หลังจากที่ Facebook ได้ประกาศให้ทดลองใช้บริการ Campus ฟีเจอร์ที่เปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Facebook ก่อตั้งขึ้นมา และเป็นฟีเจอร์พื้นที่ที่ทำให้นิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วม สื่อสาร และสร้างปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้ ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2020 เป็นต้นมา
แต่ในวันนี้ Facebook ก็ได้ประกาศว่าจะปิดตัวฟีเจอร์ Campus ลงในวันที่ 10 มีนาคม 2022 ที่จะถึงนี้ และ Facebook ยังแนะนำให้ผู้ใช้งานกลับไปใช้ฟีเจอร์ Groups ในการสื่อสารและเป็นพื้นที่ Community ภายในสถานศึกษาแทนอีกด้วย ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ The Growth Master ได้สรุปมาให้คุณแล้ว
Facebook ประกาศปิดบริการ Campus ในวันที่ 10 มีนาคมที่จะถึงนี้
Meta (บริษัทแม่ของ Facebook) ประกาศว่าจะปิดตัวบริการ Campus ในวันที่ 10 มีนาคมที่จะถึงนี้ และ Facebook ยังกล่าวอีกว่า ทางทีมงานได้เรียนรู้แล้วว่า “วิธีที่จะช่วยให้กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษามีการเรียนรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์ได้ดีที่สุดก็คือ การใช้ Groups”
Facebook จะลบโปรไฟล์ โพสต์ และข้อมูลอื่นๆ ของ Campus ออกไป หลังจากวันที่ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ แต่ผู้ใช้งานจะยังสามารถดาวน์โหลดข้อมูลก่อนหน้านั้นได้ และ Facebook ก็กำลังแนะนำกลุ่มโรงเรียน (School Groups) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้การปรับเปลี่ยนง่ายและสะดวกขึ้นให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย
สำหรับฟีเจอร์ Campus ได้เปิดตัวในเดือนกันยายน 2020 เหมือนเป็นการย้อนอดีตของ Facebook ที่เน้นการใช้งานไปที่กลุ่มนักเรียนเป็นหลัก และผู้ใช้งานจะต้องมีที่อยู่อีเมลของสถานศึกษา (ที่เป็น .edu) เพื่อลงชื่อสมัครใช้งานเท่านั้น ซึ่งในทางทฤษฎี วิธีนี้จะทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้พบปะกันโดยไม่มีญาติและบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น ผู้ใช้งานฟีเจอร์ Campus จะสามารถใช้งานได้โดยตรงจากส่วน “เพิ่มเติม” (More) บน Facebook เท่านั้น เพราะฟีเจอร์นี้ไม่มีแอปแยกออกมาเป็นของตัวเอง (เหมือนกับ Messenger)
ซึ่งนักศึกษาหลายคนก็อาจจะไม่เคยใช้งานและไม่รู้มาก่อนว่ามีบริการ Campus นี้อยู่บน Facebook ที่เป็นพื้นที่ที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจนเลย ระหว่างพื้นที่ที่เกี่ยวกับการศึกษา (สังคม, การเรียน, เพื่อน หรืออื่น ๆ) และพื้นที่ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันหรือไลฟ์สไตล์ส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม การประกาศปิดตัว Campus นี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจาก Instagram กล่าวว่าจะปิดแอป IGTV แบบ Standalone ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของแบรนด์ Meta ที่ดึงแอปและบริการที่ไม่ได้รับความนิยมให้ออกไป และ Meta ยังคงแสดงให้เห็นว่า ถ้าหากฟีเจอร์ไหนหรือผลิตภัณฑ์ไหนที่มีผลตอบรับไม่ดี ก็เลือกที่จะปิดตัวลงไปแต่โดยดี
สรุปทั้งหมด
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของ Facebook ในครั้งนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องราวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกอยู่ เพราะถ้าหากเขาเห็นว่า เปิดตัวฟีเจอร์นี้ออกมาแล้วไม่เวิร์ก เป็นฟีเจอร์ที่คนไม่ค่อยรู้จักและเข้าไปใช้งาน สุดท้ายแล้วบริษัทก็เลือกที่จะตัดฟีเจอร์นั้นออกไปอยู่ดี และหันไปสร้างและพัฒนาฟีเจอร์อื่น ๆ ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริงดีกว่า