ปกติแล้วเมื่อต้องการค้นหารูปภาพมาใช้สำหรับประกอบบทความหรือใช้สำหรับทำสื่อ แต่ละคนมีวิธีการค้นหารูปอย่างไร?
บ้างก็ใช้เว็บไซต์ที่มีการขายภาพออนไลน์ บ้างก็ใช้การสมัครสมาชิกเพื่อดาวน์โหลดรูปในคลังมาใช้ แต่สำหรับใครหลายคน น่าจะหนีไม่พ้นการใช้ Google Image หรือเครื่องมือการค้นหารูปภาพจาก Google ที่ให้ผลลัพธ์ดีไม่แพ้กับการค้นหาแบบอื่น
แต่เนื่องจากเป็นแหล่งค้นหารูปที่ครอบคลุมหลายเว็บไซต์ หลายครั้งรูปที่ถูกแสดงโดย Google Image จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างรูปที่มีลิขสิทธิ์ และรูปที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ทำให้เกิดความซับซ้อนในการนำรูปมาใช้ เพราะผู้ค้นหาจะต้องคอยมาตรวจสอบลิขสิทธิ์ทุกครั้ง
แต่ปัญหาดังกล่าวกำลังจะถูกแก้ไข เมื่อ Google เพิ่มตัวช่วยการค้นหาใหม่อย่าง ‘Licensable’ ป้ายข้อความที่จะติดไว้บนรูปที่มีลิขสิทธิ์
‘Licensable ป้ายแสดงลิขสิทธิ์บนรูป’ คืออะไรและทำงานอย่างไร ?
เรามักจะได้เห็นข้อความ ‘This image maybe copyrighted.’ หรือรูปภาพนี้อาจมีลิขสิทธิ์กันอยู่บ่อยครั้ง เมื่อต้องค้นหารูปโดยใช้ Google ซึ่งข้อความดังกล่าวมักจะแสดงให้เห็นก็ต่อเมื่อเรากดที่รูปภาพบนหน้าแสดงผลการค้นหา เพื่อเข้าไปดูภาพที่ใหญ่ขึ้น หรือเพื่อเข้าไปดูแหล่งที่มาของภาพเท่านั้น
แต่ในปัจจุบัน Google ได้ทำการเพิ่มป้าย ‘Licensable’ ซึ่งจะพาดลงบนรูปภาพที่แสดง หากรูปภาพดังกล่าวมีลิขสิทธิ์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นได้ทันทีตั้งแต่อยู่ที่หน้าแสดงผลการค้นหา ว่ารูปภาพไหนที่พวกเขาสามารถนำมาใช้ได้ฟรี ๆ หรือรูปภาพไหนที่พวกเขาต้องลงทุนเพื่อได้รับมันมา
ซึ่งเมื่อผู้ใช้งานกดเข้าไปในรูปภาพเหล่านี้ ก็จะมีรายละเอียดของรูปภาพดังกล่าว (หากมีระบุไว้โดยเจ้าของภาพ) รวมถึงช่องทางในการกดซื้อลิขสิทธิ์หรือการติดต่อกับเจ้าของรูปภาพอีกด้วย เรียกได้ว่ารวบรวมรายละเอียดที่ควรรู้ก่อนนำรูปภาพไปใช้ไว้ในที่เดียวนั่นเอง
ภาพจาก Socialmediatoday
แน่นอนว่าการอัพเดทดังกล่าวนับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้นหามากขึ้น และยังเป็นการช่วยเหลือให้เจ้าของรูปภาพได้รับความเป็นธรรมจากการนำรูปไปใช้อีกด้วย เพราะก่อนหน้านี้ Google แก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเพิ่มฟิลเตอร์การค้นหาให้แสดงรูปภาพที่มีลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
และคุณควรใช้โอกาสนี้ ในการทำ SEO On Page ควบคู่กันไปด้วย
ในเมื่อ Google ได้สร้างเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกให้กับการขายภาพแล้ว สิ่งที่เจ้าของรูปควรทำหากต้องการให้มีผู้คนเห็นผลงานของตัวเองตอนที่ค้นหา ก็คือการทำ SEO (Search Engine Optimization) สำหรับรูปภาพนั่นเอง
ซึ่ง SEO สำหรับรูปภาพจะมีหลักการทำงานที่คล้ายคลึงกันกับแบบบทความ คือการใส่คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องลงไปตามจุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในคำบรรยายของภาพ, ชื่อภาพ และ Alt Text (คำบรรยายที่จะขึ้นมาเมื่อเราเอาเมาส์ไปชี้ที่รูป) รวมถึงควรทำ SEO On Page ที่ถือเป็นการปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อให้ได้อันดับดี บน Search Engine ควบคู่กันไปด้วยเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า
เมื่อทำเช่นนี้แล้ว ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ผลงานของคุณปรากฏให้ผู้ที่สนใจเห็นมากขึ้น และยิ่งรูปนั้น ๆ ได้ใจผู้ที่ค้นหามากเท่าไหร่ ก็จะมีความเป็นไปได้ที่รูปดังกล่าวจะติดอันดับแรก ๆ ของการค้นหารูปเลยทีเดียว
สรุปทิ้งท้าย
ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยหลายชิ้นถูกเผยแพร่ออกมาพิสูจน์แล้วว่า บทความที่มีรูปที่โดดเด่น น่าดึงดูด และเกี่ยวข้องกับเนื้อหา มักจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ และมีโอกาสที่จะได้ Engagement มากกว่าบทความที่ไม่มีรูปประกอบ แต่การนำรูปต่าง ๆ ไปใช้ประกอบบทความนั้น คอนเทนต์ครีเอเตอร์ควรพึงระวังและให้ความสำคัญกับเรื่องของลิขสิทธิ์อยู่เสมอ ไม่ใช่เพียงแต่นำรูปไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดความเสียหายทั้งกับเจ้าของรูปและคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นทั้งคู่ได้