ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคปัจจุบัน ผู้คนได้หันมาเสพข่าวผ่านทางสื่ออินเตอร์เน็ตกันในปริมาณที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอ่านผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักข่าว การดูคลิปสรุปใน YouTube หรือที่เห็นได้ชัดเลยคือการติดตามข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้นผ่านทาง Facebook
แต่การที่โลกออนไลน์สามารถแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็วในวงกว้างนั้น เป็นเหมือนจุดอ่อนให้ผู้ที่ไม่หวังดีเข้ามาแทรกแซงการรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภคได้อย่างง่ายดาย หลายคนจึงเกิดความกังวลต่อภัยร้ายนี้ และเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในการคลุมช่องทางการเสพข่าวอย่าง Facebook ออกมาเคลื่อนไหว
จุดเริ่มต้นปรับอัลกอริทึ่ม
หลังจากที่โดนกระแสวิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับความเพิกเฉยต่อ Fake News และบทความลอกเลียนแบบบนแพลตฟอร์มมาโดยตลอด วันนี้ Facebook จึงเริ่มปรับเปลี่ยนอัลกอริทึ่มของตัวเอง เพื่อจัดการกับสื่อที่ไม่มีคุณภาพ และจัดลำดับความสำคัญให้กับสื่อจากสำนักข่าวต้นฉบับมากขึ้น โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาการได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนที่เกิดจากการแชร์ข่าวปลอมที่ไม่มีแหล่งที่มานั่นเอง
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ Facebook กล่าวว่า มาจากความต้องการที่จะเสพสื่อที่มีคุณภาพจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ของผู้ใช้งานเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพราะได้รับ Feedback จากสำนักข่าวใหญ่แต่อย่างใด
Facebook เริ่มให้ความสำคัญกับสื่อต้นฉบับ
Facebook ได้ทำการพัฒนาอัลกอริทึ่มนี้เพื่อที่จะแสดงผลของข่าวต้นฉบับให้ขึ้นเป็นโพสต์แรก ๆ บน News Feed ของผู้ใช้งาน โดยมีปัจจัยหลักในการวิเคราะห์อยู่ 2 อย่าง คือ
1. ความน่าเชื่อถือ
ในส่วนนี้ Facebook ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของสื่อต่าง ๆ จากการ ‘ถูกอ้างอิงถึง’ ในข่าวหรือบทความต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งสื่อนั้นถูกอ้างอิงถึงในบทความอื่นมากเท่าไหร่ ยิ่งได้คะแนนความน่าเชื่อถือมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากความน่าเชื่อถือแล้ว Facebook ยังได้หารือกับสื่อและบรรณาธิการจากหลากหลายสำนักข่าว เพื่อร่วมกันนิยามความเป็น ‘ต้นฉบับ’ สำหรับการนำไปพัฒนาอัลกอริทึ่มให้แสดงผลอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ลดการมองเห็นของสื่อไร้ตัวตน
นอกจากจะจัดให้สื่อต้นฉบับได้ขึ้นบนหน้า News Feed ของผู้ใช้งานก่อนแล้ว Facbook ยังตั้งใจที่จะลดการมองเห็นของโพสต์จากสื่อที่ไร้ตัวตนที่มีค่าความน่าเชื่อถือน้อยลงอีกด้วย เช่น บทความที่พาดหัวข่าวแนว Click-bait หรือบทความที่ล่อลวงให้คนกดเข้าไปอ่าน บทความจากพวกสแปม และบทความขยะ (Junk News)
การลดความสำคัญครั้งนี้ ยังรวมไปถึงบทความที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้เขียนได้ เช่น การไม่มีชื่อหรือรายละเอียดของผู้เขียนลงท้ายในบทความ หรือแม้กระทั่งการที่หน้า About Us ไม่มีลิสต์รายชื่อของนักเขียนก็จะส่งผลต่อการมองเห็นเช่นกัน เพราะ Facebook กล่าวว่า การไม่ระบุผู้เขียนคือลักษณะที่เห็นได้บ่อยในหมู่สแปมนั่นเอง
นับว่าเป็นอีกหนึ่งข้อควรระวังของผู้เผยแพร่สื่อบน Facebook เลยทีเดียว
อัลกอริทึ่มการแชร์โพสต์
เมื่อมีประกาศออกมาแบบนี้ หลายคนจึงเกิดข้อสงสัยในกรณีของอัลกอริทึ่มเดิม ซึ่ง Facebook จะแสดงโพสต์ที่เพื่อนแชร์บนหน้า News Feed ให้เห็นซะเป็นส่วนใหญ่ ว่าจะเข้าไปแทรกแซงการแชร์นี้ได้อย่างไร
ฝ่าย Facebook จึงออกมาย้ำว่า ตนจะไม่เข้าไปแทรกแซงสิทธิ์ในการแชร์โพสต์ต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน เพียงแต่อัลกอริทึ่มที่จะลดการมองเห็นของข่าวที่ไร้คุณภาพนี้ จะถูกนำมาปรับใช้กับโพสต์ที่ถูกแชร์เช่นกัน กล่าวคือ ถ้านาย A แชร์ข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อนของนาย A ก็จะไม่เห็นการแชร์นั้นนั่นเอง
สรุปทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในอัลกอริทึ่มนี้ ผู้ใช้งานอาจจะยังเห็นได้ไม่ชัดมากนัก เนื่องจาก Facebook ได้เริ่มต้นใช้ระบบนี้กับบทความประเภท ‘ข่าว’ เท่านั้น และในปัจจุบันยังใช้ได้แค่กับโพสต์ที่มีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ ผู้บริหาร Facebook ได้กล่าวไว้ว่า มีความเป็นไปได้ที่อัลกอริทึ่มนี้จะถูกนำปรับใช้กับภาษาอื่น ๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน