เมื่อเทรนด์อย่างพอดแคสต์ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง แต่กลับมีคนผลิตรายการเปิดตัวช่องใหม่เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ก็คงถึงคราวของแพลตฟอร์มบริการสตรีมมิ่งเพลงดิจิทัลเจ้าใหญ่อย่าง Spotify ที่เริ่มกระโดดลงมาเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสตรีมพอดแคสต์อย่างเต็มตัวและเดินหน้าพัฒนาฟีเจอร์ให้ตอบโจทย์ทั้งผู้ฟังและนักทำคอนเทนต์
ในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว(2018) Spotify ได้ประกาศเปิดตัว Spotify for Podcasters เวอร์ชั่นเบต้าเพื่อให้นักจัดพอดแคสต์ทั่วโลกมาลงทะเบียนทดลองใช้งาน โดยมีมากกว่า 100,000 พอดแคสต์ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มในมากกว่า 167 ประเทศ และเพิ่งเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วโลกได้ใช้เวอร์ชั่นจริงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
คำถามที่ตามมาคือ เจ้าแพลตฟอร์ม Spotify for Podcasters นี้มันดียังไง? และมันทำอะไรได้บ้างมากกว่าการลงคลิปเสียงในแต่ละวัน? ในบทความนี้เราจึงชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับเครื่องมืออย่าง Spotify for Podcasters ที่จะดันและสนับสนุนนักจัดรายการพอดแคสต์ให้พัฒนาและจัดรายการได้ดียิ่งขึ้น
Spotify for Podcasters คืออะไร
เครดิตรูปภาพ : Spotify
Spotify for Podcasters เป็นแดชบอร์ด (Dashboard) ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ฟังรายการพอดแคสต์ ทั้งข้อมูลทั่วไปอย่าง อายุ, เพศ, พื้นที่, พฤติกรรมการฟังเพลง และข้อมูลเชิงสถิติอย่าง ระยะเวลาที่ผู้ใช้ฟังจริงในแต่ละตอน, จำนวนผู้ฟังทั้งหมด และช่วงเวลาที่ผู้ใช้เริ่มฟังและหยุดฟัง ซึ่งมันถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ผลิตรายการนำไปใช้วิเคราะห์และพัฒนาพอดแคสต์ต่อไป โดยปัจจุบันได้เปิดให้ใช้งานทั่วโลกได้แล้วจากลิ้งก์: https://podcasters.spotify.com/ (มีเพียงแค่รูปแบบภาษาอังกฤษเท่านั้น)
นอกจากนี้ระบบของ Spotify for Podcasters ตัวนี้ยังคล้ายกับฟีเจอร์อย่าง Spotify for Artist ที่ให้ข้อมูลผู้ใช้เพิ่มเติมและอนุญาตให้ศิลปินประกาศวันทัวร์ ขายบัตรและสร้าง Playlist ได้อีกด้วย แต่สิ่งที่แตกต่างกันสำหรับแดชบอร์ดที่ใช้กับพอดแคสต์นั้นคือ มันมีความสำคัญกว่าในแง่ของการนำไปใช้มากกว่า ด้วยลักษณะของคอนเทนต์ที่ปล่อยอย่างรวดเร็วและอัปเดตตลอดเวลา การนำข้อมูลไปต่อยอดเพื่อพัฒนาคอนเทนต์และโฆษณาให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นไปได้มากกว่านั่นเอง
“ With so many podcasts out there, it’s more important than ever that you have the data you need to help you understand and grow your audience. That’s exactly what your dashboard is designed to provide” – Spotify
ประโยชน์ของข้อมูลสู่การพัฒนาคอนเทนต์
ปัญหาที่ผู้ผลิตรายการหลายคนต้องเจอสำหรับการทำคอนเทนต์แบบพอดแคสต์คือ การมีข้อมูลผู้ฟังไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์และทำความรู้จักกลุ่มผู้ฟังที่เป็น Target Audience จริงๆได้ รวมถึงการขายโฆษณาให้มีประสิทธิภาพด้วย
หนึ่งคำถามที่น่าสนใจคือ เราสามารถเอาข้อมูลจากแดชบอร์ดไปทำอะไรได้บ้าง?
คำตอบก็คือ การทำโฆษณาและการตลาดที่ดียิ่งขึ้น เพราะโดยปกติถ้าคุณต้องการข้อมูลผู้ฟัง คุณอาจจะต้องจ่ายเงินใช้บริการ Survey จากบริษัทต่างๆเช่น Neilsen ในการรวมข้อมูลผู้ใช้ แต่อย่าลืมว่าข้อมูลเหล่านั้นมาจากการสำรวจาภายหลัง และไม่เรียลไทม์ การมีแดชบอร์ดบนแพลตฟอร์มโดยตรงจึงทำให้คุณมั่นใจได้ว่าข้อมูลนั้นถูกต้องและรวดเร็ว นำไปใช้ได้ทันที
นอกจากนี้ผู้ใช้งาน Spotify ทุกคนยังต้องมี Account ในการเข้าใช้แอพพลิเคชั่น ทำให้พวกเขามีข้อมูลเบื้องต้นของผู้ใช้เช่น เพศ, ที่อยู่ และพฤติกรรมการฟังอย่างมหาศาล สำหรับนักการตลาด คนทำคอนเทนต์ และนักโฆษณา สิ่งที่คุณนำไปต่อยอดจากข้อมูลได้ ได้แก่
– วิเคราะห์ Audience ที่เป็นผู้ฟังจริงๆเพื่อพัฒนาคอนเทนต์ในพอดแคสต์ให้ตรงกับเป้าหมายหรือ Target Audienceมากที่สุด
– ใช้ข้อมูลระยะเวลาการฟังเฉลี่ยกับข้อมูลที่แสดงว่าผู้ฟังกดเริ่มและหยุดตอนไหนในการปรับความยาวตอนให้เหมาะสม และวางโฆษณาในช่วงเวลาที่คนยังไม่กดออกจากคลิปของคุณ
– เพิ่ม Conversion จากการทำแคมเปญผ่านคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์
และด้วยข้อมูลจำนวนมากของ Spotify และการบริการผ่านหลายช่องทางทั้ง IOS, Android และ Web Browser ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะนำข้อมูลเหล่านี้มาทำ Segmentation ให้ดีขึ้นได้เช่นกัน
สำหรับการโฆษณาบนพอดแคสต์ในปัจจุบันที่มียอดรวมถึง 479 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ถือว่าสูงขึ้น 53% จากปี 2017 และมีแนวโน้มว่าจะโตถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เมื่อรวมกับการเติบโตของจำนวนผู้ฟังใน Spotify ที่เพิ่มขึ้น 7% และรายได้จากโฆษณาบนพอดแคสต์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆปี การลงทุนนี้ย่อมไม่เสียเปล่าแน่นอน
โดยปัจจุบัน Spotify นั้นมีรายได้จากค่าสมาชิกเป็นหลัก และพวกเขาเสียเงินซื้อลิขสิทธิ์เพลงมาไว้บนแพลตฟอร์ม แต่สำหรับพอดแคสต์แล้ว พวกเขาให้บริการกับผู้ผลิตรายการฟรีๆ แรกกับการทำคอนเทนต์ลงบน Spotify โดยมีแดชบอร์ดข้อมูลแบบ Insight ให้แทน ถือเป็นการได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายจากทั้งผู้จัดรายการและบริษัท
การแข่งขันในตลาดปัจจุบัน
เครดิตรูปภาพ : Macrumors
แม้ Apple จะยังเป็นอันดับหนึ่งในการครองตลาดพอดแคสต์ทั่วโลกด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึง 63% และ Spotify ยังคงตามหลังอยู่มากด้วยการมาเป็นอันดับสองเพียงเกือบ 10% เท่านั้น ทว่า Spotify ก็ยังอัดเงินลงทุนจำนวนมากโดยการเข้าซื้อกิจการพอดแคสต์ 2 เจ้าอย่าง Anchor แพลตฟอร์มการทำพอดแคสต์ และ Gimlet Media ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์พอดแคสต์ชื่อดัง รวมถึงพาร์ทเนอร์กับ โอบามา เพื่อจัดรายการพอดแคสต์อีกด้วย
Daniel Ek ซีอีโอและผู้ร่วมก็ตั้ง Spotify ยังเสริมอีกว่า ตอนนี้พวกเขามียอดผู้ใช้งานมากกว่า 200,000 ต่อเดือนและเป้าหมายของพวกเขาคือการเป็น ผู้ให้บริการ Audio Platform อันดับหนึ่ง
ซึ่งถ้ามองจากข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า Spotify กำลังเร่งเครื่องในการตีตลาดพอดแคสต์ในแต่ละประเทศเพื่อแข่งขันกับ Apple ดังภาพเช่นกัน
เครดิตรูปภาพ : Voxnest
สรุป
การเปิดตัว Spotify for Podcasters ให้ผู้ผลิตรายการพอดแคสต์ทั้งนักจัดอิสระและบริษัทสื่อย่อมเป็นอีกหนึ่งก้าวที่จะทำให้นักสร้างคอนเทนต์พัฒนาเนื้อหาให้ตอบโจทย์ผู้ฟังมากขึ้น และด้วยตลาดพอดแคสต์ที่มีแนวโน้มที่จะโตขึ้นเรื่อยๆ ในมุมการแข่งขันแม้ Apple จะยังเป็นผู้นำอยู่ แต่เราคงต้องรอดูว่า Spotify จะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ หรือจะสู้ยังไงต่อไป และเราจะใช้ประโยชน์อย่างไรจากแพลตฟอร์มใหม่ๆได้บ้าง …