ในช่วงหลายต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจัดงานอีเวนต์ในรูปแบบออนไลน์นับว่ามีบทบาทสำคัญขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การมาเจอหน้ากันจึงมีข้อจำกัดเกิดขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการต้องเว้นระยะห่าง การต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งการที่ต้องจำกัดจำนวนคนเข้างาน ทำให้หลายแบรนด์ต้องล้มเลิกแผนที่จะจัดงานออฟไลน์ แล้วหันมาให้ความสนใจกับการจัดอีเวนต์ออนไลน์ หรือ Virtual Event แทน
และเพราะเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนไปนี้เอง ทำให้ Facebook เล็งเห็นช่องทางในการพัฒนาแพลตฟอร์มของตน จนเกิดขึ้นมาเป็นฟีเจอร์ใหม่อย่าง ‘Paid Online Events’
ที่มาที่ไปของฟีเจอร์ Paid Online Events
จากสถิติการ Live ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Facebook ค้นพบว่ามีเพจจำนวนมากที่หันมาใช้งานฟีเจอร์ Live และถ้าเทียบกับปีที่แล้ว จำนวนการ Live ทั้งหมดนับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมนั้นก็ขยายตัวมากขึ้นถึง 2 เท่าเลยทีเดียว และด้วยแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังไม่มีใครสามารถคาดเดาได้แน่ชัดว่าจะจบลงเมื่อไหร่นี้ การไลฟ์สดจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะเหตุนี้ Facebook จึงทำการทดลองออกฟีเจอร์ใหม่อย่าง ‘Paid Online Events’ ที่จะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถจัดงานอีเวนต์ออนไลน์ของตัวเองได้ง่าย ๆ แถมยังสร้างรายได้จากการจัดงานได้อีกด้วย!
ขอแอบกระซิบอีกว่า เนื่องจาก Facebook ต้องการช่วยเหลือให้ธุรกิจขนาดเล็กฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุค COVID-19 นี้ แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่เลยใจดี ‘ไม่เก็บค่าธรรมเนียม’ ใด ๆ ในการใช้งานในช่วง 1 ปีแรกของการเปิดตัวฟีเจอร์นี้! ทำให้รายได้จากการขายบัตรเข้าร่วมงานเข้ากระเป๋าของผู้จัดไปเต็ม ๆ 100% เลยทีเดียว
ภาพจาก Ticket News
แล้ว Paid Online Events คืออะไร ใช้งานอย่างไรบ้าง?
Paid Online Events นั้นก็เปรียบได้กับการซื้อบัตรเข้าชมงานทั่วไป แต่แตกต่างกันที่การจัดงานที่จะจัดขึ้นในรูปแบบ Online ผ่านการ Live บน Facebook นั่นเอง ซึ่งฟีเจอร์นี้จะมีจุดเด่นอะไรที่จูงใจให้ธุรกิจหันมาใช้งานได้บ้างนั้น..ไปดูกันได้เลย!
1. สามารถตั้งราคา เพื่อขาย Access ให้กับผู้ที่สนใจได้
โดยทั่วไปแล้วในการสร้างอีเวนต์บน Facebook เจ้าของเพจจะสามารถใส่ได้เพียงแค่รายละเอียดของงาน สถานที่ เวลา และช่องทางการซื้อบัตรเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ผู้จัดงานสามารถ ‘ตั้งราคา’ ให้กับอีเวนต์นั้น ๆ ได้ ซึ่งถ้าผู้ที่สนใจในงานพร้อมยอมที่จะจ่าย เขาก็จะได้รับ Access ในการดูไลฟ์ของงานผ่าน Facebook ไปเลยทันที
หรือถ้าจะเปรียบเทียบง่าย ๆ นี่ก็คือการซื้อบัตรเพื่อเข้าชมงานที่จัดขึ้นใน Facebook นั่นเอง
2. All-In-One สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานและจ่ายเงินได้ในที่เดียว
เพื่อให้เกิดประสบการณ์ในการซื้อที่ดีที่สุด และเพื่อลดความยุ่งยากในการใช้งาน Facebook จึงพัฒนาให้การซื้อบัตรเพื่อเข้าชมงานนี้สามารถทำได้ภายในไม่กี่นาที ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook ในที่เดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นเหมือนการการันตีความปลอดภัยในการซื้อขายให้กับทั้งผู้เข้าร่วมงานและผู้จัดงาน ว่ารายได้จะเข้ามาในกระเป๋าเงินของตน และบัตรเข้าร่วมงานก็จะไม่ตกไปอยู่ในมือของคนอื่นแน่นอน
แต่ข้อสังเกตคือ ฟีเจอร์การชำระเงินในปัจจุบันนี้ยังคงรองรับแค่ในประเทศที่มีการใช้งาน Facebook Pay แล้วเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้แต่อย่างใด
3. Messenger Rooms
นอกจากที่ผู้จัดงานจะได้ถ่ายทอดสดอีเวนต์ของตนแล้ว ปัจจุบัน Facebook ยังได้ทดลองใช้งาน Messenger Rooms หรือห้องแชทและวีดีโอคอลสำหรับผู้เข้าร่วมงานโดยเฉพาะ เพื่อให้พวกเขาสามารถพูดคุยโต้ตอบด้วยกันเองได้ และยังเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้จัดงานได้สื่อสารกับผู้เข้าร่วมในระหว่างจัดงานอีกด้วย ทำให้งานอีเวนต์เป็นมากกว่าแค่การดูไลฟ์สดทั่วไป
ภาพจาก: Facebook
Paid Online Events ฟีเจอร์นี้เหมาะกับใคร?
หลายคนอาจเข้าใจว่าฟีเจอร์ Paid Online Events นี้สามารถใช้ได้แค่กับงานอีเวนต์ต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ขอบอกเลยว่า ไม่จริง!
เพราะฟีเจอร์นี้ยังมีประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจการศึกษา ฟิตเนส กีฬา หรือรายการทีวี ที่จะสามารถหารายได้จากการเปิดคลาสเรียนออนไลน์ การสัมภาษณ์ผู้บริหารสุด Exclusive หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดสดกีฬาที่อาจเข้ามาดูในสนามจริงไม่ได้อีกด้วย
เรียกได้ว่านอกจากจะเป็นการสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มความพิเศษให้กับไลฟ์ ทำให้เกิดความน่าดึงดูดต่อผู้ที่สนใจแบบสุด ๆ ไปเลย
อนาคตที่ธุรกิจต้องตามให้ทัน
ซึ่งการเคลื่อนไหวของ Facebook ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นช่องทางในการช่วยเหลือธุรกิจให้ได้ฟื้นตัวในช่วง COVID-19 แล้ว ยังเป็นการบอกเป็นนัยสำคัญอีกว่าเทรนด์การทำธุรกิจจะเปลี่ยนเป็นทางออนไลน์มากกว่าเดิม และการจัดอีเวนต์ใด ๆ ก็อาจไม่จำเป็นต้องจัดเป็นรูปแบบออฟไลน์อีกต่อไป เนื่องจากมีเครื่องมือที่หลากหลายมารองรับการจัดงานอีเวนต์ และทุกอย่างยังมุ่งเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ออนไลน์ที่สมจริงราวกับได้เจอหน้ากันอีกด้วย
นี่จึงเป็นอนาคตที่ธุรกิจควรที่จะตามให้ทันอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเท่านั้นที่สำคัญ แต่การมีเครื่องมือมารองรับการจัดงานแบบนี้ยังถือว่าเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้ใหม่ (Revenue Stream) ของธุรกิจอีกด้วย
สรุปส่งท้าย
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน Paid Online Events จะยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานทั่วโลก และให้ทดลองใช้ในเบื้องต้นเพียงแค่ 20 ประเทศเท่านั้น (ยังไม่เปิดตัวในประเทศไทย) แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่่ Facebook จะพัฒนาต่อจนนำมาเป็นฟีเจอร์หลักที่เผยแพร่ให้ธุรกิจได้ใช้กันทุกส่วนทั่วโลก
และในระหว่างที่กำลังอดใจรอฟีเจอร์นี้บุกตลาดประเทศไทย ก็อย่าลืมที่จะคิดแผนสำรอง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตกันด้วยนะคะ :)