อย่างที่รู้ๆกันอยู่ว่า Youtube ถือเป็นแพลตฟอร์มวิดีโออันดับหนึ่งที่มีคอนเทนต์รูปแบบหลากหลาย ตั้งแต่วิดีโอตลก, เอมวีเพลง, Vlog จากเหล่า Youtuber สายไลฟ์สไตล์ คลิปสอนหนังสือ หรือรายการทีวีและรายการออนไลน์ เรียกได้ว่าครบครันจนแทบจะไม่มีคู่แข่งใดๆ แต่ในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน กลับพบว่าเหล่า Content Creator หรือ Youtuber ชื่อดังมากมายกำลังหันมาใช้ Youtube เป็นแพลตฟอร์มในการลงพอดแคสต์ (Podcast) ให้คนได้ฟังแทนนอกเหนือจากการลงผ่านแพลตฟอร์มเสียงทั่วไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมพวกเขาถึงหันมาสนใจแพลตฟอร์มที่ไม่ได้มีเพื่อพอดแคสต์โดยเฉพาะอย่าง Apple Podcasts, Spotify หรือ Soundcloud แต่กลับหันมาทำวิดีโอสไตล์ Audio เพื่อเผยแพร่คอนเทนต์แทนกันแน่? และการหันมาใช้ Youtube เพื่อพอดแคสต์จะส่งผลต่อตลาดพอดแคสต์ในอนาคตหรือไม่? เรามาลองดูเหตุผลและสถิติที่น่าสนใจกันก่อน
Youtube กับการเป็นทางเลือกใหม่สำหรับพอดแคสต์ครีเอเตอร์ทั้งหลาย
งานสำรวจล่าสุดจาก Futuri Media และ University of Florida พบว่า Youtube เป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งที่ผู้ฟังพอดแคสต์เลือกใช้ และการสำรวจผู้ฟังพอดแคสต์ที่อายุมากกว่า 18 และมีจำนวนมากกว่า 1,500 คนต่อเดือนในแคนาดาปีนี้พบว่า 43% เลือก Youtube ในขณะที่ 34% เลือก Apple Podcasts และมีเพียง 23% สำหรับ Spotify เท่านั้น นี่ไม่ได้แปลว่า Creator จะย้ายมาทำพอดแคสต์ใน Youtube อย่างเดียว 100% เพราะพวกเขาสามารถใช้หลายช่องทางในการลงคอนเทนต์ได้ แต่มันแปลว่าหลายเจ้าที่เริ่มใช้ประโยชน์จาก Youtube เพื่อดึงดูดคนฟังกลุ่มใหม่ๆเข้ามามากขึ้น
โดยตัวอย่างของ Youtuber ชื่อดังที่มาสร้างฐานแฟนคลับใน Youtube อย่าง Logan Paul, Emma Chamberlain และ Marques Brownlee ได้ลงพอดแคสต์แต่ละตอนเป็นวิดีโอที่มีรูปแบบหลักเป็นเสียง และทำวิดีโอในรูปแบบของการนั่งสัมภาษณ์ในห้องอัด ทำให้ผู้ฟังไม่ต้องดูวิดีโอก็ได้ แต่ก็ได้รับเนื้อหาครบถ้วนเหมือนการฟังพอดแคสต์ในแพลตฟอร์มเสียงนั่นเอง
ภาพตัวอย่างพอดแคสต์บน Youtube ของ Logan Paul ใน Channel Impaulsive
ในขณะที่ข้อดีที่ทำให้เหล่า Creator ทั้งหลายหันมาใช้ Youtube เพิ่มเติมจากการลงใน Apple หรือ Spotify นั้นได้แก่
- การเพิ่มจำนวน Audience โดยใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึ่มของ Youtube
การใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึ่มของ Youtube มีผลทำให้สามารถเข้าถึงผู้ฟังหรือผู้ชมใหม่ๆได้ง่าย และการเข้าถึงผู้ชมยังสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดอีกด้วย เพราะด้วยจำนวนผู้ใช้ Youtube ที่มีมากถึง 2 พันล้าน User ที่ล็อกอินทั่วโลก การดึงดูดคนดูวีดิโอให้มาฟังพอดแคสต์ก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าช่องทางอื่น เทียบกับ Spotify ที่มีผู้ใช้เพียง 230 ล้านคนทั่วโลกเท่านั้น
- การสร้างรายได้
เมื่อจำนวนยอดวิวหรือผู้ชมของพอดแคสต์มากขึ้นจนถึงจุดนึง ก็ถึงเวลาทำเงินสำหรับนักจัดรายการ เพราะอย่างที่ทราบกันว่า Youtube เป็นแพลตฟอร์มที่แบ่งรายได้มาให้คนสร้างคอนเทนต์และคนทำคลิปเมื่อยอดผู้ชมและยอด Subscriber สูงถึงระดับที่กำหนด เทียบกับแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่ได้มีช่องทางการทำรายได้
นอกจากนี้การใช้ประโยชน์ของการโฆษณาในพอดแคสต์ก็ช่วยสร้างเงินได้ เพราะปกตินักจัดรายการจะอ่านโฆษณาของสปอนเซอร์จากแบรนด์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ Youtube สามารถแสดงโฆษณาให้ Creator และจ่ายเงินสำหรับยอดวิวให้ได้เลย การทำวีดิโอสำหรับพอดแคสต์จึงอาจเป็นช่องทางทำเงินที่คุ้มทุนก็เป็นได้
เครดิตรูปภาพ : Icarscom
- การย้ายกลุ่ม Audience เดิมไปยัง Channel ใหม่
Youtuber สามารถย้ายกลุ่มผู้ฟังจาก Channel เดิมไปยัง Channel ใหม่ได้โดยไม่ต้องปิด Channel เก่าลง และยังมีฐานผู้ฟังกลุ่มเดิมอยู่ โดยพวกเขาสามารถลงพอดแคสต์ในแพลตฟอร์มทั่วไปอย่าง Apple Podcasts ก่อนจะนำมาลงใน Youtube ได้และโพสต์ข้อมูลในการติดตามไปยังแพลตฟอร์มพอดแคสต์ ทำให้ได้ผู้ฟังใหม่ ที่สามารถเข้าถึงช่องในแพลตฟอร์มอื่นได้เช่นกัน
- การทำคอนเทนต์ให้หลากหลายตรงตามกลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย
การลงพอดแคสต์ใน Youtube ทำให้ Youtuber สามารถเปิดช่องใหม่ที่เหมาะกับผู้ฟังเฉพาะกลุ่มตามเนื้อหาที่สนใจเฉพาะได้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Logan Paul ซึ่งเป็น Vlogger ชื่อดังที่เน้นทำวีดิโอตลก แนวแกล้งคน ก็หันมาทำช่องสัมภาษณ์จริงจังเพื่อกลุ่มผู้ฟังอีกกลุ่ม โดยที่วิดีโอมีความยาวมากขึ้นและเนื้อหาสำคัญมากกว่าช่องเดิม ทำให้กลุ่มผู้ชมเดิมไม่หายไป และได้กลุ่มใหม่ๆเข้ามาโดยที่เขาสามารถทำทั้ง 2 ช่องไปพร้อมๆกันได้เลย ในขณะเดียวกันการพูดคุยสื่อสารกับผู้ชมผ่านคอมเมนต์ ซึ่งใช้งานง่ายกว่า Apple Podcasts หรือ Spotify ทำให้ได้รับฟีดแบ็กเป็น 2 ทาง ไม่ใช่แค่ทำสื่อออกไปทางเดียว
- การเปิดโอกาสสำหรับผู้ฟังต่างชาติ
อีกฟีเจอร์ของ Youtube ที่บางคนอาจจะไม่ค่อยได้ใช้คือ การใส่ซับไตเติ้ลที่สามารถแปลเนื้อหาพอดแคสต์เป็นภาษาต่างๆได้ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ฟังต่างชาติที่อาจจะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ เทียบกับ Spotify และ Apple Podcasts ที่มีแต่ช่องภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่
กรณีตัวอย่างของการใช้หลาย Channel บน Youtube
H3 Podcast เป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงการทดลองทำหลาย Channel เพื่อตอบโจทย์การฟังของลูกค้าอย่างชัดเจน โดยการจัดรายการของ Ehtan และ Hila Klein พวกเขาได้แบ่งออกเป็น 3 Channel ได้แก่ H3H3 Productions (ผู้ติดตาม 6.6 ล้าน), H3 Podcast (ผู้ติดตาม 2 ล้าน) และ H3 Podcast Highlights (ผู้ติดตาม 1.4 ล้าน) ซึ่งพวกเขาลงคลิปสัมภาษณ์ยาวกว่า 1 ชม.ในช่องหลัก และตัดคลิปยาวนั้นแบ่งเป็นพาร์ทสั้นๆมีความยาวเพียง 5-20 นาทีลงในช่อง H3 Podcast Highlight โดยเลือกแค่ช่วงสำคัญและหัวข้อไม่เฉพาะเจาะจงมากเกินไป ทำให้ผู้ฟังทั่วไปสนใจได้ และจำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นจาก 70,000 เป็น 555,000 เพราะดูง่ายกว่า
ภาพคลิปสัมภาษณ์ Andrew Yang จาก Channel: H3 Podcast (บน) ความยาว 1.5 ชม., H3 Podcast Highlights (ล่าง) ความยาว 20 นาที
อีกตัวอย่างที่ใช้วิธีเดียวกันคือช่อง Joe Rogan Experience ที่ลงคลิปพอดแคสต์ยาว 3 ชม. ในช่องหนึ่ง และลงคลิปที่สั้นกว่าในอีกช่อง ซึ่งเมื่อรวมยอดวิวทั้ง 2 คลิปแล้วพบว่ามีจำนวนผู้ฟังมากกว่าพอดแคสต์ปกติที่ลงในแพลตฟอร์มอื่น แม้จะมียอดผู้ติดตามน้อยกว่า
ด้วยตัวอย่างเช่นนี้ทำให้เราเห็นได้ว่า การใช้ประโยชน์จาก Youtube เพื่อเพิ่มยอดผู้ชมก็สามารถทำได้ และนักจัดรายการทุกคนก็สามารถทดลองวิธีการลงแพลตฟอร์มในหลายๆรูปแบบเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ฟังและดึงดูดคนกลุ่มใหม่ๆเข้ามาได้เช่นกัน
ส่วนสำหรับปัญหาที่คนกังวลเช่นการฟังพอดแคสต์บน Youtube อาจจะไม่สามารถฟังโดยไม่ล็อกหน้าจอโทรศัพท์หรือเปลี่ยนไปใช้แอปพลิเคชั่นอื่นได้ถ้าไม่ได้จ่ายเพื่อใช้ Youtube Premium นี่อาจจะยังเป็นปัญหาอยู่บ้าง แต่จากสถิติจาก Reuters พบว่า 64% ของคนฟังพอดแคสต์นั้นฟังที่บ้านมากกว่าผู้ฟังขณะเดินทางที่มีเพียง 24% ทำให้มันอาจจะยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร
สรุป
เราได้เห็นกันไปแล้วว่าเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งหลายต่างเริ่มปรับตัวและหันมาใช้ประโยชน์จาก Youtube แพลตฟอร์มกันมากขึ้น และสำหรับคนทำสื่อหรือนักการตลาด การหันมามอง Youtube ก็อาจจะเป็นช่องทางที่น่าสนใจได้
แต่ปัจจุบัน Youtube ยังไม่ได้พัฒนาฟีเจอร์หรือต่อยอดใดๆเพื่อรองรับการเข้ามาของพอดแคสต์ ทว่าอีกมุมหนึ่งหาก Youtube ตัดสินใจพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อตลาดพอดแคสต์ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆได้ ก็อาจจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับตลาดที่กำลังแข่งขันกันระหว่าง Apple และ Spotify รวมถึงเจ้าอื่นๆ ซึ่งต้องรอติดตามดูว่า Youtube จะคว้าโอกาสในการเข้ามาไหม และเจ้าอื่นๆจะปรับตัวอย่างไร