“โลกหมุนไว… เราต้องตามให้ทัน”
คุณรู้ไหมว่า Facebook (เฟซบุ๊ก) ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ไม่ได้มีแค่ Facebook นะ แต่ยังมีแอปพลิเคชันในเครือ เช่น WhatsApp, Messenger และ Instagram
ความน่าสนใจ คือ ทั้ง 4 แอปพลิเคชันในเครือเฟซบุ๊ก โกยยอดดาวน์โหลดมากที่สุดทั้งใน Android และ iOS เพื่อความชัวร์ The Growth Master หยิบสถิติของ SensorTower ที่เปิดเผยสถิติ 2019 Apps by Worldwide Downloads ไล่เรียง Top Apps 5 ได้ตามนี้
- อันดับ 1 WhatsApp from Facebook
- อันดับ 2 Tiktok (ยกเว้นแอปนี้ไม่ใช่ของเฟซบุ๊ก)
- อันดับ 3 Messenger
- อันดับ 4 Facebook
- อันดับ 5 Instagram from Facebook
ภาพจาก twitter.com
เห็นจากภาพแล้วว่า แอปพลิเคชั่นในเครือเฟซบุ๊กนั้นติดทั้งอันดับที่ 1, 3, 4 และ 5 เราอาจจะรู้สึกสงสัยว่า เพราะอะไรกันนะ ? แอปของเฟซบุ๊กถึงกินรวบยอดดาวน์โหลดได้มากขนาดนั้น เดี๋ยวจะสรุปเล่าเฉพาะเรื่องราวแอปของ Facebook ให้ฟังตามนี้
1. WhatsApp
ภาพจาก pixabay.com
“WhatsApp มียอดดาวน์โหลดรวมจากคนทั่วโลกเกือบ 850 ล้านครั้ง”
แม้แอปโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook จะไม่ใช่แอปที่ครองอันดับดาวน์โหลดมากที่สุดแห่งปี 2019 แต่อันดับ 1 แอปโหลดยอดฮิตอย่าง WhatsApp (วอตส์แอปป์) ก็เป็นของ Facebook อยู่ดี
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ WhatsApp เป็นแอปสนทนาที่สามารถตอบโต้แบบเรียลไทม์ที่ได้รับความนิยมจากชาวอเมริกันและชาวอินเดีย เพราะใช้งานง่ายไม่ยุ่งยากนัก
- ด้วยยอดดาวน์โหลดรวมจากคนทั่วโลกเกือบ 850 ล้านครั้ง
- ทำให้ WhatsApp เป็นอีกเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีคนใช้งานมากกว่า 500 ล้านรายต่อวัน
- มียอด Active Users ประมาณ 1,600 ล้านครั้งต่อเดือน (ข้อมูลปี 2019)
คงต้องบอกว่า มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก อ่านเกมขาด! ที่เลือกปิดดีลซื้อ WhatsApp ตั้งแต่ปี 2014 ด้วยราคา 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้น WhatsApp เป็นแค่แอปแชทที่ไม่มีโฆษณา มีเพียงผู้ใช้งาน 1,000 ล้านราย และเมื่อเวลาผ่านไป… เราก็เห็นแล้วล่ะว่า มาร์กมองการณ์ไกลที่จะปูพรมแดงต่อยอดสู่ผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์แบบไม่มีข้อกังขา
2. Messenger
ภาพจาก pixabay.com
“ปี 2019 Messenger มียอดดาวน์โหลดไม่น้อยกว่า 700 ล้านครั้ง”
ยังคงอยู่ในกลุ่มแอปพลิเคชันสนทนาที่ใช้โทร ส่งข้อความ และวิดีโอคอลหากันได้กับแอป Messenger (เมสเซนเจอร์) ที่พ่วงมากับแอป Facebook กล่าวแบบไม่อ้อมค้อม คือ อยากเล่นเฟซบุ๊กก็ต้องโหลดแอปนี้ไว้ใช้แชทคุยหรือโทรสนทนา เพราะไม่สามารถพูดคุยแบบ in-App ได้นั้นเองค่ะ
เล่าง่าย ๆ ไม่อ้อมโลก ถ้าเล่น Facebook ก็ต้องมีแอป Messenger ไม่ต่างอะไรกับสมาร์ทโฟนที่ต้องมีสายชาร์จแบตนั้นแหละ จึงไม่น่าแปลกใจที่แอปนี้จะมียอดดาวน์โหลดติดอันดับโลก
ปี 2019 แอปพลิเคชัน Messenger โดย Facebook โกยยอดดาวน์โหลดจากชาวเน็ตทั่วโลกไปไม่น้อยกว่า 700 ล้านครั้ง
3. Facebook
ภาพจาก unsplash.com
มาถึงแอป Facebook ที่ติดอันดับ 4 ด้วยยอดดาวน์โหลดกว่า 600 ล้านครั้ง ส่วนหนึ่งอาจจะมีเหตุผลว่าแอปโหลดแล้วโหลดเลย ไม่ต้องโหลดบ่อย ยอดเลยไม่กระเตื้องเท่าไหร่ก็เป็นได้ค่ะ
ถึงยอดโหลดไม่เยอะ แต่ยอดผู้ใช้งานเยอะมหาศาลเกินกว่าหนึ่งพันล้านราย ก็ยังทำให้ Facebook ยังท็อปฟอร์มเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกค่ะ
ภาพจาก SenserTower
4. Instagram
ภาพจาก unsplash.com
มาถึงแอปพลิเคชันแชร์รูปภาพ Instagram (อินสตราแกรม) หรือ IG (ไอจี) ของ Facebook ที่เพิ่งถูกเปลี่ยนชื่อแบรนด์มาเป็น Instagram from Facebook และไม่ว่าจะใช้ชื่อไหน ? ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของ Facebook ทั้งนั้น
หากเราย้อนไปในปี 2012 Facebook เข้าซื้อกิจการ Instagram ด้วยเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เซียนนักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า Facebook กำลังเข้าตำราที่ว่า “สู้ไม่ได้ก็ซื้อ” และเมื่อวันเวลาผ่านไปตอนนี้ Instagram มีผู้ใช้งานอย่างน้อย ๆ 1,000 ล้านราย ! มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันในปี 2019 ประมาณ 400 ล้านครั้ง !!
ด้วยยอดผู้ใช้งานที่มีไม่น้อย แต่ Instagram ก็เปลี่ยนแปลงบ่อยเหมือนกันนะ Instagram เพิ่ม 5 ฟีเจอร์ใหม่สำหรับ Business Account ช่วยให้ธุรกิจเติบโตบนแพลตฟอร์มมากขึ้นที่เพิ่งอัปเดทช่วงปลายปี 2019 ล่าสุดยังประกาศถอดปุ่ม IGTV ออกจากหน้าแรกของแอป เพราะไม่ค่อยมีคนกดใช้งานเท่าไหร่
ซึ่งนักการตลาดทั้งหลายสามารถติดตาม The Growth Master อัปเดททุกเรื่องกับศาสตร์การตลาด Growth ได้นะคะ
สรุป
จากเรื่องราวการกินรวบของ Facebook ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นว่า ตอนนี้ Facebook เป็นผู้ทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ แห่งโลกออนไลน์ในปี 2019 ก็ว่าได้ แต่ก็อย่าเพิ่งวางใจไป เราคงต้องดูกันยาว ๆ ว่า “ปี 2020 เฟซบุ๊กจะยังท็อปฟอร์มครองใจชาวเน็ตได้เหมือนเดิมไหม”
แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้บ้าง ?