เพราะในปัจจุบัน คอนเทนต์ได้กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญของการทำการตลาด หลายแบรนด์จึงหันมาให้ความสนใจและลงทุนในส่วนนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำคอนเทนต์ลงบน Facebook โซเชียลมีเดียเจ้าใหญ่ที่ครองใจคนไทยมาหลายปี
เมื่อคอนเทนต์ในแต่ละวันมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และมาจากสื่อที่หลากหลายมากขึ้น Facebook จึงต้องมีการออกกฎควบคุม เพื่อป้องกันภัยอันตรายใด ๆ ที่อาจเกิดจากการใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ
วันนี้ The Growth Master จึงอยากพาทุกคนมารู้จักกับคอนเทนต์ 5 ประเภท ที่ Facebook ไม่อยากให้ผู้ใช้งานเห็น ไม่ว่าจะเป็นบนหน้า News Feed ทั่วไป หรือจะเป็นหน้า Suggestion ที่ Facebook จะคอยนำเสนอโพสต์ที่ผู้ใช้น่าจะชอบตามความสนใจส่วนบุคคล ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนั้น ถูกนำมาสรุปจากประกาศของ Facebook ที่มีการเผยแพร่ในวันนี้
ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย!
5 ประเภทคอนเทนต์บน Facebook ที่มักถูกลดการมองเห็น
1. คอนเทนต์ที่เป็นภัยต่อความปลอดภัยในสังคม
สำหรับคอนเทนต์ประเภทนี้ จะประกอบไปด้วยคอนเทนต์ที่เนื้อหามีการใช้ความรุนแรง คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาล่อลวงทางเพศ คอนเทนต์ที่มีการทำร้ายตัวเอง รวมถึงคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติดเช่นกัน
นับว่าเป็นสิ่งที่แบรนด์ควรระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะแบรนด์ที่เน้นการขายของที่เจาะกลุ่มเป้าหมายไปยังวัยผู้ใหญ่ ควรตรวจสอบรูปที่จะนำมาใช้ในการสร้างคอนเทนต์ให้รอบคอบว่าเข้าข่ายที่จะกลายเป็นคอนเทนต์อันตรายหรือไม่
2. คอนเทนต์ที่อ่อนไหวต่อสุขภาพและการเงิน
เพราะทั้งสองเรื่องนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนสำหรับกลุ่มผู้ใช้งาน Facebook จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสุขภาพและการเงินเป็นพิเศษ
ซึ่งคอนเทนต์ที่มักจะถูก Facebook ลดการมองเห็นนั้นจะประกอบไปด้วย คอนเทนต์ที่มีการพูดถึงขั้นตอนการผลิตเครื่องสำอาง คอนเทนต์ที่มีการโฆษณาสรรพคุณของยาหรืออาหารเกินจริง เช่น ยาลดน้ำหนัก อาหารเสริมเพิ่มความสูง หรือคอนเทนต์ที่ชักนำให้ผู้คนลงทุนหรือกู้ยืมเงินในทางที่ผิด เช่น สินเชื่อเงินด่วน การกู้นอกระบบ เป็นต้น
3. คอนเทนต์ Clickbait
เป็นที่รู้กันดีว่า คอนเทนต์ประเภท Clickbait หรือคอนเทนต์ที่มีการพาดหัวข่าวที่ล่อตาล่อใจให้ผู้อ่านคลิกเข้าไปอ่านเพิ่มเติมแต่เนื้อหาไม่ตรงกับหัวข้อ หรือมีการลิงก์ไปสู่เว็บไซต์ที่เป็นภัยต่อผู้อ่านนั้น เป็นคอนเทนต์ที่ไม่มีผู้ใช้งานคนไหนต้องการเห็น แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากเย็นในการกำจัดโพสต์เหล่านี้ออกไป
นอกจากนี้ แม้จะไม่ได้มีกฏหรือการควบคุมเนื้อหา แต่คอนเทนต์ประเภทการประกวดหรือแจกของฟรี ยังจัดว่าเป็นคอนเทนต์ที่ Facebook จะไม่ช่วยโปรโมทให้ผ่านหน้า Suggestion ของผู้ใช้งานอีกด้วย ใครที่สนใจการทำคอนเทนต์ประเภทนี้อาจจะต้องเผื่อใจเอาไว้ว่าโพสต์แบบนี้จะยังทำได้ แต่อัลกอริทึมจะไม่ทำการช่วยเผยแพร่ให้ผู้อื่นเห็นเท่านั้น
ภาพจาก: Celeb Style Weekly
4. คอนเทนต์คุณภาพต่ำ
เมื่อพูดถึงคอนเทนต์คุณภาพต่ำ คุณคิดถึงอะไร? คอนเทนต์คุณภาพต่ำเหล่านี้ มักจะมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของเนื้อหา รูป วิดีโอ ที่มีคุณภาพและความละเอียดต่ำ รวมถึงคอนเทนต์ที่มีการลิงก์ออกไปยังเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยโฆษณา ไม่สามารถระบุตัวตนของทีมผู้ดูแลเว็บไซต์ และมีชื่อโดเมนแปลก ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ คอนเทนต์ที่มีการ ‘ขโมย’ เนื้อหาและภาพมาจากต้นฉบับอื่นที่ไม่ใช่ตนเองแบบ 100% ยังนับว่าเป็นคอนเทนต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และจะมีการถูกลดการมองเห็นด้วยเช่นกัน
5. คอนเทนต์ที่ชี้นำความคิดไปในทางที่ผิด
คอนเทนต์ประเภทนี้ คือคอนเทนต์ที่ชี้ชวนชักนำและสนับสนุนให้ผู้คนทำพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาหลอกลวง ไม่ตรงกับความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น คอนเทนต์ที่ชี้แนะการปลอมแปลงเอกสาร คอนเทนต์ที่ให้ข่าวเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคที่ผิด
แน่นอนว่าคอนเทนต์เหล่านี้ นอกจากจะไม่ถูกโปรโมทในหน้า Recommendation แล้ว ยังจะถูกตักเตือนและโดนลดการมองเห็นบนหน้า News Feed ของผู้ใช้งานทั่วไปอีกด้วย
สรุป
เพราะในโลกโซเชียลมีเดีย การเผยแพร่ข่าวสารมักจะทำได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงกว่าเสมอ พื้นที่แห่งนี้จึงกลายเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ที่ไม่หวังดี ต้องการที่จะล่อลวงความคิดของคนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์จึงควรเป็นอย่างยิ่งที่จะคอยสอดส่องดูแล ระวังภัยไม่ให้เกิดคอนเทนต์ไม่มีคุณภาพเกิดขึ้น เพื่อรักษาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นที่พักพิงของผู้ที่ต้องการติดตามคอนเทนต์ดี ๆ ต่อไป