คงต้องบอกว่าปี 2021 เป็นปีแห่งการแข่งขันของธุรกิจแอปพลิเคชันทุกประเภทกันจริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ตลาดแอปพลิเคชันสตรีมเพลง (Music Streaming) ก็มีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลังจากที่ Tidal หนึ่งในแอปพลิเคชันตัวละครลับด้าน Music Streaming ถูกซื้อกิจการไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว
ซึ่งผู้ที่เข้ามาซื้อกิจการของ Tidal ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ Jack Dorsey ซีอีโอของ Twitter โซเชียลมีเดียสีฟ้าชื่อดัง แถมในการซื้อกิจการของ Tidal ครั้งนี้ Jack Dorsey ไม่ได้ซื้อกิจการในนามของ Twitter แต่เขาใช้ Square Inc อีกหนึ่งบริษัทที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอเข้ามาซื้อกิจการของ Tidal
โดยดีลนี้ใครที่ได้ข่าวตอนแรกต้องมีแปลกใจกันบ้างแน่ ๆ เพราะ Square เป็นธุรกิจที่ให้บริการด้าน Financial Service Technology (เทคโนโลยีด้านการบริการทางการเงิน) ที่ดูยังไงก็คนละขั้วกับ Tidal ที่เป็นธุรกิจ Music Streaming
แต่ในความเป็นจริงแล้วในดีลนี้ถ้าได้ทราบเหตุผลแล้วจะพบว่าทั้ง Sqaure และ Tidal ต่างได้ผลประโยชน์กันทั้งคู่ และถือเป็นการสร้างอนาคตที่ดีของทั้ง 2 แพลตฟอร์ม แต่อะไรคือเบื้องหลังของดีลนี้ ติดตามต่อได้ในบทความ
รู้จัก Square และ Tidal ให้มากขึ้น! ประวัติความเป็นมาของทั้ง 2 แพลตฟอร์มเป็นอย่างไร
อย่างที่ได้เกริ่นไปตอนต้นว่าดีลนี้ใครที่ได้ข่าวต้องมีแปลกใจกันบ้าง เพราะเป็น 2 ธุรกิจที่แม้จะให้บริการด้านเทคโนโลยีเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
โดยเริ่มจาก Square ผู้เข้าซื้อกิจการกันก่อน Square เป็นธุรกิจที่ให้บริการด้าน Financial Service Technology และระบบ Digital Payment สัญชาติอเมริกา ก่อตั้งในปี 2009 โดย Jack Dorsey ที่ดำรงตำแหน่งเป็น CEO และ Chairman คนปัจจุบันของบริษัทด้วย
ซึ่งหากเห็นชื่อและหน้าตาของ Jack Dorsey แล้วรู้สึกคุ้น ๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะ Jack Dorsey คนนี้นี่แหละที่ปัจจุบันก็มีตำแหน่งเป็น CEO ของ Twitter โซเชียลมีเดียยอดฮิตของโลกด้วยเช่นกัน เรียกว่าควบการเป็น CEO ของ 2 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีเลย
ซึ่ง Square เกิดขึ้นจากตอนที่ Jack Dorsey ลาออกจาก Twitter ในช่วงปี 2009 (ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งใหม่อีกครั้ง) เขาได้ไปคุยกับเพื่อนของเขา Jim McKelvy ที่ปัจจุบันถือเป็น Co-Founder และ Director ของ Square โดยในการสนทนาครั้งนั้น Jim McKelvy ได้เล่าปัญหาให้กับ Jack Dorsey ฟังว่าเขาไม่สามารถขายแก้วน้ำ Handblown (แก้วน้ำทำมือ) มูลค่า 2,000 เหรียญที่เขาทำเองได้เลย
แต่ที่ลูกค้าไม่ซื้อไม่ใช่เพราะแก้วของเขาไม่สวย แต่เป็นเพราะลูกค้าไม่ได้มีเงินสดมากขนาดนั้น และ Jim เองก็ไม่ได้มีระบบการรองรับบัตรเครดิต เขาเลยคิดว่าคงจะดีถ้าให้ลูกค้าสามารถชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผ่านโทรศัพท์ได้
นั่นเลยทำให้ Jack Dorsey ปิ๊งไอเดียและร่วมกันลงมือสร้างอุปกรณ์ที่ทำให้การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ทำได้ผ่านสมาร์ทโฟนด้วยอุปกรณ์ที่ชื่อเดียวกับธุรกิจอย่าง Square ที่เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อกับช่องเสียบหูฟังสมาร์ทโฟนเพื่อรูดบัตรเครดิตชำระเงินได้ผ่านสมาร์ทโฟน
และจากนั้นทาง Square ก็ได้พัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ด้าน Financial Technology ออกสู่ตลาดอยู่เสมอเช่นเครื่องชำระเงินด้วยระบบPOS, การเทรดหุ้นผ่านแพลตฟอร์ม, การซื้อ Bitcoin ผ่านแอป Square Cash รวมไปถึงด้าน Network สำหรับการชำระเงินผ่านออนไลน์ ซึ่งก็ทำให้ Square มีมูลค่าบริษัทไปแตะระดับที่ 98.4 พันล้านดอลลาร์หรือเงินไทยราว 3 ล้านล้านบาท(ข้อมูลปี 2021) มากกว่า Twitter ที่เป็นอีกบริษัทของ Jack Dorsey ซะอีก (Twitter มีมูลค่าอยู่ที่ 53.4 พันล้านดอลลาร์หรือเงินไทยราว 1.6 ล้านล้านบาท)
ตัดกลับมาในฝั่งผู้ถูกซื้ออย่าง “Tidal” ที่เป็นแอปพลิเคชันให้บริการด้าน Music Streaming ที่ดูผ่าน ๆ จาก UI ของแอป ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากแอปพลิเคชัน Music Streaming ตัวอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคยเช่น Spotify, Apple Music หรือ Pandora, Amazon Music ของต่างประเทศ (หน้าตาในแอปเหมือน Spotify มากๆ)
แต่ความจริงแล้ว Tidal มีจุดเด่นที่แอปพลิเคชัน Music Streaming ส่วนใหญ่ไม่มี นั่นก็คือเรื่องของ “คุณภาพเสียง” ที่ Tidal เคลมว่าแอปพลิเคชันของพวกเขามอบประสบการณ์ชั้นยอดในการฟังเพลงให้กับผู้ใช้บริการที่ต้องการฟังเพลงด้วยคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด
ด้วยระบบคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดแบบ MQA (Master Quality Authenticated) ที่เก็บทุกรายละเอียดด้านเสียงในแต่ละเพลง ชนิดที่ว่าถ้าเปรียบเทียบแค่ “คุณภาพเสียง” ระหว่าง Tidal กับแอปพลิเคชันสตรีมมิ่งเจ้าอื่น “Tidal คือผู้ชนะ”
จนมีคำเปรียบเปรยเล่น ๆ ของผู้ใช้งานบางกลุ่มบอกว่าคุณภาพเสียงของ Tidal เปลี่ยนให้หูฟังธรรมดากลายเป็นหูฟังแบบมอนิเตอร์ (หูฟังสำหรับนักดนตรีอาชีพ) ได้เลย
ซึ่งเจ้าของกิจการคนปัจจุบันของ Tidal ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ “Jay Z” ยอดแร็ปเปอร์ชาวอเมริกันซึ่งต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว Tidal กำเนิดขึ้นโดยบริษัทสัญชาตินอร์เวย์ที่ชื่อว่า Aspiro ในปี 2014 แต่หลังจากนั้นแค่ปีเดียว Jay Z แร็ปเปอร์และ CEO บริษัท Project Panther Bidco ที่เป็นธุรกิจด้านการลงทุน (Holding Company) ก็เข้ามาซื้อกิจการของ Tidal ไปด้วยจำนวนเงิน 56.2 ล้านดอลลาร์
ซึ่งทาง Jay Z ที่ถือเป็นนักดนตรีอาชีพเขาก็ตั้งใจพัฒนาให้แอปพลิเคชันนี้เป็นแอปพลิเคชันสำหรับคนที่รักในเสียงดนตรีจริง ๆ ด้วยการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่มุ่งเน้นไปที่คุณภาพเสียงที่ดีกว่าคู่แข่ง, Exclusive Content ที่ชมได้ที่เดียวในแอปพลิเคชัน รวมถึงการรองรับการใช้บน Apple Carplay
ทำให้ Tidal กลายเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชัน Music Streaming ที่ครองใจตลาดคนรักการฟังดนตรีแบบเข้าเส้นได้อย่างไม่มีที่ติ
ปัญหาอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ดีลนี้เกิดขึ้นและทิศทางในอนาคตของ Tidal จะเป็นอย่างไร ?
จุดเริ่มต้นของดีลนี้นั้นเกิดขึ้นจากการที่ Jack Dorsey มองเห็นสถานการณ์ด้านการเงินของ Tidal ที่ไม่ค่อยสู้ดีนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงตัวเลขผู้ใช้งานของ Tidal ก็กำลังตกที่นั่งลำบากเช่นกัน
โดยปัจจุบันนั้น Tidal ให้บริการใน 56 ประเทศ (มีประเทศไทยด้วย) แต่จากสถิติที่เปิดเผยออกมาในปี 2019 กลับพบว่า Tidal นั้นมียอดผู้ใช้บริการจากทั่วโลกทั้งหมดเพียงแค่ 3 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งเป็นอันดับสุดท้ายของผลสำรวจ
รวมถึงถ้าใครได้ติดตาม Tidal ก็น่าจะทราบว่า Tidal นั้นประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนักมาตั้งแต่ปี 2017 แถมในปี 2019 Tidal ก็ขาดทุนถึง 55.19 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ Tidal ขาดแคลนเงินในการชำระค่าลิขสิทธิ์เพลงในแพลตฟอร์ม
ซึ่งสื่อหลายสำนักก็คาดเดาว่าอาจเป็นเพราะค่าบริการของ Tidal ที่มีราคาแพงกว่าแอปพลิเคชันเจ้าอื่น ๆ ในตลาด โดยปัจจุบันถ้าวัดราคาในแพคเกจ Individual นั้น Tidal มีค่าบริการเป็นเงินไทยอยู่ที่ 258 บาท/เดือน ในขณะเดียวกัน Spotify เจ้าตลาดมีค่าบริการเพียงแค่ 139 บาท/3เดือน (ตกเดือนละ 47 บาท)
ปัจจัยนี้เองเลยเป็นเหตุผลที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้บริการของ Tidal มากเท่าที่ควร ซึ่งผู้ที่ยอมจ่ายราคาระดับนั้นต่อเดือนให้กับ Tidal ก็ต้องเป็นคนที่รักและชื่นชอบในดนตรีจริงๆ เลยทำให้ฐานผู้ใช้งานของ Tidal เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยในตลาด
นั่นเลยทำให้ Jack Dorsey ซีอีโอของ Square ที่มีความสนิทสนมกับ Jay Z อยู่แล้ว เสนอตัวเข้ามาเป็นพระเอกขอซื้อกิจการของ Tidal ด้วยจำนวนเงินกว่า 297 ล้านดอลลาร์ (เงินไทยราว 9,128 ล้านบาท) โดยทาง Square จะจ่ายเป็นเงินสดและหุ้นให้กับ Tidal
ซึ่งดีลนี้ก็ได้เสร็จสมบูรณ์ไปแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนั้นทาง Square ยังให้อิสระในการบริหารงานของ Tidal ต่อไปหรือก็คือแอปพลิเคชัน Tidal ก็ยังคงให้บริการอยู่ แต่เพียงหลังจากนี้ Jay Z ก็จะกลายเป็นบอร์ดบริหารและส่วนหนึ่งของ Square ด้วย
แน่นอนว่าทุกคนย่อมอยากรู้ว่าทำไม Square ถึงออกมาซื้อกิจการ Tidal เรื่องนี้ Jack Dorsey ผู้ซื้อกิจการได้ออกมาเปิดเผยสาเหตุถึงดีลนี้ว่า สาเหตุที่พวกเขาต้องซื้อกิจการของ Tidal นั้นก็เป็นเพราะว่า Square อยากจะเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีให้เติบโตขึ้น
เพราะ Square เองมีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้านระบบ Digital Payment ที่พร้อมเข้ามาช่วย Tidal ทั้งด้านการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ รวมถึงการแบ่งรายได้ให้กับศิลปิน
ต้องเรียนให้ทราบแบบนี้ครับ อย่างที่บอกคือ Tidal เป็นแอปพลิเคชันสำหรับคนที่รักในเสียงดนตรีแต่อีกหนึ่งเรื่องที่ทั้ง Jay Z และ Tidal สนับสนุนก็คือ “การสร้างรายได้ให้กับศิลปินผ่านแอปพลิเคชัน” ที่ Tidal เคลมตัวเองไว้ว่าพวกเขาจะมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์เงินส่วนแบ่งให้กับศิลปินที่ “มากกว่า” แอปพลิเคชันสตรีมมิ่งเพลงอื่น ๆ
เพื่อเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเพลงมีความยั่งยืนและเติบโตได้ หลังจากที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา รายได้ของศิลปินและวงการคนทำเพลงต้องลดลงไปเนื่องจากตลาดที่เปลี่ยนผ่านจากยุค ซีดี-เทปคลาสเซ็ทสู่ยุคสตรีมมิ่ง
ซึ่งการเข้ามาของ Square ในครั้งนี้ก็จะทำให้ระบบการชำระเงิน จ่ายเงิน หรือเทคโนโลยีด้านการเงินของ Tidal ถูกพัฒนาและปรับปรุงจากบริษัทแม่อย่าง Square อยู่ตลอดเพื่อประสบการณ์ที่ดีที่สุดของผู้ใช้งาน
ส่วนทางฝั่ง Jay Z เองก็ได้ออกมากล่าวว่าการร่วมมือกับ Square ในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวของการเติบโตของ Tidal และ Square จะเข้ามาช่วยเราในด้านการรักษาผลประโยชน์ให้ศิลปินที่มีเพลงอยู่ในแพลตฟอร์มของเราให้มากที่สุด อีกทั้งในอนาคต Tidal อาจจะเป็นแพลตฟอร์ม Music Streaming ที่สนับสนุนศิลปิน, คนรักในเสียงดนตรีได้ดีที่สุดด้วย
สรุปทั้งหมด
การที่ Jack Dorsey และ Square เข้าซื้อกิจการของ Tidal ในครั้งนี้คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นเลยว่าการเติบโตไม่จำเป็นที่จะต้องมองในตลาดของตัวเองอย่างเดียว การลองมองหาตลาดและโอกาสใหม่ ๆ ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาสร้างการเติบโตให้ธุรกิจคุณได้เช่นกัน
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากลองใช้บริการของ Tidal เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนศิลปินที่ชอบ รวมถึงเปิดประสบการณ์คุณภาพเสียงชั้นยอด ก็สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้เลย แต่อย่างไรก็ตามแม้จะใช้งานได้ในบ้านเรา แต่ตอนนี้ Tidal ยังไม่รองรับภาษาไทย (มีเพลงของไทย แต่ในแพลตฟอร์มยังไม่แสดงผลภาษาไทย)
ซึ่งเราก็คงต้องมาติดตามกันต่อไปยาว ๆ ครับว่า Tidal หลังจากที่ได้ Square มาเป็นกำลังสำคัญให้แล้วจะสร้างการเติบโตในอนาคตได้มากแค่ไหน