เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเล็กน้อยแล้ว สำหรับโปรเจกต์ใหม่ของ Facebook ที่กำลังเร่งพัฒนากันอยู่อย่างโปรเจกต์ “Learning from videos” ที่เป็นการผสานเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ในแพลตฟอร์มเพื่อช่วยทำให้ Facebook เข้าใจ Video Content ของผู้ใช้งานทั่วโลก
โดยโปรเจกต์ “Learning from videos” นั้นจะเข้ามาช่วย Facebook ให้สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาและบริบทของ Video Content ทุกตัวในแพลตฟอร์มผ่านความอัจฉริยะของเทคโนโลยี AI ซึ่ง Facebook ต้องการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้เพื่อการสแกนหาเนื้อหาที่ผิดกฏ รวมถึงสร้างคำบรรยายอัตโนมัติให้ผู้ใช้งานรับชมวิดีโอแบบมีซับไตเติ้ลได้ โดยที่ Content Creator ไม่จำเป็นต้องมาใส่เอง
รวมไปถึงความสามารถใหม่ที่ทาง Facebook กำลังเร่งพัฒนาอยู่อย่าง Digital Memories หรือฟีเจอร์การใช้งานที่ทำให้คุณสามารถค้นหาวิดีโอในแพลตฟอร์มผ่านการเล่าความทรงจำ ซึ่งถือเป็นฟีเจอร์ไม้เด็ดที่ Facebook หวังจะสร้างประสบการณ์ในการใช้งานที่ล้ำสมัยขึ้นไปอีกขั้น
แต่รายละเอียดทั้งหมดของฟีเจอร์ “Learning from videos” ที่ Facebook ผุดขึ้นมาจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ติดตามต่อได้ในบทความ
โปรเจกต์ Facebook Learning From Video คืออะไร ?
โปรเจกต์ “Facebook Learning from videos” คือโปรเจกต์ใหม่ที่ Facebook ต้องการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจสอบเนื้อหาและจัดระเบียบ Video Content ทั้งหมดบนแพลตฟอร์มเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้ใช้งานในการรับชม Video Content ผ่าน Facebook
ซึ่งจริง ๆ แล้ว Facebook ได้มีไอเดียต้นแบบของโปรเจกต์ “Learning from videos” มาตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว แต่ทาง Facebook ยังไม่ได้เปิดเผยออกมาให้ใครทราบเพราะต้องการนำเวลาไปพัฒนาระบบ AI ที่จะใช้งานในโปรเจกต์นี้ให้มีความอัจฉริยะเทียบเท่ามนุษย์มากที่สุด
รายละเอียดของโปรเจกต์นี้ทาง Facebook ได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการทำความเข้าใจ Video Comtent บนแพลตฟอร์มมากขึ้น เพื่อช่วยให้การแสดงผลคอนเทนต์ รวมไปถึงประสบการณ์การใช้งานของ User ทุกคนดีขึ้น โดยเริ่มจากที่ความสามารถแรกที่จะเพิ่มเข้ามาคือการตรวจจับเนื้อหาคอนเทนต์ผิดกฏบน Facebook
อย่างที่เราทราบกันดีว่าในโลกออนไลน์ ทุกอย่างไร้กฎเกณฑ์ อินเทอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่เสรีในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีทั้งแบบดี ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของผู้ใช้งาน และแบบไม่ดี หรือคอนเทนต์ที่เข้าข่ายผิดกฎเกณฑ์ของ Facebook ที่อาจเข้ามาสร้างปัญหา ส่งเสริมความคิด ความเชื่อแบบผิด ๆ ให้แก่ผู้ใช้งานได้ ซึ่งรวมไปถึงเนื้อหาในคอนเทนต์ที่มี Hate Speech อยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน
โดยการเข้ามาของ AI ตัวแรกนั้น Facebook ตั้งใจให้ AI ที่กำลังพัฒนาในโปรเจกต์นี้เป็นตัวสแกนเนื้อหาคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมให้ออกไปจากแพลตฟอร์ม โดยตัว AI นั้นสามารถสแกนเพื่อตรวจหา Hate Speech ในคอนเทนต์ได้แบบละเอียด ทุกภาษา ซึ่งจะเข้ามาทำให้การตรวจสอบเนื้อหาวิดีโอคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนั้น AI ตัวเดียวกันยังสามารถเข้ามาช่วยแบ่งเบาหน้าที่ของเหล่า Content Creator หรือทีมตัดต่อไปได้อีกเยอะ เพราะเมื่อมี AI ที่สามารถฟัง Hate Speech รู้เรื่องก็ย่อมแปลออกมาเป็นตัวอักษรบน Subtitle ของคอนเทนต์ได้ด้วยเลย
แถม Facebook ก็ดูจริงจังกับฟีเจอร์ตัวที่ 2 นี้มากถึงขั้นปล่อยตัว AI เวอร์ชันทดลองให้ไปใช้บน Instagram ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งฟีเจอร์นี้ Instagram จะเรียกมันว่า Auto Captions ที่จะตรวจจับคำพูดพร้อมทำ Subtitle อัตโนมัติสำหรับการใช้ Instagram Story เท่านั้น
โดยเทคโนโลยี AI ตัวนี้ Facebook ตั้งใจให้ไปทดสอบในบริษัทลูกอย่าง Instagram ก่อนที่จะมาเริ่มใช้ในแพลตฟอร์มตนเอง เพราะเทคโนโลยี AI ที่ตรวจจับคำพูด ต้องใช้ความแม่นยำสูงก่อนที่จะปล่อยออกมาเป็นเวอร์ชันเต็ม
ต้องบอกว่าถ้า Facebook สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ตัวนี้ได้จริง จะทำให้การสร้างสรรค์ Video Content บนแพลตฟอร์มของ Facebook ดูน่าสนใจมากขึ้นและส่งเสริมให้ Facebook เป็นอีกช่องทางหลักในการเผยแพร่ Video Content ในอนาคตต่อไป
เบื้องหลังเทคโนโลยีสุดอัจฉริยะที่ Facebook นำมาใช้ในโปรเจกต์ครั้งนี้
เชื่อว่าหลายคนต้องสงสัยแน่นอนว่าเบื้องหลังเทคโนโลยีที่ดูสุดอัจฉริยะนี้ Facebook ใช้เทคโนโลยีอะไร เพราะการที่จะตรวจสอบเนื้อหาในคอนเทนต์ทั้งหมด แล้วแปลออกมาเป็น Subtitle ได้อย่างแม่นยำจริงอยู่ว่าในปัจจุบัน แพลตฟอร์มคู่แข่งอย่าง Youtube ก็มีฟีเจอร์ทำนองนี้อยู่เหมือนกัน
แต่กลไกที่อยู่เบื้องหลังของ Facebook มีความซับซ้อนกว่าเยอะเพราะ Facebook ใช้เทคโนโลยีที่ชื่อว่า “wav2vec 2.0” ซึ่งเป็นระบบในการถอดข้อความในลักษณะเสียงสู่ตัวอักษรได้อย่างแม่นยำ ซึ่งข้อดีของ wav2vec 2.0 นอกจากเรื่องของการถอดรหัสข้อความที่แม่นยำแล้ว ยังใช้เวลาไม่นานในการถอดรหัสข้อความ (ไม่เกิน 10 นาที)
และอีกหนึ่งความน่าสนใจของเทคโนโลยี wav2vec 2.0 นั่นก็คือการถอดรหัสข้อความได้หลากหลายภาษา หรือข้ามภาษาก็สามารถทำได้ แต่ทำได้ดีกว่า เพราะเทคโนโลยี wav2vec 2.0 จะทำความเข้าใจบริบทของภาษาต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้นเพื่อทำให้การสื่อสารหรือการตรวจเนื้อหาของคอนเทนต์ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
แต่สำหรับเวอร์ชันแรกหลังจากที่ Facebook จะเริ่มใช้เทคโนโลยีตัวนี้ อาจจะเริ่มต้นจากภาษาอังกฤษและภาษาที่มีความใกล้เคียงฐานภาษาเดิมก่อน เช่นภาษา สเปน ฝรั่งเศส เป็นต้น (สำหรับภาษาอื่น ๆ คงต้องให้เวลาพี่เขาอีกนิด)
ซึ่งตอนนี้ Facebook ก็กำลังทดสอบขีดความสามารถของเทคโนโลยี wav2vec 2.0 อยู่ด้วยการให้ wav2vec 2.0 ถอดรหัสข้อความจาก 25 ภาษาเป็นระยะเวลาติดต่อหลายชั่วโมงกัน เพื่อดูความแม่นยำเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะปล่อยโปรเจกต์นี้ให้ใช้งานกันได้จริง
Digital Memories ฟีเจอร์ใหม่ที่ Facebook ตั้งใจใช้ AI มาสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อีกหนึ่งความท้าทายของ Facebook ที่ต้องการสร้างความแตกต่างด้านประสบการณ์การใช้งานให้แก่ผู้ใช้ทุกคน ที่ต้องบอกว่าถ้าทำได้จริงน่าจะเป็นอะไรที่ดีไม่น้อย นั่นก็คือระบบการค้นหา Video Content แบบ Digital Memories
ต้องเกริ่นก่อนว่าเทคโนโลยี AI ในสมัยปัจจุบันสามารถวิเคราะห์วัตถุ (Object) ที่อยู่ใน Video Content ได้อย่างละเอียด โดยบริษัทที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นที่แรกนั่นก็คือ Google ช่วงปี 2017 เพื่อใช้ประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลบน Search Engine สำหรับผู้ที่ต้องการได้แหล่งข้อมูลเป็นวิดีโอ
และแน่นอนว่า Facebook ที่กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยี AI สำหรับการแสดงผล Video Content ยังไงก็ต้องดึงเอาระบบการทำงานนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่จะให้ Copy ความสามารถนี้มาเลย ก็อาจจะโดนโจมตีว่าไปลอก Google มาได้ ดังนั้น Facebook เลยตัดสินใจคิดค้นฟีเจอร์ Digital Memories ขึ้นมา
โดยหลักการของฟีเจอร์นี้คือใช้คำค้นหาที่เป็นรายละเอียดของวิดีโอเป็น Keyword ค้นหา เช่นหากคุณพิมพ์ค้นหาว่า “ฉลองวันเกิด” ในช่องค้นหา ระบบก็จะแสดงผล Video Content ที่ใช้ AI ตรวจสอบแล้วว่า มีการร้องเพลง Happy Birthday, เป่าเค้กหรือการสังสรรค์อย่างอื่นในคอนเทนต์มาให้เราเลือก
ที่ต้องบอกว่าฟีเจอร์นี้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้นั้นเพราะจากเดิม Algorithm ในการค้นหาของ Facebook Video Content จะค้นหาจากชื่อวิดีโอ, คำอธิบาย, Hashtag ก่อนเสมอ แต่ครั้งนี้ด้วยการมีเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเลยทำให้ Facebook ค้นหาได้ยังรายละเอียดที่อยู่ในคอนเทนต์เลย
และนอกจากนั้น Facebook ยังแอบเปิดเผยอีกว่าถ้าเทคโนโลยีนี้มันสามารถใช้งานได้จริง ๆ เราอาจใช้ AI ในการจดจำใบหน้าคนที่อยู่ใน Video Content แล้วใช้คำค้นหาเป็นสรรพนามจริงได้เลยเช่น หากคุณมีการอัปโหลดวิดีโอที่อยู่กับคุณยายบ่อย ๆ AI จะจำทั้งตัวคุณและคุณยายได้ ซึ่งเมื่อคุณใช้ Keyword ในการค้นหาวิดีโอว่า ”ทุก ๆ ช่วงเวลาที่ฉันอยู่กับคุณยาย” ระบบก็จะแสดงผลทุก Video Content ที่มีทั้งตัวคุณและคุณยายออกมา
สรุปทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ Facebook ยังไม่ได้มีการออกประกาศถึงการอัปเดตที่ชัดเจนว่าการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการแสดงผลและทำความเข้าใจ Video Content ในแพลตฟอร์มจะปล่อยออกมาให้ผู้ใช้งานได้ใช้กันได้อย่างเต็มระบบเมื่อไร รวมถึงรูป Mock Up หน้าตาต่าง ๆ ของแต่ละฟีเจอร์ก็ยังไม่ได้ปล่อยออกมาเช่นกัน
สื่อหลายสำนักต่างคาดการณ์ว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก Facebook ถึงจะทยอยปล่อยฟีเจอร์ต่าง ๆ เหล่านี้ออกมา เพราะทาง Facebook ต้องการมั่นใจในคุณภาพของเทคโนโลยี AI ที่จะนำเข้ามาใช้จริง ๆ ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นอาจจะต้องคูณเวลาในการรอเข้าไปอีก เพราะไม่ได้อยู่ในประเทศกลุ่มทดลองของ Facebook
แต่เชื่อได้เลยว่าองค์กรระดับ Facebook ที่ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกต้องไม่ทำให้ทุกคนต้องผิดหวังกับการรอคอยในครั้งนี้อย่างแน่นอนครับ