หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ Spotify ในฐานะการเป็นแอปพลิเคชัน Music Streaming ที่โดดเด่นในเรื่องของการสร้างประสบการณ์การใช้งานชั้นยอดให้แก่ Users ด้วยรูปลักษณ์ภายในแอปพลิเคชันที่ทันสมัย ใช้งานง่าย และยังมาพร้อมกับระบบ AI สุดฉลาดที่วิเคราะห์การใช้งานกับแนวเพลงที่เราชอบฟังได้เป็นอย่างดี
แต่เป้าหมายของ Spotify ในปีหน้าอาจไม่ได้หยุดแค่การเป็นแอปพลิเคชัน Music Streaming อีกต่อไป เพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Spotify ได้ทำการเดินเกมครั้งสำคัญ ด้วยการประกาศว่าพวกเขาได้ทำการซื้อกิจการของ Findaway แพลตฟอร์มผู้ให้บริการหนังสือเสียง (Audiobook) ชื่อดัง
ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า มูลค่าในการซื้อกิจการของ Spotify ในครั้งนี้มีจำนวนเงินเท่าไร แต่ก็เป็นสัญญาณให้เห็นถึงทิศทางของ Spotify ที่ต้องการจะขยับตัวเอง จากแพลตฟอร์ม Music Streaming ไปสู่แพลตฟอร์มผู้นำในด้านสื่อเสียงครบวงจรในปีหน้าและอนาคต
แล้วเบื้องหลังของการซื้อกิจการครั้งนี้จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง แล้ว Spotify จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก่อนอื่นเราไปรู้จัก Findaway ตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้กันก่อน
Findaway คืออะไร ? รู้จักแพลตฟอร์ม Audiobook ที่กำลังมาแรง
Findaway คือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหนังสือเสียง (Audiobook) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2006 แต่เริ่มเข้าสู่ Model การให้บริการแบบใหม่แก่ครีเอเตอร์ในปี 2016 โดยลักษณะการให้บริการของ Findaway จะเป็นแพลตฟอร์มที่จำหน่าย Audiobook ที่สามารถให้ทุกคนเป็นครีเอเตอร์เพื่อสร้างหนังสือเสียงของตัวเองแล้วจำหน่าย สร้างรายได้ได้บนแพลตฟอร์มเลย (ผ่านชื่อแพลตฟอร์มว่า Findaway Voices)
และ Findaway ยังเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อ Audiobook ให้กับผู้ที่สนใจหรือชอบในการฟังหนังสือเสียง ให้รวมอยู่บนพื้นที่เดียวกัน
ซึ่งความพิเศษของการสร้างหนังสือเสียงบน Findaway นอกจากจะทำให้คุณได้รายได้จากยอดขายของหนังสือเสียง (จากการที่คุณเป็นครีเอเตอร์) แล้ว บนแพลตฟอร์มของ Findaway ยังมีฟีเจอร์การทำงานต่าง ๆ ที่ช่วยให้การจำหน่ายหนังสือเสียงของคุณน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เช่น ฟีเจอร์ Reporting ให้คุณสรุปยอดรายรับจากการจำหน่ายหนังสือเสียงได้อย่างแม่นยำในแต่ละเดือน รวมถึง Promotion ที่สามารถให้คุณจัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขายได้เอง เพื่อช่วยให้หนังสือเสียงของคุณได้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นเช่น ลด แถม หรือโปรโมชันอื่น ๆ
โดยการสร้างรายได้ด้วยหนังสือเสียง (Audiobook) บน Findaway นั้นก็ไม่ต้องกลัวว่าจะได้ส่วนแบ่งที่ไม่ยุติธรรม เพราะ Findaway นั้นเคลมไว้เลยว่าไม่ว่าคุณจะสร้างยอดขายได้มากเท่าไรในแต่ละเดือน พวกเขาจะขอส่วนแบ่งเป็นค่าใช้พื้นที่แค่ 20% เท่านั้น ส่วนอีก 80% ที่เหลือก็เป็นรายได้ที่คุณเอาเข้ากระเป๋าไปได้เลย
โดยครีเอเตอร์คนไหนที่อยากเผยแพร่ Audiobook ของตัวเองก็สามารถเข้าไปสมัคร Account บน Findawayได้อย่างเสรี โดยทาง Findaway จะมีหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการสร้างรายได้ต่าง ๆ ส่งไปให้คุณเซ็นยินยอมผ่านทางอีเมล เพียงเท่านี้ก็เริ่มจำหน่ายหนังสือเสียงของคุณได้เลย แต่ก็ต้องบอกตรง ๆ เช่นกันว่าในแพลตฟอร์มนี้อาจจะไม่ได้รับความนิยมในไทยมากเท่าที่ควร โดยสำหรับครีเอเตอร์ไทย ส่วนใหญ่จะใช้แพลตฟอร์มอย่าง Audible หรือ Apple Books มากกว่า
ซึ่งด้วยโมเดลในการทำการตลาดที่น่าสนใจของ Findaway นี่เองทำให้ Spotify เล็งเห็นถึงจุดที่จะสามารถนำ Findaway มาสร้างการเติบโตในอนาคตให้พวกเขาได้ สู่การเป็นแพลตฟอร์มผู้นำด้านสื่อเสียงครบวงจร
ทำไม Spotify ถึงต้องซื้อกิจการของ Findaway และทำไมต้องเป็น Audiobook Platform
ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Findaway ก็ได้รับข่าวดีที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งกิจการนั่นก็คือพวกเขาถูกซื้อกิจการ โดย Spotify ผู้นำด้านแอปพลิเคชัน Music Streaming ชื่อดังของโลก ซึ่งตัวเลขของการซื้อกิจการในครั้งนี้ ทาง Spotify และ Findaway ไม่ได้ออกมาเปิดเผยมูลค่าของดีลนี้แต่อย่างไร
ซึ่งทั้ง Spotify และ Findaway จะร่วมกันช่วยให้อุตสาหกรรมด้านหนังสือเสียงเติบโตอย่างรวดเร็ว มากขึ้น โดย Spotify ต้องการจะนำระบบการทำงานและไฟล์ Audiobook ของ Findaway เข้ามาในแพลตฟอร์มของตนเอง ซึ่งกุมความได้เปรียบในเรื่องของตัวเลขผู้ใช้งานที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มเกือบ 380 ล้านคนทั่วโลก (ข้อมูลอัปเดตวันที่ 15 พฤศจิกายน 2021)
หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ Spotify จะเริ่มให้บริการสตรีมหนังสือเสียง (Audiobook) ในแพลตฟอร์มซึ่งถือเป็นบริการใหม่ ที่ Spotify เตรียมการจะขยายการให้บริการในอนาคต ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า Spotify จะดึงเอารูปแบบการใช้งานของ Findaway มาใช้ด้วย นั่นก็คือการเป็นแพลตฟอร์มเสรีในการสร้างไฟล์หนังสือเสียงแก่ครีเอเตอร์ ที่มีคล้ายกับการทำงานของ Spotify Podcast
โดยการซื้อกิจการครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกของ Spotify ที่ซื้อกิจการแพลตฟอร์มลักษณะแบบนี้ เพราะย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2019 Spotify ก็เคยเข้าซื้อกิจการของ Gimlet และ Anchor 2 แพลตฟอร์มที่ให้บริการด้าน Podcast เพื่อดึงกำลังจากทั้ง 2 แพลตฟอร์มมาช่วยสร้างการใช้งาน Spotify Podcast ให้เติบโต (ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน)
ซึ่งประเด็นการซื้อกิจการ Findaway ในครั้งนี้ทาง Gustav Söderström ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ Spotify ได้เปิดเผยว่า ถือเป็นความตื่นเต้นครั้งใหม่ของ Spotify ที่กำลังจะรุกตลาดเข้าสู่การให้บริการหนังสือเสียง Audiobook อย่างเต็มตัวในปีหน้า ซึ่งแสดงถึงเป้าหมายของ Spotify ที่ต้องการเป็นผู้นำด้านสื่อเสียงอย่างเต็มรูปแบบด้วย หลังจากที่เราได้ทำการทำสำเร็จไปแล้วกับบริการ Music Streaming และ Podcast
ซึ่ง Spotify ได้ทำการเสริมข้อมูลถึงเบื้องหลังของดีลนี้ว่า อุตสาหกรรมหนังสือเสียงมีแนวโน้มที่จะเติบโตจาก 3.3 พันล้านดอลลาร์ (มูลค่าปัจจุบัน) เป็น 15,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2027 ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเราถึงต้องให้ความสนใจอุตสาหกรรมหนังสือเสียง
ส่วนฝั่งของ Findaway ก็นับว่าเป็นก้าวใหม่ของการเติบโตที่จะสเกลให้พวกเขาไปสู่เป้าหมาย โดย Mitch Kroll ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Findaway ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า การร่วมมือกับ Spotify ในครั้งนี้จะช่วยให้ Findaway ได้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ Spotify กำลังพัฒนาอยู่ รวมถึงจะทำให้ตลาดของหนังสือเสียง มีความนิยม ทั้งครีเอเตอร์ก็จะได้พื้นที่ที่จะทำให้หนังสือเสียงของตนเอง เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ซึ่งการร่วมมือกันครั้งนี้น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีของครีเอเตอร์ ผู้ที่ชอบฟังหนังสือเสียง และผู้ใช้งาน Spotify ทั่วโลก ที่จะได้สัมผัสความแปลกใหม่ของการใช้งานบนแพลตฟอร์ม
โดยการซื้อกิจการในครั้งนี้ของ Spotify จะทำให้ Findaway ต้องปิดการให้บริการลงภายในไตรมาสที่ 4 นี้แล้วทีมงานของ Findaway รวมถึงตัว Mitch Kroll ก็จะถูกรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับ Spotify ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเดินหน้าสร้างการให้บริการ Audiobook บนแพลตฟอร์มต่อไป
สรุปทั้งหมด
จากการเข้าซื้อกิจการ Findaway โดย Spotify ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายของ Spotify ที่ต้องการจะก้าวไปเป็นเบอร์ 1 ของแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านสื่อเสียงครบวงจร ภายในปีหน้านี้อย่างแน่นอน ซึ่งค่อนข้างมีความเป็นไปได้ ด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งตัวเลขผู้ใช้งานที่ Spotify ครอบครองอยู่ในมือ รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ
แต่การเดินหน้าของ Spotify ในครั้งนี้จะทำให้คู่แข่งเจ้าอื่น ๆ อยู่นิ่งได้หรือไม่ โดยเฉพาะคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Apple Music ที่มีบริการ Audiobook อยู่ก่อนแล้ว ก็ต้องมาดูกันยาว ๆ ว่าศึกของฝั่งแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสื่อเสียงในครั้งนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป