ยอมรับเลยว่าในปี 2020 นี้ มีพฤติกรรมผู้บริโภคหลายอย่างที่เปลี่ยนไปจากเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเทรนด์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ ก็ได้ทำให้นักการตลาดต้องปรับตัวหัวหมุนไปตาม ๆ กัน
แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook จึงไม่พลาดที่จะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งาน และวิเคราะห์ออกมาเป็น 5 พฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต เพื่อที่จะช่วยเหลือให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและประคองกิจการต่อไปได้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้
ส่วน 5 พฤติกรรมที่กล่าวถึงจะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันได้เลย
1. ใช้จ่ายอย่างปลอดภัยและปลอดโรค
ราคาและความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าอาจเคยเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค แต่ในปัจจุบัน ความสำคัญของปัจจัยดังกล่าวกำลังจะถูกเข้ามาแทนที่ด้วยคำสั้น ๆ อย่าง ‘ความปลอดภัย’
จากรายงานของ Facebook นั้น ค้นพบว่า 71% ของผู้บริโภคในอเมริกาจะคำนึงถึงความปลอดภัยในด้านสุขภาพเมื่อต้องซื้อสินค้าสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าปัจจัยในด้านราคาเพียง 8% และเมื่อมองภาพรวมของผู้บริโภคทั้งโลกแล้ว เกือบครึ่งหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางไปยังร้านค้า และอีก 40% กล่าวว่าจะซื้อของออนไลน์ต่อไปแม้การระบาดของโลกจะหยุดแล้วก็ตาม
แน่นอนว่า COVID-19 ไม่ได้ทำให้ผู้คนหยุดใช้จ่าย เพียงแต่สิ่งที่ธุรกิจต้องปรับตัวคือการทำให้ตนมีความ ‘ปลอดภัย’ ในสายตาของลูกค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนมาขายออนไลน์ควบคู่ไปกับหน้าร้าน หรือจะมองหาแนวทางการขายใหม่อย่าง BOPIS (Buy Online. Pick-up In-Store) ที่ให้ลูกค้าจับจ่ายสินค้าออนไลน์ และมารับของที่หน้าร้านด้วยตนเองก็ได้เช่นกัน
2. หันมาสนใจกิจกรรมฝึกสมาธิและควบคุมจิตใจ
เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากกว่าที่เคยเป็น ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคจึงหันมาให้ความสนใจกิจกรรมที่ช่วยในเรื่องของการฝึกสมาธิและควบคุมจิตใจ เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพจิตให้ผ่อนคลายจากความเครียดที่ต้องอยู่ในบรรยากาศเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหันมาฝึกทำขนม ทำสวน ทำสมาธิ หรือการวาดภาพ
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการพูดถึงการทำขนมปัง Sourdough ซึ่งเป็นขนมปังประเภทที่ต้องใช้เวลานานและการจดจ่อในการทำ โดยมีผู้คนพูดถึงขนมปังประเภทนี้เป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนถึง 11.9 เท่ากันเลยทีเดียว
ภาพจาก Facebook
นอกจากนี้ Facebook ยังค้นพบว่าผู้คนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสำหรับการทำสมาธิ และมีแนวโน้มของการไลฟ์คลาสเรียนโยคะออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมประเภทที่ต้องใช้เวลานานในการทำ อาจยังคงดำเนินต่อในโลกที่หลายคน ‘เคย’ รีบเร่งในชีวิตก็เป็นได้
3. สนับสนุนร้านค้าท้องถิ่น
เมื่อเศรษฐกิจกำลังได้รับผลกระทบหนัก ร้านค้าเล็ก ๆ หลายร้านจึงทยอยปิดตัวลง บ้างก็ปิดเพียงชั่วคราวเพื่อยื้อธุรกิจต่อไป แต่หลายร้านก็ปิดต้องจำใจปิดตัวไปอย่างไม่มีกำหนด
เมื่อเห็นดังนั้น ผู้บริโภคจึงหันกลับมาสนใจและสนับสนุนร้านค้าท้องถิ่นในละแวกที่ตนอาศัยอยู่มากขึ้น เพราะร้านค้าเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่เติมเต็มให้ชุมชนเป็นมากกว่าแหล่งรวมตัวของคน และยิ่งในช่วงที่ต้องอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาก็เลือกที่จะมองหาร้านค้าในละแวกใกล้เคียงมากกว่าร้านแปลกใหม่ในละแวกอื่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตนมากขึ้น
โดยรายงานระบุว่ามีการค้นหาร้านค้าใกล้เคียงใน Facebook มากขึ้นถึง 23% และกลุ่มซื้อขายออนไลน์ในชุมชนก็มีจำนวนสมาชิกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 3.3 เท่าในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคมที่ผ่านมาอีกด้วย
4. เจอกันไม่ได้ แต่ต้องสื่อสารกันได้
เมื่อหน้าร้านอาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่ลูกค้ายังต้องการประสบการณ์ซื้อที่คล้ายคลึงกับการซื้อของแบบเดิม ๆ การติดต่อร้านค้าเพื่อพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริโภค และเป็นเรื่องจำเป็นที่ธุรกิจควรพัฒนาให้เกิดความสะดวกสบายต่อพวกเขามากที่สุด
โดย Facebook ได้ทำการสำรวจและค้นพบว่า กว่า 50% ของผู้ใช้งานทั่วโลกรู้สึกผูกพันกับร้านค้ามากกว่าหากพวกเขาสามารถสื่อสารกับร้านค้าได้ และกว่า 40% กล่าวว่าจะเลือกซื้อสินค้าจากร้านที่สามารถติดต่อทางข้อความได้ก่อน
เรายังได้เห็นกิจกรรมอีกมากมายที่จัดขึ้นออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมงาน การจัดอีเวนต์ หรือแม้กระทั่งการจัดเทศกาลเดือนรอมฎอนแบบออนไลน์ก็มีขึ้นมาแล้วเช่นกัน!
5. Gen-Z กลับมามีส่วนสำคัญ
จากรายงานพฤติกรรมของผู้ใช้งานนั้น Facebook กล่าวไว้ว่าประชากร Gen-Z ได้กลายเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงมากที่สุดจากช่วงกักตัวที่ผ่านมา และมีแนวโน้มสูงที่จะยังคงพฤติกรรมเหล่านี้ต่อไปแม้การระบาดจะจบลงแล้ว โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีสถิติใช้แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์มากขึ้นถึง 1.53 เท่า และดูวิดีโอรวมถึงติดต่อกับคนอื่นผ่านการส่งข้อความเพิ่มประมาณ 1.3 เท่าเลยทีเดียว
ภาพจาก Facebook
ไม่เพียงแต่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ทัศนคติของพวกเขายังเปลี่ยนไปอีกด้วย เพราะมีจำนวน Gen-Z ที่เล็งเห็นปัญหาของสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นถึง 1.21 เท่า และ 54% ของกลุ่มวัยรุ่นในยุโรปยังหันมาสนใจปัญหาทางสังคมมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อีกด้วย
ที่ต้องให้ความสนใจกับคนกลุ่มนี้อย่างมาก เป็นเพราะในปัจจุบันประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปีมีมากถึง 41% และ Gen-Z เองก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงกล่าวได้ว่าพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้จะเป็นแนวทางของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในอนาคตนั่นเอง
สรุปทิ้งท้าย
ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าโรค COVID-19 นั้นจะหยุดแพร่ระบาดทั่วโลกเมื่อไหร่ แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็ได้ทำให้ธุรกิจได้เรียนรู้บทเรียนที่มีคุณค่ามากมาย ได้เห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในมุมที่ชัดขึ้น และได้เห็นความร่วมมือของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่พยายามอย่างยิ่งในการช่วยเหลือประคับประคองธุรกิจอื่นให้ก้าวเดินต่อไปได้
The Growth Master เองก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังปรับตัวกับความท้าทายนี้ ขอให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดีนะคะ