เป็นอีกหนึ่งก้าวการเติบโตที่น่าจับตามองมาก ๆ ของ Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งคอนเทนต์ความบันเทิงครบวงจร ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวลือหลุดออกมาว่าตอนนี้ Netflix กำลังสนใจขยายธุรกิจไปสู่ไลน์ธุรกิจใหม่ด้านความบันเทิงอย่าง “ธุรกิจเกม”
แม้จะเป็นธุรกิจด้านความบันเทิงเหมือนกัน แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจเกมก็มีความแตกต่างกับธุรกิจสตรีมมิ่งคอนเทนต์ที่ Netflix ดำเนินกิจการอยู่พอสมควร ท่ามกลางกระแสจากผู้คนว่า Netflix จะสามารถกระโดดเข้าสู่ธุรกิจเกมได้จริงไหม และ Netflix เอาจริงแค่ไหนกับการเริ่มทำธุรกิจเกมครั้งนี้
แต่ปัญหาที่หลายคนเป็นห่วง Netflix ก็ออกมาแสดงให้ถึงวิสัยทัศน์ที่ตอกย้ำว่าพวกเขา “เอาจริง” กับการเติบโตครั้งนี้ด้วยการจ้างผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเกมชื่อดังอย่าง Mike Verdu เข้ามารับตำแหน่งรองประธานฝ่ายพัฒนาเกมของ Netflix เรียบร้อย
ในบทความนี้ The Growth Master เลยขอพาทุกคนไปศึกษาถึงทิศทางต่อไปของ Netflix ในการสร้างการเติบโต ภายหลังเริ่มจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อเตรียมเข้าสู่ธุรกิจสตรีมมิ่งเกมในปีหน้า จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ไปติดตามกันต่อได้เลย
ปัจจัยอะไรที่ทำให้ Netflix เริ่มหันมาสนใจในธุรกิจเกม ?
หากพูดถึง Netflix เชื่อได้เลยว่าสิ่งที่ใครหลาย ๆ คนนึกถึงก็จะต้องนึกถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งคอนเทนต์ที่รวบรวมภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือสารคดีต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกไว้ในแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีหลัง ต้องยอมรับว่า Netflix สามารถสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดี ทั้งตลาดสากลและตลาดประเทศไทย
อีกทั้งผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมภายนอกได้ ต้องอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อไวรัส ยิ่งทำให้ Netflix ที่เป็นแพลตฟอร์ม Home Entertainment สามารถสร้างการเติบโตเพิ่มตัวเลขผู้ใช้งานได้เป็นอย่างมาก
โดยจากตัวเลขผู้ใช้งานไตรมาสที่ 4 ปี 2020 Netflix ก็กวาดผู้ใช้งานไปได้มากกว่า 203 ล้านคนจากทั่วโลก และในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 Netflix ก็เพิ่มผู้ใช้งานแบบ Paid Subscriber ไปได้อีกกว่า 4 ล้านคน แม้อาจตัวเลขผู้ใช้งานอาจดูเพิ่มขึ้นเยอะ ในสายตาฝั่งผู้ใช้งานอย่างเรา แต่สำหรับฝั่งธุรกิจแล้ว Netflix กลับไม่พอใจกับตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเพียงเท่านี้ จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการทำธุรกิจ
อ่านกลยุทธ์ที่ Netflix ใช้สร้างการเติบโตตั้งแต่เริ่มต้น จนประสบความสำเร็จได้ที่ >> บทความนี้
เมื่อตัวเลขผู้ใช้งานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กลยุทธ์ต่อไปจึงกำเนิด
เพราะตัวเลขผู้ใช้งานที่ Netflix ต้องการให้เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 นั้น ตอนแรก Netflix ตั้งเป้าหมายไว้ให้ไตรมาสที่ 1/2021 มีตัวเลขผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นให้ได้มากกว่า 6 ล้าน Paid Subscriber แต่อย่างที่เราทราบจบไตรมาส 1/2021 Netflix กลับเพิ่มผู้ใช้งานใหม่ได้เพียง 4 ล้าน Paid Subscriber ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าความคาดหวังของพวกเขาไปกว่า 2 ล้าน Paid Subscriber
ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างมองว่าอาจเกิดจากการเติบโตขึ้นของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งคู่แข่งอย่าง Disney+ ที่กำลังมาแรงอยู่ในตอนนี้ เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของ Netflix ไปแต่ทางฝั่งผู้บริหารของ Netflix ก็ออกมาแก้ข่าวว่า สาเหตุที่ตัวเลขผู้ใช้งานไม่เพิ่มขึ้นตามเป้า เพราะสถานการณ์ของโควิด-19 นี่แหละ ที่ทำให้กองถ่ายและทีมเบื้องหลังในการทำภาพยนตร์ ซีรีส์ต่าง ๆ ต้องเลื่อนขั้นตอนการผลิตออกไป
ส่งผลให้คอนเทนต์บน Netflix ไม่สามารถออกอากาศได้ตามโปรแกรมฉายที่กำหนด ประกอบกับคอนเทนต์ที่มีอยู่ก็ยังไม่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ มากพอให้พวกเขามากดสมัครใช้บริการของ Netflix
ดังนั้นเมื่อตัวเลขผู้ใช้งานไม่สามารถเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ กลยุทธ์ในการเพิ่มผู้ใช้งานครั้งใหม่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นั่นคือการเริ่มเข้าสู่ “ธุรกิจเกม” ของ Netflix ที่พวกเขาตั้งใจที่จะทำให้แพลตฟอร์มกลายเป็น “แพลตฟอร์มเกมรูปแบบสตรีมมิ่ง” ที่จะเริ่มเปิดให้บริการภายในปีหน้า (2022)
หากใครที่ยังคิดไม่ออกว่า แพลตฟอร์มเกมรูปแบบสตรีมมิ่ง จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร มีวิธีการใช้งานอย่างไร ให้เราลองนึกถึงตัว Apple Arcade ที่เป็นบริการเกมของ Apple ในรูปแบบ Subsciption Model จ่ายค่าบริการเป็นรายเดือนก็สามารถเล่นเกมทั้งหมดที่มีในแพลตฟอร์มได้
หรือถ้าอธิบายแบบเข้าใจง่ายที่สุด มันก็เหมือนกับ Netflix ทุกประการแต่เปลี่ยนจาก “คอนเทนต์ภาพยนตร์ ซีรีส์ต่าง ๆ” เป็น “เกม” ที่คุณสามารถเล่นได้ทุกเกมที่มีอยู่บนแพลตฟอร์ม
แต่ต้องบอกไว้ก่อนนี่ไม่ใช่การ “เปลี่ยน” รูปแบบของการทำธุรกิจแต่อย่างไร Netflix ก็ยังคงให้บริการสตรีมมิ่งคอนเทนต์บันเทิงต่าง ๆ ตามเดิม แต่จะ “เพิ่ม” ไลน์ธุรกิจเกมเข้ามาเป็นอีกหนึ่งบริการเท่านั้น
โดยทาง Netflix เองก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการเพิ่มบริการสตรีมมิ่งเกมเข้ามาด้วยนั้น จะสามารถเพิ่มผู้ใช้งานใหม่ ๆ ได้มากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะต้องบอกว่า Netflix นั้นมีผลงานที่เป็นของตัวเอง หรือ Orginal Content อยู่ในแพลตฟอร์มากมาย ซึ่งหลาย ๆ เรื่องที่ได้รับความนิยม มีฐานคนดูทั่วโลก Netflix มองว่าสามารถนำไปต่อยอดอยู่ในรูปแบบเกมได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Stranger Things ที่เคยทำอยู่ในรูปแบบเกมมือถือมาแล้วช่วงปี 2018 หรือซีรีส์อย่าง Black Mirror ที่คนดูสามารถกำหนดตอนจบเองได้ Netflix ก็มองว่าถ้าเอามาต่อยอดให้เป็นเกม ก็น่าจะได้ผลตอบรับที่ดีไม่น้อย
ทิศทางต่อไปของ Netflix หลังเตรียมเข้าสู่ธุรกิจสตรีมมิ่งเกมในปีหน้า จะเป็นอย่างไร ?
สิ่งที่หลายคนเป็นห่วง สำหรับการสร้างธุรกิจแบบสตรีมมิ่งเกมของ Netflix คือ Netflix จะสามารถทำได้จริงหรือ? เพราะในการสร้างเกมขึ้นมาสักเกมหนึ่ง ต้องใช้ทั้งกระบวนการต่าง ๆ มากมาย ซึ่งถือเป็นคนละสิ่ง กับสิ่งที่ Netflix เชี่ยวชาญในปัจจุบัน (การสร้างภาพยนตร์, ซีรีส์, สารคดี)
แต่กลยุทธ์ของ Netflix ในการสร้างธุรกิจสตรีมมิ่งเกมให้เป็นความจริงนั้น บอกเลยว่าพวกเขายังคงเป็น “ของจริง” ในด้านอุตสาหกรรมบันเทิงโลกอยู่วันยังค่ำ เพราะถ้าปัญหาตอนนี้คือ องค์กรตัวเองไม่มีผู้เชี่ยวชาญ วิธีแก้ก็คือ เราก็จ้างผู้เชี่ยวชาญให้มาอยู่กับเราซะสิ
ทำให้ล่าสุด Netflix ประกาศว่าตอนนี้พวกเขาได้จ้าง Mike Verdu เข้ามารับตำแหน่งรองประธานฝ่ายพัฒนาเกมของ Netflix เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง Mike Verdu คนนี้ก็ถือเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเกมคนหนึ่งของโลก ด้วยประสบการณ์การทำงานมากมายไล่ตั้งแต่ เป็น Chief Creative Officer บริษัท Zynga เจ้าของเกม Farmville และ Mafia Wars, เป็น Senior Vice President ของ EA Games และตำแหน่งล่าสุดกับตำแหน่ง Head Of AR/VR Content (Oculus) ของ Facebook ก่อนที่จะย้ายเข้ามารับตำแหน่ง รองประธานฝ่ายพัฒนาเกมของ Netflix เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดย Mike Verdu จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้พร้อมรายงานผลลัพธ์การทำงาน ขึ้นตรงกับ COO ของ Netflix อย่าง Greg Peters ด้วยตัวเองทุกขั้นตอน
แต่แค่นี้ยังไม่พอ เพราะมีกระแสข่าวลือหลุดออกมาว่า Netflix ยังต้องการที่จะหา Partner ในการสร้างผลิตภัณฑ์สตรีมมิ่งเกม ด้วยการอาจยอมจับมือเป็น Partner กับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเกมอย่าง Playstation ภายใต้การดูแลของ Sony Entertainment เพื่อสนับสนุนการทำงานของ Mike Verdu ให้ราบรื่นขึ้นและยังได้ทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเกมอย่างแท้จริงจาก Sony Entertainment มาเป็นผู้สานฝันให้โปรเจกต์นี้ของ Netflix เป็นจริง
ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังไม่มีการยืนยันว่าทั้งคู่จะเข้าร่วมเป็น Partner กันได้จริงหรือไม่ หรือรูปแบบของการเล่นเมื่อ Netflix จับมือกับ Playstation แล้วจะออกมาในรูปแบบใด
แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ Netflix สำนักงานใหญ่ (California, USA) กำลังเริ่มที่จะสร้างทีมสำหรับการพัฒนาสตรีมมิ่งเกมให้เป็นความจริงแล้ว จากการรับสมัครงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น เช่น Director of Product Innovation, Interactive, Product Manager - Innovation และอีกมากมายลองเข้าไปดูได้ที่นี่
โดย Netflix หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเพิ่มธุรกิจสตรีมมิ่งเกมเข้ามาเป็นอีกหนึ่งในบริการของพวกเขานั้น จะเป็นกลยุทธ์การเติบโตครั้งสำคัญของบริษัท ที่จะช่วยให้ Netflix ได้ตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นได้ แต่รายละเอียดทั้งหมดของบริการสตรีมมิ่งเกมนั้นทาง Netflix ยังไม่ได้มีการปล่อยรายละเอียดออกมา คาดการณ์ว่าน่าจะเปิดให้บริการภายในปีหน้าแน่นอน
สรุปทั้งหมด
ในมุมของการทำธุรกิจ Netflix ยังทำให้เราเห็นว่าบางที การสร้างการเติบโต ไม่จำเป็นที่จะต้องยึดติดอยู่กับผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ตลอดไปการแตกไลน์เข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยใช้ทรัพยากรที่ตนเองมี ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ
และยังเป็นเหมือนการตอกย้ำให้เห็นถึง “เทคนิคสุดคลาสสิค” ของการลงมือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ตามแบบ Startup แท้ ๆ นั่นก็คือในการหา Partner ทั้งรูปแบบคนและองค์กรเข้ามาเป็นผู้ช่วยสำคัญในการทำงานที่จะช่วยให้องค์กรทำงานได้ง่ายขึ้นจนนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจอย่างรวดเร็วในที่สุด ว่าไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี เทคนิคนี้ยังคงทรงพลังเสมอ
(เร็ว ๆ นี้ผมจะเขียนเรื่องการหา Partner ทางธุรกิจแบบเต็ม ๆ มาให้อ่านกัน รอติดตามใน Facebook Page ของ The Growth Master ไว้ได้เลย!)