เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา Google ก็ได้ประกาศผ่านทวิตเตอร์ของพวกเขาว่าอัลกอริทึมใหม่ที่ชื่อว่า ‘BERT’ นั้นกำลังจะถูกใช้ทั่วโลกแล้ว หลังจากที่มีการนำเสนอมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 ทั้งนี้เพื่อให้ Google ได้เข้าใจ Search Queries หรือคำค้นหาของผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น
อัลกอริทึม ‘BERT’ คืออะไร ?
‘BERT’ นั้นย่อมาจาก Bidirectional Encoder Representations from Transformer ซึ่งมันคือ Google (AI) Algorithm ที่ในเวอร์ชั่นล่าสุดนี้มันได้พัฒนาบนพื้นฐานของเทคโนโลยี AI neural network เพื่อให้ระบบอัลกอริทึมเข้าใจภาษามนุษย์ (NLP – natural language processing) มากขึ้น โดยทาง Google Inc. ก็ได้เปิดให้นักพัฒนาระบบจากทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเจ้าอัลกอริทึมเวอร์ชั่นนี้ในปีที่ผ่านมา
NLP หรือ natural language processing คือ การทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาของมนุษย์มากขึ้น ซึ่งเป็นมันการทำให้ระบบสามารถวิเคราะห์และตีความความหมายที่ผู้ใช้ต้องการจะสื่อได้จากข้อความ
BERT จะส่งผลต่อหน้าผลลัพธ์การค้นหาของทั่วโลกอย่างไร ?
Google เผยว่าอัลกอริทึม BERT จะส่งผลกระทบต่อหน้าผลลัพธ์การค้นหา (SERPs) สำหรับคำค้นหาภาษาอังกฤษในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอัลกอริทึม BERT ก็จะส่งผลกระทบต่อหน้า SERPs ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก (รวมถึงของประเทศไทยด้วย) ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน
ซึ่งถ้าอิงตามจุดประสงค์ของ Google ที่ได้ทำการใช้อัลกอริทึม BERT คือ การเพิ่มทักษะความเข้าใจบริบทของคำค้นหาจากผู้ใช้ได้ดีขึ้น นั่นก็หมายถึงการนำทาง Organic Traffic ไปสู่หน้าเว็บไซต์ที่เหมาะสมกับคำค้นหามากที่สุด
ในฝั่งเจ้าของเว็บไซต์ ก็มีความเป็นไปได้ว่าคุณจะได้ Traffic ที่มีคุณภาพมากขึ้นนั่นเอง
ตัวอย่างการพัฒนาความเข้าใจของอัลกอริทึม BERT
ที่เห็นได้ชัดคือการที่ Google นั้นเข้าใจบริบทของคำค้นหาที่ผู้ใช้พิมพ์ได้ดีขึ้น และอย่างที่บอกไปว่ามันจะทำให้ Google แสดงผลลัพธ์การค้นหาได้ตรงใจผู้ใช้มากขึ้น และทำให้ฝั่งเจ้าของเว็บไซต์เองก็มี Traffic ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งดูได้จากตัวอย่างด้านล่างนี้ครับ
ยกตัวอย่างเช่น ประโยคคำค้นหาคำว่า “Can you get medicine for someone pharmacy” (เราสามารถไปรับยาแทนคนอื่นได้หรือไม่ ที่ร้านขายยา) จากแต่ก่อนที่ Google อาจจะแสดงผลลัพธ์การค้นหาที่ไม่ได้ตรงใจคำถามของผู้ใช้นัก โดยมันจะแสดงวิธีการในการไปกรอกเอกสารใบสั่งยาเพื่อรับยาแทนผู้ป่วย (Getting a prescription filled) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยหรือเจ้าของใบสั่งยาอาจจะได้กรอกเอกสารนี้ไปแล้ว มันจึงอาจจะตอบไม่ตรงคำถามของผู้ใช้ที่ค้นหาเท่าไหร่
ในขณะเดียวกันที่อัลกอริทึม BERT จะทำความเข้าใจบริบทของคำค้นหามากขึ้น และแสดงผลลัพธ์การค้นหาที่เป็นคำตอบที่แม่นยำมากขึ้นสำหรับคำถามของผู้ใช้ อย่างในตัวอย่างที่มันแสดงผลลัพธ์ของหน้าเพจที่พูดถึงประเด็นว่า ผู้ป่วยนั้นสามารถให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวนั้นไปรับยาแทนได้หรือไม่ (Can a Patient have a friend of family member pick up a prescription..)
‘Featured Snippet’ สิ่งที่ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากอัลกอรทึม BERT
หนึ่งเรื่องที่ Google ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการก็คือเรื่อง Featured Snippet (กล่องคำตอบที่จะแสดงขึ้นทันทีในหน้าผลลัพธ์การค้นหาโดยที่ไม่ต้องเข้าไปที่เว็บไซต์) ที่ Google ยืนยันว่าอัลกอริทึม BERT นี้จะส่งผลต่อมันอย่างแน่นอน เพราะมันเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ Google นั้นใช้ทดสอบความถูกต้องและแม่นยำของผลลัพธ์การค้นหา ทั้งนี้เพื่อทำให้คำตอบที่อยู่ใน Featured Snippet นั้นแม่นยำขึ้น
โดยสิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ Google จะให้ความสำคัญกับบริบทของคำค้นหามากขึ้น ตัวอย่างเช่นในรูปภาพด้านล่างนี้ ที่ประโยคที่ใช้ค้นหาคือคำว่า “Parking on a hill with no curb” เมื่อก่อนระบบอัลกอริทึมจะให้ความสำคัญกับคีย์คำว่า ‘Parking on a hill’ และคำว่า ‘Curb’ ซึ่งระบบอาจจะมองข้ามคีย์เวิร์ดคำว่า ‘No’ ทำให้บริบทของคำตอบนั้นไม่ถูกต้อง ระบบจึงจะแสดงผลลัพธ์ที่เป็นวิธีจอดรถบนเขาที่มีขอบถนน (Parking on a hill with curb)
แต่ถ้าเป็นอัลกอริทึม BERT ตัวใหม่นี้ ระบบก็จะให้ความสำคัญกับคำว่า ‘No’ ที่เป็นคีย์เวิร์ดที่แสดงถึงบริบทของการค้นหาได้ดี ทำให้ผลลัพธ์การค้นหาก็จะออกมาแม่นยำขึ้นดังในรูป
สรุป
สุดท้ายการเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมของ Google เป็นเวอร์ชั่น BERT นี้ (จากเดิมคือ RankBrain) ปัจจัยสำคัญผมยังคิดว่ามันยังเป็นเรื่องของคอนเทนต์อยู่ โดยสิ่งสำคัญคือคอนเทนต์นั้นจะต้องเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับคำถามของผู้ใช้
โดย Google จะเน้นผลลัพธ์ที่แม่นยำต่อ Long-tail keyword (คีย์เวิร์ดที่มีความยาวและเฉพาะเจาะจง) มากขึ้น ดังนั้นคุณอาจจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของคีย์เวิร์ดที่มีความยาวและซับซ้อนมากขึ้น แตกต่างจากเดิมที่เราอาจจะโฟกัสไปที่คีย์เวิร์ดเดียว