หากพูดถึงการขายสินค้าในโลกออนไลน์หรือ E-commerce แล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จัก Amazon หรือ Amazon.com เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของ Revenue (รายได้) ซึ่งมากถึง 280 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019
ภาพจาก Wikipedia
ปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบบน Amazon.com
หนึ่งในปัญหาหลักๆที่ผู้ซื้อสินค้าต้องพบเจอเป็นจำนวนมาก ในการซื้อขายแบบออนไลน์ ก็คือเวลาสั่งสินค้าอะไรมาแล้ว ดันพบว่ามันเป็นสินค้าเลียนแบบ! ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่เว็บไซต์อย่าง Amazon ก็พยายามแก้กันมาอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ดูจะไม่สามารถจัดการแบบถอนรากถอนโคนได้สักที
ภาพจาก Sellercentral.Amazon
ปัญหานี้ค่อยๆก่อตัวมาจากการตัดสินใจของ Amazon ที่ต้องการจะขยายตัวเลือกของสินค้าและราคาบนเว็บไซต์ให้กว้างมากขึ้น มีทั้งสินค้าถูกและแพง เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลายหลาย แทนที่จะหันมาวางระบบการจัดการผู้ขายสินค้าลอกเลียนแบบแบบจริงจังมากขึ้น รวมถึงยังมีกฎในการวางขายสินค้าที่ไม่เข้มงวดมากพอ
ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์นั้นใช้ระบบให้ผู้วางขายสินค้าหรือเจ้าของ brand เป็นผู้แจ้งปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบต่างๆที่ถูกวางขาย แต่ก็ใช่ว่าทุกครั้งที่มีผู้มาแจ้งปัญหา จะมีการดำเนินการจัดการอย่างเด็ดขาดเสมอไป
สินค้าลอกเลียนแบบหลายประเภทจะถูกส่งไปยังโกดังเก็บของของ Amazon ก่อนที่จะถูกนำจัดส่งไปยังมือลูกค้า แต่ก็น้อยครั้งมากที่จะมีการจัดตรวจสินค้าเหล่านีให้ชัดเจนก่อน ว่าเป็นของแท้หรือไม่
ภาพจาก Engadget
ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือมีบริษัทหลายรายถอนตัวสินค้าออกจากเว็บไซต์ไป หนึ่งในนั้นคือแบรนด์ชื่อดังอย่าง Nike ซึ่งให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ซื้อสินค้า search หาสินค้าของตัวแบรนด์ กลับมีสินค้าลอกเลียนแบบจำนวนมากในชื่อแบรนด์เดียวหรือคล้ายๆกัน ปรากฎขึ้นมาแทนที่ สิ่งนี้ทำให้เว็บไซต์เกิดความไม่น่าเชื่อถือในสายตาของผู้วางขายสินค้า และทำให้ Amazon สูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก
การแก้ไขปัญหาในอดีต
ในปี 2018 ทางบริษัทได้ใช้เงินมากกว่า 400 ล้านเหรียฐสหรัฐ ในการพยายามแก้ปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบ ซึ่งเงินเหล่านี้ถูกลงไปกับการพยายามสร้างระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น และการว่าจ้างพนักงานเพื่อเข้ามาคอยเช็คระบบการซื้อขายของเว็บไซต์ ซึ่งเต็มไปด้วยสินค้าที่มาจากผู้ขายภายนอก
แต่ท้ายที่สุดแล้ว การพยายามในอดีตก็ดูจะไม่เห็นผล ซึ่งก็เกิดมาจากการที่ Amazon ยังต้องการพยายามที่จะขยายตัวเลือกสินค้าให้กว้างมากขึ้นดังที่กล่าวไปตอนต้น ทางบริษัทได้มีการเพิ่มผู้ขายสินค้าในเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าเป็นผู้ขายที่ลงทะเบียนการค้าไว้่หรือไม่ ซึ่งนั้นก็ทำให้มีผู้ขายเข้ามาในบริษัทเข้ามากเกิน กว่าที่ทาง Amazon จะสามารถตรวจเช็คได้ด้วยตนเอง
“ทางเว็บไซต์มีการอนุญาติให้สินค้าหลายจากหลากหลายผู้ขายเข้ามาบนแพลตฟอร์มมากเกินไป ทำให้การจัดการแบบลงมือเช็คสินค้าเองเลยนั้น เป็นเรื่องยาก” - อดีตผู้บริหาร
การจัดตั้ง Counterfeit Crimes Unit ของ Amazon
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Amazon ได้ประกาศก่อตั้ง Counterfeit Crimes Unit หรือหน่วยจับสินค้าลอกเลียนแบบเพื่อจัดการกับสินค้าลอกเลียนแบบที่มีวางขายบนเว็บไซต์ ซึ่งในคราวนี้ หน้าที่ของหน่วยนี้จะเป็นการนำผู้ที่นำสินค้ามาลงขาย มาลงโทษและดำเนินคดีตามกฎหมาย แทนที่จะเป็นการระบุและบล็อกรายการสินค้านั้นเฉยๆ โดยสมาชิกของหน่วยจะประกอบไปด้วยอดีตอัยการสหพันธรัฐ นักวิเคราะห์ข้อมูล และนักสืบ
ซึ่งงานหลักของหน่วยนี้จะเป็นการสืบสวนและยื่นฟ้องคดีแพ่ง กับผู้ขายสินค้าลอกเลียนแบบที่อาจสามารถหลบหนีจากการตรวจสอบของระบบหลักไปได้ นอกจากนั้นทางกลุ่มจะได้รับการอนุญาตให้นำข้อมูลภายในของบริษัทมาใช้เพื่อตรวจสอบหาสินค้าลอกเลียนแบบ และจะมีการจัดใช้เงินทุนของบริษัทและอุปกรณ์ต่างๆเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลจากภายนอกบริษัทได้ เช่น ข้อมูลการชำระเงินผ่านช่องทางต่างๆ
Counterfeit Crimes Unit จะมีทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายทั่วโลก และกับเจ้าของแบรนด์ต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าลอกเลียนแบบอีกด้วย
ภาพจาก Mashable
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นผู้วางขายสินค้าออนไลน์
การจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาจะสามารถทำให้ Amazon สามารถเอาผิดกับผู้ที่นำสินค้ามาวางขายในแง่ของทางกฎหมายได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกค่าเสียหายในรูปแบบของตัวเงิน การยื่นฟ้องคดีแพ่ง และการดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งหน่วยงานนี้จะสามารถดำเนินการไปได้อย่างมีปะรสิทธิภาพตามที่คาดหวังไว้ไหมนั้น ก็ต้องรอดูกันต่อไปในอนาคต แต่ที่แน่ๆก็คือมันจะเป็นการส่งสารไปยังผู้ที่ต้องการจะวางขายสินค้าลอกเลียนแบบบนเว็บไซต์ ว่าคราวนี้ Amazon ได้เริ่มเอาจริงแล้ว
สรุป
ในโลกของ E-commerce ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ใหญ่และก็ยังไม่มีวิธีแก้ที่เด็ดขาดขนาดนั้น แต่การที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ได้เริ่มหันมาจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง คงเปรียบได้เหมือนกับคลื่นลูกใหญ่ที่จะส่งผลกระทบไปยังวงการ E-commerce ว่าให้หันมาแก้ปัญหาเหล่านี้กันอย่างจริงจังได้สักที ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงต้องรอติดตามกันไปในอนาคต
นึกถึงข่าวสารในแวดวงธุรกิจและการตลาด อย่าลืมนึกถึง The Growth Master นะครับ :D