นับว่าเป็นข่าวใหญ่ในวงการโซเชียลมีเดียโลกของเดือนเลยก็ว่าได้หลังจากที่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดความบาดหมางระหว่าง Facebook ผู้นำด้านโซเชียลมีเดียเบอร์ 1 ของโลกกับรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย ที่อาจนำไปสู่ “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ของการใช้งาน Facebook ทั่วโลก
ประเด็นที่ว่าคือ Facebook จะคว่ำบาตร ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้งานในประเทศออสเตรเลียทุกคน ดู แชร์แสดงความคิดเห็น หรือมีปฏิสัมพันธ์ใด ๆ ก็ตามกับคอนเทนต์ในลักษณะคอนเทนต์ข่าวจากสำนักสื่อในประเทศและสำนักข่าวทั่วโลก
เพราะทางฝั่งรัฐบาลออสเตรเลียเองที่ออกมาเริ่มก่อน ด้วยการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้ Facebook รวมถึง Google ต้องจ่ายเงินรายได้เพื่อนำไปให้กับสำนักข่าวผู้ผลิตคอนเทนต์ด้วย
หลังจากที่ Facebook หรือ Google ใช้เทคโนโลยีดูดข่าวต่าง ๆ ไปนำเสนอในแพลตฟอร์มตัวเองและได้รายได้จากค่าโฆษณาต่าง ๆ ไปฝ่ายเดียว แต่กลับกันฝั่งที่เป็นเจ้าของเนื้อหาเช่นสำนักข่าวต่าง ๆ ในออสเตรเลียกลับได้ส่วนแบ่งน้อยกว่าที่ควรได้
แต่รายละเอียดทั้งหมดของประเด็นร้อนนี้จะมีอะไรบ้าง หรือเรื่องนี้จะถึงจุดแตกหักระหว่าง Facebook กับประเทศออสเตรเลียจริง ๆ The Growth Master สรุปมาให้คุณแล้ว เชิญติดตามต่อได้ในบทความ
Australia VS Facebook ! จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของประเด็นนี้ เกิดจากฝ่ายไหน ?
จุดเริ่มต้นทั้งหมดของประเด็นนี้คงต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่ Google และ Facebook จะเริ่มเข้ามาให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ข่าวในแพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม โดยทางฝั่ง Google ก็ได้ออก Google News Showcase ที่เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลกไว้ในที่เดียว
และทางฝั่ง Facebook ก็มีการพัฒนาฟีเจอร์ News ที่เป็นแทบสำหรับรวบรวมคอนเทนต์ข่าวสารจากสำนักข่าวต่าง ๆ ให้อ่านได้บนแพลตฟอร์ม ซึ่งในฟีเจอร์ News ก็ได้มีการเริ่มทดลองใช้ในประเทศกลุ่มตัวอย่างมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว (ยังไม่มีประเทศไทย)
ซึ่งเรื่องนี้ในมุมผู้ใช้งานหลายคนอาจมองว่าก็เป็นเรื่องปกติ แถมเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่เราสามารถเสพย์ข่าวสารได้สะดวกมากขึ้น แต่เรื่องนี้ฝั่งรัฐบาลออสเตรเลียกลับไม่เห็นด้วย เพราะพวกเขามองว่าการกระทำแบบนี้ทั้ง Google และ Facebook ได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว เพราะมีการรวบรวมข่าวสารทั้งหมดจากเว็บไซต์สำนักข่าวต่าง ๆ ไว้ในแพลตฟอร์มของตน
ทำให้ผู้ใช้งานก็เข้ามาในแพลตฟอร์มนั้น ๆ มากขึ้น แบรนด์หรือธุรกิจต่าง ๆ ก็เห็นช่องทางในการทำโฆษณา มีการซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มนั้น ๆ มากขึ้นเช่นกัน (เช่น Facebook Ads ต่าง ๆ) แต่ในขณะเดียวกันสำนักข่าว ที่ถือเป็นต้นทาง เป็นผู้สร้างคอนเทนต์นี้ขึ้นมากลับไม่ได้อะไรเลย แบบนี้ก็เท่ากับว่า Google และ Facebook ชุบมือเปิบไปง่าย ๆ
โดย Facebook ถือว่าโดนรัฐบาลออสเตรเลียโจมตีหนัก เพราะทาง Google ในแพลตฟอร์ม Google News Showcase พวกเขาได้มีการแบ่งรายได้ไปให้กับสำนักข่าวบางส่วนด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่ Facebook กลับไม่ได้มีเรื่องของการแบ่งรายได้ให้พวกสำนักข่าวเลย
เลยเป็นเหตุผลให้สุดท้ายทางรัฐบาลออสเตรเลียต้องออกกฎหมายใหม่ขึ้นมาในชื่อ News Media Bargaining Code ซึ่งเป็นกฎหมายที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ด้วยการบังคับแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านั้น จ่ายเงินให้แก่สำนักข่าวในประเทศ เพื่อเป็นเหมือนค่าตอบแทนในการเอาคอนเทนต์ของสำนักข่าวนั้น ๆ ไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มตัวเอง
โดยกฎ News Media Bargaining Code ก็ได้ผ่านร่างสภาของออสเตรเลียแล้วด้วย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นเท่ากับว่ากฎหมายนี้จะเตรียมตัวใช้งานในประเทศออสเตรเลียได้ทันที ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียก็มุ่งเป้าไปที่ 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Facebook ก่อนเป็นอันดับแรก
ซึ่งในตอนแรกที่ข่าวของกฎหมายนี้ออกมา ก็ทำเอาฝั่ง Google เดือดไม่น้อย ถึงขั้นจะถอดออสเตรเลียออกจากประเทศที่ให้บริการ Google เลย เพราะ Google มองว่ารัฐบาลออสเตรเลียทำเกินไป พวกเขามี Google News Showcase ที่มีข้อตกลงในการแบ่งรายได้ให้สำนักข่าวอยู่แล้ว แต่สุดท้ายฝั่ง Google ก็ต้องจำยอมข้อเสนอของทางรัฐบาลออสเตรเลียอย่างไม่มีทางเลือก
และทาง Google จะยอมจ่ายเงินให้กับสำนักข่าวในออสเตรเลีย เพื่อแลกกับการนำข่าวสารมาเผยแพร่ลงในแพลตฟอร์มตัวเอง โดย Google จะจ่ายเงินจำนวน 23 ล้านดอลลาร์ให้กับ Nine Entertainment และจ่ายอีก 30 ล้านดอลลาร์ให้กับ Seven West ที่ถือเป็น 2 ผู้นำด้านสื่อออนไลน์ของออสเตรเลียก่อนเป็นลำดับแรก
แต่กลับกันฝั่ง Facebook กลับไม่เห็นด้วยและจะไม่ยอมจ่ายเงินใด ๆ ทั้งสิ้นให้กับสำนักข่าวในออสเตรเลียเพราะพวกเขามองว่า Facebook กับ Google ไม่เหมือนกัน ที่ Google ยอมจ่ายเงินให้เพราะ Google เป็น Search Engine ที่ต้องการกระตุ้นให้คนเกิดการค้นหา ยิ่งมีคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มมากเท่าไร ก็เป็นผลดีต่อตัว Google เอง แต่ Facebook ไม่ใช่
เพราะ Facebook คือแพลตฟอร์มที่บรรดาสำนักข่าวต่าง ๆ เลือกที่จะใช้ Facebook เป็นอีกช่องทางในการเผยแพร่เอง และตลอดเวลาที่ผ่านมาคอนเทนต์ในลักษณะคอนเทนต์ข่าว ก็ไม่ได้สร้างรายได้อะไรให้กับ Facebook เลย
Facebook นั้นได้รายได้จากคอนเทนต์ข่าวไม่ถึง 4% จากรายได้ทั้งหมดและเรื่องนี้พวกสำนักข่าวต่างหากที่ได้รายได้ไปเยอะอยู่แล้ว การที่พวกสำนักข่าวหันมาลงคอนเทนต์ใน Facebook สร้างรายได้ให้พวกเขาไปมากกว่า 407 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 9,500 ล้านบาท) แล้วทำไม Facebook ยังต้องจ่ายให้อีก
ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้นำไปสู่จุดบาดหมางระหว่าง Facebook กับรัฐบาลประเทศออสเตรเลียอย่างเต็มตัว
แตกเป็นแตก! Facebook ไม่อนุญาตให้คอนเทนต์ข่าวปรากฏบนแพลตฟอร์มในประเทศออสเตรเลียเด็ดขาด
หลังจากที่ Facebook ไม่ยอมทำตามคำสั่งในการเรียกเก็บเงินให้แก่สำนักข่าวในประเทศออสเตรเลีย Facebook ก็เลยจัดการแก้เผ็ดด้วยการไม่เผยแพร่คอนเทนต์จากสำนักข่าวใด ๆ ก็ตามในออสเตรเลียทันที นั่นเท่ากับว่าผู้ใช้งาน Facebook ในประเทศออสเตรเลียที่มีมากกว่า 17 ล้านคน จะไม่เห็นการนำเสนอข่าวอะไรเลยบน Facebook
ตัวอย่างจากสำนักข่าว Sydney Morning Herald ที่เป็นอีกหนึ่งสำนักข่าวใหญ่ของออสเตรเลียก็โดน Facebook ล้างคอนเทนต์ไปจนเกลี้ยงฟีด
รวมไปถึงการแชร์คอนเทนต์ ในลักษณะแนบลิงก์ที่มี URL จากสำนักข่าวทั้งหมดของออสเตรเลียก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เรียกว่า Facebook จริงจังถึงขั้นปิดการมองเห็นทุกช่องทางของสำนักข่าวในออสเตรเลียเพื่อเป็นการตอบโต้รัฐบาลได้แสบไม่แพ้กัน
แน่นอนว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบให้กับผู้ใช้งาน Facebook ในประเทศออสเตรเลียกันเป็นแถว เพราะจากแต่ก่อนที่เคยติดตามข่าวสารต่าง ๆ บน Facebook ได้แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้แล้ว เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเต็ม ๆ รวมถึงการติดตามข่าวสารด้านข้อมูลของโควิด-19 ด้วยซึ่งเรื่องนี้ทำเอาผู้ใช้งาน Facebook ในออสเตรเลียหัวเสียไม่น้อย
เพราะในสถานการณ์ที่ต้องติดตามข่าวสารของโควิด-19 แบบนี้แต่ Facebook กลับมาปิดกั้นพวกเขาซะได้ ซึ่งทางเรื่องนี้ Facebook รู้เข้าก็ถึงกับต้องรีบเปิดการติดตามข่าวสาร เฉพาะในฟีเจอร์ COVID-19 Information Center เท่านั้นแต่ส่วนอื่นยังยืนยันว่า “ปิดเหมือนเดิม”
โดยทาง Facebook ก็ได้ออกกฏใหม่ของการเผยแพร่ข้อมูลของแพลตฟอร์มตัวเอง สำหรับประเทศออสเตรเลียด้วย ได้แก่
1 - สำนักข่าวและผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศออสเตรเลีย: จะไม่สามารถแชร์หรือโพสต์คอนเทนต์ในหน้า Facebook Page ได้ แต่ฟีเจอร์อื่น ๆ ของสำหรับการดูแลเพจจะใช้งานได้ปกติ เช่น Page Insights หรือ Creator Studio
2 - สำนักข่าวและผู้ผลิตคอนเทนต์จากประเทศอื่น ๆ : สามารถโพสต์คอนเทนต์ข่าวในแพลตฟอร์มได้เหมือนเดิม แต่ผู้ใช้ในออสเตรเลียจะไม่สามารถเห็น ดู แชร์ แสดงความคิดเห็นได้
3 - ผู้ใช้งาน Facebook ในออสเตรเลีย : จะไม่สามารถเห็นหรือแชร์ข่าวไม่ว่าจะจากสำนักข่าวในประเทศใดก็ตามจากหน้าเพจได้
4 - ผู้ใช้งาน Facebook ในประเทศอื่น ๆ : จะไม่สามารถดูหรือแชร์ข่าวจากผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศออสเตรเลียจากหน้า Facebook Page ได้
ผลกระทบที่ตามมา จากความบาดหมางของ Facebook และรัฐบาลออสเตรเลียมีอะไรบ้าง ?
ต้องบอกว่าผลกระทบที่ตามมาจากความบาดหมางกันระหว่าง Facebook และรัฐบาลประเทศออสเตรเลียในครั้งนี้นอกจากจะส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชากรออสเตรเลียที่ต้องเปลี่ยนไปแล้ว ในแง่มุมตัวเลขก็บ่งบอกได้ชัดเหมือนกัน
เพราะจากการสำรวจของ Nieman Lab พบว่ายอด Traffic ของเว็บไซต์สำนักข่าวทั้งหมดในประเทศออสเตรเลียลดลงกว่า 20% ทันทีหลังจากที่ Facebook ออกมาตรการปิดกั้นข้อมูลการเผยแพร่คอนเทนต์ข่าวสารบนแพลตฟอร์ม ซึ่งบ่งบอกได้ชัดเจนเลยว่า Facebook ถือเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสารที่ทรงอิทธิพลมากแค่ไหน สำหรับประเทศออสเตรเลีย
แต่อย่างไรก็ตาม โลกนี้มันคือการเอาตัวรอดครับ เพราะถึงแม้ว่า Facebook จะปิดกั้นการนำเสนอคอนเทนต์ข่าวสารทั้งหมดบนประเทศออสเตรเลียไปแล้ว แต่สำนักข่าว ABC (Australian Broadcasting Corporation) ซึ่งถือเป็นสำนักข่าวชื่อดังของออสเตรเลีย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้เหมือนกัน ก็คิดไอเดียสุดเจ๋งเพื่อขอพื้นที่เอาตัวรอด
ด้วยการทำ Banner ขึ้นมาในเว็บไซต์พร้อมเชิญชวนให้ผู้ใช้งานหันไปโหลดแอปพลิเคชัน ABC News เพื่อมาติดตามข่าวสารแทน ด้วยข้อความ Missing our news on Facebook ? Get ABC News App หรือแปลเป็นไทยว่า อ่านข่าวของเราบน Facebook ไม่ได้หรอ? โหลดแอปของเราแทนซิ
นั่นทำให้แอปพลิเคชัน ABC News ขึ้นแท่นกลายเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูงที่สุดบน Play Store (และอันดับ 2 บน iOS) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย
ส่งผลให้ ณ ตอนนี้สำนักข่าวต่าง ๆ ในออสเตรเลียก็กำลังเร่งหาช่องทางอื่นในการเผยแพร่ข่าวสารของตัวเองแบบที่ต้องจำยอมไม่ใช้ Facebook ในการเผยแพร่
สรุปทั้งหมด
ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่บาดหมางกันระหว่าง Facebook กับรัฐบาลออสเตรเลีย แต่เชื่อว่าเรื่องนี้ทั้งคู่คงอยากจะรีบเคลียร์ใจกัน เพื่อหาทางออกที่ดีกว่านี้เพราะ Facebook การที่ไม่มีคอนเทนต์ข่าวสารบนแพลตฟอร์มของตน ย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเลขผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มตนเองอยู่แล้ว เพราะออสเตรเลียเองก็มีฐานผู้ใช้งาน Facebook จำนวนมากกว่า 17 ล้านคน
ส่วนทางรัฐบาลออสเตรเลียการทำแบบนี้ ก็โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนไปเต็ม ๆ หลังจากที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตในการติดตามข่าวสาร ที่ทำได้ลำบากขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งเรื่องนี้ทาง Scott Morrison นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียก็กล่าวว่าทางพวกเขาและรัฐบาลจะมีการนัดพูดคุยกับ CEO ของ Facebook อย่าง Mark Zuckgerberg เพื่อหาทางออกที่ดีกว่านี้ในช่วงสุดสัปดาห์ที่กำลังจะมาถึง
แต่บทสรุปทั้งหมดของประเด็นร้อนนี้จะจบลงแบบไหน จะเป็นทาง Facebook หรือทางรัฐบาลออสเตรเลียที่จะยอมถอย แล้วเรื่องนี้จะส่งผลต่อการใช้งานแพลตฟอร์ม Facebook ทั่วโลกอย่างไร เราคงต้องติดตามกันต่อไป เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้น่าจะมีบทสรุปแน่นอน