ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นหนึ่งครั้ง แต่มักจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างระดับโลกไปเลยก็ว่าได้ ไม่เว้นแม้แต่ใน Facebook เช่นกันที่ได้มีการออก Facebook Protect เพื่อรักษาความปลอดภัยของบัญชีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งต่าง ๆ ให้โดยเฉพาะ
แต่จากรายงานของ Axios เปิดเผยว่า Facebook มีแผนจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบเดียวกันในปี 2021 โดย Facebook จะขยายฟีเจอร์ Facebook Protect ให้กับผู้ใช้มากขึ้น (ที่ไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง) เท่านั้นในปีหน้า
ทำไม Facebook จึงประกาศใช้นโยบายนี้ออกมา?
เนื่องจากอย่างที่เป็นที่รู้กันดีว่าในปี 2020 นี้ สหรัฐอเมริกาได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งนึง นั่นคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 46 ซึ่งตอนนี้ผลก็ออกมาได้ ‘Joe Biden’ เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่เรียบร้อยแล้ว และจะมาขึ้นรับตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้า
ในช่วงการหาเสียงก็นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญเหมือนกัน เพราะมันดึงดูดให้ผู้ที่ไม่หวังดีต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลกที่ไม่กินเส้นกับสหรัฐอเมริกา สามารถเข้ามาป่วนและสร้างให้เกิดความขัดแย้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ในทุกรูปแบบ รวมไปถึงในยุคนี้ที่มีการใช้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ อย่างใช้ Facebook ในการหาเสียง ลงนโยบายต่าง ๆ และสามารถโพสต์ข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองของทั้ง 2 ฝ่ายได้ ซึ่งมันก็ง่ายที่จะทำให้เกิดการแทรกแซงขึ้น
และในเดือนกันยายน 2020 ที่ผ่าน Facebook มีข่าวออกมาว่าได้ตรวจเจอบัญชีต้องสงสัยจากรัสเซียที่เพิ่งเปิดใช้งานมาได้ไม่นาน และไม่ค่อยมีผู้ใช้งานคนอื่นเข้ามาร่วมมากนัก อาจเข้ามาป่วนการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยการส่งข้อมูลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในเหล่าผู้ใช้งานของสหรัฐฯ และเลือกที่จะเกณฑ์คนอเมริกันที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังโดนหลอก ให้มาร่วมงานและซื้อพื้นที่โฆษณาด้านการเมืองในสหรัฐฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกตรวจจับได้
จากเหตุการณ์นี้ Facebook จึงออกโปรแกรม Facebook Protect เพื่อเป็นมาตราการระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงขึ้น
Facebook Protect คืออะไร? มาทำความรู้จักระบบความปลอดภัยของ Facebook ที่เกิดมาเพื่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ
Facebook Protect คือ โปรแกรมของ Facebook ที่เปิดให้ใช้งานในช่วงการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาปี 2020 และขณะนี้มีให้เฉพาะผู้สมัครทางการเมือง เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานของรัฐบาลกลาง คณะกรรมการพรรค และเจ้าหน้าที่ทางการเมืองเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้
ซึ่งการลงทะเบียนในโปรแกรมนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บน Facebook และ Instagram เอง อีกทั้งยังช่วยให้แพลตฟอร์มสามารถตรวจจับกิจกรรมของบัญชีที่น่าสงสัยได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการตรวจสอบว่ามีใครพยายามในการแฮ็กบัญชีของเราหรือไม่ และ Facebook Protect ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้ถูกแฮ็กบัญชีได้ยากขึ้น
Facebook ยังระบุอีกว่า "พวกเรามองหาวิธีที่จะนำหน้าผู้ไม่หวังดีไปหนึ่งก้าวอยู่เสมอ แม้ว่าเราจะไม่สามารถจับพวกเขาได้ทุกคน แต่โปรแกรมนี้เป็นหนึ่งในหลายขั้นตอนที่เรากำลังดำเนินการเพื่อทำให้บัญชีของคุณถูกบุกรุกได้ยากขึ้น"
แล้วใครบ้างที่สามารถใช้โปรแกรมรักษาความปลอดภัยของ Facebook?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าในปี 2020 จะเปิดให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ใช้ได้
แต่ในปีหน้า 2021 Facebook มีแผนจะขยาย Facebook Protect ไปยังผู้ใช้จำนวนมากขึ้น Nathaniel Gleicher หัวหน้าฝ่ายนโยบายความปลอดภัยของ Facebook กล่าวว่า “นักข่าว เหล่าคนดัง และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน จะมีสิทธิ์ใช้ Facebook Protect ก่อน เพราะ Facebook เชื่อว่าบัญชีผู้ใช้เหล่านี้ รวมไปถึงบัญชีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแฮ็กได้ง่ายกว่า”
นอกจากนั้น Gleicher ก็กล่าวอีกว่า ผู้ใช้ Facebook กว่า 70 เปอร์เซ็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ในปี 2020 มีใช้ระบบการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าสู่ระบบด้วย 2 ขั้นตอน (Two-Factor Authentication: 2FA) กล่าวคือ นอกจากจะใช้ Username และ Password ในการเข้าสู่ระบบแล้ว ยังมีการยืนยันตัวในรูปแบบอื่น เช่น การส่ง OTP เข้าสู่ SMS หรือ การสแกนลายนิ้วมือ เป็นต้น และยังมีการตรวจสอบข้อมูลแบบ Real-time สำหรับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากการแฮ็กอีกด้วย ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์เข้าถึงบัญชีของบุคคลเหล่านี้ในระหว่างการเลือกตั้งได้
ทำยังไงถึงจะลงทะเบียน Facebook Protect ได้?
Facebook Page : ก่อนอื่นเลยถ้าเป็นเพจ คุณจะต้องได้รับเครื่องหมายการยืนยันสีฟ้า (Blue Badge-Verified Pages) จาก Facebook มาก่อน จึงจะมีสิทธิ์ใช้งานโปรแกรมความปลอดภัยนี้ได้ โดยสามารถขอรับเครื่องหมายยืนยันสีฟ้าได้จาก ที่นี่
หากบัญชีของคุณเป็นไปตามมาตรฐานการยืนยัน และเพจของคุณได้รับป้ายยืนยันสีฟ้าแล้ว จากนั้นเข้าไปที่ ลิงก์นี้ เพื่อลงทะเบียนสำหรับยืนยันตัวคุณเองและบุคคลอื่น ๆ ในเพจ
หรือถ้าเพจของคุณจะไม่ได้ป้ายยืนยันสีฟ้า แต่คุณก็ยังคงสามารถตั้งค่าการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าสู่ระบบด้วย 2 ขั้นตอน (Two-Factor Authentication: 2FA) บน Facebook ได้ โดยทำตามคำแนะนำที่ Facebook ให้ไว้
บุคคลทั่วไป : Facebook เองก็อาจเปิดให้ผู้ใช้ Facebook ทั่วไปสามารถซื้อคีย์ความปลอดภัยนี้ได้ ในร้านค้าหรือออนไลน์ หลังจากซื้อคีย์ก็สามารถลงทะเบียนบน Facebook และกำหนดตั้งค่าเพื่อเชื่อมกับบัญชีของคุณได้
มองย้อนกลับไปยังวิธีที่ Facebook ใช้แก้ปัญหาความปลอดภัยจากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ
Facebook ออกมาตรการด้านความปลอดภัยหลายประการ ทั้งก่อนและระหว่างการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ปี 2020 และการเปิดตัวโปรแกรม Facebook Protect ก็เป็นหนึ่งในนั้น
นอกเหนือจากการปกป้องบัญชีของผู้สมัครและนักการเมืองแล้ว Facebook ยังตรวจสอบข้อมูลที่ผิดพลาดอีกด้วย นโยบายการกลั่นกรองเนื้อหาที่เข้มงวดของ Facebook ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายข่าวสาร ที่อาจสร้างความผิดพลาดหรือความเข้าใจผิดให้กับคนทั้งโลกอีกด้วย
และมีฟีเจอร์ Voting Information Center ทั้งใน Facebook และ Instagram เพื่อเอาไว้ติดตามข่าวสารการเลือกตั้งแบบ Real-time อีกด้วย เช่น แจ้งเตือนเชิญชวนผู้คนไปเลือกตั้ง หรือแม้แต่การแจ้งว่าผลโหวตกำลังถูกนับ ผู้สมัครคนใดกำลังมีผลคะแนนนำอยู่ เป็นต้น
สรุปทั้งหมด
เรื่องของความปลอดภัยไม่เข้าใครออกใคร และเป็นสิ่งที่ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ควรจะมีให้สำหรับผู้ใช้งานทุกคน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่กลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลที่กล่าวมาข้างต้น แต่เราก็สามารถโดนคนร้ายมุ่งเป้าโจมตีได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า Facebook ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับระบบรักษาความปลอดภัยของเขา และพยายามผลักดันพัฒนามันให้มีมาตราฐานที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในประเทศไทยของเราก็คงต้องติดตามต่อไปว่า Facebook Protect จะออกมามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการอีกทีจาก Facebook ในปีหน้า