ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ปี 2019) Facebook ได้ทำการปล่อยฟีเจอร์ใหม่ “Ad Library” ซึ่งมันคือฐานข้อมูลที่รวบรวม Ads ทั้งหมดที่กำลังทำงานอยู่บน Facebook โดยพวกเขาตั้งใจพัฒนามันออกมาเพื่อความโปร่งใสของโฆษณาที่มากขึ้น หลังจากที่มีพรรคการเมืองใช้มันเพื่อผลประโยชน์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อปี 2016
แต่นอกเหนือจากประโยชน์เรื่องความโปร่งใสแล้ว มันก็ยังกลายมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับนักการตลาดสาย Spy ที่สามารถนำมาใช้เพื่อส่องข้อมูลโฆษณาของคู่แข่งได้อีกด้วย
ซึ่งในบทความนี้เอง ผมก็ได้นำเทคนิคการใช้ฟีเจอร์ Ad Library เพื่อวิเคราะห์โฆษณาของคู่แข่งมาฝากทุกคน (จะอยู่ในหัวข้อถัดๆ ไป) แต่ก่อนอื่นเลย เราจะไปศึกษานิยามและวิธีการใช้งานมันเบื้องต้นกันก่อน
นิยามของ Ad Library จาก Facebook
ต้องอธิบายก่อนว่าฟีเจอร์ Ad Library นั้นถูกพัฒนามาจากฟีเจอร์เดิมคือ Ad Archive ที่ได้ปล่อยออกมาในปี 2018 โดยผู้ใช้จะสามารถดูได้เฉพาะข้อมูลโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและประเด็นในเรื่องนโยบายต่างๆ เท่านั้น
แต่สำหรับฟีเจอร์ Ad Library นั้นก็ได้ขยายขอบเขตของฟังก์ชั่นการใช้งานให้มากขึ้น โดยมันอนุญาตให้คุณสามารถค้นหาและดูข้อมูลของโฆษณาบน Facebook ได้อย่างอิสระมากขึ้น ไม่ว่าโฆษณาเหล่านั้นจะอยู่ในหมวดหมู่ไหน และไม่ว่าคุณจะเป็นเป้าหมายของโฆษณาเหล่านั้นหรือไม่ คุณก็สามารถดูได้
โดย Facebook ได้นิยามคอนเซปต์ของฟีเจอร์นี้ไว้ว่า :
– Available to everyone : ใครก็ตามที่มีลิงก์สามารถค้นหาและดูข้อมูลการโฆษณาบน Facebook ของแต่ละเพจได้ ไม่ว่าเพจนั้นจะเป็น Brand, Publisher หรือ Influencer ก็ตาม แต่ในกรณีถ้าเนื้อหาในโฆษณานั้นอยู่ในประเภทที่จำกัด (เช่น โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการพนัน) Facebook ก็จะไม่แสดงข้อมูลนั้นต่อผู้ใช้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
– Completely searchable : คุณสามารถค้นหาได้ด้วยการใส่ชื่อเพจลงไปในช่อง Search ซึ่งจะเป็น บุคคล องค์กร หรือผลิตภัณฑ์ ก็ได้ เช่น คุณอาจจะกำลังค้นหาเพจที่ขายสินค้าแบบเดียวกับคุณ หรือหาบุคคลที่เป็นนักการตลาดสายเดียวกับคุณ ก็สามารถทำได้
จะเห็นได้ว่าคอนเซปต์ของ Facebook นั้นคือการตั้งใจทำให้โฆษณาต่างๆ ดูเป็นสาธารณะมากขึ้น และทำให้ผู้ใช้ทั่วไปรวมถึงผู้ประกอบการหรือนักการตลาดอย่างเราสามารถเข้าถึงมันได้ง่ายขึ้น
วิธีการใช้งาน Ad Library
วิธีการเข้าไปใช้งานมันจะมีทั้งหมด 2 วิธี คือ
1. คุณสามารถเข้าไปที่หน้าของ Ad library ได้โดยตรงเลยที่ลิงก์ : https://www.facebook.com/ads/library และค้นหาในช่อง Search
2. อีกหนึ่งวิธีก็ คือการเข้าไปในเพจนั้นๆ และเลือกที่ “Page Transparency” ที่อยู่ด้านขวาของเพจ และคลิ๊ก ‘See more’ จากนั้นก็เลื่อนลงมาในเซคชั่น “Ads From This Page” และคลิ๊กที่ ‘Go to Ad Library’ เท่านี้คุณก็สามารถดูเนื้อหาโฆษณาของเพจดังกล่าวได้แล้ว
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น คุณสามารถดูวิธีการใช้งานได้จากวิดีโอด้านล่างนี้ครับ :
ที่สำคัญคือ คุณสามารถใช้งานมันได้โดยไม่จำเป็นต้องล็อคอิน Facebook Account ของคุณเลยด้วยซ้ำ
เอาหล่ะครับ ทีนี้คุณก็น่าจะเข้าใจวิธีการใช้งานมันแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลาที่คุณจะได้เรียนรู้แล้วว่า ถ้าเราจะใช้ฟีเจอร์ Ad Library ในการส่องคู่แข่งของเรา ต้องส่องอย่างไร ? แล้ววิเคราะห์จากอะไรเป็นหลัก ?
ไปดูกันเลย
5 จุดที่ต้องสนใจเมื่อใช้ Ad Library ในการส่องคู่แข่ง
ถึงตรงนี้ เชื่อว่าคุณก็คงรู้สึกว่าอยากจะเริ่มต้นแล้ว แต่อาจจะยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าควรเริ่มยังไง ครั้งนี้ผมจึงจะมาช่วยนำทางคุณด้วย 7 ขั้นตอนด้านล่างนี้เลยครับ
1. รูปแบบการเขียน Copy Writing
เทคนิคในการสังเกตุการเขียน Copy Wirting ของคู่แข่งก็คือ :
– พวกเขามีสไตล์การเขียนอย่างไร ?
– พวกเขาใช้โทนเสียง (Tone of voice) แบบไหนในการสื่อสารกับลูกค้า ?
– พวกเขาเลือกใช้การเขียนแบบ Long – form หรือ Short – form ?
– พวกเขาใช้เทคนิคอื่นๆ เพื่อให้คอนเทนต์ดูเข้าถึงง่ายไหม (เช่น การใส่ Emoji เป็นต้น)
สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าวิเคราะห์ออกมาแล้ว คุณจะได้รู้อะไรหลายๆ อย่างจากมัน เช่น พวกเขามีกลุ่มลูกค้าแบบไหน (จากการใช้ภาษาหรือคำ) หรือก็จะสามารถบอกได้ว่าด้วยการสื่อสารแบบนี้ มันเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเหล่านั้นได้ดีแค่ไหนนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น Hubspot ซอฟต์แวร์ที่ให้บริการทางด้าน Inbound Marketing and Sales โดยเราจะสามารถสังเกตุได้จาก Ads ของพวกเขาว่า พวกเขามีการใช้รูปแบบของ Ad , CTA (Call to action) และรูปภาพที่เหมือนกัน แต่ใช้รูปแบบการเขียน Copy writing ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อทดสอบว่ารูปแบบการเขียนแบบไหนที่เวิร์คที่สุด
2. Title ของลิงก์เว็บไซต์
Title ของลิงก์เว็บไซต์เป็นอีกหนึ่งอย่างที่สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ดี ซึ่งเพียงแค่เปลี่ยนคอนเทนต์ของ Title นั้น กลุ่มเป้าหมายก็อาจจะเปลี่ยนได้เช่นกัน หลากหลายเพจจึงมักจะลองด้วยประโยคที่หลากหลาย
ตัวอย่างจาก Hubspot (อีกเช่นเคย) นอกจาก Copy Writing แล้ว พวกเขาได้ทำการทดสอบกับคอนเทนต์ Title ของลิงก์เว็บไซต์เช่นเดียวกัน โดยจะสังเกตุได้ว่าพวกเขานั้นใช้รูปภาพ และรูปแบบโฆษณาที่เหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ Title ของลิงก์นั่นเอง
3. ความสร้างสรรค์ของดีไซน์
รูปหรือวิดีโอมักเป็นสิ่งแรกๆ ที่สามารถหยุดสายตาของคนที่กำลังเลื่อนหน้าจออยู่ได้ ซึ่งถ้ารูปภาพหรือวิดีโอเหล่านั้นมีดีไซน์ที่สวยงาม พร้อมกับคอนเซปต์ที่สร้างสรรค์และน่าสนใจแล้ว มันก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่กลุ่มเป้าหมายจะอยากทำความรู้จักกับสินค้าหรือข้อเสนอของคุณมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น Canva เว็บไซต์สำหรับการออกแบบดีไซน์ Artwork ต่างๆ ที่พวกเขาเลือกใช้วิดีโอใน Ad ของพวกเขา ซึ่งมีทั้งวิดีโอที่มีสีสันสะดุดตา และวิดีโอแบบเรียบง่ายแต่เข้าถึงได้ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันนั่นเอง
4. Format ของโฆษณา
ปัจจุบันโฆษณาบน Facebook นั้นมีหลากหลายประเภท เช่น
– Image Ads : โฆษณาที่เป็นรูปภาพ
– Video Ads : โฆษณาที่ใช้วิดีโอ
– SlideShow Ads : โฆษณาแบบรูปภาพที่เลื่อนไปเรื่อยๆ
– Carousel Ads : โฆษณาแบบเป็นเซ็ตรูปภาพหรือวิดีโอ
ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างกัน โดยคุณสามารถใช้มันส่องได้ว่าโฆษณารูปแบบไหนจะเหมาะกับสินค้าหรือข้อเสนอของเรา เช่น ถ้าสินค้าของคุณมีหลากหลายประเภท คุณอาจจะได้ค้นพบว่า การใช้โฆษณารูปแบบ Carousel Ads นั้นได้ผลดีกว่าการเลือกโฆษณาแบบ Image Ads ที่เป็นรูปภาพเดี่ยวๆ
ตัวอย่างจาก Target ซึ่งเป็น Re-tailer เจ้าดังของสหรัฐ โดยเพจของพวกเขาเองก็ได้ใช้รูปแบบของโฆษณาที่แตกต่างกัน
5. ปุ่ม Call – to – Action
อย่างที่รู้กันว่า Facebook Ads นั้นสามารถใส่ปุ่ม CTA ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น
- Send Message
- Apply now
- Book Now
- Contact Us
- Download
- Get Offer
- Get showtime
- Learn More
แต่ละปุ่มก็จะถูกนำไปใช้ในจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้คุณก็สามารถดูได้ว่าคู่แข่งของคุณใช้ CTA แบบไหนในแคมเปญโฆษณานั้นๆ ตัวอย่างเช่น Nike ที่ใน 1 แคมเปญ พวกเขาก็ได้ใช้ CTA ที่หลากหลายสรุป
สรุป
หวังว่าคุณเองจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟีเจอร์ Ad Library มากขึ้นและสามารถนำมันไปใช้ส่องคู่แข่งหรือแบรนด์โปรดของคุณได้จากการอ่านบทความนี้
แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรใช้เครื่องมือนี้เพื่อจุดประสงค์ในการลอกเลียนแบบ แต่ควรใช้มันเพื่อค้นหาไอเดียใหม่ๆ ในการพัฒนาโฆษณา Paid Campaign บนเพจ Facebook ของคุณครับ