว (สามารถดู Demo การ Integrate ของ Slack ได้ ที่นี่)
3. เข้าซื้อผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง
Slack ไม่ใช่เจ้าเดียวที่ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการสื่อสารของทีมเท่านั้น แต่ยังมีผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ ๆ อย่าง Atlassian หรือ Microsoft อีกที่ทำบริการแบบเดียวกันขึ้นมาอีก และถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเลยทีเดียว
ในเดือนกรกฎาคม 2018 Slack ได้มีการเข้าซื้อทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ที่เป็นเบื้องหลังของ Hipchat และ Stride จากบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ Atlassian ที่เป็นเสมือนคู่แข่งสำคัญในบริการแชทสนทนาในที่ทำงาน โดย Hipchat และ Stride ได้ปิดตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ที่ผ่านมา และย้ายฐานผู้ใช้งานทั้งหมดมาที่ Slack นอกจากนั้นทั้งสองบริษัทก็จะทำงานร่วมกัน เพื่อการรวมตัวระบบเข้ากันในอนาคตอีกด้วย
นี่ถือว่าเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญมากสำหรับ Slack เนื่องจากถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทที่ครองตลาดในปัจจุบันอยู่แล้ว แต่ทาง Slack เองก็รู้สึกได้ถึงแรงกดดันในการแข่งขันจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น Microsoft Team, Google Hangouts Chat, Workplace by Facebook และ Cisco Webex Teams
การลบคู่แข่งออกไปอีกหนึ่งเจ้าก็ถือว่าเป็นการส่งข้อความอันทรงพลังไปถึงบริษัทอุตสาหกรรมด้านการสื่อสารองค์กรอีกด้วย ซึ่งในอนาคตเราก็อาจจะได้เห็นปฏิกิริยาอะไรบางอย่างจากทั้งบริษัท Startup ที่เกิดใหม่ รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่ให้บริการแบบเดียวกัน
และที่สำคัญ การเป็นพันธมิตรกับองค์กรเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งอย่าง Atlassian จะช่วยให้ Slack มีความน่าเชื่อถือในการดึงดูดองค์กรขนาดใหญ่และการสนับสนุนทางการเงินที่จำเป็น เพื่อที่จะกำจัดความท้าทายจากคู่แข่งที่มีเงินมากพอที่จะมาลงสนามแข่งกันในอนาคตอีกด้วย
ในเมื่อ Slack ยังมีแนวคิดแบบนั้นได้เลย แล้วทำไมบริษัทใหญ่ ๆ จะคิดแบบ Slack ไม่ได้
เมื่อเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา Slack กลับโดน Salesforce ซอฟต์แวร์ที่ให้บริการด้าน CRM แบบครบวงจร ขอซื้อธุรกิจ Slack ไปด้วยเงิน 8.3 แสนล้านบาท แต่ใครจะรู้ว่า Stewart Butterfield CEO ของ Slack ก็ยอมรับข้อเสนอนี้แต่โดยดี
นั่นไม่ใช่เพราะพวกเขาขัดสนทางการเงินแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะว่าเขามองเห็นโอกาสในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะทำให้องค์กรยุคใหม่ทำงานได้เร็วขึ้น ลดขั้นตอนความวุ่นวาย ด้วยการรวมเอาข้อดีในการสื่อสารของ Slack และฟีเจอร์เด็ด ๆ ของ Salesforce ไว้ในที่เดียว
(อ่านเบื้องหลังการจับมือกันของ Salesforce และ Slack เพิ่มเติมได้จากบทความ เปิดเบื้องหลังดีลแห่งปี ! เพราะอะไรที่ทำให้ Salesforce ตัดสินใจซื้อ Slack ด้วยเงิน 8.3 แสนล้านบาท)
4. รับฟัง Feedback ของลูกค้า
Slack เก็บทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ใช้รุ่นแรก ๆ นำมาปรับปรุงทั้งในด้านของตัวผลิตภัณฑ์, User Interface, ประโยชน์ และประสิทธิภาพของโปรแกรม
ซึ่งใครก็ตามที่ส่งอีเมล Feedback มาหาทีม Slack พวกเขาจะตอบกลับอีเมลทุกฉบับที่ได้รับมา รับฟัง และให้ความช่วยเหลือลูกค้าเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นโอกาสในการปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์ของเขาไปในตัวอีกด้วย
จากการรับฟังลูกค้า บริษัทสามารถสร้างซอฟต์แวร์ที่ตลาดต้องการได้อย่างเต็มที่ แม้กระทั่งในปัจจุบัน Slack ก็รับฟังและเคารพต่อทุก ๆ ความคิดเห็นของผู้ใช้ ซึ่งมันกลายเป็น DNA ของบริษัทไปแล้ว
และ Slack เชื่อว่าทุกการตอบโต้กับลูกค้าคืออีกหนึ่งโอกาสทางการตลาด ถ้าหากบริษัทสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ให้กับลูกค้า แล้วพวกเขาเกิดความประทับใจขึ้นมา พวกเขาจะแนะนำบอกต่อแบรนด์เองโดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องทำการตลาดมากมายเลย
The Growth Master พาไปดู
วันนี้เราจะพาไปดู Tech Stack ที่ Slack ใช้กันว่ามีอะไรบ้าง ซึ่ง Slack เป็นองค์กรที่พัฒนาเกี่ยวกับซอฟต์แวร์เพราะฉะนั้นเขาจึงใช้ Tools ในหมวดของ Application and Data เยอะที่สุด จำนวน 35 Tools รองลงมาคือ Utilities และ DevOps จำนวน 11 Tools เท่ากัน (สามารถดู Tools ทั้งหมดได้ ที่นี่)
และสุดท้ายหมวด Business Tech Stack วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จัก Tech Stack ในหมวดนี้จำนวน 5 Tools ด้วยกัน แต่แน่นอนว่า ในเมื่อเขาพัฒนาแอปพลิเคชันด้าน Management ขึ้นมา เขาก็ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่เราไปดูตัวอื่นเพิ่มกันเลยดีกว่า
Zendesk - ซอฟต์แวร์ Help Desk เป็นระบบที่ช่วยในด้าน Customer Support, Customer Service หรือ CRM สำหรับธุรกิจออนไลน์ทุกประเภท โดยทำงานบนระบบ Cloud ที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรและเพิ่มความพึงพอใจให้กับฝั่งลูกค้าหรือเจ้าหน้าที่ Support ของคุณเองอีกด้วย
AdRoll - เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แพลตฟอร์ม E-Commerce เติบโตขึ้น โดยจะช่วยให้สามารถเชื่อมต่ออัตโนมัติในการเข้าถึง วิเคราะห์ และวัดผลของ Customer Journey ทั้งหมดบนเว็บ และดูได้ว่า Last Click ของลูกค้าอยู่ตรงไหนก่อนเกิด Conversion
Delighted - ซอฟต์แวร์ที่ช่วยรวบรวม Feedback จากลูกค้าของคุณภายในไม่กี่นาที โดยให้ลูกค้าทำแบบสำรวจ ซึ่งพวกเขาจะให้คะแนนสินค้าหรือบริการของเรา และให้ Feedback กลับมา และ Feedback เหล่านี้นี่แหละจะโชว์บน Dashboard ทันที
Respondly (ชื่อใหม่ Buffer Reply) - ซอฟต์แวร์ Social Media Management เพื่อจัดการบัญชีในโซเชียลมีเดีย โดยสามารถกำหนดเวลาการโพสต์ไปที่โซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Twitter, Facebook, Instagram, Instagram Stories, Pinterest และ LinkedIn รวมถึงวิเคราะห์ผลลัพธ์ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และลูกค้าอีกด้วย
สรุปทั้งหมด
ในปัจจุบันด้วยความที่เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในการทำงานร่วมกันภายในองค์กร ผู้คนเริ่มที่จะเลิกใช้อีเมลและเริ่มออกห่างจากช่องทางเดิมที่พวกเขาเคยได้รับประสบการณ์และมีการเชื่อมต่อที่ไม่ดี มายังแพลตฟอร์มใหม่ที่ทำให้องค์กรและทีมงานมีการทำงานที่ง่ายและสะดวกขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น Slack เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถตอบโจทย์การทำงานสำหรับองค์กรต่าง ๆ ได้ดีเลยทีเดียว ใครจะรู้ล่ะว่าจากจุดเริ่มต้นที่ Slack เป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนามาใช้ติดต่อสื่อสารกันภายในองค์กรของตัวเอง จะกลายมาเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำให้การทำงานขององค์กรต่าง ๆ ในโลกมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเราคงต้องจับตาดูต่อไปว่า เมื่อ Salesforce เข้ามาซื้อ Slack ไปแล้วนั้นจะทำให้มีฟีเจอร์อะไรดี ๆ เพิ่มขึ้นและวงการ CRM จะสั่นสะเทือนไปมากกว่านี้หรือไม่