สร้างแบรนด์ให้ดังด้วยพลังของการบอกต่อ

สร้างแบรนด์ให้ดังด้วยพลังของการบอกต่อ
Light
Dark
Eung Rachkorn
Eung Rachkorn

ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ การตลาด และเทคโนโลยี / ClickUp Expert คนแรกของประเทศไทย / เป็นนักการตลาดที่ชอบเขียน และเป็นนักเรียนของทุกเรื่องใหม่ (นักทดลองผิด) 🪐

นักเขียน

เปลี่ยนคนรู้จักให้เป็นลูกค้าผ่านเพียงแค่คำพูด

“เห้ย เราใช้แล้ว มันดีจริง ๆ นะ” คนส่วนใหญ่ใช้แล้วดี อ่ะซื้อมาลองหน่อยก็ได้

ในวันที่กลุ่มเป้าหมายใช้เวลาไปกับการฟังและอ่านรีวิวมากกว่ามาสนใจว่าพนักงานขายจะเสนออะไร การใช้เงินทุ่มจนสุดตัวไปกับการโฆษณาอย่างเดียวจึงไม่เพียงพออีกต่อไป (แถมออกจะสิ้นเปลืองไปซะด้วย) คนส่วนมากมักใช้เวลาไปกับการหาข้อมูลเมื่อต้องการซื้ออะไรสักอย่างว่า แบรนด์นี้ใช้แล้วดีไหม แบรนด์ไหนใช้แล้วดีกว่า การลองดูคนที่เคยใช้แล้วว่าเขาคิดยังไงกับแบรนด์นั้น เป็นเหมือนเสียงยืนยันว่า ส่วนใหญ่เขาว่าดีนะ น่าซื้อมาใช้

“If you do build a great experience, customers tell each other about that. Word of mouth is very powerful.”– Jeff Bezos,  Amazon Founder

“Word-Of-Mouth”

ภาพจาก intakeq

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ นักการตลาดและ PR หยิบมาใช้ใน “การบอกต่อ” แบรนด์ของเขาให้กระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวาง!

การใช้โฆษณาทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักกับแบรนด์ของคุณก็จริง แต่เขาจะเชื่อได้ยังไงว่าของคุณน่ะดีจริงในเมื่อโฆษณานั้นมีคุณเป็นเจ้าของ? โฆษณาก็จะต้องบอกแต่สิ่งที่ดีเท่านั้นอยู่แล้ว

เอาง่าย ๆ เช่น ถ้าคุณต้องการซื้อลิปสติกสักแท่งหนึ่ง คุณจะเชื่อว่าลิปยี่ห้อนี้มันดีเพราะเจ้าของบอกว่ามันดีหรือเพื่อนของคุณซื้อมาลองใช้แล้วบอกว่ามันดีล่ะ

เขยิบเข้ามาใกล้อีกนิดค่ะ นี่อาจจะกลายเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของคุณก็ได้นะ  

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe

เพราะการบอกเล่าปากต่อปากมีพลังมากกว่าที่คิด

75% ของลูกค้าไม่เชื่อโฆษณา แต่ 92% เชื่อคำแนะนำ รีวิวของเพื่อน ของคนรู้จัก – Nielsen

แค่ตัวเลขก็น่าสนใจแล้วใช่มั้ยคะ นอกจากนี้นักการตลาดกว่า 64% ยังบอกว่าการบอกต่อ ๆ กันนี่แหละ คือ วิธีทำการตลาดที่ดีที่สุด!

7 วิธีกระจายแบรนด์ด้วยการบอกต่อ

1. Influencer Marketing

ภาพจาก salesforce

การให้คนดัง คนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นมาเป็นตัวแทนบอกต่อ

พลังของการบอกต่อด้วย influencers ทำให้คุณสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายของคุณได้ง่ายและใกล้ชิดมากขึ้น รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ของคุณอีกด้วย

มันไม่ใช่แค่การบอกกลุ่มเป้าหมายว่าสิ่งนี้มันดีนะ แต่มันสร้างความรู้สึกว่า “โห ขนาดคนนั้นยังใช้เลย มันจะต้องดีแน่ ๆ” กลายเป็นเทรนด์ที่ทำให้คนหันมาสนใจแบรนด์ของคุณได้เหมือนกัน

Influencer คือ คนที่มียอดผู้ติดตามสูงจากคอนเทนต์ที่เขาสร้างขึ้นมา มีการนำเสนอเนื้อหาที่ชัดเจนเจาะลึกในเรื่องที่เขาถนัดและสนใจ นำเสนอออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ ดึงดูดความสนใจ จนทำให้คนเข้ามาติดตามจำนวนมาก เมื่อเขาหยิบแบรนด์ของเรามาพูดจะแนะนำผลิตภัณฑ์ สร้างความเข้าใจ ความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ให้กับคนดู ซึ่งโดยปกติกลุ่มคนที่จะเข้ามาดูมักจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของเราอยู่แล้ว

ด้วยความที่เขามีความน่าเชื่อถือ คำพูดน่าเชื่อถือ มันจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของเราน่าเชื่อถือมากขึ้นไปด้วย

อาจจะยังไม่เห็นภาพเท่าไหร่ มาลองดูตัวอย่างกันหน่อยดีกว่าค่ะ

ภาพจาก 2how

การรีวิวกล้องถ่ายรูป โดยช่างภาพอาชีพที่ได้รับการยอมรับระดับประเทศ 2how หรือพี่หาว แน่นอนว่ากลุ่มคนที่ติดตามคือคนที่มีความชื่นชอบเกี่ยวกับกล้อง การถ่ายภาพ หรือแม้กระทั่งคนอยากจะซื้อกล้องกล้องตัวแรกสักตัว ต้องการรีวิวเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ

พี่หาวมักทำคลิปวิดีโอลงใน youtube รีวิวกล้องถ่ายรูปโดยเอากล้องตัวนั้นไปใช้งานจริง ๆ แล้วบอกข้อดีข้อเสีย มีการนำคลิปไปแชร์ต่อในช่องทางอื่นอย่าง 2how.com, Facebook page 2how, twitter 2how

ตัวพี่หาวเองที่อยู่ในสายอาชีพนี้ทำให้คนดูเชื่ออย่างเต็มใจ ทางบริษัทจะได้คนพูดแทนว่ากล้องของเขาดีหรือไม่ดียังไง ได้สื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง (เพราะตรงกับกลุ่มผู้ติดตามอยู่แล้ว)

ภาพจาก Momay with you

หรือ อีกตัวอย่างคือ Momay Pa Plearn บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง มีการทำวิดีโอสอนแต่งหน้าหรือรีวิวเครื่องสำอาง สกินแคร์ ก็เป็นการบอกต่ออีกวิธีหนึ่งทำให้กลุ่มคนที่ติดตาม (แน่นอนว่าก็ต้องสนใจการแต่งหน้า เครื่องสำอาง) มองว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นมีข้อดี ข้อเสียยังไง

ด้วยความชำนาญของเขาเมื่อแต่งออกมา คนดูก็มองว่ามันดีไปแล้วในระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของคุณแล้วล่ะว่าจะทำให้เขามีความรู้สึกที่ดีกับผลิตภัณฑ์ของคุณได้ขนาดไหน :)

Micro influencer ก็เป็นอะไรที่มองข้ามไปไม่ได้ พวกเขาคือคนทั่ว ๆ ไปที่ชื่นชอบการรีวิว และมีผู้ติดตามประมาณหนึ่ง

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
Macro Influencer มีผู้ติดตาม 100,000 คน+
Micro influencer มีผู้ติดตาม 5,000 – 100,000 คน

ความกะทัดรัดของจำนวนผู้ติดตามทำให้รู้สึกใกล้ชิดมากกว่า เข้าถึงได้มากกว่า ตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า และที่สำคัญคือใช้เงินน้อยกว่าด้วย เหมือนเวลาที่คุณซื้อของจากแบรนด์ดังกับแบรนด์ที่ดังมาก ผลิตภัณฑ์นั้นก็มักจะถูกเพิ่มราคาตามความดังของเขาไปด้วย

แนะนำเครื่องมือสำหรับการมองหา Micro Influencers  : Koleaders

Koleaders เป็นบริการที่จะช่วยวางกลยุทธ์ หาบุคคลที่มีชื่อเสียงตอบโจทย์กับแบรนด์ วางแผนการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

แนะนำเครื่องมือสำหรับการมองหา Micro Influencers  : Tellscore

แพลตฟอร์มการตลาด Influencer ที่จะช่วยให้คุณสื่อสารสินค้าของคุณผ่านการรีวิวของ Influencer น้อยใหญ่ ช่วยตกลงราคา และ Influencer จะต้องถ่ายรูปเพื่อยืนยันผลการรีวิว สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณ

2. โซเชียลมีเดียสิ มันดี

โพสต์เนื้อหาที่สร้างสรรค์และน่าสนใจผ่านช่องทางของแบรนด์เป็นอีกทางหนึ่งที่ดึงคนเข้ามาสนใจและหยิบเรื่องราวนี้ไปบอกต่อ

คนไทยใช้เวลาบนโลกออนไลน์กว่า 9 ชั่วโมงต่อวันและใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียกว่า 3 ชั่วโมงจาก 9 ชั่วโมงนั้น ดังนั้นถ้าคุณจะทำการตลาดโดยไม่สนใจโซเชียลมีเดีย บอกเลยว่าคุณพลาดสุด ๆ
(ผลสำรวจจาก Global digital 2019)

ถ้าโพสต์ของคุณหรือเกี่ยวกับคุณถูกแชร์ออกไปจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาอย่างแรกคือ แบรนด์ของคุณเริ่มถูกรู้จัก คนจำได้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น Top of mind ที่กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นจะนึกถึงสินค้าของคุณเป็นอย่างแรกเมื่อเขาต้องการที่จะซื้อมัน

หวังผลแชร์อย่างเดียวยังไม่พอ แต่การที่แบรนด์ของคุณมีการตอบโต้บนโซเชียลมีเดียตลอดเวลา อย่างการตอบคอมเ การสร้าง interaction หรือ engagement ก็มีส่วนช่วยในการสร้างภาพจำของแบรนด์ได้เช่นกัน

ถ้านึกไม่ออก คุณอาจจะพอจำเคสต์ของ KFC ที่มีการตอบโต้บนโซเชียลมีเดียอย่างน่ารัก(?) จนเกิดเป็นกระแสอยู่พักหนึ่งบนโลกออนไลน์ แล้วเป็นกระแสที่ดีจากคนบนอินเทอร์เน็ตอีกด้วย ลองมาดูไปพร้อม ๆ กันค่ะ

ภาพจาก pantip

เห็นมั้ยคะ แค่การตอบกลับเล็กน้อย ก็ทำให้แบรนด์ของคุณถูกพูดถึงได้ จากตัวอย่างคุณอาจจะมองว่า มันไม่ได้เพิ่มยอดขายนี่ แต่การที่แบรนด์ของคุณถูกจดจำได้นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพาคุณไปให้ถึงการเพิ่มยอดขายได้นั่นเอง

แหม ถ้าไม่มีคนรู้จัก ไม่มีคนพูดถึง จะซื้อก็อาจจะมีลังเลใจกันบ้างใช่มั้ยล่ะ

แล้วเคยสงสัยมั้ยคะว่า ลูกค้ารู้จักกับแบรนด์ได้ยังไง
แล้วแบรนด์เจอกับกลุ่มเป้าหมายของเขาได้ยังไง

การมีลูกค้าคนหนึ่งแท็กหรือเมนชั่นเรา จะทำให้เราเข้าถึงโพสต์นั้นได้ เป็นการตามไปดูว่าโพสต์นั้นเป็นยังไง มีคนพูดถึงเรายังไง และการตอบกลับของเราก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ขึ้นระหว่างเรากับเพจนั้นหรือกลุ่มเป้าหมายนั้น

การสร้างแฮชแท็กเฉพาะของแบรนด์ขึ้นมา เมื่อมีการพูดถึงเราโดยมีการติดแฮชแท็กนี้ ก็จะทำให้สามารถเข้าไปดูโพสต์ต่าง ๆ ของคนที่พูดถึงเราด้วย นอกจากนี้ก็จะสามารถดูคร่าว ๆ ได้ว่า กลุ่มเป้าหมายของเรา เขามีไลฟ์สไตล์การสื่อสารแบบไหน และนำไปปรับกลยุทธ์กับแบรนด์ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้าง community ร่วมกันระหว่างคนที่สนใจในแฮชแท็กนี้เหมือนกันได้ด้วยนะ

เรียกว่าเป็น Social listening/monitoring เพื่อให้รู้ว่าคนบนโซเชียลคิดยังไงเกี่ยวกับเรา

แนะนำเครื่องมือสำหรับการทำ Social listening : Hootsuite


เป็นเครื่องมือ Social media management ที่ทำงานได้อย่างหลากหลาย เช่น การใส่คีย์เวิร์ดเข้าไป ถ้ามีคนพูดถึงคำนี้ เครื่องมือก็จะแสดงผลลัพธ์บนโซเชียลมีเดียออกมาว่ามีคำนี้อยู่ในโพสต์ไหนบ้าง

3. เสิร์ฟสินค้าเลี้ยง Brand loyalty

ส่งสินค้าเป็นของขวัญให้ลูกค้าลองใช้ ลูกค้าเก่าถูกใจ ลูกค้าใหม่ประทับใจ

จะน่าประทับใจแค่ไหนถ้าแบรนด์ที่คุณชื่นชอบส่งของฟรีมาให้คุณลองใช้ ถึงแม้ว่าจะเป็นสินค้าขนาดจิ๋วก็ตาม เหมือนเป็นข้อความกลาย ๆ ว่าคุณน่ะพิเศษสำหรับเรานะ เราถึงอยากให้คุณได้ลองใช้สิ่งนี้

ลูกค้าคือคนที่คนเคยลองใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณแล้ว โดยปกติแล้วเวลาที่เราต้องการจะซื้ออะไรสักอย่าง อาจจะมีแบรนด์มากมายที่คุณนึกขึ้นได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีแค่ 3 ชื่อเท่านั้นที่สลักอยู่ชัดเจนที่สุด ส่วนอันดับหลังจากนั้นก็จะถูกปัดตกไป ใครก็อยากจะเป็น 1 ใน 3 ชื่อแรกทั้งนั้น

ลูกค้าเก่าใช้งานมานาน คุณเป็น Top of mind ของเขา แต่จะมั่นใจได้ยังไงว่าคุณจะเป็นตลอดไป แบรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา มันเลยเป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณจะต้องรักษา Brand loyalty ไว้เสมอ ถ้าเป็นคนที่ชื่นชอบแบรนด์ของคุณอยู่แล้ว การส่งของขวัญจะยิ่งสร้างความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์ของคุณยิ่งขึ้นไปอีก

ลูกค้าใหม่เพิ่งเริ่มใช้งาน การใช้งานเพียงไม่กี่ครั้งไม่ได้การันตีตำแหน่งของคุณในใจของเขา นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างความประทับใจ แสดงความใส่ใจ จนสามารถขยายแบรนด์ของคุณจนเต็มพื้นที่หัวใจของเขาไปเลย

“ดีจนอยากบอกต่อ”

ยกตัวอย่าง Starbucks ที่เป็นแบรนด์เครื่องดื่มที่มีราคาสูง ทั้งที่มีร้านกาแฟร้านอื่น ๆ ราคาถูกกว่าและอร่อยอีกตั้งมากมาย Starbucks จะส่งของและโปรโมชั่น เช่น เมนูใหม่ฟรี ของขวัญและปฏิทินในทุกปีใหม่สำหรับ Gold member ความใส่ใจจะสร้างความรักให้กับลูกค้าจนเขามองไปที่คุณเป็นคนแรกเสมอ

4. Referral Program ให้เก่ามาเล่าใหม่

การบอกต่อแบรนด์โดยลูกค้าของคุณ ลูกค้าเก่าก็ได้… ลูกค้าใหม่ก็ได้…

วิธีนี้คุณอาจจะเคยเห็นแต่ไม่ได้นึกถึง Referral Program คือ โปรโมชั่นการตลาดที่ลูกค้าเก่าของคุณนำแบรนด์ของคุณไปบอกต่อ(กับลูกค้าใหม่) โดยที่เขาจะได้สมนาคุณกลับไป ส่วนลูกค้าใหม่ก็จะได้โปรโมชั่นพิเศษเพื่อทดลองสินค้า

ก็คือ ลูกค้าเก่า จะได้รับสิทธิพิเศษ คูปองส่วนลด ฯลฯ จากการแนะนำต่อ

ลูกค้าใหม่ ในฐานะที่เพิ่งเริ่มใช้และถูกแนะนำมาจากลูกค้าเก่า จะได้รับโปรโมทชั่นพิเศษ

UBER แฝง call-to-action ไว้ใน referral program อย่างเรียบง่ายและชัดเจน เงื่อนไขคือ เขาต้องเชิญเพื่อนมาใช้บริการ UBER เพื่อนของเขาจะได้รับส่วนลดในการใช้บริการครั้งแรก ถ้าเพื่อนของเขากดใช้บริการนี้ เขาก็จะได้รับ UBER Credits เป็นการตอบแทน

ต้องมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า เขา(ลูกค้าของคุณ)จะได้รับอะไรจากการเชิญเพื่อนมาใช้บริการ และเพื่อนของเขาจะได้รับอะไรจากการกดใช้บริการนี้

จากตัวอย่างการใช้ referral program ของ UBER คือ ลูกค้าเก่าได้เครดิตสะสมสำหรับนั่งรถฟรี ลูกค้าใหม่ได้ใช้บริการครั้งแรกในราคาเป็นมิตร

อย่าไปคิดว่า ‘นี่เราเสียไปฟรี ๆ หรือเปล่านะ’ กลยุทธ์การบอกต่อแบบนี้แหละคือเบื้องหลังของการเติบโตครอบคลุมกว่า 50 ประเทศภายใน 3 ปีของ UBER

แนะนำเครื่องมือสำหรับการทำ Referral program : ReferralCandy


ReferralCandy จะช่วยคุณในการจัดการและวัดผลการทำ Referral Program ว่าคุณสามารถเพิ่มยอดขายได้มากเท่าไหร่


5. แกล้ง ๆ ให้ user generated content

ลูกค้าเล่าเรื่องราวของแบรนด์ผ่านช่องทางที่เป็นสาธารณะ เช่น Pantip

หลายคนน่าจะเคยเจอกับเหตุการณ์ที่เรามานั่งงมนั่งหารีวิวต่าง ๆ นา ๆ เพื่อตอบว่าสิ่งที่เราอยากได้มันดีจริง ๆ ใช่มั้ย แล้วหลายครั้งเราก็เชื่อกระทู้จากใครที่ไม่รู้จัก… เชื่อมากจนทำให้เราต้องคิดใหม่จากที่ไม่สนใจ ไม่แน่ใจ กลายเป็นอยากซื้อซะอย่างนั้น

“ของมันต้องมี”

การสร้างคอนเทนต์ของเขามีความน่าสนใจ มีการพิสูจน์ยืนยันทำให้สินค้าดูน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังมีการเข้ามาแสดงความคิดเห็นของคนที่หลากหลาย เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้น้ำหนักของการรีวิวมากขึ้นไปอีก มีคนเชื่อ คนถูกใจ การแชร์ต่อก็เป็นกลไกลสำคัญที่ทำให้คนได้รู้จักกับแบรนด์ของคุณ ยิ่งกระทู้ถูกแชร์ไปไกลเท่าไหร่ แบรนด์ของคุณก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ถ้าแบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จัก ก็จะมีคนหยิบผลิตภัณฑ์ของคุณไปแนะนำ บอกต่อเอง แต่ถ้าเป็นแบรนด์ใหม่ล่ะ?

ทำให้เค้าอยากบอกต่อสิ

ควรทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้าง engagement บนโลกออนไลน์ เช่น #การใช้แฮชแท็ก ที่น่าสนใจ โดดเด่นจนคนใช้กันเป็นไวรัล จนเป็นคำพูดฮิตติดหู แต่แฮชแท็กนี้ไม่ใช่แค่อะไรก็ได้ แต่ต้องเชื่อมโยงกับแบรนด์ของคุณได้ด้วยนะ มันจะสร้างภาพจำและทำให้เขานึกถึงแบรนด์ของคุณ

นอกจากแบรนด์ใหม่ ๆ จะนิยมนำมาใช้ แบรนด์ที่โด่งดังอยู่แล้วก็ไม่มองข้ามเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะนอกจากจะทำเป็นไวรัลให้คนหันมาสนใจได้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้เพื่อเกิดเป็นกระแสเรื่องราวที่อยากบอกต่อได้ด้วย

#WeAccept เป็นแคมเปญของ Airbnb ที่ใช้เพื่อบอกต่อว่าเขาไม่แบ่งแยก ยอมรับ และเคารพทุก ๆ คนไม่ต่างกัน อย่างที่ทราบกันดีว่า Airbnb ให้บริการที่พัก ที่เจ้าของที่พักเองก็ไม่มีใครทราบหรอกว่าคนที่จะมาพักเป็นใคร เพศอะไร ชาติไหน

มากกว่าการบอกต่อว่าแบรนด์ของคุณคืออะไร คือการบอกต่อว่าแบรนด์ของคุณมีวิสัยทัศน์ยังไง

6. “ลองใช้แล้วดีมั้ย อย่าลืมบอกต่อนะคะ”

ส่งสินค้าขนาดทดลองเพื่อขอให้ลูกค้ารีวิว จากนั้นโพสต์ลงบนช่องทางของคุณก็เป็นวิธียืนยันความดีงามของสินค้าคุณได้เป็นอย่างดีอีกวิธีหนึ่ง

จริง ๆ แล้วการให้สินค้าขนาดทดลองแล้วขอฟีดแบคหรือให้เรตติ้งกับสินค้าชิ้นนั้นจากลูกค้าก็เป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างมาก เมื่อได้รับฟีดแบคมาแล้วเอาไปโพสต์บนช่องทางของคุณ ยิ่งมากยิ่งน่าเชื่อถือ

“ยืนยันจากผู้ใช้ 100 คน”

ลองคิดดูสิถ้าลูกค้าของคุณเห็นว่ามีคนมากมายมารีวิว เขาจะคิดยังไง ที่แน่ ๆ คนรีวิวเยอะขนาดนี้ คนใช้จะเยอะขนาดไหน (เพราะไม่ใช่ทุกคนจะรีวิวให้อยู่แล้ว) เป็นอีกช่องทางที่จะทำให้คุณเพิ่มยอดขายให้สูงเสียดฟ้าได้เลยทีเดียว

อย่างที่ได้บอกไปในตอนแรกสุดว่าการบอกต่อมีพลังและทุกวันนี้คนก็ใช้เวลาอย่างมากไปกับการฟังและอ่านรีวิว อะไรจะเป็นใจให้คุณขนาดนี้

แนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การรีวิวของผู้ใช้น่าเชื่อถือ : Loox


Loox เป็น plugin ที่เชื่อมต่อกับ Shopify ที่ผู้ใช้จะถ่ายรูปเพื่อยืนยันการรีวิวสินค้า ทำให้สามารถเชื่อถือได้ว่าสินค้านี้ถูกรีวิวจริง ๆ

สูตรลับให้คนรีวิว

1.บอกให้ชัดเจนว่า รีวิว ยังไง?

ไม่มีใครชอบเรื่องยุ่งยาก ถ้าอยากจะให้เขารีวิวให้เรา ควรบอกให้ชัดเจนว่าต้องรีวิวยังไง การต้องมาคิดว่าจะรีวิวยังไง แบบไหน ตรงไหน บางทีมันก็ทำให้รู้สึกว่า ยากไป วุ่นวายไป ไม่ทำละ การบอกให้ชัดเจนจะทำให้เขาไม่ต้องมาคิดตรงนี้ และยังช่วยให้เขาบอกประสบการณ์การใช้สินค้าได้อย่างครบถ้วนตามที่คุณต้องการด้วย

2.บอกในช่องทางที่ส่งตรงถึงเขา

เช่น การส่งอีเมลเพื่อสอบถาม “หนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา ใช้แล้วเป็นยังไงบ้าง บอกเราหน่อยสิ” เป็นช่องทางที่สื่อสารกับเขาได้โดยตรง จะช่วยให้สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น น่าเชื่อถือ เพราะเป็นความคิดเห็นที่เราได้มาจากลูกค้าโดยตรง

3.เขาจะได้อะไรจากการรีวิว

ในบางครั้งความชอบอย่างเดียวอาจล่อใจไม่พอ ลองบอกถึงสิ่งที่เขาจะได้รับถ้าเขาช่วยคุณรีวิวดูสิ เช่น ส่วนลด 5 – 10% บริการพิเศษบางอย่าง จะทำให้เขาอยากรีวิวมากขึ้น

7. Affiliate Network

แนบลิงก์แนะนำ ยิ่งมีคนคลิกลิงก์มาก ผู้แนะนำก็ยิ่งได้รับค่าคอมมิชชั่นมาก คุณก็ได้รับลูกค้ามากเช่นกัน

Affiliate คือ คนที่จะมาเป็นตัวกลางระหว่างคุณและลูกค้า แต่จะแตกต่างจาก Influencer marketing ยังไงมาดูไปพร้อมกันเลย!

Influencer marketing คือ เขามาใช้ของคุณแล้วทำการรีวิว (หรือในรูปแบบอื่น เช่น tutorial) แต่ Affiliate network จะเป็นการที่คุณติดต่อเขา ให้ทำคอนเทนต์บางอย่าง อาจจะเป็นการยิงโฆษณาแล้วแปะลิงก์เข้าไปตรง ๆ เขียนบล็อกที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าและมีการแนะนำข้างล่างพร้อมลิงก์เพื่อเข้าไปสู่เว็บไซต์ของแบรนด์ ก็แล้วแต่วิธีการของแต่ละคนไป ลิงก์ที่แนบไปจะเป็นลิงก์เฉพาะที่แบรนด์ให้กับผู้แนะนำคนนั้นสำหรับเข้าไปดูสินค้า ซึ่งผู้แนะนำจะได้รับเงิน(ค่าคอมมิชชั่น) ก็ต่อเมื่อมีคนคลิกเข้าไปและซื้อสินค้าเท่านั้น

วิธีนี้น่าสนใจและน่าลงทุนตรงที่ คุณไม่ต้องเสียเงินเป็นก้อนโดยไม่รู้ว่ามันมีประโยชน์มั้ย แต่วิธีนี้คุณจะต้องจ่ายให้กับคนแนะนำตามจำนวนคนที่กดซื้อจริง

แนะนำเครื่องมือสำหรับการทำ Affiliate Campaign : Voluum

Voluum เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจที่จะเข้ามาช่วยคุณในการทำ Affiliate Campaign โดยจะช่วยติดตามว่าการทำ Affiliate Campaign ของคุณเป็นยังไงบ้าง มียอดการเติบโตแค่ไหนและช่วยวิเคราะห์ผลออกมาว่าทำแบบนี้แล้วเวิร์คหรือไม่เวิร์ค พัฒนาวิธีและช่องทางการสื่อสารให้ออกมาดีขึ้น

เลือกทำในแบบของคุณ

ไม่จำเป็นต้องทำทุกแบบ ทุกวิธี เลือกแค่บางอันที่คุณมั่นใจก็พอ ลูกค้าเต็มใจที่จะเล่าเรื่องราวพวกนี้แทนคุณเองด้วยอารมณ์และความรู้สึกของเขา มันทำให้เรื่องพวกนี้แหละ มีพลังที่จะส่งต่อไปอย่างจริงใจ คุณจะเห็นว่าในทุกวิธี สิ่งสำคัญของ WOMM คือการทำให้คนหันมาสนใจแบรนด์ของคุณ ซึ่งมันเป็นทางผ่านที่จะทำให้เขาเปลี่ยนจากคนดูมาเป็นคนซื้อ

สุดท้ายสิบปากว่าก็ไม่เท่าทำเอง แต่อย่าลืมนะว่าท้ายที่สุด ทุกคำพูดจะกลับไปผูกกับสินค้าและบริการของคุณ ประสบการณ์การใช้งานครั้งแรกของลูกค้าสำคัญที่สุด เพราะลูกค้าจะเล่าต่อตามประสบการณ์ที่เขาได้ลองใช้ให้คนอื่นฟัง :>

“A customer talking about their experience with you is worth ten times that which you write or say about yourself.” – David J. Greer, Wind In Your Sails
แหล่งอ้างอิง: livechat, MartechAdvisor, Contentshifu, Salesflare, Aeroleads, Blue Mail Media

ไม่พลาดทุกข้อมูลที่ช่วยให้ธุรกิจคุณเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

ติดตามได้หลากหลายช่องทางที่คุณสะดวก ไม่ว่าจะเป็น e-mail, line หรือ youtube
Subscribe